stadium

"สายฝน" ณัฐธยาน์ นักวิ่งรุ่นเก๋ากับความหวังพัฒนาวงการวิ่งไทย

17 มีนาคม 2566

กว่า 30 ปีบนเส้นทางนักวิ่ง "สายฝน" ณัฐธยาน์ ธนรนวัฒน์ คือหนึ่งในตำนานที่ยังมีลมหายใจ นักวิ่งรุ่นเก๋าที่ยังโชว์ฟอร์มร้อนแรงเสมอในสนามแข่ง พร้อมพ่วงตำแหน่งผู้ฝึกสอน ผู้อยู่เบื้องหลังผลักดันวงการวิ่งไทยสู่ระดับมาตรฐาน

 

นี่คือเรื่องราวชีวิตของสายฝนจากกระดุมเม็ดแรก ที่ปูทางสู่ความสำเร็จในวันนี้ ผ่านเรื่องราวมากมาย การเรียนรู้และเปิดใจทำให้เธอยังคงก้าวต่อไปอย่างมั่นคงบนเส้นทางการวิ่ง

 

 

กระดุมเม็ดแรกสู่เส้นทางทีมชาติ

 

 

ยุคก่อนหน้านี้ การวิ่งกับเด็กเป็นแค่เพียงกิจกรรมเสริมหลังเลิกเรียนเท่านั้น การแข่งขันในหมู่เด็กก็มีแค่กีฬาสี หรือการแข่งระหว่างโรงเรียน เส้นทางการวิ่งของ "พี่ฝน" สายฝน ณัฐธยาน์ ก็เริ่มต้นแบบเดียวกับเด็กในยุคเดียวกัน

 

 

"เริ่มวิ่งตั้งแต่ 7-8 ขวบ แต่ไม่เหมือนสมัยนี้ วิ่งแค่กลุ่มในโรงเรียน ไม่ได้ต้องซ้อมทุกวัน เป็นกีฬาสี หรือแข่งระหว่างโรงเรียน ก่อนแข่งก็เดินพาเหรดก่อน" พี่ฝนฉายภาพย้อนหลังเมื่อ 35 ปีก่อน ยุคที่การเล่นกีฬาเป็นแค่เรื่องสนุกของเด็ก

 

 

แม้จะเริ่มวิ่งตั้งแต่ยังเด็ก แต่กีฬาที่จริงจังของสายฝนคือบาสเกตบอล เริ่มต้นตอนเรียนชั้น ม.1 "แต่เป็นกีฬาทีม แข่งแล้วไม่ค่อยชนะ ก็เลยโดนลงโทษให้วิ่งรอบสนาม พอวิ่งแล้วก็คิดว่า หรือเราจะเหมาะกับกีฬาเดี่ยว บวกกับชอบกีฬาอยู่แล้ว เลยหันมาวิ่งแทน"

 

 

ช่วงเริ่มต้นพี่ฝนยังไม่ใช่นักกีฬาของโรงเรียน เธอเล่าว่า เห็นเพื่อนที่ไปแข่งวิ่งมีกองเชียร์เต็มสนาม เลยอยากเป็นแบบนั้นบ้าง จึงเริ่มต้นจริงจัง ตรงกับช่วงขึ้นชั้น ม.2 กำลังจะ ม.3 พอดี จนได้มาแข่งที่กรุงเทพและได้เหรียญเป็นครั้งแรก

 

 

"เป็นกีฬากรมสามัญ มาแข่งที่กรุงเทพ เราเหมือนม้าในกรอบ ไม่รู้อะไรเลย ไม่กดดัน ไม่รู้จักใคร รู้แต่ว่าเด็กใต้วิ่งเก่ง ตอนนั้นพี่ยังผมหน้าม้าใส่นันยาง วิ่ง 1500" และสุดท้ายสายฝนก็สร้างชื่อให้ตัวเองด้วยการคว้าเหรียญทองแดงกลับไป

 

 

 

ติดทีมชาติครั้งแรกตั้งแต่มัธยมปลาย

 

 

หลังจากวันนั้น สายฝน เริ่มลงแข่งบ่อยครั้งขึ้น ได้แข่งระดับนานาชาติ โดยเฉพาะนักเรียนอาเซียน การแข่งใหญ่ที่เป็นความฝันของเด็กเล่นกีฬาทุกคน โดยลงแข่งระยะ 3000 เมตร ได้เหรียญเงิน กลายเป็นการปูทางสู่ทีมชาติชุดใหญ่

 

 

"มาติดซีเกมส์ตอน ม.4 ที่จัดที่เชียงใหม่ ลง 3000 เมตร กับหมื่นเมตร แต่ไม่พร้อม ก็เลยแค่มีส่วนร่วม แต่หลังจากนั้นก็แข่งมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงพีคของการวิ่ง 3 ระยะ"

