stadium

มังกร พงศกร : แบกความฝันและความหวังสู่การเป็นนักวิ่งทีมชาติไทย

2 เมษายน 2566

ต้องมีอาชีพ ต้องติดทีมชาติ และต้องจบปริญญา คือ 3 เป้าหมายในชีวิตของมังกร พงศกร สุขสวัสดิ์ นักวิ่งระยะกลางไกลทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ที่กัมพูชา ณ ตอนนี้ มังกรประสบความสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว 2 ข้อแรก และกำลังเดินตามเป้าหมายที่ 3

 

นี่คือเรื่องราวของเด็กชายธรรมดา จากรัตภูมิ จังหวัดสงขลา แบกความฝันและความหวังมากรุงเทพด้วยกระเป๋า 1 ใบ สู่การเป็นนักวิ่งทีมชาติไทย

 

 

ตัวสำรองทีมฟุตบอลสู่นักวิ่งประจำโรงเรียน

 

เหมือกับเด็กผู้ชายวัยเรียนส่วนใหญ่กีฬาที่ชอบมักจะเป็นฟุตบอล เพราะได้เล่นกันเป็นกลุ่มกับเพื่อน มังกรเองก็เช่นกัน เริ่มต้นจากการเตะฟุตบอลมาก่อน แต่เพราะตัวเล็กกว่าเพื่อนมาก ทำให้เจอจุดหักเห "ม.4 เทอม 1 เล่นบอลมาตลอด แต่เป็นตัวสำรองเพราะตัวเล็ก จนวันนึงโค้ชทีมฟุตบอลให้เทสต์ร่างกายด้วยการวิ่ง ปรากฏว่าผมวิ่งเร็วที่สุด โค้ชทีมวิ่งของโรงเรียนเห็นแววเลยมาชวนไปวิ่งด้วยกัน"

 

มังกรเล่าว่าในตอนนั้น เขาเพิ่งย้ายจากโรงเรียนประจำอำเภอรัตภูมิ มาที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ อำเภอเมืองสงขลา และหลังจบเทอมแรกมังกรก็เข้าสู่โลกของการวิ่ง "เริ่มวิ่งตั้งแต่อายุ 16 ย่าง 17 ตอนนั้นไม่อยากวิ่ง ไม่ชอบ เหนื่อย แล้วต้องเล่นคนเดียว ไม่มีเพื่อน แล้วโรงเรียนผมเขาดังเรื่องปั้นนักฟุตบอล ผมโดนจับแยกมาวิ่งคนเดียว" ตอนนั้นมังกรมีโค้ช อรุณสิทธิ์ แซ่ลิ่ม คอยดูแล

 

 

ตอนนั้นใจมังกรยังอยากเล่นฟุตบอลอยู่ หลังเลิกเรียนเขาจึงเปลี่ยนใส่รองเท้าสตั๊ดไปแอบเตะบอลกับเพื่อนก่อนไปซ้อมวิ่ง จนการแข่งวิ่งรายการแรกมาถึง "โค้ชมาบอกว่าอีก 2 อาทิตย์จะพาไปแข่งจังหวัด ผมก็ไม่สนใจ ก็ทำตามเดิม จนไปแข่งก็ไปแบบไม่รู้เรื่อง

แต่พอแข่งจริงรู้สึกสนุก เพราะสู้ได้ ผมยังใส่รองเท้าผ้าใบ ถุงเท้าบอลไปวิ่ง วิ่งจบเกือบได้ที่ 3 ก็รู้สึกว่าเราสู้ได้ แข่ง 3000 เมตร เปิดแรงตั้งแต่รอบแรกแล้วก็หมด"

 

มังกรกลับมาด้วยความรู้สึกเจ็บใจฝังใจ แต้โค้ชอรุณสิทธิ์บอกว่า เขาทำดีแล้ว อยากให้ซ้อมต่อไป มังกรจึงตั้งใจซ้อมมารกขึ้นหลังจากกลับมา ผ่านไป 1 ปี โควิดเริ่มระบาด โค้ชแนะนำให้มังกรหยุดเตะฟุตบอลแล้วมาจริงจังหับการวิ่งอย่างเดียว ซึ่งมังกรก็ตกลงและตั้งใจซ้อมวิ่งก่อนได้เปิดตัวระดับประเทศจริงๆ ครั้งแรก

