stadium

ความทะเยอทะยานของ "อังค์อังค์ อรนุช" กับเป้าหมายมาราธอนซีเกมส์กัมพูชา

10 เมษายน 2566

รับใช้ชาติครั้งแรกในฐานะนักทวิกีฬา ในซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2019 แต่จิตวิญญาณอยู่ที่การวิ่งมาตั้งแต่เด็ก เส้นทางของ "อังค์อังค์ อรนุช เอี่ยมเทศ" จึงกลับมาสู่ถนนสายมาราธอนอีกครั้ง ในซีเกมส์ 2023 ที่กัมพูชา นี่คือเรื่องราวชีวิต เส้นทางจากจุดเริ่มต้นถึงเป้าหมายของนักวิ่งหญิงร่างเล็ก ที่มีฝันใหญ่เกินตัว สู่มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียน

 

 

ความทะเยอทะยานเพื่อชัยชนะ

 

จากการแข่งในโรงเรียน สู่การแข่งระดับจังหวัด ระดับภาค แต่เป้าหมายคือระดับประเทศ คือ เส้นทางการวิ่งของ อังค์อังค์ อรนุช เอี่ยมเทศ สาวร่างเล็กจากจังหวัดเพชรบูรณ์ผู้เต็มเปี่ยมด้วยความฝัน และความทะเยอทะยาน "หนูเป็นนักกีฬาโรงเรียนสมัย ม.1 ตอนนั้นยังไม่ได้ชอบการวิ่ง จนได้แข่งระดับจังหวัด ไปคัดภาค แล้วแพ้"

 

อังค์อังค์เล่าว่า ตอนนั้นอายุแค่ 14 ปี ยังมีความคิดแบบเด็กๆ เมื่อแพ้ก็รู้สึกยอมไม่ได้ แต่ก็เป็นก้าวแรกที่ทำให้เธอตั้งใจมากขึ้น "เค้าก็มี 32 มี 24 ชั่วโมง เหมือนเรา ทำไมเราทำไม่ได้แบบเค้า ก็เลยกลับมาตั้งใจซ้อม เพราะอยากกลับไปชนะ ตอนนั้นความเป็นเด็กทำให้เรารู้สึกยอมไม่ได้ หนูเป็นคนทะเยอทะยานอยู่แล้ว อยากเป็นตัวแทนระดับประเทศ"

 

พันเอกพันธ์ศักดิ์ เต็งยี่ คือโค้ชคนแรกชของอังค์อังค์ ที่ปูทางให้เธอสู่ความเป็นเลิศ บวกกับความทุ่มเทของอังค์อังค์ ทำให้เริ่มประสบความสำเร็จในฐานะนักวิ่ง จนกระทั่งขึ้นชั้นมัธยมปลาย ก็ได้รับทุนเรียนฟรีจากการเป็นนักกีฬาวิ่ง ได้รับถ้วยพระราชทานจากการแข่งขัน รวมถึงได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นจากอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

"ซ้อมหนักค่ะ เพราะหนูทุ่มเท อยากให้พ่อแม่เห็นว่าเรามีอนาคตได้จากการวิ่ง อยากพิสูจน์ให้เขาเห็น จนได้ทุนเรียนฟรี ก็ดีใจมากที่ทำได้ พิสูจน์ตัวเองได้" จากนั้นเส้นทางการหารายได้ในการวิ่งก็เริ่มต้นขึ้น

 

 

เงินรางวัลแรก เพื่อต้นสักของแม่

 

เมื่ออายุถึงเกณฑ์แข่งขันวิ่งทางไกล อังค์อังค์ในวัย 17 ปี นั่งรถจากเพชรบูรณ์บ้านเกิดคนเดียวไปที่พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อแข่งวิ่งมาราธอน ในงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของประเทศไทย ในระยะ 28 กิโลเมตร วันนั้นมีเพียงกระเป๋า 1 ใบ รองเท้าวิ่ง และเต้นท์กับที่นอนสำหรับ 1 คืน

 

"หนูนั่งรถคนเดียวจากเพชรบูรณ์ไปพัทยา ไปกางเต้นท์นอนที่โรงเรียนใกล้ๆ ที่แข่ง ตอนนั้นมีคนรู้จักที่มาจากจันทบุรีแนะนำหนู หนูก็หอบเต้นท์กับที่นอนใส่กระเป๋าไป" การแข่งขันวันนั้น ประสบความสำเร็จตามที่เธอตั้งใจ กลับไปพร้อมชัยชนะ และเงินรางวัล 5,000 บาท และอังค์อังค์นำเงินนั้นไปซื้อต้นสักให้แม่

 

"พ่อกับแม่ดีใจมาก ภูมิใจมาก หลังจากนั้นก็ไปแข่งอีก เน้นงานที่พัทยา เขาค้อ แม่เมาะ และยังแข่งในลู่ด้วย จนเข้ามหาลัย โค้ชให้โฟกัสทางถนน" โดยตอนนั้นอังค์อังค์ยังอยู่ภายใต้การดูแลของโค้ชพันธ์ศักดิ์ ก่อนจะเปลี่ยนมือสู่โค้ชคนที่ 2 โค้ชนิ สนธิยา สายแวว อดีตทีมชาติไทย

 

 

 

รับบทนักทวิกีฬาในซีเกมส์ครั้งแรก

 

