12 กุมภาพันธ์ 2566
ในบุคลิกนั้นอาจแตกต่าง แต่ในสายตานั้นคือความมุ่งมั่น ในน้ำเสียงสะท้อนถึงความจริงจัง...ทุกคำพูดที่คุยกันในวันนี้ มีแต่เรื่องคาดไม่ถึงในตัว "บาส" ณัฐพล ดันสูงเนิน ที่อยากถ่ายทอดให้ฟัง
ด้วยคาแร็กเตอร์ผมทอง AKA ตัวเองว่านักกรีฑาเด็กแว๊น ทำให้ในช่วงแรกเราหลงสับสนในตัวตนของบาส แต่นี่คือเด็กผู้ชายอายุ 25 ที่เต็มไปด้วยพลัง ชีวิตของเขาคือการต่อสู้กับความสูง 1.0637 เมตร เพื่อเป้าหมายในฐานะนักวิ่งข้ามรั้วทีมชาติไทย
จุดเริ่มต้นจากความรักในครอบครัว
บาสเป็นคนภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มีพี่สาว 1 คน พ่อเสียตั้งแต่ประถม ครอบครัวนี้จึงมีกัน 3 คน คือ บาส แม่ และพี่สาว แต่มีความสัมพันธ์ที่อบอุ่น น่ารัก 2 พี่น้องดูแลและเชื่อฟังแม่ดีมาก
"ผมเรียนหนังสือไม่เก่ง แม่เลยให้มาซ้อมวิ่ง เพื่อให้ได้เรียนมหาวิทยาลัย ตอนเริ่มวิ่งผมเรียนในโรงเรียนประจำอำเภอ ชั้น ม.1 ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่มาจับทางได้ตอน ม.4"
บาสเล่าว่า ตอนเริ่มวิ่ง เขาเริ่มจากระยะ 100 เมตร 400 เมตร แต่วิ่งไม่ทันเพื่อน เพราะตัวสูงและผอมกว่าคนอื่น "ตอนนั้นก็คิดว่า จะวิ่งอะไรดี แรงสู้คนที่ตัวแน่น ๆไม่ได้ เลยลองมาเล่นรั้ว เลยจับทางได้"
การแข่งที่พลิกความคิดของบาสคือกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ในวัย 16 ปี เป็นการแข่งระดับประเทศครั้งแรก ในรายการ ข้ามรั้ว 110 เมตร แจ้งเกิดให้บาสด้วยการคว้าเหรียญทองแดงแรกกลับไป
"ดีใจมาก เป็นการแข่งระดับประเทศครั้งแรก พี่สาว และแม่ก็ภูมิใจมาก ตอนผมแข่งแม่นั่งรถจากชัยภูมิ มาเชียร์ถึงจันทบุรี"
"เม" เจนจิรา ดันสูงเนิน พี่สาวของบาส อายุมากกว่าบาส 4 ปี คือคนที่อยู่เบื้องหลังมาตั้งแต่แรก นอกจากจะคอยให้คำแนะนำน้องชายแล้ว หลังจากเห็นความจริงจังของน้อง เมก็คอยสนับสนุนตลอด รวมถึงการออกโปรแกรมซ้อมให้ ในฐานะผู้มีประสบการณ์
"ผมอุ่นใจเสมอนะ ที่มีแม่และพี่สาวคอยเข้าใจให้กำลังใจเสมอ ถึงจะไม่ได้เจอกันบ่อยๆ แต่คุยกันทุกวัน พี่สาวผมตอนนี้เป็นครูและโค้ชกรีฑาอยู่ที่โคราช ครอบครัวมีส่วนที่ทำให้ผมเข้มแข็งและมุ่งมั่น"
เส้นทางนักวิ่งข้ามรั้วทีมชาติไทย
การวิ่งทำให้บาสได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งในหมู่นักกีฬาทีมชาติ จะทราบดีกว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐบาลชื่อดังจะเรียนหนักมาก จนถึงขั้นบางคนเลิกซ้อมเลิกแข่ง เพราะเอาเวลาไปทุ่มกับการเรียน
"ผมเคยคิดจะเลิกเล่นตอนเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นอยากตั้งใจเรียน บวกกับเจ็บเข่ากับหลัง แต่ได้ไปแข่งกีฬามหาวิทยาลัยแล้วได้เหรียญทอง ข้ามรั้ว 110 กองทัพบกเลยติดต่อให้ไปเล่นกีฬาภายใน มีเบี้ยเลี้ยงมีเงินเดือน ผมก็ดีใจ และวิ่งต่อไป"
