stadium

ธรรญธร สุขข์เจริญ เคยเจอฝันร้าย แต่ขอตื่นมาสู้ต่อเพื่อเหรียญโอลิมปิก

3 มกราคม 2566

ธรรญธร สุขข์เจริญ หรือในชื่อเดิม ธัญญ่า สุขเจริญ นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ที่กำลังอยู่ในเส้นทางลุ้นเป็นความหวังฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกคนต่อไป ชีวิตนักกีฬายกน้ำหนักอย่างที่ทราบกันไม่มีใครสุขสบายมาตั้งแต่เริ่ม ตัวของธรรญธรก็เช่นกัน นักกีฬายกลูกเหล็กรายนี้ถึงขั้นต้องเปลี่ยนชื่อตัวเองเพื่อขอเดินหน้าต่อไปในชีวิต วันนี้  Stadium TH พามาทำความรู้จักตัวตนของเธอให้มากขึ้นกันครับ

 

 

แววดีฟอร์มเด่นตั้งแต่แมตช์แรกที่ลงแข่งขัน (ชนะทีมชาติ) 

 

จุดเริ่มต้นการเข้าสู่กีฬายกน้ำหนักของธรรญธรเหมือนชะตาฟ้าลิขิต เพราะเด็กนักเรียนวัย 13 ปี จากโรงเรียนวัดสุทธาวาสที่พัทยารายนี้มีรูปร่างที่ดีและสามารถผ่านเกณฑ์โครงการสมรรถภาพร่างกายการเฟ้นหานักกีฬาของสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในช่วงนั้นพอดี จึงได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนกีฬาชลบุรี หนึ่งในสถาบันที่พัฒนานักกีฬารุ่นเยาว์สู่ทำเนียบทีมชาติไทยในหลายชนิดกีฬา

 

ซึ่งธรรญธรหรือชื่อเล่นที่ไม่ค่อยมีใครทราบคือ “น้องอาร์ม” ก็ตั้งใจซ้อมอย่างหนักเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม ก่อนจะขึ้นเวทียกลูกเหล็กครั้งแรกในรายการชิงแชมป์ประเทศไทยและเธอก็ทำให้หลายคนต้องตกตะลึ่งเมื่อเธอสามารถคว้าเหรียญทองมาได้ด้วยการชนะบรรดานักกีฬาเยาวชนทีมชาติในชุดนั้น อย่างไรก็ตามน้องอาร์มยังไม่ติดทีมชาติจนกระทั่งผลงานในกีฬานักเรียนนักศึกษาที่จังหวัดอุบลราชธานี เธอยกลูกเหล็กได้เหรียญทองอีกครั้งและครั้งนี้มันเกิดขึ้นต่อหน้าของ “แม่บุษ” บุษบา ยอดบางเตย  ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกสมาคมฯในช่วงนั้น 

 

“แม่บุษถามว่าเรียนที่ไหน อายุเท่าไร จากนั้นก็บอกให้หนูไปเก็บของแล้วขึ้นไปเก็บตัวที่แคมป์ทีมชาติทันที ตอนแรกหนูก็งงๆ แต่มาทราบว่าหนังสือเรียกตัวได้ถูกส่งมายังโรงเรียนแล้ว หนูก็รีบเก็บข้าวของแล้วเดินทางไปเข้าแคมป์ทันที ตอนนั้นรู้สึกดีใจว่าเรากำลังจะเป็นนักกีฬาทีมชาติแล้ว” 

 

 

เส้นทางทีมชาติไม่ได้โรยด้วยกรีบกุหลาบ

 

