stadium

ปรวิทย์ เตาวะโต : เส้นทางบนพื้นทรายที่ไม่มีคำว่า “ง่าย”

30 ตุลาคม 2566

“ความพยายาม” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ แม้เส้นทางจะยากแค่ไหน แต่ถ้าเรามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พยายามต่อสู้ทุกอุปสรรค เส้นชัยอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

เช่นเดียวกับ “ตั้ม” ปรวิทย์ เตาวะโต หนุ่มวัย 22 ปี จากจังหวัดสตูล ที่เส้นทางชีวิตเต็มไปด้วยความท้าทาย ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จ ก้าวขึ้นมาเป็นนักวอลเลย์บอลชายหาดทีมชาติไทย เขาต้องพบเจอกับอะไรมาบ้าง? คงไม่มีใครเล่าได้ดีไปกว่าเขาอย่างแน่นอน
 

ปรวิทย์ เตาวะโต (สวมเสื้อหมายเลข 3)


รู้จักวอลเลย์บอล เพราะ “กีฬาสี” 


ย้อนกลับไปในสมัยประถมศึกษาปีที่ 3 ปรวิทย์ เตาวะโต เริ่มต้นเล่นกีฬาด้วยการเป็นนักวิ่งของโรงเรียน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งแม้ว่าเด็กหนุ่มจากสตูล จะหันไปเอาดีกับการเล่นตะกร้อ แต่สุดท้ายกีฬาวอลเลย์บอล เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “ตั้ม” ได้สัมผัสประสบการณ์ครั้งใหม่ จากการแข่งขันกีฬาสีที่โรงเรียน 

“ตอน ป.3 กีฬาแรกที่ผมเล่นคือ กรีฑา ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งจังหวัด แต่คัดไม่ผ่าน เลยเลิกเล่น จากนั้นพ่อแม่ย้ายไปกรีดยางที่สงขลา เลยย้ายตามไป อยู่ที่นั่นผมเล่นตะกร้อ คัดจังหวัดผ่านได้เป็นแชมป์ด้วย แต่น่าเสียดายที่โค้ชป่วยเข้าโรงพยาบาล เลยไม่ได้ไปแข่งต่อรอบภาค” 

“หลังจากนั้น พ่อแม่ได้ย้ายกลับมาที่สตูล ทีนี้โรงเรียนมีงานกีฬาสีพอดี แม่ก็พาไปดู ตรงนี้แหละทำให้ผมรู้จักกีฬาวอลเลย์บอล พอจบกีฬาสีแม่ชวนไปดูกีฬาตำบล และพาผมไปทำความรู้จักกับโค้ชที่คุมทีมจังหวัดสตูล” 

 

“และเป็นความโชคดีที่โค้ชมาซ้อมแถวบ้านด้วย แม่ก็พาไปลองคัดตัว ช่วงนั้นผมเล่นไม่ดี ปรับจังหวะไม่ค่อยได้ แต่ทีมเค้าขาดนักกีฬา เลยได้ไปแข่งเป็นตัวแทนจังหวัดไปแข่งรอบภาค แต่สุดท้ายไม่สมหวัง ไม่ได้ไปต่อในรอบประเทศ แต่ในใจผมรู้สึกว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว”   

 

 

ออกจากบ้าน ตามล่าฝันเต็มตัว


หลังจากจบประถมศึกษาปีที่ 6 ปรวิทย์ เตาวะโต ได้ตัดสินใจอนาคตตัวเองอย่างชัดเจนว่า ต้องการเดินหน้ามุ่งสู่วอลเลย์บอลอย่างเต็มตัว แม้เส้นทางต่อจากนี้อาจไม่ค่อยราบรื่นนัก

“พอจบ ป.6 ชินวัชร์​ ท่าเทศ โค้ชสมัยประถม มาหาที่บ้าน เค้าถามผมสั้นๆว่า จะเรียนต่อ หรือ จะเล่นวอลเลย์บอล ผมตอบแบบไม่ลังเลเลยว่า ขอลุยวอลเลย์บอลเต็มตัว โค้ชบอกว่า มีหัวหน้าผู้ฝึกสอนจากภูเก็ตติดต่อมา อยากได้นักกีฬาไปร่วมทีม”

