stadium

ส่องสายวอลเลย์บอลหญิง โตเกียว เกมส์

14 มีนาคม 2563

หลังจากต่อสู้แย่งชิงกันกันอย่างดุเดือด! จนได้ตัวแทน 11 ทีม ผ่านเข้าแข่งขัน วอลเลย์บอลหญิง โอลิมปิกเกมส์ 2020 รอบสุดท้าย ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเริ่มดวลเพลงตบกันในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ล่าสุด สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ "เอฟไอวีบี" ได้ทำการแบ่งกลุ่มออกมาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเราจะไปดูกันว่าแต่ละกลุ่มมีอะไรน่าสนใจบ้าง

 

 

วอลเลย์บอลหญิง "โตเกียวเกมส์" มีทั้งหมด 12 ชาติเข้าร่วมแข่งขัน ประกอบด้วย "เจ้าภาพ" ญี่ปุ่น และอีก 11 ทีมจากรอบคัดเลือก โดยรอบแรกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ทีม และเอา 4 ทีมที่ดีที่สุดของกลุ่ม ผ่านเข้าไปแข่งขัน รอบก่อนรองชนะเลิศ(8 ทีมสุดท้าย) สรุปง่ายๆคือจะมีแค่กลุ่มละ 2 ทีมเท่านั้น ที่ไม่ได้ไปต่อใน รอบน็อคเอาท์

 

กลุ่มเอ ประกอบด้วย "เจ้าภาพ" ญี่ปุ่น, "รองแชมป์เก่า" เซอร์เบีย, บราซิล, "ตัวแทนเอเชีย" เกาหลีใต้, โดมินิกัน และ เคนยา ขณะที่ สายบี ประกอบด้วย "แชมป์เก่า" จีน, "แชมป์เนชั่นส์ ลีก" สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, อิตาลี, อาร์เจนตินา และ "รองแชมป์ยุโรป" ตุรกี

 

ความน่าจะเป็นของ "กลุ่มเอ" คงเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง เซอร์เบีย และ บราซิล ว่าใครจะจบเป็น "แชมป์กลุ่ม" เพราะดูแล้วศักยภาพเหนือกว่าทีมอื่นๆพอสมควร โดยชื่อเสียงที่ผ่านมาของ บราซิล ดูเหนือกว่า เซอร์เบีย แต่ถ้าวัดผลงานในช่วง 3-4 ปีล่าสุด "สาวเซิร์บ" ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน 

 

ปัญหาสำคัญของ "แซมบ้า" น่าจะเป็นเรื่องประสบการณ์ผู้เล่น เนื่องจากที่ผ่านมา "ตัวหลัก" เริ่มหายหน้าหายตาไปแล้วหลายคน ไม่ใช่ว่า "ตัวใหม่" จะไม่เก่งเท่า "ตัวเก่า" แต่การลงเล่น "โอลิมปิกฯ" ครั้งแรกในชีวิต มันไม่ใช่เรื่อง่ายอย่างแน่นอน ตัดกลับมาทางฝั่ง เซอร์เบีย ต้องยอมรับว่า ชุดรองแชมป์ "โอลิมปิกฯ 2016" ยังอยู่กันเกือบครบ โดยเฉพาะ 2 ตัวหลักอย่าง ทิยาน่า บอสโกวิช และ บรันคิก้า มิไฮโลวิช ที่น่าสนใจคือ บอสโกวิช เพิ่งจะอายุเพียงแค่ 23 ปีเท่านั้น เรียกได้ว่ากำลังฟิตสมบูรณ์เต็มที่

 

 

ส่วนอีก 2 โควต้าที่เหลือน่าจะตัดชื่อ เคนยา ออกไปได้เลย เพราะว่าศักยภาพของพวกเธอไม่ได้แข็งแกร่งมากขนาดนั้น รวมทั้งยังมีโอกาสจะแพ้รวด 5 นัดด้วยซ้ำไป เท่ากับว่า 3 ทีมที่เหลืออย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และ โดมินิกัน จะต้องแย่งชิงกันเพื่อ 2 โควต้าสุดท้าย หากวัดจากฟอร์มการเล่นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดมินิกัน ไม่เป็นรอง 2 ทีมจากเอเชีย และดูเหนือกว่าในเรื่องความหนัก แต่เรื่องของความแน่นอนและประสบการณ์ เกาหลีใต้ เชื่อใจได้มากกว่า เพราะ 2 ครั้งล่าสุด(2012, 2016) "สาวกิมจิ" ผ่านเข้าสู่ รอบน็อคเอาท์ ได้ทั้งหมด รวมทั้งยังหลุดไปถึง รอบตัดเชือก ในปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

