stadium

เรื่องเล่าจากซีเกมส์ 2021 สู่ซีเกมส์ 2023

14 พฤษภาคม 2566

แม้ว่าซีเกมส์ 2021 ทัพนักกีฬาไทยจะไม่สามารถครองเจ้าเหรียญทองได้ก็จริง แต่หลายๆ ชนิดกีฬาได้สร้างผลงานอันน่าจดจำเอาไว้ไม่น้อย และในวันนี้เราขอพาผู้อ่านทุกคนย้อนความทรงจำอันหวานชื่นของนักกีฬาจากซีเกมส์ 2021 เพื่อเป็นการปูทางสู่ซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา จะมีเรื่องราวอะไรบ้าง ติดตามไปพร้อมกันที่นี่

 

 

"หญิง" สุธาสินี เสวตรบุตร 

 

นักปิงปองสาวที่บันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการปิงปองไทยมาตลอดนับตั้งแต่ซีเกมส์ปี 2015 จนได้รับการขนาดนามว่าเป็นขอมสร้างประวัติศาสตร์ และจากผลงานในซีเกมส์ 2021 การคว้าเหรียญทองในประเภททีมหญิงได้เป็นครั้งแรก ทำให้ สุธาสินี เสวตรบุตร กลายเป็นนักปิงปองสาวไทยคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์มาครองได้ครบทุกประเภทที่ลงแข่ง

 

เหรียญทองหญิงเดี่ยว ซีเกมส์ 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์, เหรียญทองคู่ผสม คู่กับ ภาดาศักดิ์ ตันวิริยะเวชกุล​ ซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย, เหรียญทอง หญิงคู่ คู่กับ อรวรรณ พาระนัง ซีเกมส์ 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และเหรียญทอง ทีมหญิง ซีเกมส์ 2021 ที่ประเทศเวียดนาม 

 

มาติดตามลุ้นกันว่าในซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา สุธาสินี เสวตรบุตร จะสร้างสถิติอะไรใหม่ๆ อะไรให้กับคนได้ไทยมีความสุขร่วมกันอีกครั้งหรือไม่

 

 

“บิว” ภูริพล บุญสอน

 

ปลุกกระแสให้คนไทยหันมาสนใจกรีฑาไทยมากยิ่งขึ้น ต่อเนื่องมาทุบสถิติประเทศไทยในรอบ 20 กว่าปีทั้งในระยะ 100 และ 200 ม.

 

ในซีเกมส์ 2021 เจ้าตัวก็สร้างปรากฎการณ์อีกครั้ง ด้วยการกวาดเรียบครบทั้ง 3 เหรียญทองในการวิ่งระยะสั้น 100 ม., 200 ม. และ 4x100 ม. พร้อมกับครองสถิติซีเกมส์ในการวิ่งระยะ 200 ม. อีกด้วย 

 

นอกจากนี้ยังทำผลงานเทียบชั้นรุ่นพี่ระดับตำนานต่อจาก สุทธิ มัญยากาศ, อาณัฐ รัตนพล, สุชาติ แจสุรภาพ, เหรียญชัย สีหะวงศ์ และจีระพงศ์ มีนาพระ

 

แต่ความมหัศจรรย์คือเจ้าตัวได้ในวัยเพียง 16 ปีเท่านั้น และในซีเกมส์ 2023 ภูริพล บุญสอน จะสานต่อความสำเร็จที่เจ้าตัวสร้างไว้ได้หรือไม่ต้องติดตาม

 

 

จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน

 

ลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย ตัดสินใจเลือกรับใช้ทีมชาติไทยตามสายเลือดมารดา และก็ไม่ทำให้คนไทยต้องผิดหวัง เมื่อเจ้าตัวแจ้งเกิดจนกลายเป็นที่รักของคนไทย จากการทำผลงาน 4 เหรียญทองในการลงแข่งซีเกมส์ครั้งแรก โดยทำได้จากการวิ่ง ระยะ 400 ม., 800 ม., ผลัด 4x400 ม.ชาย และผลัดทีมผสม 4x400 ม. พร้อมกับกลายเป็นนักกรีฑาไทยคนแรกในรอบ 21 ปี ที่คว้า 4 เหรียญทองในซีเกมส์ครั้งเดียว ต่อจาก สุภาวดี ขาวเผือก ที่ทำไว้ในซีเกมส์ 2001 ที่ประเทศมาเลเซีย

 

 

“กระแต” ศศิวิมล เมืองพวน

 

เหรียญทองแห่งความหวังของกีฬายิมนาสติกไทยอีกหนึ่งเหรียญ หลังจากประเภทฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ห่างหายความสำเร็จในซีเกมส์มานานถึง 19 ปี ในที่สุด ศศิวิมล เมืองพวน ก็นำกุญแจไขความสำเร็จนี้ให้กับทีมชาติไทย โดยในการแข่งขัน ศศิวิมล โชว์ลีลาได้น่าประทับใจ ทำคะแนนได้มากที่สุด 12.700 คะแนนเท่ากับนักกีฬาจากอินโดนีเซีย ทำให้ทั้งสองสาวคว้าเหรียญทองร่วมกัน เป็นความสำเร็จที่สมาคมกีฬายิมนาสติกแห่งประเทศไทยรอคอยและหวังจะให้เหรียญรางวัลนี้ช่วยปลุกกระแสยิมนาสติกให้เป็นที่สนใจมากขึ้นอีกครั้ง

