stadium

วรายุทธ์ จันทรเสนา : ผ่าเข่า 2 ครั้ง พัก 3 ปี จากฝันร้ายสู่แสงสว่าง

15 พฤษภาคม 2566

อาการบาดเจ็บกับนักกีฬาเป็นของคู่กัน สุดท้ายแล้วหัวใจอันกล้าหาญจะทำให้พวกเขาผ่านช่วงเวลาแสนลำบากนั้นไปได้ เช่นเดียวกับเรื่องราวของ “น็อต” วรายุทธ์ จันทรเสนา นักกีฬาตะกร้อทีมชาติไทย วัย 26 ปี อดีตตัวฟาดที่พาทีมนักเรียนไทยประสบความสำเร็จมาตลอด 3 ปี ผู้เป็นอนาคตของวงการเตะลูกหวายไทย เขาเกือบต้องละทิ้งความฝันเร็วกว่าที่ควร เพราะอาการบาดเจ็บที่หัวเข่ารุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 2 ครั้ง ใช้เวลาพักฟื้นราวๆ 3 ปี

 

จากเส้นทางชีวิตที่เหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ กลับต้องเผชิญกับเหตุการณ์สุดพลิกผัน แต่เขาก็ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ และท้ายที่สุดเขามีชื่อติดทีมชาติไทยเป็นครั้งแรก ไปลุยศึกซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา เป็นรางวัลตอบแทนจากการไม่ยอมแพ้ ติดตามเรื่องราวของเขาพร้อมกันได้ที่นี่

 

 

 

แรงบันดาลใจจากคนแถวบ้าน

 

หนุ่มบ้านนอกจากอุดรธานีที่หลงรักกีฬาตั้งแต่วัยเด็ก สัมผัสมาหมดแล้วทุกชนิดกีฬาเท่าที่เด็กต่างจังหวัดคนนึงจะมีอุปกรณ์เล่นได้ แต่ตะกร้อกลับเป็นกีฬาที่ “น็อต” หลังรักมากที่สุด โดยได้แรงบันดาลใจมาจากรุ่นพี่แถวบ้าน

 

“ผมเริ่มเตะตะกร้อแต่ ป.1 ครับ นั่งดูพี่ๆ แถวบ้านเล่นทุกวันก็เลยชอบ หลังจากนั้นก็เริ่มฝึกฝนด้วยตัวเอง เล่นกับพวกแถวบ้านหลังเลิกเรียนเป็นประจำทุกวัน”

 

ตัวทำหรือตัวฟาด เป็นตำแหน่งตำแหน่งเดียวของ “น็อต” ที่ฝึกมาตั้งแต่เริ่มต้นในวัยประถม ตำแหน่งนี้จะเป็นคนทำคะแนนตัวหลักของทีมโดยตรง ทั้งโดดเด่นและท้าทาย อัดแน่นไปด้วยลีลาและเทคนิคที่หลากหลาย เรียกเสียงกรี๊ดได้พอๆ​ กับนักฟุตบอลที่สับขาหลอกเก่งๆ หรือเลี้ยงบอลคล่องแคล่ว  เสนห์ตรงนี้ที่ทำให้ “น็อต” หลงใหลการขึ้นฟาดไปโดยไม่รู้ตัว 

 

“จะมีพี่คนนึงที่ผมสนิท เราเห็นเขาฟาดตั้งแต่เด็ก พี่เขาเท่มาก ฟาดได้หลายท่า เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากฟาดได้แบบเขาบ้าง ตอนหัดซ้อมกระโดดฟาดครั้งแรก ก็ไปฝึกตรงสนามหญ้า กระโดดเตะกับยอดใบไม้ทุกวัน ครั้งแรกๆ ก็กลัวครับ แต่พอทำได้ก็เริ่มมั่นใจไม่กลัวแล้ว”

 

