stadium

เคล็ดลับการเป็นแชมป์โลกยูยิตสูของ ‘พลับ” วราวุฒิ แสงศรีเรือง

31 ตุลาคม 2566

หากพูดชื่อกีฬา “ยูยิตสู” เชื่อว่าใครหลายๆคน คงตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยว่ามันคือกีฬาอะไร? กติกาเป็นแบบไหน? วิธีการเล่นเป็นอย่างไร? 

 

แม้กีฬาชนิดนี้ จะยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในประเทศไทย แต่สำหรับ “พลับ” วราวุฒิ แสงศรีเรือง นักกีฬายูยิตสูทีมชาติไทย ถือว่าประสบความสำเร็จ กอบโกยเหรียญรางวัลได้เป็นว่าเล่น และนี่คือบทสัมภาษณ์พิเศษของเด็กหนุ่มวัย 20 ปี จากจังหวัดขอนแก่น ที่เปิดใจกับทีม STADIUMTH แบบหมดเปลือก

 

 

อธิบายกีฬา “ยูยิตสู” ให้คนรู้จักมากขึ้นหน่อย? เชื่อว่าบางคนแทบไม่เคยได้ยินชื่อกีฬานี้ด้วยซ้ำ 

 

"สำหรับกีฬายูยิตสู ก็เหมือนเอา เทควันโด คาราเต้ และ ยูโด มารวมกัน แค่เพิ่มพวกท่าล็อคหักแขน หักขา จริงๆ ยูยิตสูมีมานานแล้วนะครับ มันเป็นของพวกนักรบซามูไร เล่นกันโหด เล่นกันแรง กระดูกหักจริง รัดคอก็รัดจริง ด้วยความที่การเล่นค่อนข้างอันตราย ก็เลยไม่ถูกหยิบมาเป็นกีฬา" 

 

"แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป และได้เข้ามาเป็นกีฬาจริงๆ มีกติกา ทุกอย่างก็ดูปลอดภัยขึ้น เชื่อมั้ยครับว่า ทุกวันนี้เวลามีคนเข้ามาถามว่า น้องเล่นกีฬาอะไร? พอผมบอกเล่นยูยิตสู เค้าก็ทำหน้างงใส่ทันที (หัวเราะ) และถามว่ามันมีด้วยเหรอกีฬานี้ เล่นยังไง ทำไมไม่เคยได้ยินเลย" 

 

 

ดูเหมือนว่า “ยูยิตสู” จะไม่ใช่กีฬาแรกของพลับ แต่มันคือ “เทควันโด”

 

"ใช่ครับ กีฬาแรกที่ผมเล่น คือ เทควันโด จุดเริ่มต้นมาจากเพื่อนข้างบ้านเค้าไปเรียนเทควันโด แล้วก็มาชวนผม ตอนแรกพ่อแม่ก็ไม่อยากให้ผมเล่น เค้ากลัวลูกเจ็บตัว แต่ผมอยากไปเล่นกับเพื่อนมากๆ เลยขอร้องอยู่พักใหญ่ สุดท้ายท่านก็ยอมให้ผมไปเรียน พอได้ไปเรียนเทควันโด ก็รู้สึกติดใจจริงๆ ชอบชุดที่เท่มากๆ และก็พวกท่าทาง เตะ ต่อย ที่ดูมีพลังครับ" 

 

"พอขึ้น ม.2 โค้ชที่โรงเรียนก็พา “ยูยิตสู” เข้ามา แกเดินมาชวนผมว่า จะลองเล่นดูมั้ยล่ะ? จังหวะนั้นผมก็ยืนคิดอยู่พักนึง เพราะไม่เคยรู้จักมาก่อน ยังจำได้แม่นว่า กลับถึงบ้านปุ๊บรีบไปเปิดคอม นั่งหาข้อมูลว่ามันคือกีฬาอะไร? วันรุ่งขึ้นลองไปหาคู่ ก็เป็นเพื่อนในยิมแหละครับ สุดท้ายผมแจ้งกับโค้ชว่า ขอตัดสินใจเล่นกีฬายูยิตสูอย่างเต็มตัว"