ญี่ปุ่น ได้เปรียบทุกทีมในเรื่องเสียงเชียร์ เพราะว่าเป็น "เจ้าภาพ" แต่ศักยภาพของทีมชุดนี้ยังไม่แข็งแกร่งมากนัก จุดเด่นคือระบบการเล่นและความเหนียวแน่น แต่ทีเด็ดทีขาดยังเป็นรองทั้ง เกาลีใต้ และ โดมินิกัน รวมทั้งความสูงของตัวผู้เล่นก็เป็นรองเกือบทุกทีม ซึ่งต้องรอดูกันว่าในวันที่ลงสนามแข่งขัน "ทีมไหน" จะท็อปฟอร์มมากกว่ากัน ซึ่งถ้าทุกทีมเล่นได้ตามมาตรฐาน ญี่ปุ่น เหงื่อตกแน่นอน

 

 

ข้ามฝั่งมาที่ "กลุ่มบี" ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "แชมป์เก่า" จีน คือทีมที่แข็งแกร่งที่สุดทีมหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ ดังนั้นพวกเธอก็มีโอกาสไม่น้อยเช่นกันที่จะเป็น "แชมป์กลุ่ม" แต่ต้องวัดกับอีก 1 ทีมแกร่งอย่าง สหรัฐฯ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะคว้า "แชมป์โอลิมปิกฯ" มาครองให้ได้เป็นครั้งแรก และช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีน กับ สหรัฐฯ ก็ห้ำหั่นเชือดเฉือนกันมาตลอด ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม "กลุ่มบี" ถือว่าเป็น "กรุ๊ป ออฟ เดธ" เพราะมีทีมแกร่งอยู่ด้วยกันหลายทีม เท่ากับว่า "แชมป์กลุ่ม" สามารถออกได้มากกว่า 2 หน้า(ทีม)

 

"ม้ามืด" ตุรกี เป็นอีก 1 ทีมที่ประมาทไม่ได้ เพราะมีมาตรฐานการเล่นที่สูงมาก และสามารถล้มทีมใหญ่ๆ มาได้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ได้ "โค้ชอัจฉริยะ" จิโอวานนี่ กุยเด็ตติ มาคุมทัพ ส่วนอีก 1 ทีมที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันคือ อิตาลี เพราะเป็นทีมวัยรุ่นที่เล่นกันด้วยความคึกคัก แต่ปัญหาหลักๆ คือความแน่นอนที่ยังไม่ค่อยนิ่งมากนัก เกมไหนมาดีก็ดีไป เกมไหนหลุดก็อาจจะผิดฟอร์มยาว โดยเฉพาะตัวหลักอย่าง เปาล่า เอโกนู 

 

ขณะที่ 2 ทีมที่มีภาษีน้อยที่สุดของ "กลุ่มบี" คือ รัสเซีย และ อาร์เจนตินา เพราะว่ามีศักยภาพเป็นรองอีก 4 ทีมที่กล่าวไปข้างต้น "สาวรัสเซีย" อาจจะมีอดีตที่ยิ่งใหญ่แต่มาตรฐานตกไปเยอะในช่วง 2-3 ปีล่าสุด ผลงานในรายการะดับนานาชาติก็ถือว่าน่าผิดหวังมาก แต่โชคดีที่สามารถเอาชนะ เกาหลีใต้ มาได้ในรอบคัดเลือก(สนามแรก) ทั้งที่ตกเป็นฝ่ายตามหลังไปก่อนถึง 2 เซต ไม่เช่นนั้นพวกเธออาจต้องไปแข่งรอบคัดเลือกโซนยุโรป ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะอกหัก

 

ส่วนทาง อาร์เจนตินา ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ที่เข้ารอบมาได้เพราะว่า บราซิล ไม่ต้องลงคัดเลือกรอบทวีป เนื่องจากคว้าตั๋วมาครองตั้งแต่สนามแรก ไม่เช่นนั้น อาร์เจนตินา อาจต้องรอคอยไปอีกอย่างน้อย 4 ปี เพราะในอดีตที่ผ่านมา อาร์เจนตินา เคยเข้าร่วมแข่งขัน "โอลิมปิกฯ" รอบสุดท้าย เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น คือเมื่อปี 2016 ซึ่งไม่ต้องแย่งตั๋วกับ บราซิล เพราะว่าเล่นกันที่ ริโอ เดอ จาเนโร ใน บราซิล นั่นเอง(บราซิล ได้เล่นในฐานะ เจ้าภาพ)

 


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

PLUG

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV