17 พฤษภาคม 2566
11 ปีเต็มที่สถิติกระโดดสูงชายไทย อยู่ที่ความสูงเดิม 2.26 เมตร กระทั่งภู ตะวัน แก้วดำ หนุ่มจากพัทลุง พิชิตมันได้สำเร็จ ผ่านการบาดเจ็บมาหลายครั้ง รวมถึงอุบัติเหตุรถชน ภู ใช้เวลา 5 ปีเศษบนเส้นทางการกระโดดสูง จนสามารถบันทึกสถิติใหม่ประเทศไทย และสถิติของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ได้สำเร็จ นี่คือเรื่องราว ความท้าทาย ของ ภู ตะวัน แก้วดำ ก่อนขึ้นแท่นฮีโร่คนล่าสุดของวงการกีฬาไทย
จากกระโดดยางสู่การกระโดดสูง
ย้อนกลับไปยุค 90 ไม่เคยมีเด็กคนไหนไม่รู้จักการกระโดดหนังยาง การเล่นของเด็กๆ ที่ต้องมีแทบทุกโรงเรียน ภูเองก็เช่นกัน มีจุดเริ่มต้นก่อนเข้าสู่การเป็นนักกีฬากระโดดสูงจากการกระโดดยางกับเพื่อน ที่โรงเรียนเทศบาลคูหาสวรรค์ จังหวัดพัทลุง "สมัยนั้นเคยกระโดดยางมาก่อน ไปเข้าตาครู เขาก็มาชวน ผมเลยเริ่มกระโดดสูงตั้งแต่ 10 ขวบ มีแข่งกีฬาสี ผมก็ลองดู จนจบประถม"
ภู บอกว่าการกระโดดสูงสมัยเด็กของเค้าเริ่มต้นจากความสนุก แต่เมื่อจริงจังมากขึ้น มีการซ้อมอย่างเป็นระบบ ก็รู้สึกว่ามันแตกต่างกัน แต่ก็ยังรู้สึกอยากจะกระโดดต่อไปเพราะทำได้ดี เป็นการปูทางไปสู่การเรียนต่อระดับมัธยม ตามคำแนะนำของครูที่เห็นแววในตัวภู จึงทำให้ได้ย้ายจากพัทลุงไปสู่โรงเรียนกีฬาที่จังหวัดตรัง แต่โชคไม่เข้าข้าง เพราะประสบอุบัติเหตุถูกรถชน
"ผมโดนรถชน ขาขวาข้อเท้าหัก เลยต้องเรียนอย่างเดียว 2 ปี พอหายดี โรงเรียนก็ไม่มีเบาะกระโดดสูง เลยย้ายไปเขย่งก้าวกระโดด ตอนนั้น ม.3 แล้ว พอมีโอกาสไปแข่งกีฬาในนามโรงเรียนก็แข่งคู่กันทั้งเขย่ง และกระโดดสูง ตอนแรกผมก็คิดว่า เขย่งจะไปได้ดีกว่า เพราะซ้อมกระโดดสูงน้อยมาก"
แต่เวลาที่ใช่ มักเกิดขึ้นกับคนที่ใช่เสมอ เมื่อขึ้น ม.ปลาย ภูจึงได้กลับมาซ้อมกระโดดสูงจริงจังอีกครั้ง เพราะโรงเรียนสร้างเบาะกระโดดสูงให้ เพื่อภู ตะวัน แก้วดำ โดยเฉพาะ
ก้าวข้ามกำแพงความสูง 2 เมตร
โรงเรียนกีฬาจังหวัดตรัง เห็นในพรสวรรค์ของภู ตะวัน แก้วดำ จากการทำผลงานได้ดีในกีฬากระโดดไกล แม้อุปกรณ์จะไม่พร้อม เมื่อเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน จึงอนุมัติจัดซื้อเบาะกระโดดสูงเพื่อนักเรียนที่ชื่อ ตะวัน แก้วดำ "เขาอยากสนับสนุนเรา มีโค้ชคนใหม่มาจากนครศรีธรรมราช เพื่อมาดูแลผมโดยเฉพาะ เบาะกระโดดก็เพื่อผมคนเดียว พอได้เริ่มซ้อมกับเบาะ และโค้ชชาลินี (แก้วเนียม อดีตทีมชาติไทย) เข้ามา ผมก็กระโดดได้สูงขึ้น
ความชำนาญและเทคนิคระดับทีมชาติ เขาเกลาภูให้ฉายแสงมากขึ้น จากความรักที่เขามีต่อกีฬาชนิดนี้อยู่แล้ว ผลักให้เขามุ่งสู่ความเป็นเลิศอย่างเต็มที่ แต่แม้ว่าจะพัฒนามากขึ้นแค่ไหน เขาก็ไม่เคยก้าวข้ามกำแพงสูงที่ชื่อว่า กอบศิษฎ์ สิทธิชัย (นักกระโดดสูงทีมชาติไทย) ได้เลย ภูบอกว่าช่วงมัธยมปลาย เขาไม่เคยได้เหรียญจากการแข่งขัแม้แต่ครั้งเดียว