 

 

ต้องต่อสู้กับ “คำดูถูก” ตั้งแต่วัยเด็ก 

 

"สมัยเรียนอยู่มัธยม ผมเป็นเด็กที่โดนคนอื่นดูถูกมากมาย ตั้งแต่ได้มาเล่นยูยิตสู หลากหลายคำพูดวิ่งเข้ามาหาผมทันที ไล่ตั้งแต่ ไอนี่เนี่ยนะนักกีฬา? มันไปได้ไม่ไกลหรอก, อย่าฝันว่าจะได้ติดทีมชาติไทยเลย ฝันไปเถอะ, ชาตินี้ไม่มีทางหรอก เดี๋ยวมันก็กลับมาเรียนแล้ว"

 

"ถามว่าความรู้สึกที่ได้ยิน ก็บั่นทอนนิดนึงนะครับ เล่นเอาเป๋เหมือนกัน อย่างว่าแหละครับ บนโลกนี้มีคนรัก ก็ต้องมีคนเกลียด พยายามพูดกับตัวเองว่า อย่าไปใส่ใจคำพูดแบบนั้นเลย เก็บคำดูถูกเหล่านั้น เปลี่ยนมาเป็นพลังให้เราฮึดสู้ดีกว่า"

 

 

เล่าผลงานตั้งแต่รายการแรก จนถึง ล่าสุด ให้ฟังหน่อย 

 

"เอาเท่าที่จำได้นะครับพี่ (หัวเราะ) เริ่มแรกเป็น กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ที่สุพรรณบุรี ได้เหรียญเงิน, กีฬาเยาวชนแห่งชาติที่ชุมพร ได้เหรียญทอง, จากนั้นไปคัดตัวทีมชาติไทย เพื่อแข่งไทยแลนด์ โอเพ่น ผมก็ได้เหรียญทอง"

 

"รายการชิงแชมป์โลก ปี 2018 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อนไปไม่ได้คิดว่าจะได้เหรียญอะไรนะครับ ขอแค่ได้ไปแข่ง เอาประสบการณ์ก็ถือว่าเกินคาดแล้ว แต่ปรากฏว่า ได้เหรียญทอง เป็นคู่ ชาย-ชาย"

 

"รายการชิงแชมป์โลก ปี 2019 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปในฐานะแชมป์เก่า แต่ผมก็เสียแชมป์ ได้แค่เหรียญเงิน พอหลังจากนั้นเป็นช่วงโควิดครับ ไม่มีทัวร์นาเมนต์แข่ง ก็เน้นเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นหลัก"

 

"ปี 2021 รายการชิงแชมป์เอเชีย ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผมลงแข่งทั้ง คู่ชาย-ชาย และ คู่ชาย-หญิง ผมได้เหรียญทองทั้ง 2 ประเภทเลย ถัดมาในปีเดียวกันไปแข่งชิงแชมป์โลก ที่สหรัฐอเมริกา ประเภทคู่ชาย-หญิง รายการนี้ได้เหรียญเงินครับ"

 

"ปี 2022 ไปแข่งรายการเวิลด์เกมส์ ที่สหรัฐอเมริกา เล่นคู่ชาย-หญิง ได้เหรียญทองมาครอง" 

 

"ปี 2023 ซีเกมส์ล่าสุดที่กัมพูชา ได้เหรียญทองเช่นกันครับ และรายการล่าสุด เป็นชิงแชมป์โลก ที่ประเทศมองโกเลีย ก็มาได้เหรียญทองอีกครั้ง"

 

 

เคล็ดลับความสำเร็จของพลับ คืออะไร?

