10 พฤศจิกายน 2566
“นักฟุตบอลอาชีพ” หนึ่งในความฝันของใครหลายๆคนที่ต้องการจุดประกายให้เป็นจริง แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ขวางกั้นอยู่มากมาย
ชื่อของ “ไกด์” พรชัย กสิกรอุดมไพศาล ผู้รักษาประตูวัย 31 ปี อาจไม่คุ้นหูแฟนบอลชาวไทยมากนัก แม้จะเคยผ่านการค้าแข้งให้กับทีมชื่อดังต่างๆ ไล่ตั้งแต่ บางกอกกล๊าส เอฟซี (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในชื่อปัจจุบัน), ศรีสะเกษ เอฟซี, เชียงใหม่ เอฟซี และ ขอนแก่น เอฟซี แต่บทบาทส่วนใหญ่ที่ได้รับ คือ การเป็นตัวสำรอง
เข้าสู่วงการลูกหนัง เพราะ เพื่อนสละสิทธิ์
พรชัย เริ่มต้นเส้นทางกีฬาฟุตบอล จากการชักชวนของเอเยนต์ ที่พามาทดสอบฝีเท้ากับโรงเรียนชื่อดังของกรุงเทพมหานคร แม้จะสมหวังเข้าสู่วงการลูกหนัง แต่มันมาจากการสละสิทธิ์ของเพื่อน
“สมัยมัธยมที่ผมเรียนอยู่ต่างจังหวัด มีเอเยนต์นักบอล เค้ามาชวนเพื่อนผมไปคัดที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ผมเลยตามไปด้วย ตอนนั้นเราเล่นเป็นผู้รักษาประตู ได้ไปเทสฝีเท้า แต่สุดท้ายไม่ผ่านการทดสอบ”
“เป้าหมายผม คือ อยากเล่นฟุตบอลจริงจัง เลยตระเวนหาที่คัดบอลต่อ ได้ไปคัดที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 ติดเป็นตัวสำรอง ทีนี้เพื่อนผมที่คัดติดก่อนหน้านี้ เค้าสละสิทธิ์ให้ ก็ได้เข้าไปเรียนที่สตรีวิทยา 2 และเล่นบอลยาวจนจบ ม.6”
เริ่มสัมผัสฟุตบอล “ไทยลีก”
ในระหว่างที่ พรชัย กสิกรอุดมไพศาล กำลังจะจบการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “ไกด์” ได้สัมผัสประสบการณ์อันล้ำค่า ด้วยการขึ้นไปซ้อมกับทีมชุดใหญ่ของ บางกอกกล๊าส เอฟซี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของการเล่นฟุตบอลไทยลีก
“จุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัวเองได้เล่นไทยลีก เป็นช่วงที่ผมกำลังเรียนจบที่ มศว. ตอนนั้นผมเรียนไปด้วย เล่นบอลไปด้วย ยังอยู่ในทีมชุดเล็กของ บางกอกกล๊าส เอฟซี สมัยนั้นเป็นทีม รังสิต เอฟซี”
“ช่วงปี 3 ผมผ่าตัดหัวเข่า แต่สโมสร บางกอกกล๊าส เค้ายังสนับสนุนผม ให้รักษาอาการบาดเจ็บ จนเข้าสู่ปีที่ 5 เป็นช่วงที่ฝึกสอน ผมบอกตัวเองว่าจะสู้ให้ถึงที่สุด ถ้าเรียนจบแล้ว ยังไม่ได้ขึ้นไทยลีก จะขอยุติเส้นทางนักฟุตบอลทันที จะไปตามเส้นทางสายอาชีพที่เรียนมา”
“แต่เหมือนโชคชะตาด้วยครับ ระหว่างที่อยู่ปี 5 ได้ขึ้นไปซ้อมกับทีมชุดใหญ่ บางกอกกล๊าส ได้พัฒนาตัวเอง มีเกมส์ให้ลงเล่นบ้าง เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้อยู่ในเส้นทางฟุตบอลอาชีพ”
ยุติเส้นทางฟุตบอลลีก เพราะเจ็บหัวเข่า