"กอบศิษฎ์ก็เป็นคนพัทลุงเหมือนกัน เขาชนะตลอด ส่วนผมก็ได้เหรียญอื่น เราก็เริ่มท้อแล้วตอนนั้น กอบศิษฎ์โดดได้ 2 เมตร แต่เรายัง 1.70 เมตรอยู่เลย จนแข่งกีฬาแห่งชาติรอบคัดภาคใต้ ตอน ม.6 ตอนแรกเราไม่ซ้อมแล้ว แต่มีคนโทรมาตามให้ไปแข่ง ก็ไปแบบไม่หวัง ตอนนั้นคิดว่าอยากเลิกแล้ว ไปแข่งทิ้งทวน"
ความรู้สึกที่ไม่กดดัน กลับเป็นผลดี ภูสามารถกระโดดได้ที่ความสูง 2.11 เมตร ทำสถิติใหม่ให้ตัวเอง จากคนที่ท้อเอาแต่กิน นอน เที่ยว ได้รับข่าวดีที่สุดในชีวิต
สู่แคมป์ทีมชาติไทยในวัย 18 ปี
สุชาติ สิงหากลาง อดีตนักกระโดดสูงทีมชาติไทย คือ สายเรียกเข้าที่โทรมาหาภูในวันหลังจากนั้น เขาบอกให้ภูเก็บของมาเก็บตัวที่สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย "ผมก็ตกลงเลย ดีใจมาก กว่าจะได้เข้ามายากมาก ตอนนั้นอายุ 18 ยังมีโค้ชชาลินีคอยดูแลเหมือนเดิม สถิติก็ดีขึ้น ได้ไปแข่งชิงแชมป์ประเทศไทย ได้เหรียญเงิน แพ้ให้ศรีลังกา"
หลังเก็บตัวได้ 1 เดือนภูก็ได้แข่งขันในนามทีมชาติไทยครั้งแรก ในรายการไทเปโอเพ่น ที่ไต้หวัน ด้วยความตื่นเต้นทำให้พลาดเหรียญ แต่ก็ได้รับประสบการณ์ที่ดี นำไปสู่การแข่งขันในรายการอื่นๆ โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน ที่ทำให้ภูพิชิตสถิติ 2.20 เมตรได้สำเร็จ จนอยากข้ามขั้นไปสู่การพิชิตสถิติประเทศไทย ที่ 2.26 เมตร
ในตอนนั้นสมาคมมีโค้ชคนใหม่เข้ามาดูแล คือ โค้ชวิกกี้ Vyacheslav Kovitskiy จากคาซัคสถาน ตรงกันกับช่วงที่ภูติดทีมชาติครั้งสำคัญ สู้ศึกซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2562 แม้มีอาการบาดเจ็บรบกวนแต่ก็กลับมาพร้อมเหรียญทองแดง ตอนนั้นที่บ้านฉลองให้แบบยิ่งใหญ่ "แม่บอกภูมิใจมาก ปิดหมู่บ้านเลี้ยงเลย แต่ตอนแข่งผมรู้สึกเจ็บอยู่ รู้สึกโดดได้ไม่เต็มที่ แต่ก็ภูมิใจ"
ช่วงนั้นโควิดระบาดพอดี นักกีฬาจึงได้แค่ซ้อมไม่มีแข่ง ทำให้ภูเองได้ฟื้นฟูตัวเองจากอาการบาดเจ็บ และกลับมาแข่งอีกครั้งในปี 2563 และเป็นครั้งแรกที่เขาชนะกอบศิษฎ์ได้ "เคยคิดมาตลอดว่าอยากชนะเขา แต่ที่จริงเป็นเพื่อนกัน กินนอนซ้อมด้วยกัน มันก็เหมือนผลักดันซึ่งกันและกัน"
การต่อสู้เพื่อพิชิตความสูง 2.27 เมตร
อาการบาดเจ็บรบกวนภูต่อเนื่องนานหลายปี ช่วงปี 2565 ต้องพักนาน 1 เดือนเต็มเพราะอาการเจ็บหัวเข่า การรับใช้ชาติที่ซีเกมส์ที่ฮานอย เขาก็เดินทางไปทั้งที่ยังไม่หายเต็มร้อย ใช้ใจสู้กลับมาพร้อมเหรียญทองแดง "เสียใจนิดนึง แต่เราซ้อมมาไม่เยอะเพราะเจ็บ การได้เหรียญทองแดงกลับมาก็ทำให้ผมยังสู้ต่อ"