แม้ชีวิตจะอยู่กับการวิ่งมา 14 ปี แต่จังหวะชีวิตก็ขีดให้อังค์อังค์ได้ติดทีมชาติในฐานะนักทวิกีฬา ในซีเกมส์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2019 "ต้องวิ่งก่อน แล้วมาปั่น 40 โล แล้ววิ่งใหม่ มันกดดันมาก ไม่มีสมาธิ เป็นทีมชาติครั้งแรก หนูก็ใส่เต็มที่มากไป เลยได้แค่ที่ 4 กลับมา ส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นนักวิ่งมากกว่า กลับมาก็เลยวิ่งต่อ

 

2 ปีถัดมา ถือเป็นการแจ้งเกิด อังค์อังค์ อรนุชแบบเต็มตัวในฐานะนักวิ่งทางไกล ที่งาน Amazing Thailand Marathon 2021 อังค์อังค์ลงแข่งระยะฮาล์ฟมาราธอน "เป็นแมชต์ที่เปิดตัวเลย ชนะโอเวอร์ออลหญิง ก่อนแข็งมีเจ็บ หนูเลยไม่คาดหวัง แต่ก็อยากได้เงิน เลยไปแข่ง แล้วก่อนนั้นหนูมาๆ หายๆ คนเลยไม่ค่อยรู้จัก"

 

หลังจากนั้นมา อังค์อังค์ก็สร้างชื่อให้กับตัวเอง ด้วยการชนะในงานวิ่งถนนอีกหลายงาน ควบคู่กับการแข่งในลู่ จนกระทั่งงานแข่งสำคัญคือขอนแก่นมาราธอนที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเวลาไปซีเกมส์ที่กัมพูชาในปีนี้ (2023) "ตอนแรกตั้งใจจะแข่งระยะอื่น แต่หนูรู้ว่าถ้าลงมาราธอนหนูจะแพ้แค่ลินดา (ลินดา จันทะชิด นักวิ่งมาราธอนหญิงทีมชาติไทย) ก็ยังได้รางวัล"

 

อังค์อังค์เล่าว่า งานวิ่งครั้งนี้เธอมีเป้าหมายทำสถิติใหม่ และตั้งใจไว้ว่าจะยื่นเวลาเพื่อคัดทีมชาติไปซีเกมส์ การแข่งขันนั้นเป็นการพบกันครั้งแรกของ 2 นักวิ่งมาราธอนหญิงเลือดใหม่ "อังค์อังค์ อรนุช" และ "ลินดา จันทะชิด"

 

"ต้องเจอทางชันเยอะ วิ่งขึ้นเขา เราก็เต็มที่ มีสติตลอด ก็เข้าที่ 2 เวลา 3.03 ก็เอาไปยื่นทีมชาติแล้วติด ดีใจมาก ที่ได้ติดทีมชาติในฐานะนักวิ่ง"

 

 

เป้าหมายในกัมพูชา

 

ตอนนี้อังค์อังค์ อายุครบ 30 ปีเต็มแล้ว สะสมประสบการณ์มาราธอนมามากมาย แต่ซีเกมส์ที่กัมพูชาจะเป็นมาราธอนระดับอาเซียนครั้งแรกของเธอ นี่คือโอกาสครั้งสำคัญในฐานะนักวิ่งทีมชาติไทย "ดีใจ แต่ก็กดดัน แต่โค้ชนิบอกว่า ได้รับโอกาสแล้ว ต้องรับไว้แล้วทำให้เต็มที่ ตั้งใจให้เต็มที่ เวลาเรามีน้อย ต้องมั่นใจเพราะเราได้รับเลือกจากสถิติของเรา ต้องทำให้สมกับที่ได้รับโอกาส"

 

มาราธอนของอังค์อังค์เธอเปรียบมันเหมือนหนังชีวิต คาดเดาไม่ได้ว่าจะออกมาเป็นแบบไหน ถ้าฝึกซ้อมดีก็อาจเป็นหนักรักโรแมนติกที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ถ้าซ้อมไม่ดีอาจกลายเป็นหนังดราม่า "มีเรื่องที่เกิดได้ทุกกิโล มีทั้งทุกข์ทั้งสุข มีฟีลที่อาจจะอยากหยุดแล้ว ถามตัวเองว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ถ้าใจมา ขาไม่ไป แต่เราสู้ต่อก็ไปต่อได้ คือการทดสอบใจและร่างกาย"

 

ซีเกมส์ครั้งนี้อังค์อังค์บอกว่า จะทุ่มเทเต็มที่เท่าที่ทำได้ ตามระยะเวลาที่มีอยู่ แต่เป้าหมายของเธอ คือการได้แข่งมาราธอนซีเกมส์ในนามทีมชาติไทยในประเทศไทย ซึ่งไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งหน้า ในปี 2025 "ใจยังอยากเล่นมาราธอนต่อไป อยากติดทีมชาติที่ซีเกมส์ที่ไทยครั้งหน้า ก่อนที่จะไปเป็นครู"

 

 

ตอนนี้อังค์อังค์กำลังเรียนต่อเพื่อปูทางสำหรับการเป็นครูในอนาคต เพราะโค้ชนิ ที่เป็นทั้งโค้ชและไอดอลของเธอ ได้แสดงออกถึงการเป็นแม่พิมพ์ที่ดี ซึ่งทำให้อังค์อังค์อยากเดินตามรอยของโค้ชนิเพื่อผลิตนักวิ่งดีๆ ให้กับประเทศไทยในอนาคต


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

La Vie en Rose