stadium

"จิมมี่" พิฆเนศ สุขหยิก ความภูมิใจ LGBTQ ผู้เป็นกระบอกเสียงของนักกีฬา

7 มิถุนายน 2566

ต้อนรับ "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ สำหรับแวดวงการกีฬาวันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “จิมมี่" พิฆเนศ สุขหยิก นักกีฬาคิกบ็อกซิ่งทีมชาติไทย นักกีฬาต่อสู้คนแรกๆ ของโลกที่เปิดตัวเป็น LGBTQ โดยตลอดเส้นทางของเธอไม่ได้ต่อสู้แค่บนสังเวียนเท่านั้น แต่ยังร่วมต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม เป็นกระบอกเสียงแห่งความภาคภูมิใจให้กับกลุ่มคน LGBTQ

 

ตลอดเส้นทางทั้งการเป็นนักกีฬาและ  LGBTQ จิมมี่ ต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักกว่าที่จะประสบความสำเร็จจนได้รับการยอมในสังคมอย่างทุกวันนี้ เธอต้องฝ่าฝันอะไรมาบ้าง ติดตามไปพร้อมกันที่นี่

 

 

 

ค้นพบตัวตนของ “จิมมี่”

 

“สวัสดีค่ะ ชื่อ จิมมี่ หรือ จิมมี่ มิสแกรนด์ คิกบ็อกซิ่งงงงง” ปลายเสียงแหลมสูงที่ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ ฟังเผินๆ อาจชวนแสบแก้วหู แต่จริงๆ แล้วน้ำเสียงกลับเต็มไปด้วยความสดใสอย่างเป็นธรรมชาติและน่าฟัง

 

หลังทักทายกันเสร็จเรียบร้อย ผมสัมผัสได้ถึงเสน่ห์และความน่ารักของเธอ ไม่แปลกที่คนรอบข้างจะหลงรักและพร้อมอยู่เคียงข้างในวันที่ถูกกระแสดราม่าโถมเข้าใส่อย่างหนัก แต่ก่อนจะเล่าไปถึงท้ายเรื่อง ขอเกริ่นกลับมายังจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของจิมมี่กันก่อน

 

“จิมมี่ในวัยเด็กหรอคะ เราเป็นคนที่มีความเฟียสๆ (สวย เริ่ด) นิดหน่อย เพราะเราค้นพบตัวตนตั้งแต่เด็กเลยว่าเราชอบผู้ชาย คือมีโมเมนต์นึงเราชอบเพื่อนผู้ชายอายุประมาณ ป.1 เราชอบผู้ชายคนนึง แล้วเราเหมือนเป็นนางเอกซีรีส์เกาหลีก็คือไปนั่งรอเขาที่หน้าเสาธง รอไปเข้าแถวพร้อมกัน นั่นเป็นจุดเริ่มว่าเราเป็นเพศทางเลือกแน่นอน”

 

การค้นพบตัวตนของจิมมี่แม้จะเกิดขึ้นเร็วและได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัวก็จริง แต่ทว่าลึกๆ แล้ว ก็ยังมีความพยายามว่าจะเปลี่ยนใจจิมมี่ให้กลับมาเป็นผู้ชายอีกครั้ง และจากคาดหวังนี้เองที่ทำให้เธอได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักกีฬาทีมชาติ

 

“ตอนเด็กๆ หนูเป็นนักกีฬาโรงเรียนอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นนักกีฬาต่อสู้ เพราะเรากลัวเจ็บ แถมยังรักสวยรักงามด้วย ถึงพ่อแม่จะเข้าใจแต่ท่านก็ยังคิดว่ามันน่าจะมีวิธีที่เปลี่ยนเราให้กลับมาเป็นผู้ชายได้อีกครั้ง ก็เลยแนะนำให้หนูไปเล่นกีฬาต่อสู้อย่างคาราเต้”

 

“ช่วงนั้นเป็นจังหวะที่พี่หนูซึ่งเป็นญาติกัน เขากลับมาจากโรงเรียนกีฬานครศรีธรรมราช ซึ่งเขาเป็นนักกีฬาคาราเต้โด เหมือนกับว่าพี่กลับมาบ้านแล้วพฤติกรรมดีขึ้น อะไรหลายอย่างๆ เปลี่ยนไป มีผลงานด้านกีฬา แม่ก็เลยชักชวนให้หนูไปเล่นคาราเต้ดูเผื่อจะเปลี่ยนเราได้บ้าง แต่ตอนนั้นหนูกลัวเจ็บเลยบอกแม่ไปว่า ถ้าเป็นคาราเต้ก็ไม่อยากเล่นมันเพราะกลัวเจ็บตัว แต่ถ้าเป็นวอลเลย์บอลหรือตะกร้อก็ยังโอเค หนูก็พยายามหากีฬาอื่นที่ไม่ใช่กีฬาต่อสู้เพื่อไปคุยกับแม่ แต่สุดท้ายก็จบที่คาราเต้”