แม้จะผ่านการเล่นมาหลายสโมสร ได้แก่ บางกอกกล๊าส เอฟซี (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ชื่อปัจจุบัน) , ศรีสะเกษ เอฟซี, เชียงใหม่ เอฟซี และ ขอนแก่น เอฟซี แต่ต้องยอมรับว่า เขาไม่ได้ถูกเลือกให้เป็น 11 ผู้เล่นตัวจริง บวกกับอาการบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า ทำให้ “ไกด์” ตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ
“ช่วงที่ผมเล่นฟุตบอลอาชีพ มันเป็นช่วงที่ฟุตบอลไทยกำลังพีคสุดๆ ผมไต่เต้าเล่นไปเรื่อยๆ ได้ขึ้นมาไทยลีก จนกระทั่งวันนึงผมได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า ต้องผ่าเข่ารอบที่ 2 กลายเป็นว่า หาทีมเล่นก็ยากขึ้น ฐานเงินเดือนก็ลดลง แถมที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยได้เป็นตัวจริงด้วย ส่วนมากเป็นตัวสำรอง รู้สึกไม่ค่อยตอบโจทย์ เลยตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอลลีกครับ”
จุดเริ่มต้นฟุตบอลคนตาบอด
หลังจากที่เลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ และผันตัวไปเป็นโค้ชสอนเยาวชน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ได้มีรุ่นน้องชักชวนให้ไปเป็นผู้รักษาประตูทีมฟุตบอล ซึ่งทีแรก “ไกด์” เข้าใจว่าเป็นผู้รักษาประตูทีมสโมสร แต่แท้จริงแล้ว มันไม่ใช่เลย
“มีรุ่นน้องผม ทักเฟสบุ๊คมา ตอนนั้นเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพแล้ว ผมเป็นโค้ชสอนอะคาเดมี่ ที่สมุทรสงคราม น้องเค้ามาชวนว่า พ่อเค้าเป็นโค้ชชื่อ ก้องเกียรติ ก้องแดนไพร กำลังหาผู้รักษาประตูอยู่”
“ผมก็ถามว่า เป็นประตูทีมอะไร? น้องผมบอก ไม่ใช่ทีมพี่ แต่เป็นทีมฟุตบอลคนตาบอด ผมรีบตอบกลับไปเลยว่า โอเคครับ ทั้งๆที่ตอนนั้นไม่เคยรู้จักบอลคนตาบอดเลย แถมไม่มีข้อมูลอะไรสักนิด”
ความแตกต่าง ฟุตบอลปกติ กับ ฟุตบอลคนตาบอด
“สำหรับบอลคนตาบอด เค้าจะอิงกติกาของฟุตซอลมาใช้โดยส่วนใหญ่ ทั้งสนามแข่ง จำนวนผู้เล่น”
“ซึ่งฟุตบอลคนปกติ การมอง การสื่อสาร มันง่ายกว่าคนพิการ แต่พอเรามาเจาะลึกบอลคนตาบอด ต้องอาศัยความชำนาญมากๆ เกิดจากการฝึกซ้อมซ้ำๆ ฝึกจนชิน ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติผมได้บอล ผมโยนให้กองหลัง กองหลังจะมีตัวเลือกอยู่ในหัวทันทีว่า จะต้องวิ่งไปจุดที่ 1 หรือ จุดที่ 2 มันเป็นสิ่งที่ต้องซ้อมหนักกว่าฟุตบอลปกติเยอะเลยครับ ยิ่งน้องๆมองไม่เห็น ก็ต้องจับจุดสนามให้ได้อีกว่า ตอนนี้อยู่ตรงไหนของสนาม”
ปรับตัว สร้างความคุ้นเคยถึง 4 เดือน
แน่นอนว่า ฟุตบอลคนตาบอด มีความแตกต่างจากฟุตบอลทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนัก และอาศัยความเป็นทีมเวิร์คอย่างมาก ซึ่ง พรชัย กสิกรอุดมไพศาล ยอมรับว่า ใช้เวลาปรับตัวอยู่นานสมควรเลย