 

“ผมเลยตัดสินใจไป มันเป็นการออกจากบ้านตั้งแต่ ม.1 ไปเรียนต่อที่ภูเก็ต ได้เล่นวอลเลย์บอลในร่ม แต่เป็นตัวสำรองซะส่วนใหญ่ อยู่ดีๆก็มีโค้ชคนนึง ชื่อ อาจารย์กิตติพงศ์ เกื้อเส้ง ได้ชวนผมมาเล่นวอลเลย์บอลชายหาด”

 


วอลเลย์บอลชายหาด “ความสุขที่แท้จริง”


นับต่อจากนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ตั้ม” ในการได้รู้จักกับกีฬา “วอลเลย์บอลชายหาด” อย่างเต็มตัว แม้จะต้องล้ม ลุก คลุก คลาน อยู่บนพื้นทราย แต่มันกลับเป็นความสนุก ที่ทำให้ชีวิตของ ปรวิทย์ เตาวะโต ได้พบกับความสุขที่แท้จริง

“หลังจากได้เริ่มเล่นวอลเลย์บอลชายหาด รู้สึกแปลกมากๆ ไม่ค่อยชินเลย มันเป็นการนับหนึ่งใหม่ ใช้เวลาปรับจังหวะอยู่พักใหญ่เลย แต่พอเล่นไปเล่นมา กลับชอบ ติดใจมากๆ ได้ล้มบนทราย สนุกดี ช่วง ม.1- ม.2 ยังไม่สมหวัง แต่พอเข้าช่วง ม.3 ได้ไปเล่นข้ามรุ่น ในชุดไม่เกิน 18 ปี เล่นคู่กับรุ่นพี่ ไปแข่งกีฬานักเรียนองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) รอบประเทศ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด สุดท้ายได้อันดับ 3 มา” 

“จบ ม.3 ผมไม่มีคู่ อีกอย่างโรงเรียนมีถึงแค่ชั้น ม.3 ด้วย แต่โค้ชผม (อาจารย์กิตติพงศ์ เกื้อเส้ง) เค้ารู้จักกับโค้ชที่กาฬสินธุ์ แกเล่าว่า ที่นั่นมีโรงเรียนที่เก่งวอลเลย์บอลชายหาดมาก สร้างนักกีฬาติดทีมชาติหลายคน ผมเองมีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากติดทีมชาติไทย โค้ชเลยส่งผมมาเรียนที่โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์” 
 


ก้าวขึ้นสู่ทีมชาติไทย ชุดเล็ก

 

หลังจากที่ย้ายมาอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ในช่วง ม.ปลาย ปรวิทย์ ได้ติดทีมชาติไทย ชุดอายุไม่เกิน 21 ปี แม้ผลการแข่งขันจะไม่สมหวังก็ตาม แต่สำหรับเด็กหนุ่มจากจังหวัดสตูล มันคือฝันที่เป็นจริง ที่ได้สวมเสื้อทีมชาติไทย 

 

“พอย้ายมาอยู่ที่กาฬสินธุ์ ช่วง ม.4 ยังไม่ได้มีโอกาสไปคัด จนขึ้น ม.5 ได้มีโอกาสไปคัด ยู-21 ตื่นเต้นมากครับ มันเป็นการติดทีมชาติครั้งแรกในชีวิต โทรบอกพ่อแม่ปุ๊บ เค้าร้องไห้ทันที ฉลองกันใหญ่เลย”

 

“แม้จะไม่ใช่ทีมชาติชุดใหญ่ แต่สำหรับผม มันคือความฝันที่อยู่ในหัวมาทั้งชีวิต ว่าสักวันจะติดทีมชาติให้ได้”

 

 