จนกระทั่งเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 โอกาสในการเป็นนักกีฬาตะกร้อแบบเต็มตัวก็เข้ามาหา พี่ชายคนสนิทเห็นว่า “น็อต” ชื่นชอบกีฬาตะกร้อมากๆ จึงชักชวนให้ไปลองคัดตัวกับโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรีที่เขาเล่นอยู่ ด้วยแรงสนับสนุนจากครอบครัวบวกกับความฝันของตัวเอง เขาจึงไม่ลังเลเลยที่ตอบรับความท้าทายนี้

 

“ผมไปคัดตัวอยู่สองรอบครับ รอบแรกผมคัดไม่ติด เพราะเขาเปิดรับนักกีฬาในตำแหน่งตัวเสิร์ฟ ซึ่งผมเล่นไม่เป็น หลังจากนั้นก็รอโอกาสจนมีการเปิดคัดอีกครั้ง พ่อกับแม่เห็นผมชอบตะกร้อ ท่านก็ส่งเสริมพาไปคัดอีกรอบ คราวนี้เปิดคัดในตำแหน่งตัวทำ ซึ่งเป็นตำแหน่งโปรดของผมคราวนี้ผมไม่พลาดแล้ว”

 

ในรั้วโรงเรียนกีฬา “น็อต” ใช้ชีวิตตามกฎระเบียบเหมือนนักกีฬาทุกคน กิน นอน เรียน ซ้อม อยู่แบบนั้นทุกวันเป็นปีๆ จนกระทั่งขึ้นชั้น ม.4 ความโดดเด่นของเขาก็ค่อยๆ เฉิดฉายออกมา มีชื่อติดเยาวชนทีมชาติไทยเป็นหนแรก ไปแข่งรายการนักเรียนชิงแชมป์อาเซียน หรือที่รู้จักกันในรายการ อาเซียนสคูลเกมส์ 

 

ตลอดชีวิตนักเรียน ม.ปลาย 3 ปี “น็อต” พาทีมนักเรียนไทยคว้าเหรียญทองอาเซียนได้ทุกปี รวม 5 เหรียญทอง อนาคตบนเส้นทางนี้ถือว่าสดใส ถูกทาบทามให้ไปเข้าร่วมอคาเดมี่ของทีมยักษ์ใหญ่ในวงการตะกร้อลีกอย่าง สโมสรตะกร้อราชบุรี-มังกรไฟ และมีส่วนร่วมกับผลงานของทีมในปีที่คว้าแชมป์ลีกอีกด้วย

 

เรียกได้ว่าบทบาทตัวฟาดในทีมชาติไทยชุดใหญ่รอเขาอยู่อีกไม่นานแล้วนับจากนี้

 

 

 

ผ่าตัดเข่า 2 ครั้ง ฝันร้ายที่เกือบจบเส้นทางนักกีฬา

 

น็อตเล่าต่อว่า “หลังจบ ม.6 ผมเริ่มมีปัญหาอาการบาดเจ็บ​ กระดูกตรงน่องหน้าแข็งร้าว จากจังหวะกระโดดฟาดปกติ แล้วจังหวะลงทุกครั้ง เท้าหลักจะมีการกระแทกกับพื้น ซึ่งมีครั้งนึงกระแทกแล้วปวดกระดูก ไปหาหมอเอ็กซเรย์พบว่ากระดูกร้าวแต่ไม่ได้รุนแรงมาก หมอบอกให้พัก 2-3 เดือนก็หาย แต่ผมไม่ได้พักตามที่หมอบอก ผมเปลี่ยนไปใช้ขาข้างซ้ายบล็อกแทน จากนั้นก็เล่นมาเรื่อยๆ ช่วงปี 2559 ผมเล่นให้สโมสรตะกร้อจังหวัดมหาสารคาม - เสืออีสาน แล้วมันเจ็บมันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยตัดสินใจพักไป 2 เดือน พอหายดีก็กลับมาลงเล่นเหมือนเดิม”

 