 

 

สายฝนบันทึกสถิติที่ดีที่สุด ณ เวลานั้น จากการแข่งกีฬานักเรียนอาเซียนที่อินโดนีเซีย โดยระยะ 800 เมตร ทำเวลา 2.15 นาที 1500 เมตร ทำเวลา 4.31 นาที ส่วน 3000 เมตร ทำเวลา 10.04 นาที ทั้ง 2 ระยะหลัง คว้า 2 เหรียญเงินกลับไป

 

 

ตำนานที่เธอบันทึกไว้ยังเกิดขึ้นอีก หลังเข้าร่วมกีฬาแห่งชาติและกีฬามหาวิทยาลัย "เริ่มทำลายสถิติประเทศไทย ตอนนั้นหมื่นเมตร เลยมาติดทีมชาติอีกรอบ ซีเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพตอนปี 2550"  

 

 

ซีเกมส์ครั้งนั้นพี่ฝนหันมาเล่นทวิกีฬา ต้องปั่นจักรยานและวิ่ง คว้าเหรียญทองกลับมาได้ แต่หลังจบก็กลับมาวิ่งเหมือนเดิม เพราะยังรักในการวิ่งมากกว่า แต่ชีวิตก็มาถึงทางแยกอีกครั้งจากการขยับสถานะด้วยการแต่งงาน

 

 

"ช่วงที่จบซีเกมส์ปีนั้นก็แต่งงาน ตอนแรกจะวางมือ ไม่วิ่งเพื่อความเป็นเลิศแล้ว แล้วพอมีลูกก็อยากมั่นคงก็ไปสอบข้าราชการที่ลำพูน แต่ชีวิตก็พลิกอีกครั้ง"

 

 

โค้ชเคนยา ร่วมสร้างตำนานเหรียญทองซีเกมส์มาราธอนหญิงไทย

 

 

"ปีเตอร์ มาตู ตีตี" โค้ชจากประเทศเคนยา ประเทศที่สร้างนักวิ่งที่ดีที่สุดในโลก ได้มารับบทโค้ชให้กับนักวิ่งทีมทางไกลประเทศไทย เมื่อปี 2557 เพื่อเตรียมแข่งขันซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย สายฝนที่ตัดสินใจวางมือไปแล้ว แต่ยังผูกพันกับการวิ่ง ก็หวนคืนวงการอีกครั้งเพราะโค้ชปีเตอร์

 

 

"โค้ชปีเตอร์มาจากเคนยา มาเริ่มซ้อมให้ทีมทางไกล เรารู้ก็อยากกลับมา จนวันนึงโค้ชมาหาที่บ้านมาบอกว่า ขออนุญาตสามีชวนกลับไป ใจเราก็อยากกลับอยู่แล้ว ก็ได้กลับมาเล่นเอเชียนบีช และซีเกมส์"  

 

 

แม้ดูเหมือนเส้นทางทีมชาติของสายฝนจะประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย แต่สายฝนยังไม่เคยคว้าเหรียญทองจากการวิ่งในซีเกมส์ได้ สิ่งนั้นติดอยู่ในใจเธอ จนกระทั่งวันที่ได้ทำตามความฝัน ภายใต้การดูแลของโค้ชปีเตอร์

 

 

 

"เราก็ขึ้นระยะมาราธอน เคยคิดว่ามันยาก แต่อยากติด 1 ใน 3 พอซ้อมกับโค้ชปีเตอร์ ตอนนั้นซ้อมคู่กับเจนด้วย (เจน วงษ์วรโชติ อดีตนักวิ่งหญิงทีมชาติไทย) ซึ่งเจนวิ่งดีมาก เป็นนักวิ่งมาราธอนหญิงที่ทำเวลาได้ 2.41 คนแรกและคนเดียวในไทย"

 

 

จังหวะชีวิตทำให้สายฝนขึ้นเป็นมือหนึ่งสำหรับมาราธอนหญิงไทยในซีเกมส์ครั้งนั้น เพราะเจนต้องการนำเวลาไปควอลิฟายโอลิมปิกจึงเลือกไปแข่งเบอร์ลินมาราธอน และการแข่งใกล้เคียงกัน เจนจึงไม่ได้แข่งจนจบ

 

 

สายฝนเล่าย้อนไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2558 ถ่ายทอดทุกฉากของเส้นทาง 42.195 กิโลเมตร เสมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ความยากลำบากในแต่ละก้าว การขับเคี่ยวของมาราธอนหญิงไทยและฟิลิปปินส์ ท่ามกลางฝนตกหนักของประเทศสิงคโปร์ หนาวจนสายฝนเกิดตะคริวที่แขน

 

 

