17 พฤศจิกายน 2566
เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ หางโจว 2022 ของทีมผลัด 4x100 เมตรสาวไทย นับเป็น 1 ในเหรียญรางวัลสำคัญของสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ที่ทำผลงานได้เพียง 2 เหรียญเงินในทัวร์นาเมนต์นี้ และถือว่าทีมไต้ฝุ่นสาวไทยทำผลงานได้เกินเป้าหมาย และนี่คือเรื่องราว ถอดรหัสความสำเร็จครั้งนี้
//////
ความฮึกเหิมของทีมหญิง
เหรียญทองแดงในรายการกรีฑาชิงแชมป์เอเชียเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็น 1 ในความสำเร็จที่สร้างความฮึกเหิมให้แก่ทีมผลัด 4 x 100 เมตรหญิงไทย ทีมซึ่งประกอบด้วย ลูกกบ สุภาวรรณ, น่าน ศุภานิช, มาย อรอุมา และไอซ์ อธิชา
ทีมผลัดสาวชุดนี้เป็นทีมเดียวกันกับ ชุดแชมป์ซีเกมส์ 2023 ที่พนมเปญ ซึ่งคว้าเหรียญทองอย่างสวยงามและเป็นการครองแชมป์สมัยที่ 25 ของสาวไทย
มาย อรอุมา พี่ใหญ่ของทีม เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทีมผลัดหญิงชุดนี้สมบูรณ์ที่สุดสำหรับเธอ เพราะความผูกพัน ทุกคนดูแลกัน เป็นพลังบวกซึ่งกันและกัน ทำให้อยากแข่งขัน มุ่งมั่น และมีความหวังว่าจะคว้าเหรียญในเอเชียนเกมส์ได้
ซึ่งหลังเดินทางถึงหางโจวแล้ว สมาคมกีฬากรีฑา เปิดเผยภายหลังว่า ไอซ์ อธิชา ไม้ผลัดที่ 4 ของทีมหญิงมีอาการบาดเจ็บ และจะไม่สามารถลงแข่งขันได้...และปรากฏชื่อ ถู สุกานดา เพ็ชรรักษา ลงแข่งแทน
//////////
ตัวสำรองที่แทนที่กันได้ของทีมหญิง
ถู สุกานดา เพ็ชรรักษา ปรากฏตัวต่อสื่ออย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันแถลงข่าวกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย ในฐานะตัวสำรองของทีมผลัด 4 x 100 หญิงไทย เข้าร่วมทีมในฐานะน้องเล็กที่สุด
ประวัติสาวตรังคนนี้ ไม่ธรรมดา เปรียบเหมือนเจน 3 ของทีมไต้ฝุ่นหญิงไทย มีผลงาน 2 เหรียญทองในกรีฑาซียูธ ที่ฟิลิปปินส์ และ 2 เหรียญทองพลศึกษาเกมส์ ครั้งที่ 46
ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นตัวจริงในเอเชียนเกมส์หางโจว ซึ่งเป็นการติดทีมชาติชุดใหญ่และได้ลงแข่งเป็นครั้งแรก โดยถูเองก็รู้ตัวมาก่อนหน้านี้แล้วว่าอาจจะต้องลงแข่งจริง เพราะทราบอาการบาดเจ็บของไอซ์
ก่อนแข่ง "แฝดเล็ก" พล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์ อาริยะมงคล หัวหน้าผู้ฝึกสอนกรีฑาทีมชาติไทยยืนยันว่า ตลอดการซ้อมที่ผ่านมา ได้ให้ถูซ้อมวิ่งไม้สุดท้ายมาตลอด ดังนั้นจึงไม่กระทบมากนัก แม้จะไม่มีไอซ์มาวิ่งไม้สุดท้ายเหมือนตอนคว้าแชมป์ซีเกมส์และชิงแชมป์เอเชียก็ตาม
สุดท้ายถูปิดท้ายอย่างสวยงามให้ทีมไต้ฝุ่นสาวไทย ทะยานเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 คว้าเหรียญเงินแห่งความประทับใจกลับมาฝากคนไทยได้สำเร็จ หลังเข้าเส้นชัยถูปิดหน้าร้องไห้ และพี่ ๆ อีก 3 คนตามเข้ามารวมตัวกันดีใจทั้งน้ำตา
กลายเป็นประวัติศาสตร์บทใหม่อีกครั้งของทีมหญิงไทย ที่เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในทีม แม้ในวันที่ไอซ์ไม่พร้อมลงสนาม ก็ยังมีถูที่เป็นตัวแทนได้อย่างมีศักยภาพทัดเทียมกัน คือ คีย์สำคัญที่ทำให้ทีมหญิงไทยประสบความสำเร็จได้
/////////
ช่วงท็อปฟอร์มของ "น่าน ศุภานิช"
น่าน หรือ ฝ้าย ศุภานิช พูลเกิด สาวจากจังหวัดน่าน ปัจจุบันอายุ 25 ปี ถือว่าเข้าสู่ช่วงพีคที่สุดของการเป็นนักวิ่งในปีนี้ โดยซีเกมส์ 2023 ที่พนมเปญ น่านทำผลงาน 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
ซึ่งเหรียญทองก็มาจากทีมผลัด 4x100 เมตรหญิง ส่วนเหรียญเงินมาจาก 100 เมตรหญิง ซึ่งตอนนั้นน่านทำเวลาไว้ที่ 11.58 วินาที
จากนั้นในเดือนสิงหาคม 2566 ณ กีฬาแห่งชาติ 2023 กาญจนบุรีเกมส์ น่านจากทีมกรุงเทพมหานคร ก็ระเบิดฟอร์มคว้าทอง 3 เหรียญ จาก 100 เมตรหญิง 200 เมตรหญิง และ 4 x 100 เมตรหญิง จนถูกจับตามองในฐานะเบอร์ 1 ของทีมลมกรดหญิงไทย
ในหางโจวน่านได้ลงแข่ง 100 และ 200 เมตรหญิงด้วย เธอพิสูจน์ตัวเองครั้งสำคัญใน 100 เมตรหญิง ด้วยการทะลุเข้ารอบชิงเหรียญทอง เป็นผู้หญิงคนแรกของไทยที่ทะยานเข้าสู่รอบนี้ได้ในเอเชียนเกมส์
แม้จะพลาดเหรียญไปแบบเสี้ยวของเสี้ยววินาที แต่ก็เป็นการทุบสถิติใหม่ของตัวเอง 2 ครั้งซ้อน ที่เวลา 11.35 วินาที เฉียดเข้าใกล้กับสถิติประเทศไทยเดิมที่ 11.33 วินาที ที่ลภัสภร ถาวรเจริญ ทำไว้เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
ความสำเร็จของทีมไต้ฝุ่นหญิงไทยในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ นอกจากจะได้รับคำชื่นชมอย่างมากในฐานะที่ได้สร้างความสุขให้กับคนไทยทั้งประเทศแล้ว
เรื่องราวทั้งหมดจนกว่าจะมาถึงวันนี้ของน้องทั้ง 4 คน ยังเป็นภาพสะท้อนเบื้องหลังสำคัญแห่งความสำเร็จที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากใครเพียงคนเดียว
TAG ที่เกี่ยวข้อง