เมื่อไม่หยุดที่จะฝัน ด้วยพรสวรรค์ในตัวเขา บาสได้ติดทีมชาติครั้งแรกตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 "ไปซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ครับ ตื่นเต้นมาก ดีใจด้วย แต่โชคไม่ดีเจ็บก่อนเดินทาง 3 วัน กล้ามเนื้อกระตุก เป็นเพราะตอนนั้นผมใหม่มาก ไม่ชินกับการซ้อมแบบทีมชาติ ตอนซ้อมก็ใส่เต็มตลอด แต่ตัวเองไม่ได้แข็งแรงมาก ก็เลยเจ็บ"
บาสยอมรับว่าผิดหวังกับการติดทีมชาติครั้งแรก แต่ก็ดีใจที่ได้ไปร่วมในมหกรรมกีฬาระดับภูมิภาค เขาเก็บความผิดหวังกลับมาและเจอกับโควิด-19 พอดี ทำให้ได้กลับมาซ้อมเมื่อปี 2020 เพื่อเตรียมไปซีเกมส์ที่ฮานอย และเอเชียนเกมส์ที่หางโจว
"ช่วงนั้นท้อนะบางที ซ้อมไปแบบไม่มีจุดหมาย ไม่มีแมตช์ให้แข่ง จนซีเกมส์ได้จัด ก็มีไฟอีกครั้ง" และสุดท้ายบาสก็คว้าเหรียญกลับมาได้สำเร็จ ในการแข่งแบบเต็มร้อยครั้งแรก แม้จะเป็นแค่เหรียญทองแดงก็ตาม
"เวลาไม่ดีมาก ตอนนั้นยังจัดระบบจิตใจได้ไม่ดี คือ คิดเยอะ คาดหวังเยอะ แล้วกดดัน ก่อนไปคือโอกาสลุ้นทองเลยเพราะสถิติเรามาดี แต่อย่างน้อยก็ทำได้"
ขยับระยะสู่ข้ามรั้ว 400 เมตร
ย่างเข้าสู่ปี 2023 ชื่อของ "บาส" ณัฐพล ดันสูงเนิน ได้ถูกจารึกไว้ในฐานะผู้ทำลายสถิติกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ในรายการวิ่งข้ามรั้ว 400 เมตร นับเป็นการแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการในฐานะดาวรุ่งที่น่าจับตามอง ในยุคทองของกรีฑาไทย ที่การทำลายสถิติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ผมมาปรับวิ่งรั้ว 400 เมตร ที่งานชิงแชมป์ประเทศไทยปี 2022 ตอนนั้นมีเพื่อนมาซ้อมด้วย แรก ๆ ก็ไม่ชอบ เหนื่อยมาก แต่ไปแข่งแล้วทำได้ดีก็มีกำลังใจซ้อม เลยซ้อมคู่กันทั้งรั้ว 400 และ 110 และในงานชิงแชมป์ก็ได้เหรียญเงิน 400"
หลังจากนั้นบาสที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ ก็เดินทางสู่กีฬามหาวิทยาลัยที่อุดรธานี และพิชิตเป้าหมายสถิติใหม่ได้ "ตอนแรกหวังไว้ 2 รายการ แต่ 110 แข่งก่อน รอบเดียว เครื่องยังไม่ร้อน เลยทำได้แค่ประเภท 400 ซึ่งแข่งทีหลัง ถือว่าได้ตามเป้าหมาย เพราะเลิกกดดันตัวเองได้แล้ว"
นอกจากนั้นบาสยังสามารถวิ่งผลัด 4x400 เมตรได้ดีเช่นกัน โดยกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียนที่อุบลราชธานีเมื่อปี 2022 บาสลงแข่งแบบผลัดผสมได้เหรียญทองมาด้วย แต่เขายืนยันว่าทางของตัวเองคือการข้ามรั้ว
เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นภายใต้การดูแลของมืออาชีพ
ปัจจุบัน บาสเก็บตัวอยู่กับสมาคมกรีฑา โดยมี ทรีเซีย โรเบิร์ตส์ อดีตนักวิ่งทีมชาติลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ดูแลแบบใกล้ชิด ความเป็นมืออาชีพในแบบต่างชาติ ขัดเกลาบาสจนฉายแสงมากขึ้น โดยผลงานช่วงหลังมานี้ ก็เป็นผลลัพธ์จากการซ้อมกับโค้ชทรีเซีย