อาร์มในตอนนั้นเธอคือน้องใหม่ในค่ายทีมชาติและแน่นอนความมุ่งมั่นตั้งใจและแรงจูงใจในการซ้อมมันเกินร้อย แต่ทว่าเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับนักกีฬาอย่างอาการบาดเจ็บสุดท้ายมาถึงตัวเธอจนได้ “ตอนนั้นหนูกำลังยกท่าคลีนแอนด์เจิร์คแต่เหมือนจังหวะมันผิดเหล็กไหลไปข้างหลัง หนูต้องทิ้งเหล็กลงและมารู้ตัวอีกทีคือเจ็บไหล่ซ้าย ซึ่งสุดท้ายแล้วเมื่อตรวจอย่างดีแล้วคือเอ็นหัวไหล่ฉีก หนูรู้ตัวนั้นคือการพักยาวแน่ๆ” 

 

ธรรญธรต้องมารักษาตัวที่การกีฬาแห่งประเทศไทยในกรุงเทพฯ ดังนั้นเธอจึงขอออกจากแคมป์ทีมชาติกลับสู่โรงเรียนกีฬาชลบุรีเพื่อที่จะเร่งเครื่องด้านการศึกษาให้จบทันเพื่อนร่วมรุ่น และนั่นเท่ากับว่าเส้นทางของทีมชาติกับเธอเหมือนจะถูกกันให้ห่างกันออกไปอีก ไหนจะมีโค้ชชาวจีนที่ดูแลนักกีฬาไทยอยู่ในตอนนั้นซึ่งอาจจะไม่ได้มองว่านักกีฬาจากชลบุรีรายนี้จะสามารถกลายมาเป็นตัวหลักของทีมได้อย่างไรก็ตามด้วยความตั้งใจสู้ในแบบของตัวเองสู้แบบฝึกเองซ้อมแองทำให้ธรรญธรทุบสถิติต่างๆ มากมายในประเทศทั้งรายการเยาวชนแห่งชาติต่อเนื่องด้วยกีฬาแห่งชาติที่นครราชสีมา ฟอร์มยกแบบนี้ทำให้แม่บุษต้องเรียกธรรญธร เข้าไปคุยอีกครั้ง “แม่บอกว่าอยากให้หนูกลับเข้าแคมป์ แต่หนูถามว่าถ้าไปแล้วจะได้ออกแข่งเวทีนานาชาติหรือไม่ ซึ่งตอนนั้นหนูกลัวว่าไปแล้วจะถูกจับนั่งยาวไม่ได้ลงแข่งก็เลยกังวล แต่แม่บุษบอกว่าถ้าหนูทำน้ำหนักไปแข่งรุ่น 48 กิโลกรัมได้ แม่จะให้โอกาสกับหนู” 

 

และเหมือนกับการกลับมาเข้าสู่แคมป์ทีมชาติครั้งนี้มันมีเชื้อไฟพร้อมกับแรงกระตุ้นการอยากพิสูจน์ตัวเองให้กับทุกคนเห็นว่าเธอนี่แหละคือตัวจริงทีมชาติในรุ่น 48 กิโลกรัม และศึกยกน้ำหนักเยาวชนชิงแชมป์โลกที่จอร์เจียปี 2016 น้องอาร์มคว้า 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงินให้ทัพจอมพลังทีมชาติไทย ในวัย 17 ปี ตอนนั้นแสงสปอร์ตไลท์จับจ้องมาที่ตัวของธรรญธรว่านักกีฬาหญิงแกร่งคนนี้จะเป็นว่าที่ฮีโร่โอลิมปิกของไทยคนต่อไป

 

 

ฟ้าถล่มแผ่นดินทลายโดนโทษแบน 3 ปี

 

ปลายปี 2018 มีกระแสข่าวว่าทีมยกลูกเหล็กไทยจะถูกแบนจากสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ หรือ IWF หลังตรวจพบสารกระตุ้นในตัวของนักกีฬาหลายคน ซึ่งสุดท้ายอย่างที่ทราบกันทีมยกลูกเหล็กไทยโดนแบบยาว 3 ปี ชวดไปแข่งโอลิมปิกที่โตเกียวปี 2020 ทำให้ฝันของนักกีฬาหลายๆคน รวมไปถึงน้องอาร์มต้องผิดหวังไปตามๆ กัน 

