12 มีนาคม 2563
หลังกระแสข่าวดังของ แอนนา โกรากากี ที่ได้กลายเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์โอลิมปิก ที่จะได้วิ่งถือคบเพลิงเป็นคนแรกดังกระฉ่อนออกมานั้น แท้จริงแล้วยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เคยสร้างหน้าประวัติศาสตร์ให้กับการวิ่งคบเพลิงในมหกรรมกีฬามวลมนุษยชาติมาแล้วมากมาย โดยเราจะมาสรุปเป็นไทม์ไลน์ให้ดูว่า เหตุการณ์สำคัญใดบ้างที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก เกมส์ กระทั่งมาถึงเรื่องราวของ โกรากากี นักกีฬายิงปืนเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ 2016
เบอร์ลิน 1936 : การวิ่งคบเพลิงครั้งแรก
เรื่องนี้ไม่ต้องสืบมาเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ความตลกคือ ผู้ที่ได้จุดคบเพลิงซึ่งมีชื่อว่า ฟริทซ์ ชิลเกิน เป็นนักกีฬาลู่และลานก็จริงแต่ไม่ได้เป็นผู้แข่งขันในโอลิมปิก โดยตอนนั้นได้หลักเกณฑ์ในการเลือกจากท่าวิ่งที่สง่างาม ส่วนเรื่องไอเดียการวิ่งคบเพลิงนั้นว่ากันว่าถูกคิดค้นขึ้นโดยชายที่ชื่อ คาร์ล ไดเอ็ม
เฮลซิงกิ 1952 : คบเพลิงโดยสารเครื่องบินครั้งแรก
เรียกว่าเป็นครั้งที่คบเพลิงโอลิมปิก ที่ต่างชาติยกให้ว่าเป็นครั้งแรกที่เปลวไฟได้ส่งผ่านไปยังทั่วโลกอย่างแท้จริง โดยคบเพลิงมีการเดินทางเป็นระยะ 7,492 กิโลเมตร โดยระยะทางราวๆ 3,125 กิโลเมตรที่อาศัยเครื่องบินจากกรุงเอเธนส์มาถึงอัลบอร์กในเดนมาร์ก และยังเดินทางผ่านพรมแดนระหว่างประเทศสวีเดนและฟินแลนด์
โรม 1960 : ถ่ายทอดสดการวิ่งคบเพลิงครั้งแรก
หลังจากมีการวิ่งคบเพลิงมาได้สักระยะ อุตสาหกรรมการถ่ายทอดก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับประเพณีที่คนทั่วโลกต่างรอคอย และในการแข่งขันที่โรม ปี 1960 สถานีโทรทัศน์ CBS ก็ตัดสินใจควักกระเป๋าเป็นเงิน 394,000 ยูเอสดอลล่าร์ (คิดเป็นมูลค่า 3,410,000 ล้านเหรียญในปี 2019) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดภาพบรรยากาศการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก โดยเริ่มต้นในประเทศแถบอเมริกาเหนือ แคนาดา และ เม็กซิโก
เม็กซิโก 1968 : ผู้หญิงได้จุดคบเพลิงครั้งแรก (Enriqueta Basilio)
8 ปีให้หลังการถ่ายทอดสดภาพการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกครั้งแรกไปยังสายตาของคนทั่วโลก ก็ได้ปรากฏภาพของสตรีคนแรกที่ได้จุดไฟลงกระถางคบเพลิงโอลิมปิก นั่นคือ เอ็นริเกวต้า บาซิลิโอ้ นักกรีฑาหญิงชาวเม็กซิโก ซึ่งครั้งนั้นเธอได้รับหน้าที่วิ่งคบเพลิงไม้สุดท้าย ก่อนขึ้นไปจุดเปลวเพลิงแห่งโอลิมปิกครั้งที่ 19 ให้ลุกขึ้นอย่างสง่างาม
มอนเทรอัล 1976 : จุดคบเพลิง 2 คน ครั้งแรก
หลังจากการวิ่งจุดคบเพลิงด้วยคนๆเดียวมาทั้งหมด 20 ครั้งในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ก็ถึงคิวของการเกิดขึ้นครั้งที่มีคน 2 คน ร่วมกันจุดคบเพลิงในกระถาง นั่นคือ ซานดร้า เฮนเดอร์สัน นักกีฬายิมนาสติกจากเมืองโตรอนโต้และ สเตฟอง เปรฟองเต้ นักกีฬาลู่เมืองเจ้าภาพ ซึ่งเป็นตัวแทนชาวแคนาดาผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่(Anglophone) และชาวแคนาดาผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ (Francophone) ร่วมกันจุดคบเพลิงครั้งนั้น
บาร์เซโลน่า 1992 : International Olympic Torchbearers Program ครั้งแรก
การวิ่งคบเพลิงยังดำเนินด้วยคนในประเทศเจ้าภาพทั้งหมด จนกระทั่งปี 1992 … โค้ก ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักโอลิมปิกได้ริเริ่มโครงการ International Olympic Torchbearers Program หรือ การให้บุคคลชาติอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับการวิ่งคบเพลิงที่ประเทศเจ้าภาพ และ จากนั้นมาก็โปรแกรมเหล่านี้ก็ได้รับความนิยม เพราะสื่อถึงการเป็นมหกรรมกีฬาที่ไม่มีการจำกัดเชื้อชาติ พร้อมทั้งนำเสนอถึงความเป็นหนึ่งเดียวของคนทั้งโลกได้เป็นอย่างดี