“ผมรู้สึกว่าบอลคนตาบอด ต้องใช้ความพยายามมากกว่าบอลคนปกติ ทั้งการเลี้ยง การจ่ายบอล การยิงประตู อย่าลืมว่าน้องๆเค้าไม่ได้เริ่มจาก 1 2 3 เหมือนคนปกติ”
“อย่างบอลปกติ ก็ฝึกไล่ตามสเต็ปมาเรื่อยๆ ไต่เต้ามาจนเล่นบอลอาชีพ แต่สำหรับน้องๆฟุตบอลคนตาบอด เค้าแค่มีใจรักอยากจะเล่น ไม่เคยฝึกกับสโมสร แต่มาซ้อมกับทีมชาติเลย เป็นสิ่งที่ยากมากๆ บางคนไม่เคยสนใจกีฬาฟุตบอล แต่โค้ชเห็นแววว่าน่าจะไปได้ ก็ให้มาซ้อมกับทีม”
“ตอนผมเข้ามาใหม่ๆ ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน กว่าจะปรับตัวได้ ผมเคยลองเอาผ้าปิดตาตัวเองดู กลายเป็นคนเตะบอลไม่เป็นทันที คือถ้าเราเหยียบบอลอยู่ แล้วเลี้ยงไป ยังไงบอลก็หลุดเท้า เรียกได้ว่าความสามารถสู้น้องไม่ได้เลย”
ความยากที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
พรชัย กสิกรอุดมไพศาล ยอมรับว่า การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติไทย ในฐานะผู้รักษาประตู ถือเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลย เพราะต้องเรียนรู้ทักษะอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะการยืนตำแหน่ง ที่มีความต่างจากฟุตบอลปกติ
“สำหรับความยากของผมในการเล่นบอลคนตาบอด คงเป็นเรื่องเส้น ซึ่งพื้นที่ที่ผมสามารถออกไปเล่นได้ มันค่อนข้างบีบ ผมลองมาวิเคราะห์ดูแล้ว เค้าออกแบบมาให้ตำแหน่งผู้รักษาประตูเสียเปรียบที่สุด ทำให้การยืนตำแหน่งมันผิดเพี้ยนไปหมด ถ้าเราจะปิดมุม ไปยืนตามมุมแบบฟุตบอลใหญ่จริงๆ มันจะออกนอกเขต”
“เพราะฉะนั้นถ้ายืนอยู่ในเขต จะต้องใช้ทักษะของฟุตซอลเข้ามาผสมด้วย อย่าลืมว่าผมไม่เคยผ่านการเล่นฟุตซอลมาก่อนเลย ถือเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายสุดๆ”
“และถ้าถามว่า ผู้รักษาประตูปกติ มาเล่นบอลคนตาบอด สามารถเล่นได้ครับ ถ้าเกิดโดนยิงนอกกรอบเขตโทษ ก็พุ่งปัดบอลปกติ แต่ถ้าหน้าเส้น 2 เมตรของประตู หากไม่ใช้ทักษะเฉพาะเจาะจงของฟุตบอลคนตาบอด ยังไงก็รับไม่ได้ เพราะน้องเค้าไม่เห็น เค้ายิงเต็มข้อ ยิงแรงๆหนักๆ ไม่เล่นทางแน่นอน ส่วนใหญ่จะเป็นลูกเลียด โชคดีที่ผมได้เทคนิคดีๆจาก เจอร์แมน อัลเบอร์โต มาร์เกวซ โค้ชอาร์เจนติน่า ในการเป็นผู้รักษาประตูคนตาบอดที่มีคุณภาพ แกสอนทั้งเรื่องการสั่งเกม และ การรับลูกในเขตโทษ"
อุปสรรคที่ต้องเผชิญ
“ถ้านอกสนามไม่มีเลยครับ เพราะอยู่กันแบบพี่น้อง เป็นเพื่อนเล่นกัน สนิทกันทุกคน”
“ส่วนในสนาม อุปสรรคหลักๆ คงเป็นเรื่องการสื่อสารครับ ต้องฟังหลายคนในสนาม อาจจะไม่เข้าจังหวะที่เราต้องการ ต้องใช้เวลาปรับจูนอยู่สักพักเลย ผมเริ่มจากผู้รักษาประตูที่เล่นบอลอาชีพมา ต้องมีความก้าวร้าว ตะโกนสั่งที่ดุดัน ซึ่งน้องบางคนเค้าไม่เคยเจอ จะมีความงงๆ และไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตะโกนว่า ก็ต้องเป็นผมที่ต้องเข้าไปอธิบายให้ฟัง”