"พอตะคริวขึ้น จุดนั้นก็กลัวจะเสียเปรียบ มันเหลือสิบกิโลแล้ว เลยตัดสินใจฉีกหนีไป แล้วก็ทำได้สำเร็จ เป็นเหรียญทองแรกให้ทัพนักกีฬาไทย"  

 

 

หนังสือพิมพ์ทุกเล่ม พากันพาดหัวข่าวถึงความสำเร็จของสายฝน รวมถึงฉากที่เธอวิ่งเข้าเส้นชัยทั้งน้ำตา ด้วยเวลา 3.03.25 ชั่วโมง ทำให้สาวไทยทวงแชมป์คืนมาได้อีกครั้งในรอบ 8 ปี  

 

 

"จริงๆ ลมใต้ปีก็สำคัญนะคะ ทุกส่วนสำคัญในชัยชนะ ทั้งสามี ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และผู้บังคับบัญชา ที่อนุญาตให้ละทิ้งหน้าที่ไปทำภารกิจกีฬา"

 

 

ก้าวใหม่ในฐานะผู้ฝึกสอน

 

 

"มาราธอนสำหรับหนุ่มสาว ก็เหมือนการเรียนรู้ ถ้าเป็นการเดินทาง มันอาจยาวนาน แต่มันให้อะไรเราเยอะมาก เป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง" สายฝนนิยามการวิ่งมาราธอนในมุมมองของเธอ เพื่อย้ำว่า มาราธอนต้องเตรียมตัวและมีวินัย

 

 

เส้นทางมาราธอนของสายฝนล่วงมาจนเกิน 35 ปี เทียบกับช่วงชีวิตคนก็คือการสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อความมั่นคง หากจะก้าวต่อบนเส้นทางนี้ก็ต้องพัฒนาตัวเอง ทำให้สายฝนเลือกเรียนต่อเพื่อปริญญาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา

 

 

"มาราธอนสำหรับพี่มันคือการวางแผนการใช้พลังงาน ให้ร่างกายมีไกลโคเจนเพียงพอ ไม่ให้พลังงานหมด" หลักการนี้ทำให้สายฝนเห็นว่า วิทยาศาสตร์การกีฬามีความสำคัญอย่างมาก เธอจึงเรียนต่อด้านนี้เพื่อหวังจะนำความรู้ ผสมกับประสบการณ์ ไปถ่ายทอดให้นักวิ่งรุ่นน้อง

 

 

โดยตอนนี้สายฝน รับหน้าที่ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนวิ่งกับอาจารย์นิวัธน์ อิ่มอ่อง อดีตผู้ฝึกสอนสหพันธ์ไตรกีฬาแห่งเอเชีย "ตอนนี้ก็ช่วยอาจารย์นิวัธน์ ได้เรียนรู้ทั้งในห้องเรียนเชื่อมโยงกับการปฏิบัติ ได้เข้าใจเหตุและผล โดยเฉพาะการฝึกสอนเด็กๆ เพื่อพัฒนาการที่สมวัย"

 

 

ทฤษฎีเรื่องการเล่นกีฬาในเด็กที่ควรฝึกฝนไปตามขั้นตอนแต่ละช่วงอายุ เพื่อให้พัฒนาอย่างถูกต้อง ถูกถกเถียงกันอย่างมากในบ้านเรา โดยเฉพาะยุคที่การแข่งวิ่งถนนมีมากมาย และพร้อมมอบรางวัลเป็นเงินก้อนโตให้ผู้ชนะ เราจึงได้เห็นเด็กบางคนถูกฝึกหนักเพื่อสิ่งนี้

 

 

"พี่อยากเห็นนักวิ่งพัฒนาไปอย่างถูกต้อง ก้าวเดินไปในทางที่ถูก ให้เด็กที่รักและมีใจให้กีฬาพัฒนาไปตามศักยภาพ สู่จุดสุงสุด ไม่ใช่การชนะอย่างเดียว แค่เล่นกีฬาอย่างสร้างสรรค์ เพราะสุดท้ายโพเดี้ยมก็มีแค่ 1 2 3 ถ้าเราให้เด็กพัฒนาต่อเนื่อง นั่นคือความสำเร็จมากกว่า"

 

 

กว่า 35 ปีเต็มที่พี่ฝน สายฝน เดินอยู่บนเส้นทางสายวิ่ง จากระยะสั้นสู่มาราธอน เธอบอกว่า กระดุมเม็ดแรกคือคำตอบ ที่ทำให้เธอยืนหยัดได้จนทุกวันนี้ จนเรียกได้ว่า มีความยั่งยืนในอาชีพนักวิ่ง และเธอหวังว่า นักวิ่งรุ่นน้องจะได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้อง เพื่อความยั่งยืนในแบบเดียวกัน


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

La Vie en Rose