“จากนั้นผมก็ย้ายไปเล่นเป็นตัวหลักให้กับสโมสรตะกร้อปทุมธานี-อินทรีเจ้าเวหา พาทีมจบที่ 3 ในลีก ผมคิดว่าปีนั้นตัวเองทำผลงานได้ดีเลยนะ แต่ก็ยังรอโอกาสจากทีมชาติอยู่ เพราะทีมชาติชุดนั้นตนเองยอมรับว่าตัวทำรุ่นพี่ทุกคนเก่งมากๆ มีโอกาสสอดแทรกเข้าไปลำบาก”

 

ในวัย 21 ปี เส้นทางตะกร้อของน็อตกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เขามั่นใจว่าถ้ายังรักษามาตรฐานการเล่นแบบนี้เอาไว้ได้​ โอกาสในทีมชาติต้องมาถึงเขาในไม่ช้าแน่ๆ แต่แล้วหลังจบฤดูกาลนั้นเองเรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นกับตัวเขา

 

“หลังจบฤดูกาล ผมก็ว่างครับแล้วทีนี้มันมีแข่งตะกร้อเดินสายตามงานวัดที่อุดรฯ ผมก็กลับไปเล่นให้พี่ๆ น้องๆ แล้วทีนี้จังหวะขึ้นบล็อกลงมาสู่พื้นมันผิดจังหวะ หัวเข่าข้างซ้ายของผมมันบิด นาทีนั้นมันมืดแปดด้านไปหมด ไปรู้เลยว่าต้องทำยังไง จะเจ็บหนักหรือเปล่า พอได้สติก็ไปหาหมอ ผลตรวจ MRI ออกมาปรากฎว่าเอ็นไขว้หน้าเข่าข้างซ้ายขาดต้องผ่าตัดถึงจะหาย” 

 

“ตอนนั้นพักไปประมาณปีกว่า ๆ ครับ กลับมาเล่นมันก็เล่นได้ไม่เหมือนเดิม เตะได้ แต่จังหวะกระโดดบล็อกขยับตัวมันไม่คล่องเหมือนเก่า แต่ก็ยังเล่นให้กองทัพอากาศตามงานถ้วย เล่นในลีกก็เป็นตัวสำรองคอยช่วยน้องๆ ก็กลัวเจ็บซ้ำสองแต่ก็ต้องเล่นเพราะกองทัพอากาศมีนักกีฬาน้อย ฝืนเล่นไปก่อน”

 

หลังจากกลับมาเล่นได้ประมาณปีกว่าๆ แต่แล้วฝันร้ายกลับตามมาหลอกหลอนซ้ำสอง หัวเข่าข้างเดิม อาการบาดเจ็บแบบเดิมเกิดขึ้นอีกครั้ง แถมหนนี้ยังเจ็บหนักกว่าเก่า ความท้อแท้เริ่มกัดกินในใจจนเกือบหันหลังให้กับกีฬาตะกร้อ

 

“เกิดขึ้นในตอนซ้อมที่กองทัพอากาศ มันมีจังหวะหมุนตัววิ่งตามไปเกี่ยวลูก แล้วเข่ามันบิด ผมทรุดตัวลงไปกองกับพื้น พี่ๆ ในทีมก็แนะนำให้ไปทำ MRI อีกครั้ง จะได้รู้ว่าต้องรักษายังไง ผลออกมาเหมือนเดิมเลยครับ เอ็นไขว้หน้าขาดหัวเข่าข้างซ้ายข้างเหมือนเดิม​ แต่คราวนี้ผมขอให้หมอทำเรื่องย้ายผมไปรักษาตัวที่บ้านที่อุดร” 

 

“รอบนี้ผมใช้เวลารักษาตัวประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็น 2 ปีที่ยากลำบากมากๆ ทั้งท้อแท้และน้อยใจตัวเอง คือผ่าตัดแล้วมันเดินไม่ได้ อะไรที่เคยทำได้เราก็ทำไม่ได้ เข้าห้องน้ำก็ต้องใช้ไม้เท้าประคอง อยากเตะตะกร้อก็ทำได้แค่นอนดูเพื่อนแข่ง แต่ผมโชคดีที่ได้กำลังดีๆ จากครอบครัวและคนรอบข้าง”

 