 

 

 

จากลู่ยางสู่ถนน เหรียญทองและถ้วยแชมป์แรก

 

โค้ชอรุณสิทธิ์พามังกรและเพื่อนรุ่นน้องนั่งรถจากสงขลาเพื่อมาแข่งรายการระดับประเทศ ของกรมพลศึกษา ที่กรุงเทพฯ กลายเป็นเหรียญทองแรกของมังกร ในรายการ 5000 เมตรรุ่นไม่เกิน 18 ปี "ฮึกเหิมมากหลังจากนั้น แม่ก็สนับสนุนเต็มที่ ผมอยู่กับแม่แค่2 คน แม่บอกให้ทำหน้าที่ไปแบบนี้ และภูมิใจมาก" เป็นพลังสำคัญที่ทำให้มังกรยังซ้อมต่อแม้หลังจากนั้นโควิดจะรุนแรงขึ้นจนไม่มีรายการให้แข่ง

 

ที่ผ่านมามังกรจะแข่งในสนามลู่ยางมาตลอด เมื่อกระดูกเริ่มแข็งขึ้น และการแข่งทางถนนกลับมา มังกรก็ได้ลองแข่งทางถนนครั้งแรกที่งานตรังมาราธอน 2021 ระยะ 10 กิโลเมตร และเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก เป็นอันดับ 1 โอเวอร์ออล และ 50 วันถัดจากนั้นคือของจริงที่มังกรต้องพิสูจน์ตัวเอง คือ รายการชิงแชมป์ประเทศไทย

 

"มีเวลาแค่ 50 วัน ผมลง 1500 กับ 5000 เมตร ซ้อมหนักมาก เพราะชิงแชมป์คือที่สุดแล้ว อยากพิสูจน์ตัวเอง เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักเรา และจะเป็นเยาวชนครั้งสุดท้ายของผม" มังกรและโค้ชอรุณสิทธิ์ได้มาดูการแข่งประเภทประชาชนซึ่งแข่งก่อน เพื่อวางแผนการแข่งครั้งนี้ให้ดีที่สุด และผลที่ได้รับก็คุ้มค่ากับความทุ่มเท

 

"ได้เหรียญทองครับ วิ่ง 1500 เมตร 4 นาที 13 วิ วันถัดมาแข่ง 5000 ได้เหรียญเงิน คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้น กลับบ้านไปผมตั้งใจกว่าเดิมอีก เพราะใจชอบการวิ่งไปแล้ว" มังกรกลับมาสงขลาหลังจากแข่งจบ มีงานใหญ่สงขลามาราธอนรอเขาอยู่ ได้พัก 1 คืนและลงแข่งระยะ 10 กิโลเมตร ประชันกับขาแรงคู่แฝดมหากาฬ "เบล ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม"

 

"ผมตั้งใจมาก เรารู้ว่าเขาเก่งมาก สุดท้าย ตามหลังพี่เบลเข้าเส้นชัยไป และวิ่งได้ดีมาก" และข่าวดีที่สุดก็มาถึงมังกร

 

 

จากอ้อมอกโค้ชผู้เป็นเสมือนพ่อ สู่แคมป์ทีมชาติไทย

 

"โค้ชโทรมาบอกว่า สมาคมจะเรียกไปเก็บตัวคัดซีเกมส์ ตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยว่าซีเกมส์คืออะไร ก็งงๆ รู้แต่ว่าต้องมาเก้บตัว 3 เดือน ตอนนั้นกำลังจะจบ ม.6" จากที่มังกรเล่าว่า เขาอยู่กับแม่ 2 คน เท่ากับว่า ค่าเรียนค่ากิจกรรมของเขาแม่จะแบกรับไว้ทั้งหมดมังกรลังเลเล็กน้อยที่จะต้องจากแม่ไปไกล เพราะเป็นห่วงที่แม่ทำงานหนัก และไม่อยากให้แม่เสียเงินเยอะ

 