 

“ตัวเราตอนนั้นก็อยากไปเรียนที่โรงเรียนกีฬาด้วย เพราะสังคมละแวกบ้านไม่ค่อยดีมีปัญหาสังคมมากมาย ทั้งยาเสพติด ท้องก่อนวัยอันควร ซึ่งเรารู้สึกว่าชีวิตเราต้องไปได้ไกลกว่านี้ จะมาอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจเก็บกระเป๋าเข้าเส้นสู่ทางกีฬา”

 

 

 

ถึงเริ่มจากศูนย์ก็ไม่คิดยอมแพ้

 

จิมมี่ เดินเข้าสู่รั้วโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช สวมชุดคาราเต้โดยที่ไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้มาก่อนด้วยซ้ำ ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ค่อยๆ ไต่ระดับไปตามสเต็ป เส้นทางจะหนักหนาขนาดไหนไม่สำคัญขอแค่อยู่ห่างจากสังคมบ้านไว้ก่อน

 

“หนูไม่มีเบสิคเลย คาราเต้เป็นกีฬาใหม่มากๆ สำหรับหนู ไม่รู้จักมาก่อนเลยมันคือกีฬาอะไร เล่นยังไง วันแรกหนูก็วิ่งทำร่างกายซิทอัพดันพื้นปกติ รู้สึกสนุกนะ เพราะมันยังไม่ซีเรียส ไม่มีรูปแบบการแข่งขัน แต่พอขึ้น ม.1 เทอม 2 ก็เริ่มมีการแข่งขัน เพราะเกณฑ์เราสามารถลงแข่งได้ ตอนนั้นก็เริ่มมีความกดดัน ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อจะได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่ง เหมือนจุดประกายให้เราต้องมีความฝัน เหมือนสังคมตรงนั้นมันบีบให้เราต้องสู้ ถ้าเราอยากจะเป็นหนึ่ง เราอยากจะป็นนางพญาผมยาว อยากเป็นที่ยอมรับ หรือเป็นตัวเลือกให้กับโค้ช ก็ต้องมุ่งมั่นก็เอาตรงนี้มาเป็นแรงบันดาลใจ”

 

“พอขึ้น ม.3 ม.4 ก็เริ่มจริงจังกับคาราเต้มากขึ้น แต่เส้นทางก็ไม่สวยงามเหมือนคนอื่นๆ ช่วงแข่งแรกๆ หนูแพ้ตลอดเลย แพ้จนท้อมากๆ ไม่ชนะใครเลย ได้ที่โหล่ตลอด แต่ครอบครัวก็พยายามส่งกำลังใจมาให้ตลอด บอกให้เราสู้ต่อ หนูอาจจะไม่ใช่คนที่มีพรสวรรค์ตั้งแต่แรก แต่เราใช้พรแสวงเยอะมากๆ มากกว่าคนอื่น แม่ก็ให้พลังงานบวกทุกๆ วัน ถ้าเปรียบกับพี่ๆ เพื่อนๆ นักกีฬาหลายคนเข้ามาเล่นคาราเต้แปปเดียวก็คว้าเหรียญได้แล้ว บางคนได้เหรียญทองตั้งแต่ครั้งแรก แต่หนูไม่ใช่แบบนั้น หนูใช้ความอดทนจากวันเป็นเดือนจากเดือนเป็นปีกว่าจะได้เหรียญทองแดง จากนั้นก็ใช้เวลาอีกเป็นกว่าจะเปลี่ยนเป็นเหรียญเงิน และก็ใช้เวลาอีกกว่าจะได้เหรียญทอง หลังจากนั้นก็ยังพยายามต่อเพื่อรักษาผลงานก็ได้เหรียญทองตลอดจนติดทีมชาติ”

 

“เส้นทางของหนูค่อนข้างที่จะยากหน่อย เคยท้อร้องไห้หนักมากๆ จนอยากจะเลิกเล่นไปหลายรอบมาก อยากจะออกจากโรงเรียนกีฬาแล้วเปลี่ยนมาเรียนสายอาชีพ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ม.3 ขึ้น ม.4 แต่โค้ชยุทธนา ศรีประพันธ์​ ไม่รู้ว่าเห็นอะไรในตัวหนู เขาพยายามทำทุกวิถีทาง ใช้จิตวิทยาทุกอย่างๆ พูดกับหนูเพื่อให้อยู่ต่อ  จำได้เลยว่าเขาบอกว่าครูจะทำให้หนูติดทีมชาติให้ได้ในปีนี้ แล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ก็ขอบคุณครูที่ไม่เคยทอดทิ้งหนู คอยดึงหนูให้มาอยู่จุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จ”