ทัวร์นาเมนต์แรกในนามทีมชาติ


วอลเลย์บอลชายหาดชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นรายการแรกของ ปรวิทย์ เตาวะโต ในสีเสื้อทีมชาติไทย ซึ่งแม้จะตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่เจ้าตัวมองว่าเป็นประสบการณ์อันยอดเยี่ยม และเป็นแรงผลักดันชั้นดี ที่จะต้องยืนบนโพเดียมให้ได้

 

“รายการชิงแชมป์เอเชีย ยู-21 ที่ร้อยเอ็ด เป็นการติดทีมชาติไทยครั้งแรกของผม ตอนวันแข่งกองเชียร์เข้ามาดูเยอะมาก เต็มสนามเลย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนะครับ ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย แม้จะไม่ได้ไปต่อ แต่ได้ประสบการณ์เยอะมาก มันเป็นแรงผลักดันที่ต้องพัฒนาตัวเอง ผมอยากขึ้นโพเดียมรับรางวัลในนามทีมชาติให้ได้”

 

“พอจบรายการนี้ ก็ไปเรียนต่อจนจบ ม.6 จนกลับมาติดทีมชาติอีกครั้ง เพราะรายการชิงแชมป์เอเชีย ยู-21 จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ผมลงแข่งขันจนสุดท้ายได้ที่ 2 มาครอง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเองคว้าอันดับ 2 มาจากประสบการณ์ที่มีมากขึ้น บวกกับความตื่นเต้นที่ลดน้อยลง”  
 

 

คว้าเหรียญเงินแรก ในฐานะทีมชาติชุดใหญ่


หลังประสบความสำเร็จคว้าอันดับ 2 วอลเลย์บอลชายหาดชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ปรวิทย์ เตาวะโต ก็ได้ก้าวขึ้นมาติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ ซึ่งภารกิจแรกที่ได้รับ คือ การแข่งขันซีเกมส์ 2021 ที่ประเทศเวียดนาม และเจ้าตัวไม่ทำให้คนไทยผิดหวัง เมื่อจับคู่กับ พิทักษ์ ทิพย์จันทร์ คว้าเหรียญเงินมาครอง

“พอติดทีมชาติไทย รุ่น 21 ปีแล้ว โค้ชทีมชุดใหญ่ก็เปิดโอกาสให้น้องๆ มาซ้อมด้วย ผมก็เป็นคู่ซ้อม มาเก็บบอลให้พวกพี่เค้า จนกระทั่งโค้ชเรียกขึ้นมาติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ โอ้วตื่นเต้นหนักกว่าเก่าอีก เพราะการติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ครั้งนี้ ผมสามารถลบคำดูถูกของครูสมัยประถม ที่เคยบอกผมว่า “อย่างเอ็งน่ะ เล่นวอลเลย์บอลไปไกลสุดก็แค่ภูเก็ต” นี่คือคำพูดที่ผมจำได้จนถึงวันนี้”

“ภารกิจแรกกับทีมชาติไทยชุดใหญ่ คือ ไปแข่งซีเกมส์ที่เวียดนาม เป็นงานใหญ่ด้วย ทำตัวไม่ค่อยถูก แต่สุดท้ายผมกับ ยู (พิทักษ์ ทิพย์จันทร์) รวมพลังสู้อย่างเต็มที่ จนคว้าเหรียญเงินให้ทีมชาติไทยได้สำเร็จ ภูมิใจมากครับ”

 


ความแตกต่างที่คุณอาจไม่รู้


การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี กับ วอลเลย์บอลชายหาดชุดใหญ่ ดูเผินๆอาจไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ลึกๆแล้ว มีกฏบางอย่างที่เชื่อว่าหลายคนอาจไม่รู้มาก่อน (รวมถึงผู้เขียนด้วย) 

 

“สำหรับความต่างระหว่าง ชุดยู-21 กับ ชุดใหญ่ ก็คือ ชุด ยู-21 สามารถมีโค้ชไปนั่งข้างสนามได้ แก้เกมได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นชุดใหญ่ โค้ชไม่สามารถลงไปได้ มีแค่นักกีฬา 2 คนเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องแก้เกมกันเอง”