"ทรีเซียเป็นระบบมาก เขาตรงเวลา เป๊ะทุกอย่าง แบ่งการซ้อมเป็นหลายช่วง ทั้งเบสิก เวท ช่วงพีก ช่วงแรกที่ยังปรับตัวไม่ได้เพราะยังไม่รู้จักกัน แต่พอคุยกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องดีมากที่ผมมีมืออาชีพดูแล"
ภาพของบาสและทรีเซียปรากฎอยู่ทุกครั้งทั้งในวันที่ซ้อมหนักกลางแดดร้อน และวันที่บาสได้รับชัยชนะ และในวันที่ความฝันอีกก้าวมาถึง บาสก็มีทรีเซียโค้ชคู่ใจอยู่เคียงข้างอีกครั้ง โดยทั้งสองคนได้ออกเดินทางจากประเทศไทย ไปร่วมการแข่งขันอาเซียนอินดอร์เกมส์ที่คาซัคสถาน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
"ยังตื่นเต้น เพราะไม่เคยแข่งข้ามรั้ว 60 เมตร และเป็นอินดอร์ครั้งแรก แต่ซ้อมมาเต็มที่ เป้าหมายเพื่อรายการนี้ กังวลแค่อากาศเพราะหนาวมาก แต่ทรีเซียบอกผมว่า คนที่ร่วมแข่งสถิติอยู่ที่ 7.7-7.6 ถ้าผมสามารถทำได้ คู่แข่งเก่ง ผมก็มีแรงกระตุ้น เราอาจจะได้เวลาที่ดีขึ้น ก็ถือว่าเราพัฒนา"
กรีฑาคือกีฬาแห่งสถิติ สิ่งที่ฟ้องถึงความสามารถและศักยภาพอย่างชัดเจนอยู่แล้ว การได้เหรียญกลับมา จึงอาจไม่ใช่ชัยชนะอย่างเดียวเสมอไป เพราะสถิติที่ดีขึ้นจะบ่งบอกว่านักกีฬายังพัฒนาต่อไปได้ เพื่อไม่หยุดที่เป้าหมายนี้ และก้าวไปต่อ
ถึงแม้ผลการแข่งขันที่คาซัคสถานจะไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจเอาไว้เพราะเกิดข้อผิดพลาดในช่วงออกสตาร์ท แต่ก็ทำให้บาสได้รับบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับทัวร์นาเมนต์ต่อไปที่รออยู่ตลอดทั้งปี
ก้าวข้ามกำแพงที่สูงเท่าเดิมด้วยความเร็วที่มากขึ้น
"ผมอยากรู้ว่าจะไปได้ถึงที่สุดแค่ไหน กีฬาที่ผมเล่นคือกีฬาสถิติที่ต้องแข่งกับตัวเอง ซีเกมส์ที่กัมพูชาผมอยากเป็นแชมป์ เอเชียนเกมส์ผมก็ตั้งใจซ้อม แต่เป้าหมายผมคือทำเวลาเพื่อไปโอลิมปิก"
เป้าหมายของบาสหากมองมันเป็นกำแพง มันคือกำแพงที่สูง 1.0637 เมตรเท่าเดิมเสมอ เมื่อก้าวข้ามกำแพงแรกได้แล้ว เขาจะได้รับประสบการณ์ว่า จะก้าวข้ามความสูงเดิมด้วยความเร็วที่มากขึ้นได้อย่างไร
ชีวิตของบาสกำลังเดินไปบนเส้นทางนี้ เส้นทางที่เหมือนมีกำแพงสูงมากขวางเอาไว้ แต่บาสไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น พลังจากความรักในครอบครัว และโค้ช ทำให้บาสมีแต่ความมุ่งมั่น
เพราะในบุคลิกนั้นอาจแตกต่าง คำนิยามว่านักวิ่งเด็กแว๊นนั้นไม่อาจซ่อนสายตาที่มุ่งมั่น และคำพูดที่จริงจังทั้งหมดนี้
โดยหลังผ่านรายการใหญ่ที่คาซัคสถานแล้ว บาสจะเตรียมตัวแข่งขันซีเกมส์ที่กัมพูชาในเดือนพฤษภาคม ตามด้วยกรีฑาชิงชนะเลิศแห่งเอเชียที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนกรกฎาคม ก่อนที่จะลุยเอเชียนเกมส์ในเดือนกันยายนต่อไป
TAG ที่เกี่ยวข้อง