17 มิถุนายน 2566
จากความฝันเพื่อการเป็นนักวิ่งทีมชาติ แม้เส้นทางไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ชีวิตก็พลิกผันเมื่อโอกาสครั้งใหญ่มาถึง ด้วยการติดทีมชาติในฐานะ ไกด์รันเนอร์เพื่อนักวิ่งผู้พิการทางสายตา ...นี่คือเรื่องราวสู่การเป็นตัวแทนทีมชาติไทย ของ เมฆ ภราดร ราษี สู่ฮีโร่อาเซียนพาราเกมส์ 2023
ก้าวแรกสู่วงการวิ่ง
แม้จะเริ่มวิ่งช้ากว่าคนทั่วไป แต่ความฝันและความมุ่งมั่นของ "เมฆ ภราดร" ก็มีไม่น้อยกว่าคนอื่น เมฆเล่าว่า เขาเริ่มวิ่งตอนมัธยมปีที่ 2 ตอนนั้นเรียนอยู่ที่โรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย จังหวัดสุรินทร์ ตอนนั้นยังไม่วิ่งแบบจริงจัง แค่วิ่งเพื่อความสนุกเท่านั้น
"ตอนนั้นไม่ได้ซ้อมแบบมีโค้ชอะไร จนไปขอครูวิ่ง 3 โล 5 โล วิ่งเช้าเย็น จนได้เป็นตัวแทนจังหวัด คัดตัวภายในสมัย ม.3 จน ม.5 ได้ไปแข่งระดับประเทศ"
ณ การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ เวทีการแข่งแจ้งเกิดของเด็กไทยหลายคน เมฆลงแข่งวิบาก 2000 เมตร และได้เหรียญทองแดงกลับมา "ภูมิใจ ดีใจ ผมถนัดระยะนี้ และเลือกแข่งรายการนี้เพราะรู้ว่ามีโอกาสชนะมากกว่า"
นับจากวันนั้น เมฆได้รับโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิตทั้งการได้รับราชการสังกัดกองทัพเรือในฐานะนักวิ่ง นั่นทำให้เมฆสามารถทุ่มเวลาในการซ้อมวิ่งเพื่อพัฒนาตัวเองได้ โดยตอนนั้นเขาเริ่มมีความฝันอยากติดทีมชาติสักครั้ง
"เดือนตุลาปีที่แล้ว (2565) ผมก็ขอมาซ้อมกับโค้ชโถม (โค้ชโถม ยองใย โค้ชประจำทีมโรงเรียนกรีฑากรุงเทพฯ) ใจตอนนั้นคิดว่า วิ่งมาก็หลายปี อยากได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง อยากมีโค้ชจริงๆ ก็เลยอยากมาซ้อมกับโค้ชโถม"
โค้ชโถมนั้น เป็น 1 ในโค้ชที่ปั้นนักวิ่งทีมชาติมาแล้วมากมาย ทั้ง น่าน ศุภนิช พูลเกิด สาวสปริ้นท์เตอร์ทีมชาติไทย และบุญนัม เชิดชัย ภูตาโก นักวิ่งระยะกลาง-ไกลทีมชาติไทย จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการวิ่งบ้านเรา
จุดเปลี่ยนจาก "โค้ชโถม"
หลังจากซ้อมกับโค้ชโถมได้ 2 เดือน เมฆก็เริ่มได้ลงแข่งระดับประเทศอีกครั้ง คือรายการชิงแชมป์ประเทศไทย โดยลงแข่ง 1500 และ วิบาก 3000 เมตร ซึ่งตอนนั้นเมฆแข่งกีฬากองทัพเรือควบคู่กันไปด้วย ทำให้อยู่ในจุดที่ต้องตัดสินใจว่า จะมุ่งไปในทางใด
"ใจตอนนั้นอยากมุ่งไปในทางเรื่องงานแล้วเบาเรื่องวิ่ง ไปฝึกทหารให้ดี แต่หลังแข่งชิงแชมป์ฯ โค้ชโถมมาบอกว่า มีคนติดต่อให้ไปเป็นไกด์รันเนอร์ ไปวิ่งกับคนตาบอด ตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยว่าหมายถึงอะไร"
แต่เมฆก็ตอบรับ เพราะอยากมีรายได้เพิ่มจากเบี้ยฝึกซ้อม และยังได้วิ่งควบคู่กันไปด้วย เพราะการวิ่งเป็นกีฬาที่รัก และทำมาตลอดเกือบสิบปี นั่นทำให้เมฆได้มาเก็บตัวกับ พี่ซุป ศุภชัย สงพินิจ นักวิ่งผู้พิการทางสายตา
เมฆบอกว่าการซ้อมไม่ต่างจากนักวิ่งปกติ หนักเหมือนกัน ต้องใช้เทคนิกเหมือนกัน รวมทั้งยังต้องฝึกเรื่องการสื่อสารระหว่างกัน เพราะทั้งสองคนต้องวิ่งไปด้วยกัน แต่มีหนึ่งคนที่มองไม่เห็น
"เขาเป็นรุ่นพี่ผม แต่เราปรับหากันได้ง่ายมาก เลยวิ่งด้วยกันง่าย ช่วยกัน ผลักดันกันดี ต่างฝ่ายต่างรู้แรงกัน ก็ไปเก็บตัวที่โคราช 3 เดือน"
จากวันนั้น...สองความฝันรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเป้าหมายเหรียญทองในอาเซียนพาราเกมส์
ดวงตาของนักวิ่งผู้พิการ
"ผมอยากติดทีมชาติอยู่แล้ว ตั้งแต่วิ่งมา คือ อยากติดในฐานะคนทั่วไป แต่ได้โอกาสทางนี้มาก่อน เราก็คิดว่าได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศเหมือนกัน จึงเลือกทางเดินนี้"
เมฆและพี่ซุปลงแข่งอาเซียนพาราเกมส์ 2023 ทั้งหมด 3 รายการ คือ 1500 เมตร 800 เมตร และ 400 เมตร ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติรายการแรกของเมฆ
ชัยชนะคือผลตอบแทนของความทุ่มเท เมฆและพี่ซุป วิ่งเคียงข้างกัน คว้า 2 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดงให้กับทีมชาติไทยได้สำเร็จ เป็นการคว้าเหรียญได้ทุกรายการที่ลงแข่งขัน
"รู้สึกดีใจมากๆ พูดไม่ออก ผมเป็นดวงตาให้เขา แล้วทำให้เขาชนะได้ พี่ซุปก็ดีใจมาก ...นี่เป็นจุดเริ่มต้นของผมในฐานะทีมชาติ แต่ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของพี่ซุป เพราะเขารับใช้ชาติมา 20 ปีแล้ว"
การเป็นไกด์รันเนอร์ ไม่ใช่แค่การสานฝันของเมฆ แต่เป็นการนำทางสู่ชัยชนะของซุป นักวิ่งผู้พิการทางสายตาที่มีความสามารถทางการวิ่ง แต่ไม่สามารถวิ่งได้โดยลำพัง เมฆบอกว่า หลังจากนี้หากมีโอกาสเป็นไกด์รันเนอร์อีก เขาก็พร้อมรับบทบาทนี้อีกครั้ง
"อยากขอบคุณทุกคนที่มีส่วนทำให้มีวันนี้ ทั้งครูคนแรก โค้ชโถม ครอบครัว ต้นสังกัด และทุกๆ คน"
TAG ที่เกี่ยวข้อง