โค้ชอรุณสิทธิ์ที่ปั้นมังกรมาตั้งแต่แรก ทราบดีว่านี่คือโอกาสที่ดีของศิษย์รัก จึงหาทางเพื่อให้มังกรได้ทำตามฝัน "คือ ครูในโรงเรียน กับคนรู้จักของโค้ช ช่วยกันรวมเงินส่งผมไปเก็บตัว ได้เงินมา 2 หมื่นบาท ถ้าไม่ได้วันนั้นผมก็คงไม่ได้มา" มังกรบอกว่า โค้ชอรุณสิทธิ์เป็นเสมือนพ่อคนที่ 2 ที่ดูแลเขาทุกอย่าง ให้คำแนะนำตลอด

 

ตอนนั้นโค้ชบอกว่า ถ้าไปแล้วไม่ดีขึ้นให้กลับมา และหากไปแล้วต้องทำได้ 3 อย่าง คือ ต้องมีอาชีพ ติดทีมชาติ และเรียนจบปริญญา

 

จากวันนั้น มังกรพร้อมกระเป๋า 1 ใบ แบกความฝันและความหวังของคนที่สนับสนุนเขา เดินทางมาสู่แคมป์ทีมชาติไทย และได้พบกับ "โค้ชเชือน นาวาอากาศเอก เชือน ศรีจุดานุ อดีตตำนานทีมชาติไทย ผู้ผันตัวมาเป็นโค้ชอยู่เบื้องหลังนักวิ่งระยะกลางไกลทีมชาติไทยหลายคน

 

 

เกือบกลับสงขลา เพราะพลาดตั๋วซีเกมส์ที่ฮานอย

 

หากพูดแบบไม่อ้อมค้อมโค้ชเชือน ถือเป็นโค้ชที่โหดที่สุดคนหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าซ้อมหนักที่สุด ใครผ่านโค้ชเชือนไปได้คือเก่งและแกร่ง "1-2 เดือนแรกผมท้อมาก คิดว่าไม่ไหวแล้ว ไม่เคยซ้อมเช้าไม่เคยยกเวทก็ต้องทำ จนตั้ม อาทิตย์ โสดา และบุญนัม เชิดชัย ภูตาโก เขามาเก็บตัวด้วยกัน

 

"ช่วงแรกที่ท้อคุยกับโค้ชอรุณสิทธิ์ทุกวัน แกบอกว่า มันเพิ่งเริ่มต้นเอง ให้ทน สะสมความแข็งแรงไป แม่ก็สนับสนุน ผมก็รู้ดีว่า ใครผ่านโค้ชเชือนไปได้ก็ไม่ต้องกลัวใครแล้ว" มังกรที่มีความมุ่งมั่นเป็นต้นทุนจึงตั้งใจซ้อมต่อไป แม้จะเหนื่อยก็ไม่ถอดใจ แต่ผลคัดซีเกมส์ก็ไม่มีชื่อของเขา ซึ่งเป็นซีเกมส์ที่ฮานอยเมื่อปี 2565

 

นั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มังกรจะต้องเลือกที่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย หากไม่เรียนต่อที่กรุงเทพ เขาต้องกลับบ้านที่สงขลา และออกจากแคมป์ทีมชาติ "โค้ชเบส (พันจ่าอากาศโท กิตติพงศ์ จอนด้วง โค้ชผู้ช่วยของโค้ชเชือน) มาช่วยหาที่เรียนให้ มาอยู่มหาวิทยาลัยเทคโนโยลีราชมงคล ธัญบุรี ก็เลยอยู่ต่อ โค้ชเชือนก็ขอตัวต่อยาวเลย"

 

มังกรที่ได้รับโอกาสผ่านการช่วยเหลือของผู้มีพระคุณทั้ง 2 คน จึงยังคงได้เก็บตัวต่อไปในแคมป์ทีมชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโค้ชเชือนเห็นแววและรู้ว่ามังกรพัฒนาได้ ส่วนโค้ชเบสก็เห็นความมุ่งมั่นของมังกรและอยากให้มังกรไปถึงได้ตามเป้าหมาย

 

 

 

เมื่อเป้าหมาย 3 ข้อกลายเป็นจริง

 