“ช่วงที่ผมมาใหม่ๆ ผมตะโกนบอกน้องว่า อย่าฟาวล์ๆๆๆ พอพักครึ่งน้องมาบอกว่า พี่! ผมไม่ได้ฟาวล์นะ ทำไมพี่ต้องพูดอย่าฟาวล์ ถ้าเป็นฟุตบอลปกติ ทุกคนจะเข้าใจว่าเป็นการเตือนสติ ไม่ให้สมาธิหลุด ผมก็ต้องอธิบายวิธีการสั่งของเรา เพื่อจะได้จูนกับทีมติด
“แต่มาถึงวันนี้ ผมสามารถตะโกนด่า ตะโกนสั่ง อะไรก็ได้ในสนาม เค้าส่งบอลมาไม่ตรง ผมก็ด่า ผมจะกระตุ้น ให้เค้ามีสติอยู่ตลอดเวลา พอจบเกมส์ออกนอกสนาม ก็ขอโทษกัน เฮฮาตามปกติ”
ทัวร์นาเมนต์แรกของ “ไกด์” พรชัย
ฟุตบอลคนตาบอด เวิลด์ กรังด์ ปรีซ์ 2021 ที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ทีมชาติไทย จะคว้าอันดับ 4 มาครอง แต่ถือเป็นทัวร์นาเมนต์แรกอย่างเป็นทางการของ พรชัย กสิกรอุดมไพศาล
“ฟุตบอลคนตาบอด เวิลด์ กรังด์ ปรีซ์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ปี 2021 เราคว้าอันดับ 4 เป็นทัวร์นาเมนต์แรกของผมในนามทีมชาติด้วย ถามว่าตื่นเต้นมั้ย? ผมไม่ตื่นเต้นนะ แต่ผมงงกับ กฏ กติกา มากกว่า ก็เหมือนเป็นเวทีที่ได้ไปเรียนรู้ ได้เปิดโลกตัวเองว่า คนต่างชาติเก่งกว่าคนไทยนะ เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมเลย”
เกียรติประวัติที่ประทับใจ
“รายการแรก ฟุตบอลคนตาบอดชิงแชมป์เอเชีย 2022 ที่ประเทศอินเดีย เราเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ แต่ไปแพ้จุดโทษให้จีน มันเป็นความดีใจ บนความเสียใจพร้อมๆกันนะ เพราะถ้าได้แชมป์ เราจะได้โควต้าไปพาราลิมปิกที่ปารีสทันที แต่เราได้รองแชมป์ ซึ่งเป็นรองแชมป์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่ผมภูมิใจมากๆ คือ ได้รางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมเอเชีย ดีใจสุดๆครับ”
“พอมาปีนี้ ผมก็ได้แชมป์ อาเซียนพาราเกมส์ ที่ประเทศกัมพูชา ก่อนจะมาคว้าอันดับ 3 เหรียญทองแดง เอเชียนพาราเกมส์ ที่จีน”
เหรียญทองแดง เอเชียนพาราเกมส์ ความภูมิใจที่สุดในชีวิต
ฟุตบอลคนตาบอด เอเชียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 4 นัดชิงเหรียญทองแดง ทีมชาติไทย ดวลจุดโทษชนะ ทีมชาติญี่ปุ่น 1-0 คว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์มาครอง นอกจากจะสร้างความสุขให้กับคนไทยทั้งประเทศแล้ว ถือเป็นหนึ่งในแมตช์ที่ พรชัย กสิกรอุดมไพศาล ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตการเล่นฟุตบอล หลังเป็นเบื้องหลังเซฟจุดโทษได้ถึง 2 ครั้ง
“ตอนยิงจุดโทษลูกแรก ผมเซฟได้ แต่เรายิงไม่เข้า”
“ลูกที่สองผมเซฟได้อีก แต่น้องก็ยิงไม่เข้าอีก มันมีแว๊บนึงที่คิดว่า ทำไมเราถึงยิงไม่เข้า ผมท้อนะ แต่คิดอีกมุมว่า ถ้าเราถอดใจ น้องมันอาจจะถอดตามเรา”