 

 

 

เป็นกระบอกเสียงให้ LGBTQ ทั้งโลก

 

แม้จะผ่านการต่อสู้และพิสูจน์ตัวเองมาอย่างหนัก แต่ในวันนี้ จิมมี่ ตัดสินใจเบนเข็มหาความท้าทายใหม่กับกีฬาคิกบอกซิ่ง ก่อนจะพิสูจน์ตัวเองจนได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยอีกครั้ง ซึ่งในซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชาที่เพิ่งจบลงไป ชื่อของจิมมี่กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากคลิปที่เธอทำ slow mo-turn หลังจบการแข่งขันแต่ดันกลายเป็นดราม่าใหญ่โต เพราะสหพันธ์กีฬาคิกบ็อกซิ่งแห่งเอเชีย ไม่พอใจเนื่องจากมองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติคู่แข่งถึงขั้นให้เซ็นสัญญาไม่ให้ทำอีก ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นดราม่า เพราะกระแสในโลกออนไลน์นั้นมองว่าสิ่งที่จิมมี่ทำเป็นสิ่งที่น่ารักและไม่ได้ผิดกฎหรือดูไม่ให้เกียรติ พร้อมมองว่าสหพันธ์คิกบ็อกซิ่งเอเชียต่างหากที่ไม่เคารพสิทธิของจิมมี่

 

เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้ฝั่งไทยอย่างมาก ถึงขั้นจะตัดสินใจถอนทีมจากการแข่งขันทุกคน หากไม่ให้จิมมี่ลงแข่งขันต่อ เพื่อแสดงจุดยืนที่จะอยู่เคียงข้างจิมมี่จนสุดท้ายสามารถกลับมาลงแข่งขันและได้เหรียญทองแดง

 

“หนูตั้งเป้าชัดเจนมากว่าอยากได้เหรียญทองซีเกมส์ เพราะหนูซ้อมหนักมาก ๆ ในทุกวัน ทุ่มเททุก ๆ อย่าง ทั้งวิ่ง เวทเทรนนิ่ง รวมถึงเทคนิคของคิกบอกวิ่ง มันหนักมากจริง ๆ จนรู้สึกว่าเราพร้อมที่จะเป็นผู้ชนะตลอดเวลา พวกหนูก็ค่อนข้างที่จะมั่นใจว่าจะคว้าเหรียญทองได้แน่นอน อีกอย่างเพราะเราเป็นตัวแทนทีมชาติไทยด้วยจึงต้องทุ่มเททุกอย่างสุดความสามารถ”

 

“วันที่เป็นกระแส หนูไม่คิดเลยจะเป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะโดยปกติแล้วหนูก็ทำแบบนี้อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ตอนที่ได้แชมป์เอเชียหนูก็ทำ ทำก่อนที่จะชกด้วยซ้ำ พอชนะหนูก็ทำอีกที ก็เลยไม่คิดว่ามันจะเป็นไวรัลขนาดนี้ ก็ช็อกพอสมควร รู้ว่าเป็นไวรัลได้ไง เพราะเราแค่แสดงถึงความดีใจที่เราเป็นผู้ชนะ”

 

“จริงๆ ตกใจมากเพราะมันเป็นอะไรที่ข้ามคืนจริงๆ ตื่นมายอดวิวก็เป็นล้านแล้ว หนูไม่เคยมียอดวิวมากขนาดนี้มาก่อน และมันไม่ได้อยู่แพลตฟอร์มของในประเทศไทยด้วย นึกว่าจะจบแค่นั้น ไม่คิดว่ามันจะแพร่ไปหลายประเทศ เพราะคลิปนั้นมันของเวียดนาม น่าจะจบแค่ซีเกมส์ แต่มันดันกระจายไปทั่ว ดังไปเลย”

 

“ในกรณีของสหพันธ์ฯ มันเป็นดราม่าที่หนูคิดว่ามันจะจบไปแล้วเพราะเราได้ขอโทษไปแล้ว เราอยากจะคงสิทธิ์เอาไว้เพื่อจะแข่งต่อไปให้ถึงเป้าหมายของเรา แต่มันดันไม่จบ โชคดีที่ได้พี่ๆ แฟนๆ LGBTQ ทั่วอาเซียนออกมาช่วยกันปกป้องสิทธิ์ของเรา เพราะที่หนูมันไม่มีตรงไหนที่ผิดกติกาเลย กรรมการประกาศให้หนูชนะแล้ว หนูถึงแสดงออกด้วยซ้ำ​ คือระหว่างต่อสู้หนูก็โฟกัสอยู่กับการแข่งขัน ซึ่งในความรู้สึกหนูหรือในกฎมันไม่บอกเอาไว้ว่าการดีใจแบบนางงามมันผิดของกีฬาต่อสู้”