1 ปีผ่านไป ภูกลับมาที่พนมเปญอีกครั้ง ซ้อมมาดีทำให้รู้สึกมั่นใจ "ก่อนไปซ้อมกับโค้ชวิกกี้หนักมาก แทบไม่ได้พัก 1 เดือนก่อนแข่งรู้สึกเข่าไม่เจ็บแล้ว ซ้อมก็ดีตลอด จนรู้สึกมั่นใจ โดดได้ 2.10-2.20 ตลอด เราเลยคิดว่า น่าจะทำลายสถิติประเทศไทยได้"
ที่สนามมรดกเดโช ฝนถล่มลงมาอย่างหนักในวันก่อนแข่งกระโดดสูงชาย ภูมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้เล็กน้อย ทำให้เกิดความกังวล แต่เมื่อตื่นมาในตอนเช้าวันแข่ง อาการเหล่านั้นก็หายไป "ครั้งแรกผมโดด 2.03 ครั้งที่สอง 2.05 สภาพอากาศไม่ดี ครั้งที่ 3 คนอื่นโดด 2.09 ผมไม่โดด ไปโดดที่ 2.11 ตอนนั้นกอบศิษฎ์โดดไม่ผ่านแล้ว เหลือคู่แข่ง 3 คน "
ในใจภู ตะวัน ตอนนั้นคิดถึงแต่เหรียญทองแล้ว เพราะจำนวนกระโดดน้อยกว่า จึงข้ามไปกระโดดที่ความสูง 2.15 เมตร นักกีฬาคนอื่นๆ ทยอยกระโดดไม่ผ่านจนเหลือแค่ภูคนเดียวที่ความสูง 2.19
"โดดผ่าน ผมก็ดีใจ วิ่งมาหากองเชียร์ ผมคุยกับโค้ชว่าผมขอโดด 2.27 แต่โค้ชให้ลองที่ 2.25 ก่อน ให้ทำลายสถิติซีเกมส์ก่อน ผมก็ทำได้ ตอนนั้นดีใจมาก ผมมั่นใจว่าทำได้ จากนั้นก็กระโดดที่ความสูง 2.27 แล้วก็ทำได้จริงๆ" เป็นฝันที่มาไกลเกินฝันของเด็กพัทลุง สู่การทำลายสถิติที่เขาเองเคยถอดใจมาแล้วหลายครั้ง
"ก่อนโดดผมคิดว่า ถ้าทำไม่ได้ครั้งนี้ ก็ยังมีอีก 2 ครั้ง ผมต้องมีแรงโดดต่อ ก่อนกระโดดผมชูมือขึ้น 2 แขน ไม่พูดอะไร เก็บแรงไว้ แล้วก็ทำได้ ผมทะลุขีดจำกัด และเป้าหมาย มาไกลมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้ มีท้อบ้างผิดหวังบ้าง เหนื่อยบ้าง แต่ก็ผ่านมาได้"
เป้าหมายรันวงการกระโดดสูง
ภู เล่าว่า แม้จะดีใจกับชัยชนะของตัวเอง แต่ก็เสียใจกับเพื่อน (กอบศิษฎ์) ที่โดดไม่ผ่าน "ผมก็คุยกันว่ากลับไปซ้อมกันใหม่ เรา 2 คนเหมือนเดิม ไม่มีใครที่จะโดดได้ดีทุกวัน อนาคตยังอีกไกล วันข้างหน้ายังไม่รู้จะเป็นไง เราก็ต้องเต็มที่กับทุกวัน"
เป้าหมายต่อไปของภูตะวัน คือการพิชิตความสูง 2.33 เมตร เพื่อควอลิฟายไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ภูบอกด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่นว่า จะตั้งใจให้มากกว่าเดิม เพราะรู้ว่าตัวเองยังทำมากกว่านี้ได้ "เรารู้ว่าเราเหนื่อยได้มากกว่านี้อีก อยากสำเร็จมากกว่านี้ ก็ต้องเหนื่อยกว่านี้"
ช่วงเวลา 5 ปีในแคมป์ทีมชาติ ภู ตะวัน แก้วดำ พิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จ ผ่านความเหน็ดเหนื่อย ด้วยความตั้งใจ เขาบอกว่าความสำเร็จครั้งนี้ สมกับที่ทุ่มเทมาตลอด "ที่ผ่านมา กระโดดสูงเป็นกีฬาที่คยไม่ค่อยสนใจมาก จนปีที่แล้วกอบศิษฎ์ได้ทอง และผมทำได้ในปีนี้ ก็อยากขอบคุณสมาคมที่ให้โอกาส และสนับสนุนมาตลอด ขอบคุณโค้ชทุกคนที่ดูแล แฟนกีฬาไทยที่สนับสนุน รวมถึงครอบครัว"
TAG ที่เกี่ยวข้อง