“จุดโทษลูกที่ 3 กัปตันทีมญี่ปุ่นเค้ายิงออก ผมคิดในใจว่าต้องทำอะไรสักอย่างละ เลยเดินเข้าไปหา ประคอง ไปผลักแล้วตะโกนว่า ประคอง! ยิงไม่เข้า 2 คนแล้วนะ คนนี้อย่าให้พลาดล่ะ ตอนนั้นผมไม่ได้มองเพื่อนยิง ไม่อยากมองแล้ว ถ้ายิงเข้าเดี๋ยวเสียงเฮมาเอง พอยิงเข้าผมก็เดินมาดีใจของผมเองเลย”
“ตั้งแต่เล่นบอลไม่เคยร้องไห้มาก่อนเลย เหมือนยกภูเขาออกจากอก การได้เหรียญทองแดง สำหรับผมเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต เป็นความทรงจำที่จะไม่มีวันลืม”
บทบาทอื่นๆในทีมชุดนี้
“ถ้าพูดถึงในสนาม นอกจากผมเป็นผู้รักษาประตูแล้ว ก็นำความรู้ด้านฟุตบอลไปสอนน้องๆ โดยเฉพาะกองหลัง จะสอนเค้าเรื่องการเข้าบอล การเล่นเกมรับ ก่อนที่ผมจะเข้ามา ผู้รักษาประตูแทบจะทั้งหมดของบอลคนตาบอด ไม่ได้เป็นผู้รักษาประตูอาชีพ”
“ส่วนนอกสนาม ผมเหมือนเป็น จิตอาสา มากกว่า จะเป็นการหยิบของให้น้อง ตักข้าวให้น้องกิน พาไปซื้อของ ซึ่งเป็นสิ่งที่เค้าทำไม่ได้ ส่วนการใช้ชีวิตประจำวัน เราไม่ต้องไปช่วยอะไรเค้ามาก น้องๆเหมือนคนปกติเลย ทั้งการสั่งข้าว การเดินไปซ้อมระยะทางไกลๆ เค้าสามารถเดินได้โดยไม่ต้องมีคนพานำ พูดให้เห็นภาพรวมๆว่า ผมเข้าไปเติมเต็มมากกว่า”
ความท้าทายต่อจากนี้
อีกหนึ่งเป้าหมายของ พรชัย กสิกรอุดมไพศาล คือ การผลักดัน พัฒนารุ่นน้องให้มีศักยภาพสูงขึ้น ซึ่งภาพในหัวของ “ไกด์” อยากจะเห็นนักกีฬาหน้าใหม่ ก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยให้ได้มากที่สุด
“เป้าหมายผม อยากสร้างบุคลากรนักฟุตบอลคนตาบอดให้เก่งขึ้น ซึ่งทางสมาคมฯ พยายามผลักดันให้น้องๆ ที่อยู่ตามศูนย์ ตามโรงเรียนต่างๆ ได้เรียนรู้ ฝึกทักษะ เป็นโจทย์ที่ท้าทายเลย ว่าจะทำอย่างไรให้มีนักกีฬาหน้าใหม่ ขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่เยอะๆ อย่างน้อยถ้าเค้าได้มาติดทีมชาติ แน่นอนว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น ได้งานทำ ได้เงิน ได้อยู่ในสังคมที่มีคนคอยช่วยเหลือกัน”
ไม่หวนกลับสู่ผืนหญ้าอีกต่อไป
แม้ว่า “ไกด์” จะประสบความสำเร็จกับเวทีฟุตบอลคนตาบอด แต่เจ้าตัวยืนยันอย่างชัดเจนว่า จะไม่ขอกลับไปเล่นฟุตบอลปกติอย่างแน่นอน ต่อให้ได้รับข้อเสนอจากสโมสรยักษ์ใหญ่ระดับไทยลีกก็ตาม
“ผมไม่กลับไปเล่นบอลลีกอีกแล้วครับ ต่อให้มีทีมใหญ่ยื่นเข้ามา เต็มที่ขอแค่ไปซ้อมพอ ไปกระทบไหล่นักเตะดังๆให้ตัวเองมีความสุข”
“อยากจะขอบคุณตัวเองครับ ในฐานะเด็กบ้านนอกคนนึง ที่ฝันอยากเป็นนักบอลอาชีพ อยากติดทีมชาติ แม้มันจะล้มเหลว ต้องเป็นตัวสำรองเค้ามาตลอด แต่วันนี้ผมติดทีมชาติไทยแล้ว แม้จะเป็นบอลคนตาบอด แต่มันคือการติดทีมชาติ ผมภูมิใจที่ทำฝันเป็นจริง แค่นี้ก็นอนตายตาหลับแล้วครับ”
TAG ที่เกี่ยวข้อง