ซิดนี่ย์ 2000 : ลงไปอยู่ในน้ำครั้งแรก เป็นเวลา 2 นาที 40 วินาที
ในปี 2000 นอกเหนือจากการที่ เคธี่ ฟรีแมน จะกลายเป็นนักกีฬาคนแรกที่วิ่งผลัดสุดท้ายและได้จุดคบเพลิง พร้อมกับการคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกครั้งเดียวกัน ยังมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับการวิ่งคบเพลิงนั่นคือ มีการเอาคบเพลิงโอลิมปิกลงไปวิ่งในน้ำเป็นครั้งแรก และ สามารถอยู่ได้เป็นเวลาถึง 2 นาที 40 วินาที โดยที่ไฟไม่ดับลง ถือเป็นปรากฏการณ์แรกที่มาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ของเจ้าภาพในครั้งนั้น
เอเธนส์ 2004 : เดินทางข้าม 5 ทวีป ครั้งแรก
ภายใต้การกลับมาเฉลิมฉลองโอลิมปิกด้วยรูปแบบ คืนสู่เหย้า หรือ การที่มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติกลับมาสู่ประเทศต้นกำเนิดเดิมนั้น ทางกรีซก็เล่นใหญ่ ด้วยได้ให้มีการวิ่งคบเพลิงผ่าน 5 ทวีปทั่วโลก ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ 5 ห่วงของโอลิมปิก ซึ่งได้เดินทางผ่านทุกเมืองที่เคยเจ้าภาพมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1896 โดยทั้งหมดคือตัวแทนของการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนบนโลกตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ทั้งในแง่ของกีฬา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม
ปักกิ่ง 2008 : วิ่งผ่านประเทศไทยครั้งแรก
การวิ่งคบเพลิงในปี 2008 นอกจากความยิ่งใหญ่ที่เจ้าภาพวางระยะการเดินทางของคบเพลิงเอาไว้มากถึง 137,000 กิโลเมตรแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการที่ประเทศไทยได้สิทธิ์เป็นหนึ่งในเส้นทางที่ขบวนวิ่งคบเพลิงมาวิ่งผ่าน ณ ใจกลางเมืองเป็นครั้งแรก ซึ่งครั้งนั้นมีทั้ง สมรักษ์ คำสิงห์, ปวีณา ทองสุข 2 ตำนานฮีโร่โอลิมปิกไทย รวมถึง ส้ม อมรา นักร้องชื่อดังรวมถึง “ตัวแทนวิ่งคบเพลิงโอลิมปิคจากซัมซุง” ทั้ง 6 ประกอบด้วย บุคคลต้นแบบ 3 ท่าน ได้แก่ “คริส เบญจกุล” คุณครูนวลน้อย ทิมกุล และ ร.ต.ต. วิชัย สุริยุทธ์ และผู้ที่ได้รับเลือกจากชาวไทย 3 ท่าน ได้แก่ อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ญาณินท์ ระโส และ พรวรินทร์ นุตราวงศ์
โซชิ 2014 : คบเพลิงท่องอวกาศครั้งแรก
โอลิมปิกฤดูหนาว โซชิ เกมส์ คือครั้งที่เจ้าภาพรัสเซียเล่นใหญ่มากที่สุด เพราะพวกเขาคิดค้นวิธีการนำคบเพลิงโอลิมปิกขึ้นไปวิ่งบนอวกาศได้เป็นครั้งแรก โดยทั้งจรวดส่งยาน และตัวยานที่ชื่อ “โซยุซ” ถูกตกแต่งด้วยภาพสัญลักษณ์โอลิมปิกโซชิ 2014 และ สัญลักษณ์ 5 ห่วง ซึ่งคบเพลิงจะถูกส่งถึงมือนักบินอวกาศรัสเซีย 2 คน ซึ่งตอนนั้นประจำอยู่ที่สถานทีและการวิ่งคบเพลิงนั้นไม่ได้มีการจุดไฟ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
แม้ว่าในปี 1996 ที่แอตแลนต้า จะมีการนำคบเพลิงขึ้นสู่อวกาศมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนั้นตัวคบเพลิงไม่ได้ถูกนำออกท่องบนพื้นที่อวกาศแต่อย่างใด
โตเกียว 2020 : ผู้หญิงวิ่งคบเพลิงคนแรกครั้งแรก
แน่นอนว่า โตเกียว 2020 ก็ไม่ยอมน้อยหน้า นอกจากนวัตกรรมการผลิตตัวคบเพลิงที่ใช้เศษวัสดุซึ่งมาจากการรีไซเคิลรวมถึงการประดิษฐขึ้นมาอย่างมีจินตนาการ พร้อมสอดแทรกแรงบันดาลใจแล้วนั้น ครั้งนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงกรีซ จะได้สตาร์ทวิ่งคบเพลิงเป็นคนแรก นั่นคือ แอนนา โกรากากี” แม่นปืนสาวชาวกรีซ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2016
การฉีกกฏเกณฑ์เดิมๆครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างมุมมองใหม่ต่อพลังของผู้หญิงในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ท้ายที่สุดทุกไอเดียและความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นมักนำมาสู่ความชัดเจนของคำว่า กีฬาคือความเท่าเทียมและมีไว้เพื่อความเป็นหนึ่งนั่นเอง
TAG ที่เกี่ยวข้อง