“ก็นอนคิดทุกวันครับว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิตดี จะเลิกเล่นตะกร้อแล้วออกมาทำงานหรือจะกลับไปเล่นตะกร้อต่อ ปรึกษาครอบครัวก็ให้เราตัดสินใจได้เลยเพราะเขาพร้อมซัพพอร์ททุกอย่าง”

 

 

 

จากฝันร้ายสู่แสงสว่าง

 

 

กำลังใจจากคนรอบตัวช่วยชโลมจิตใจ บวกกับความรักในกีฬาตะกร้อ ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจกลับคืนสู่เส้นทางของความฝันอีกครั้ง

 

“พออยู่บ้านแบบสบายใจแล้ว ก็คิดได้ว่าอยากลองอีกสักครั้งหนึ่ง จะหันหลังไปทำงานก็ไม่รู้จะทำอะไร โชคดีที่โค้ชโทรมาถามอาการแล้วเรียกตัวกลับไปซ้อมด้วย ก็เลยเก็บข้าวของเข้ากรุงเทพอีกครั้ง”

 

“ก็ฟื้นฟูร่างกายไปเรื่อยๆ มีแข่งก็เป็นตัวสำรองตลอด เพราะเราเจ็บไปนานต้องใช้เวลา ทำได้แค่รอโอกาส จนมาในแมตช์รอบชิงชนะเลิศถ้วยพระราชทาน ม.ว.ก. ปี 2563 น้องๆในทีมทหารอากาศก็พาทีมชุดเข้าชิง แล้วทีมเอ เราแพ้ไปก่อน ส่วนผมมีชื่ออยู่ในทีมบี เซตแรกเราก็แพ้ สถานการณ์หลังพิงฝาแล้วครับ จะแพ้ไม่ได้อีก โค้ชก็เลยลองเปลี่ยนให้ผมไปเล่นแทนน้องดูครับ ปรากฎว่าผมเล่นได้พาทีมพลิกกลับมาชนะ 2-1 เซต แล้วทีมซีของเราก็ชนะอีก เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนพาให้ทีมกลับมาคว้าแชมป์ในปีนั้น” 

 

“ดีใจมากครับช่วยทีมได้ มันเหมือนปลดล็อกความรู้สึกต่างๆ ที่อัดอั้นมานาน มันทำให้เรารู้สึกว่าเราก็มีประโยชน์กับทีมนะ ยังช่วยทีมได้นะ เพิ่มความมั่นใจได้มากเลยครับ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ตัวผมแทบไม่ได้ลงแข่งมาก่อนเลย นี่คือเป็นเกมแรกหลังจากหายเจ็บก็ว่าได้”

 

แม้ว่าจะปลดล็อกความรู้สึกต่างๆ ภายในใจกลับมาได้ แต่เขาก็เข้าใจดีว่าโอกาสในการติดทีมชาติคงไม่สูงเหมือนเก่า อย่างไรก็ตามเจ้าตัวไม่ได้ลดทอนคุณค่าในตัวเองแต่อย่างใด

 

 

ปลายทางแห่งฝัน รางวัลคนไม่ยอมแพ้

 

เมื่อความมั่นใจกลับคืนมาอีกครั้ง มันเหมือนคืนชีพให้ “น็อต” คนเก่า มีทั้งแรงผลักดัน ความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อความฝันอีกครั้ง ในแต่ละวันเขาพยายามฝึกฝนเพื่อฟื้นฟูร่างกายตัวเองให้กับมาฟิตเหมือนเก่า เตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะเข้ามาในอนาคต

 

ผ่านไปวันแล้ววันเล่า ความมุ่งมั่นของเขายังคงเหมือนเด็ก 18 และเมื่อโอกาสมาถึง หนนี้เขาก็ไม่พลาดที่จะคว้ามันเอาไว้ ในที่สุดเขาก็มีชื่อติดทีมชาติชุดใหญ่เป็นครั้งแรก เป็น 1 ใน 24 ขุนพลทีมตะกร้อไทยไปลุยศึกซีเกมส์ 2023 ที่กัมพูชา ซึ่งเป็นความฝันที่เขาปรารถนามาโดยตลอด