 

 

“จอย” เจนจิรา ศรีสอาด

 

สิ้นสุดการรอคอย 11 ในที่สุดก็ปลดล็อกคว้าเหรียญทองซีเกมส์ได้เป็นครั้งแรกที่ประเทศเวียดนาม โดยเงือกสาวสายสปรินเตอร์คว้ามาได้ 2 เหรียญจากฟรีสไตล์ 50 ม. และผีเสื้อ 50 ม. และเกือบจะมีโอกาสคว้าเหรียญทองที่ 3 จากฟรีสไตล์ 100 ม. แต่น่าเสียดายที่แพ้ กั๊วะ เจิ้ง เหวิน จากสิงคโปร์ไปเพียง 0.02 วิ 

 

อย่างไรก็ตามการคว้า 2 เหรียญทองยังทำให้เธอเป็นนักว่ายน้ำไทยไทยที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในรอบ 8 ปี มาติดตามดูกันว่าซีเกมส์ 2023 เธอจะรักษาความยอดเยี่ยมนี้ไว้ได้อีกหรือไม่

 

 

ทัพแบดมินตัน

 

เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมาหลากหลายเรื่องในราวในซีเกมส์ 2021 ผลงาน 4 เหรียญทองทำให้ทัพนักตบลูกขนไก่ไทย ครองเจ้าเหรียญทองในซีเกมส์ ได้เป็นสมัยที่ 5 ต่อจากปี 1959, 1961, 1967 และ 2017

 

ขณะเดียวกันประเภททีมชายยังสามารถคว้าเหรียญทองแบบเหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะในรอบรองชนะเลิศที่ล้มอินโดนีเซียราชาที่ครองบัลลังก์มาตลอด และนับเป็นทองแรกในรอบ 47 ปีของประเภททีมชาย ต่อจากปี 1975 ส่วนทีมหญิงยังคงยอดเยี่ยมคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน และเป็นครั้งแรกเลยที่ทีมชายและทีมหญิงคว้าเหรียญทองได้พร้อมกันในซีเกมส์ครั้งเดียว

 

ส่วนประเภทบุคคล “วิว” กุลวุฒิ วิฑิตศานต์ คว้าเหรียญทองชายเดี่ยวได้เป็นคนที่ 6 ของไทย ส่วนหญิงเดี่ยว "หมิว" พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ ลบฝันร้ายคว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรก หลังจากที่ทำได้เพียงเหรียญทองแดงมาตลอดในปี 2017 และ 2019 

 

ส่วนเป้าหมายของแบดมินตันไทยในซีเกมส์ 2023 คือการคว้า 2 เหรียญทองเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามหากทัพขนไก่ไทยสามารถครองเจ้าเหรียญทองได้อีกครั้ง จะเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ครองแชมป์ 2 ปีติดต่อกันเป็นครั้งแรกในรอบ 62 ปี หลังเคยทำได้ก่อนหน้านี้เพียงแค่หนเดียวในปี 1959-1961

 

 

ทัพเทเบิลเทนนิส

 

พูดถึง สุธาสินี เสวตรบุตร ไปแล้ว แต่จะไม่พูดถึงผลงานของทัพลูกเด้งไทยในซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมาก็คงไม่ได้ เพราะนักกีฬาเทเบิลเทนนิสไทยทุกคนได้ร่วมกันสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยร่วมการแข่งขันมาตลอด 63 ปี

 

ผลงาน 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทอง เป็นความสำเร็จที่ดีที่สุดของวงการลูกเด้งไทยในซีเกมส์ เป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ครองเจ้าเหรียญทองในกีฬาชนิดนี้ในมหกรรมซีเกมส์ โดยสามารถล้มสิงคโปร์ที่ครองความเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียนมาตลอดนั้บตั้งแต่ปี 1999 หรือราวๆ 2 ทศวรรษ

 

เครดิตทั้งหมดต้องยกให้พวกเขาเหล่านี้ ภาดาศักดิ์ ตันวิริยะเวชกุล, ภาคภูมิ สงวนสิน, ภัทธร ภัสระ, ศรายุทธ ตันเจริญ, สุธาสินี เสวตรบุตร, อรวรรณ พาระนัง, จิณห์นิภา เสวตรบุตร, วิรากานต์ ทายะพิทักษ์, วรรณวิสาข์ เอื้อวิริยะโยธิน โดยมี นาวาเอกพิเศษ สมศักดิ์ ตรีธาร อุปนายกสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย เป็นผู้จัดการทีม และผู้ฝึกสอน คือ อาสาฬห์ อมรรัตนสุชาติ, อนิศรา เมืองสุข และนายณัฐวุฒิ เรืองเวส นายกสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย 

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

La Vie en Rose