 

“สมาคมฯ และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ รวมถึงสตาฟฟ์โค้ช เพื่อนนักกีฬาทุกคนอยู่เคียงข้างหนูตลอด ร่วมกันต่อสู้เพื่อทวงสิทธิของเรา ตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงตีสามตีสี่ผู้ใหญ่ของเราไม่ได้นอนเลย แต่ทางผู้ใหญ่ไม่อยากให้หนูแบกรับแรงกดดัน หนูเพิ่งมารู้ว่าการที่หนูขอโทษมันไม่จบก่อนจะขึ้นชกเพียงแค่ชั่วโมงเดียว” 

 

“คือตอนนั้นถ้าหนูไม่ได้แข่งทุกคนในทีมทั้งนักกีฬาและโค้ชตกลงกันแล้วว่ายอมถอนทีมสละสิทธิ์ทั้งหมด เพื่อปกป้องสิทธิความเป็นคนเอาไว้ที่คนๆ หนึ่งควรจะได้ ทุกคนก็ปกป้องหนูหมดเลย” 

 

 

 

ความภาคภูมิใจของ “จิมมี่” กับการเป็น LGBTQ 

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จิมมี่ จะไม่ถูกโดนบูลลี่เรื่องเพศสภาพ​ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่พบเจออยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ แต่ยังโชคดีที่ไม่เคยได้รับความรุนแรงจากสังคมรอบข้าง 

 

ย้อนกลับไปสมัยเรียนโรงเรียนกีฬาใหม่ๆ จิมมี่ เลือกที่จะปกปิดตัวตนของตัวเองเอาไว้ ไม่กล้าเปิดเผยเหมือนกับใครหลายๆ คน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเธอก็ฉุกคิดได้ว่า การเป็นเพศทางเลือกไม่ได้ผิดพลาดตรงไหน สุดท้ายตัดสินใจเปิดเผยความเป็นจิมมี่ให้แก่ทุกคนทั้งโรงเรียนได้รับรู้ แล้วผลตอบรับก็เป็นไปในทิศทางที่ดีทั้งครูอาจารย์และเพื่อนในโรงเรียนให้การตอบรับด้วยดีทุกคน ยิ่งทำให้เธอมีความสุขมากๆ กับการใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนและสามารถโฟกัสกับการเล่นกีฬาได้อย่างเต็มที่

 

 

จิมมี่ ทิ้งท้ายอย่างทรงพลังและฝากไปถึง LGBTQ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ว่าเข้าใจดีถึงคนที่ยังไม่กล้าเปิดเผยตัวตน อาจจะด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง 

 

“แต่เชื่อหนูเถอะค่ะว่าการที่เรารักตัวเองเป็นตัวเองไม่ได้ทำร้ายใคร ทั้งภายในและภายนอก ทั้งต่อหน้าหรือลับหลังเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว คนจะรักหรือคนจะเกลียดเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นมองทุกคนอย่างเข้าใจ เคารพตัวเอง รักตัวเองให้มากๆ มองคนอื่นอย่างเข้าใจอย่างเป็นธรรมชาติเท่านี้เราจะพบความสุขว่าการเป็นตัวเองมันดีมากๆ ขนาดไหน”

 

“ความเท่าเทียมในโลกปัจจุบัน เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น จากไวรัลของหนู หนูสัมผัสมันมันชัดเจนที่สุด หนูรับรู้ได้เลยว่าจากยังมีคนจากอีกซีกโลกให้การยอมรับ มีคน ทักหรือแท็กมาหาหนู ขอบคุณหนู ที่ช่วยคอลเอ้าท์ให้กลุ่มคนเพศทางเลือกบนเวทีการแข่งขันเวทีกีฬา ซึ่งอย่างวอลเลย์บอลอาจจะเป็นภาพชัดอยู่แล้วและเข้าถึงง่ายมากกว่า แต่สำหรับหนูมาในรูปแบบของกีฬาต่อสู้ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ มีนักกีฬาจาก บราซิล เปอร์โตริโก สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ให้กำลังใจ มาขอบคุณแสดงความยินดีที่ได้เหรียญ”

 

 

ส่วนเป้าหมายหลังจากนี้ จิมมี่ ยังคงมุ่งมั่นกับกีฬาเหมือนเดิมเพื่อเป้าหมายคือทัวร์นาเมนต์เวิลด์เกมส์ 2025 ซึ่งเป็นมหกรรมกีฬาสูงสุดของกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ขณะเดียวกันเธอก็จะยังคงความสวย ความเฟียส แบบนี้ไว้ และสัญญาว่าจะยืนหยัดเป็นกระบอกเสียงต่อไป

 

“ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ต้องมีความเท่าเทียมกัน”


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

La Vie en Rose