18 พฤษภาคม 2566
ได้บทสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยที่ทัพนักกีฬาไทยทำผลงานได้ 108 เหรียญทอง 96 เหรียญเงิน 108 เหรียญทองแดง จบอันดับ 2 ของตารางเหรียญรางวัล โดยแพ้ให้กับเวียดนามที่ทำได้ 136 เหรียญทอง ครองเจ้าเหรียญทองได้เป็นสมัยที่ 3
โดยตลอด 18 วันที่ทำการแข่งขันนั้น เราได้เห็นความทุ่มเทของนักกีฬาไทยทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า ซึ่งในวันนี้เราได้สรุปผลลัพธ์ 4 ข้อ ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นมาให้ติดตามกัน
เจ้าภาพกัมพูชาทองเยอะสุดในประวัติศาสตร์
นอกจากกัมพูชาจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหนแรกแล้ว พวกเขายังประสบความสำเร็จในแง่ของผลงานนักกีฬา หลังจบอันดับ 4 ในตารางเหรียญรางวัล ทำได้ 81 เหรียญทอง 74 เหรียญเงิน และ 126 เหรียญทองแดง และยังเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่ไม่น่าแปลกใจ ที่ผลงานในครั้งนี้พวกเขาคว้าเหรียญทองได้มากกว่า 20 ครั้งที่ผ่านมาเสียอีก ซึ่งเข้าร่วมซีเกมส์ 20 ก่อนหน้านี้พวกเขาคว้าเหรียญทองรวมกันได้ 79 เหรียญทองเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่นั้นได้มาจาก คิกบ็อกซิ่ง, กุนขแมร์, กุนโบกาตอร์และโววีนั่ม
อย่างไรก็ตามการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ แม้ว่าจะมีเสียงวิจารณ์บ้าง แต่ก็ยังมีเรื่องน่าประทับใจ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับกัมพูชาสำหรับการเป็นเจ้าภาพครั้งแรก
ปีที่ 8 ไทยชวดครองเจ้าทองอาเซียน
108 เหรียญทอง 96 เหรียญเงิน 108 เหรียญทองแดง คือผลงานของทัพนักกีฬาไทยในซีเกมส์หนนี้ แม้ว่าผลงานจะดีขึ้นจากซีเกมส์ครั้งก่อน แต่ในภาพรวมยังคงเป็นเวียดนามที่สามารถป้องกันตำแหน่งเจ้าอาเซียนเอาไว้ได้ด้วยผลงาน 136 เหรียญทอง ทำให้ไทยยืดห่างหายจากการครองเจ้าอาเซียน 8 ปีเต็มหรือซีเกมส์ 4 ครั้งสุด
แน่นอนว่ามีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งการชนิดกีฬาที่เจ้าภาพจัดการแข่งขัน รวมถึงการแบ่งอีเวนต์ชิงเหรียญ อย่างไรก็ตามซีเกมส์ครั้งต่อไปที่ประเทศไทยจะได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมีโอกาสที่จะทวงความสำเร็จกลับคืนมาอีกครั้ง
ไทยครองเจ้าเหรียญทองกีฬาสากล
การที่เราจะไม่ได้ครองเจ้าเหรียญทองในซีเกมส์ครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะล้มเหลวซะทีเดียว เพราะหากวัดกันที่ชนิดกีฬาสากลที่มีการชิงชัยในเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน แล้วนั้น ทัพนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จมากที่สุดในครั้งที่ 54 เหรียญทอง โดยเฉือนชนะเวียดนามคู่แข่งสำคัญไปเพียง 2 เหรียญทองเท่านั้น
จุดนี้เองที่สะท้อนภาพความสำเร็จที่จริงของนักกีฬา ขณะเดียวกันหลายๆ สมาคมกีฬาก็ได้เห็นข้อผิดพลาดและการเติบโตของนักกีฬาที่เป็นดาวรุ่งและความหวัง เพื่อนำกลับไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
8 ชนิดกีฬาทะลุเป้า
มาเจาะลึกลงไปที่แต่ละชนิดกีฬากันบ้าง ในจำนวน 36 ชนิดกีฬาที่ไทยส่งแข่งมี 7 ชนิดกีฬาที่ทำผลงานได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ประกอบด้วย กรีฑา, เปตอง, คาราเต้, เรือยาว, มวยสากล, คริกเก็ต, กีฬาต่อสู้ (ยูยิตสู-โววีนั่ม)
นอกจากมี 17 ชนิดกีฬาที่ทำผลงานได้ตามเป้า กีฬาทางน้ำ (ว่ายน้ำ-โปโลน้ำ-กระโดดน้ำ) , กีฬาต่อสู้ (คิกบ็อกซิ่ง), เซปักตะกร้อ, ยกน้ำหนัก, เทควันโด, เทเบิลเทนนิส, มวยปล้ำ, เทนนิส, ฟินสวิมมิ่ง, เจ็ตสกี, จักรยาน, ปันจักสีลัต, วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, วูซู, เรือใบ/วินเซิร์ฟ และลีลาศ
ขณะที่ต่ำกว่าเป้าหมายในครั้งนี้มีอยู่ 13 ชนิดกีฬา กอล์ฟ, ฟันดาบ, ยูโด, ซอฟท์เทนนิส, บิลเลียด, บาสเกตบอล, ฟุตบอล, ยิมนาสติก, หมากรุก, ฮอกกี้, ฟลอร์บอล, อีสปอร์ตและไตรกีฬา
โดยพระเอกนั้นครั้งนี้คือกรีฑาที่แม้ว่าหลายๆเหรียญจะไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ แต่ก็ยังมีนักกีฬาหลายคนแจ้งเกิดจคว้ามาได้ 16 เหรียญทองมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 4 เหรียญทอง ขณะที่มวยสากลกอบกู้ศรัทธากองเชียร์ได้อีกครั้ง มีนักกีฬาผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้ถึง 11 จาก 12 รุ่นที่ส่งแข่ง และนักกีฬาได้เหรียญรางวัลกันทุกคน จากผลงาน 9 ทอง 2 เงิน 1 ทองแดง มากที่สุดนับตั้งแต่ซีเกมส์ 2007
ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์จากความทุ่มเทของน้องนักกีฬาทุกๆ คน เชื่อว่าทุกคนนั้นใส่เกินร้อยเพื่อธงไตรรงค์แน่นอน แต่เกมกีฬาย่อมมีแพ้มีชนะ เหนือสิ่งอื่นใดคือน้ำใจนักกีฬาเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนจะชนะได้ ต้องแพ้ให้เป็น โดยภารกิจต่อไปของทัพนักกีฬาคือเอเชียนเกมส์ 2023 ที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม ยังมีเวลากว่า 4 เดือนให้พวกเขากลับไปทำการบ้านก่อนจะกลับมาสู้กันใหม่อีกครั้ง
TAG ที่เกี่ยวข้อง