 

 

“ตอนกลับมาเล่นรอบนี้ ผมคิดว่าโอกาสติดทีมชาติมันมี แต่พยายามไม่คาดหวังสูงจนเกินไป เพราะผมเคยเจ็บมาหนักมาถึง 2 รอบ เข้าใจสภาพร่างกายของเรามันไม่เหมือนเก่า แต่ผมยังก็รอโอกาสมาตลอดโดยไม่หมดหวัง”

 

“พอได้เข้ามาอยู่ในแคมป์ทีมชาติมันเหมือนที่เราวาดฝันเอาไว้ โชคดีที่ผมรู้จักกับพี่ๆ น้องๆ ทุกคนมาก่อน ซึ่งเคยเจอกันตามงานแข่งมาตลอด ทำให้ปรับตัวได้ง่าย แต่เข้ามาแล้วก็ต้องปรับตัวหลายๆ ด้าน ทั้งวิธีคิด การเล่นเป็นทีมมันแตกต่างจากการเล่นสโมสร เพราะคนในแคมป์มีแต่คนเก่งๆ ก็จะพยายามเรียนรู้จากทุกคนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด”

 

เจ้าตัวยังยอมรับว่าตื่นเต้นไม่น้อยสำหรับซีเกมส์หนแรกในชีวิต แม้ว่าจะเคยผ่านเวทีนักเรียนอาเซียนมาก่อนก็ตาม เพราะความกดดันจากการที่ตะกร้อไทยนั้นจะแพ้ไม่ได้ ต้องชนะอย่างเดียวเท่านั้น

 

นอกจากนี้ “น็อต” ยังขอบคุณตัวเองที่เขาไม่ถอดใจยอมแพ้ในวันนั้น พร้อมกับขอบคุณผู้ใหญ่ทุกคนที่มอบโอกาสให้เขาได้เดินทางตามหาความฝัน

 

“ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำมาตลอด ในวันที่ตัดสินใจกลับมาเล่นอีกครั้งผลลัพธ์ในวันนี้มันคุ้มค่ามากครับ เพราะความฝันในการเล่นตะกร้อของผมคือการติดทีมชาติ ถ้าวันนั้นผมตัดสินใจยอมแพ้ก็คงไม่มีวันนี้ ทั้งๆ ที่ผมทุ่มเทแรงกายแรงใจเกินร้อยมาตลอดตั้งวันแรก จากบ้านมาตามหาความฝัน มันทั้งคิดถึงครอบครัว ตื่นเช้ามาซ้อมหนักในทุกๆ วัน รวมถึงได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต การใช้ชีวิตที่ประมาท การพลาดเพียงเสี้ยววินาทีมันอาจส่งผลต่ออนาคตของเราได้ แต่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันกับเราแล้ว ต้องรู้จักตั้งสติก่อน อย่ายอมแพ้กับมัน ต้องสู้ในทุกสถานการณ์ หมั่นให้กำลังใจตัวเอง เพราะตอนเราเจ็บไม่มีใครเห็นเรา มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เห็นตัวเองนอนเจ็บอยู่คนเดียว เราจะสู้กับมันยังไง ถ้าเรายอมแพ้เราก็แพ้ตั้งแต่วันนั้นเลยอาจไม่ได้มาถึงจุดนี้”

 

 

แม้ว่าจะทำความฝันสำเร็จแล้ว แต่ยังเป็นเพียงก้าวนึงในเส้นทางเท่านั้น เพราะเจ้าตัวยังยอมรับว่าในวันนี้ทุกครั้งที่กระโดดขึ้นฟาด ภาพฝันร้ายในวันเก่ายังคงตามหลอกหลอนตลอดมา ทำให้เขาไม่สามารถรีดศักยภาพสูงสุดของตัวเองออกมาได้ ระหว่างนี้เขาจะพยายามก้าวข้ามความกลัวในจิตใจของตัวเอง และเอาเหรียญทองมาฝากคนไทยให้ได้


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

โฆษณา