 

“อย่างคู่ผม พิทักษ์ ทิพย์จันทร์ เค้าก็เล่นในร่มมา ไม่ได้เริ่มจากชายหาดแบบผม ต้องมาปรับตัวกันพักใหญ่เลย กว่าจะเล่นกันลงตัว”

 

 

ผสมผสานกันอย่างลงตัว


สิ่งที่ทำให้ ปรวิทย์ เตาวะโต ประสบความสำเร็จ คงเป็นใครไม่ได้นอกจาก “ยู” พิทักษ์ ทิพย์จันทร์ บัดดี้คนสำคัญที่จับคู่ลุยด้วยกันมาโดยตลอด และการคว้ารองแชมป์ "บีช โปร ทัวร์ 2023" ระดับฟิวเจอร์ส ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมในปีนี้

“สำหรับ ยู พิทักษ์ เป็นคนที่มองโลกในแง่บวกมาก สามารถพูดคุย ปรึกษาได้ทุกเรื่อง รู้สึกสบายใจที่ได้เล่นด้วยกัน เวลาผมท้อ ขอแค่ได้คุยกับเพื่อน ทุกอย่างก็จะดีขึ้น”

 

“รายการบีช โปร ทัวร์ ที่ออสเตรเลีย เราคว้ารองแชมป์มาได้ เป็นความรู้สึกที่ดีมาก สำหรับผมถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ยอดเยี่ยมในปี 2023 นี้เลย ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ ทำให้ดีที่สุด”

 

 

แรงผลักดันจากครอบครัว


ในการแข่งขันมาคู่กับความสมหวังและผิดหวัง หากวันไหนเล่นดี ก็มีแต่คำชื่นชม แต่ถ้าวันไหนเล่นไม่ดี ได้รับความพ่ายแพ้ ทุกสายตาจับจ้องมาที่ตัวคุณอย่างแน่นอน และอาจทำให้เราสูญเสียความมั่นใจไป เหมือนกับช่วงแรกของเค้าที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังมีครอบครัวเป็นกำลังใจอยู่เสมอ  

“เวลาผมแพ้บ่อยๆ มีเป๋เหมือนกัน ก็ได้ครอบครัวนี่แหละครับที่คอยให้กำลังใจมาโดยตลอด โดยเฉพาะลูกที่ทำให้ตัวเองมีพลังพร้อมสู้ต่อไป”


“ซึ่งก่อนจะมีลูก เวลาไปแข่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่พอมีน้องอลิช ไปแข่งรายการไหนก็มีแรงฮึด มันเหมือนมีพลังวิเศษ อยากชนะเพื่อลูก อยากได้เงินรางวัลมาดูแลครอบครัว”

 

“ส่วนที่มาของชื่อน้องอลิช พอดีผมคุยกับภรรยา ให้ต่างคนต่างคิดชื่อมาคนละ 3 ชื่อ แล้วมาเลือกกัน ทีนี้ชื่อ อลิช เป็นชื่อที่คิดมาตรงกันเลย เลยเลือกชื่อนี้ และช่วงที่ต้องไปแข่งต่างประเทศ เป็นระยะเวลานานๆ ก็จะวิดีโอคอลหาลูก หาภรรยา ให้หายคิดถึง ช่วยได้เยอะเลยครับ”

 

ต้องมาดูกันว่า ผลงานต่อจากนี้ของ ปรวิทย์ เตาวะโต ในกีฬาวอลเลย์บอลชายหาด จะเป็นอย่างไร? แต่ที่แน่ๆ ความฝันวัยเด็กของนักตบลูกยางจากสตูล ว่าอยากติดทีมชาติไทยสักครั้ง วันนี้มันกลายเป็นความจริงแล้ว 


stadium

author

"เจมส์จินโญ่" ธัมมสาร อ่อนเกิดแก้ว

StadiumTH Content Creator / รักเชลซี พิคานย่า และ ทุกอย่างที่เป็นบราซิล

La Vie en Rose