 

"ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร ก่อนซ้อมผมจะทำหัวให้โล่งๆ ไม่คิดอะไรที่มันเครียด ถึงเวลาซ้อมก็ใส่ให้เต็มที่ มุ่งมั่นเกินร้อย ทำเหมือนจะไม่ได้ซ้อมอีกต่อไปแล้ว ถ้าอยากเก่งก็ต้องซ้อมให้มากกว่าคนอื่น หลังซ้อมเสร็จถ้าผมมีเวลา ก็จะนั่งไล่ดูเทปเก่าๆ ศึกษาข้อผิดพลาดว่าจุดไหนที่ควรต้องปรับแก้ จุดไหนที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ผมอยากเป็นคนที่น้ำครึ่งแก้ว พร้อมเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา"

 

 

เหตุการณ์ประทับใจที่สุด

 

"ต้องเป็นรายการ “เวิลด์เกมส์ ปี 2022” ที่รัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกาเลยครับ มันเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ผมอยากไปมากจริงๆ รายการนี้ต้องทำอันดับให้ดีด้วยถึงจะได้ไปแข่ง ก่อนไปผมกับ พี่มุก (ลลิตา ยืนนาน) คุยกันว่าขอแค่ติด 1 ใน 3 ก็พอใจแล้ว" 

 

"เชื่อมั้ยพี่ว่าถึงเวลาแข่งจริง ไม่รู้มีอะไรเข้าสิง พวกผมดีดมากๆ ฟิวแบบเฮ้ยต้องโชว์ให้คนทั้งโลกเห็นว่า คนไทยก็ทำได้ ผมกับพี่มุกใส่กันเต็มที่เลย อารมณ์เหมือนซ้อมกันอยู่ จนสุดท้ายเราได้เหรียญทอง เป็นความรู้สึกที่มาไกลจริงๆ"

 

 

“กีตาร์” เพื่อนคู่ใจที่อยู่เคียงข้างเสมอ

 

"เรียกว่าเป็นเพื่อนรักเลยก็ว่าได้ครับ ส่วนมากถ้าผมซ้อมเสร็จ ก็จะใช้เวลาอยู่กับกีตาร์อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เวลาเครียดๆจากการซ้อม ผมจะรีบหยิบกีตาร์มาเล่นเลย โดยส่วนตัวแล้ว กีตาร์กับยูยิตสู สามารถมาประยุกต์ใช้ด้วยกันได้ มันช่วยให้ผมมีสมาธิ จัดลำดับความคิดได้ดี" 

 

"ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราดีดกีตาร์แล้วเล่นผิดคีย์ มันก็จะเพี้ยนไปหมดเลย ยูยิตสูก็เหมือนกัน ถ้าเราเล่นพลาดทีเดียว ก็จะผิดคิวยาวเลย คู่ของเราก็จะรวนไปหมด ผมถึงบอกว่ากีตาร์นั้นมีบทบาทกับชีวิตผมจริงๆ ขาดไม่ได้เลยล่ะครับ" 

 

 

คำถามสุดท้าย อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจกีฬายูยิตสูบ้าง? 

 

"สำหรับผมเสน่ห์ของกีฬายูยิตสู หลายคนอาจจะมองว่ามันรุนแรง แต่จริงๆไม่เลยนะครับ เป็นอะไรที่สนุกมาก ใครที่อยากเล่นผมแนะนำไปลองได้เลยครับ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ผมอยากให้คนสนใจกีฬานี้กันเยอะๆ โดยเฉพาะเยาวชนที่สามารถเล่นเพื่อเป็นศิลปะการป้องกันตัวในชีวิตประจำวันได้ด้วย" 

 

"เมื่อก่อนแทบไม่มีใครรู้จักยูยิตสูเลย แต่เดี๋ยวนี้คนรู้จักมากขึ้นเยอะ ก็คงมาจากการโปรโมทตามเพจต่างๆ ที่ทำให้กีฬาชนิดนี้เริ่มเป็นคนรู้จัก สำหรับผมรู้สึกดีใจนะครับ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ ยูยิตสู ก็หวังว่าจะเป็นทิศทางที่ดีขึ้น ผมก็อยากเห็นนักกีฬายูยิตสูคนต่อๆไป ก้าวขึ้นมาคว้าเหรียญรางวัล เพื่อประเทศชาติของเรา"


stadium

author

"เจมส์จินโญ่" ธัมมสาร อ่อนเกิดแก้ว

StadiumTH Content Creator / รักเชลซี พิคานย่า และ ทุกอย่างที่เป็นบราซิล

La Vie en Rose