ปี 2565 เป็นปีแจ้งเกิดของนักวิ่งดาวรุ่งมากมาย จากการแข่งถนนที่กลับมาจัดเต็มรูปแบบ มีงานแข่งทุกสัปดาห์ มังกรเริ่มแจ้งเกิดตามงานวิ่งทั่วไป ทั้งการแข่งวิ่งผลัดของแบรนด์อาดิดาส งานแข่ง 13 รอบสนามลู่ยางของนาฬิกาการ์มิน แต่เป้าหมายของเขาไม่ได้อยู่ที่การแข่งถนน เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งโค้ชเชือนจึงให้มังกรหยุดแข่งเพื่อมุ่งสู่การติดทีมชาติ

 

"ธันวาปีที่ผ่านมา โค้ชเชือนให้หยุดแข่งถนน และซ้อมถนนไปก่อน เพื่อไปแข่งกีฬามหาลัย ตอนนั้นในการแข่งแต่ละครั้งเวลาเริ่มลดลงอีก ทั้ง 1500 เมตร และ 5000 เมตร เหมือนซ้อมมาถูกทาง"

 

การแข่งสำคัญที่รอมังกรอยู่ก็คือกีฬามหาวิทยาลัย และกรีฑานานาชาติ หากทำผลงานได้ดี ก็มีโอกาสสูงสำหรับซีเกมส์ที่กัมพูชา และผลของความตั้งใจและวินัย มังกรทำเวลาได้ดีขึ้นอีกในการวิ่งทั้ง 2 ระยะในการแข่งคัดตัว "แม่กับป้าที่บ้านไปบน เจ้าที่เจ้าทางบอกว่า จะถวายหัวหมูถ้าผมติดทีมชาติ ตอนนั้นก็ไม่รู้จะไหวไหม แต่ซ้อมดีเวลาดี โค้ชบอกว่า วิ่งแบบนี้มีโอกาส"

 

ก่อนแข่งคัดตัวมังกรทราบข่าวดีว่าได้บรรจุเป็นข้าราชการสังกัดกองทัพอากาศ จากการช่วยเหลือของโค้ชเบส นั่นทำให้ใจพองโต ฮึกเหิมขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะสำเร็จในเป้าหมายที่ 2 และกำลังจะไปถึงเป้าหมายที่ 3 ในการติดทีมชาติ และการแข่งวันนั้น มังกรทำสถิติใหม่ได้อีกครั้ง สะท้อนถึงพัฒนาการของเด็กอายุ 20 ปีคนนี้อย่างชัดเจน

 

"แม่ร้องไห้ ดีใจมาก ไม่นึกว่าวันนี้จะมาถึง จากคนที่มาแบบไม่มีอะไรเลย ทำได้ตามเป้าหมาย ทั้งได้งาน ได้ติดทีมชาติ ได้เรียนต่อ โค้ชอรุณสิทธิ์บอกว่า สุดยอดมาก แต่ต้องไม่เหลิง นี่คือจุดเริ่มต้น ยังมีอะไรอีกเยอะ ต้องพยายามและมีวินัยต่อไป ส่วนโค้ชเชือนบอกว่า ภูมิใจที่ตรงตามเป้า ตามแผน ส่วนโค้ชเบส ช่วยเหลือดูแลผมทุกอย่าง เขาภูมิใจมาก"

 

วันที่รู้ข่าวดีของมังกร ที่ได้อยู่ในรายชื่อนักกรีฑาทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ 2566 จึงเป็นความภาคภูมิใจของผู้อยู่เบื้องหลังทุกคน "ขอบคุณโรงเรียน มหาวชิราวุธจังหวัดสงขลา ที่คอยสนับสนุนทั้งเรื่องการเรียน และทางด้านกีฬา และคุณครู อาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ที่คอยสนับสนุนผมมาตลอด"

 

 

ซึ่งเป้าหมายในซีเกมส์ครั้งนี้ คือการหยิบเหรียญกลับมา เป็นงานยากแต่ท้าทาย เพราะรายการที่มังกรลงแข่งคือ 1500 และ 5000 เมตร ถือเป็นเกมวัดกึ๋นที่สู้กันด้วยแผนและความเร็ว ร่วมให้กำลังใจ "มังกร พงศกร สุขสวัสดิ์" น้องใหม่แห่งการวิ่งระยะกลางทีมชาติไทยด้วยกัน ในซีเกมส์ที่กัมพูชา เดือน พฤษภาคมนี้


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

La Vie en Rose