 

“ตอนนั้นหนูเห็นแม่บุษมายืนดูทุกคนซ้อมตามปกติ หนูก็ไม่ได้คิดอะไรยกเหล็กตามเดิมแต่เห็นแกซึมๆ นึกว่าแม่บุษไม่สบายแล้วแม่เดินมาคุยกับหนูว่าแม่ขอโทษมันมีเรื่องแล้ว ซึ่งตอนนั้นหนูไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งซ้อมเสร็จทุกคนมาประชุมกันก่อนจะมาทราบข่าวร้ายว่าเราโดนแบนยาว ตอนนั้นมันเหมือนคนหมดแรงมันเหมือนทุกอย่างที่ทุ่มเทมามันพังต่อหน้า บอกกันตรงๆ หนูร้องไห้เอาเป็นเอาตายอยู่นาน”

 

“หนูบล็อคทุกอย่าง เอาตัวเองออกจากกีฬายกน้ำหนักเพื่อนๆ ทีมชาติ หรือใครก็ตามจะเข้ามาคุยเรื่องนี้หนูขอปฏิเสธขอหลีกหนีไปอยู่คนเดียว หนูร้องไห้ไม่อยากรับรู้อะไรเลย ทำไมเราพยายามขนาดนี้แต่ทำไมเรื่องมันเป็นแบบนี้”  

 

หลักจากเจอข่าวร้ายธรรญธรหันกลับไปมุ่งมั่นเรื่องเรียนต่อจนจบการศึกษาปริญญาตรีในคณะศึกษาศาสตร์เอกพละศึกษาหรือพูดง่ายๆ คือครูพละ อย่างไรก็ตามมันยังมีสิ่งที่ค้างคาใจของเธออยู่ตลอดเวลา นั่นคือการแข่งขันโอลิมปิกที่เธอใฝ่ฝันเพราะมันคือเวทีสูงสุดที่นักกีฬาทุกคนเฝ้าใฝ่หา

 

 

อยากไปโอลิมปิกเพื่อคุณพ่อ

 

ปัจจุบันธรรญธรกลับเข้าสู่แคมป์ทีมชาติแล้ว เธอยังคงฉายแววโดดเด่นเสมอไล่เก็บความสำเร็จตั้งแต่เหรียญทองซีเกมส์ปีที่แล้วที่เวียดนาม มาจนถึงชิงแชมป์โลกเมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่โคลอมเบีย ดังนั้นเธอจึงหวังว่าโอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศสน่าจะเป็นโอกาสที่เธอจะได้สร้างชื่อ โดยเฉพาะการนำเหรียญกลับมาให้คุณพ่อ

 

“มันเหมือนเป็นอะไรไม่รู้เวลาที่จะแข่งรายการสำคัญๆ พ่อของหนูจะต้องป่วยหนักตลอด ตั้งแต่ชิงแชมป์โลกจนถึงซีเกมส์ ตอนนี้หนูมีเงินเก็บให้พ่อเปิดร้านขายของชำแล้ว จะได้ลดงานพวกรับจ้างที่ใช้ร่างกายหนักๆไปบ้าง แต่หนูรู้ว่าพ่ออยากเห็นหนูแข่งโอลิมปิกสักครั้งในชีวิต ซึ่ง ณ ตอนนี้มันเป็นความตั้งใจหลักของหนูด้วย หนูไม่รู้ว่าหากได้ไปแข่งแล้วจะได้เหรียญหรือไม่ แต่ยกน้ำหนักมันเปลี่ยนชีวิตหนูและครอบครัวไปแล้ว ซึ่งหนูจะใช้ร่างกายสู้เพื่อให้ทุกคนอยู่สบายต่อไปและที่สำคัญคือไม่อยากให้พ่อป่วยหนักอีก”    

 

 

แฟนกีฬาไทยคงต้องมาลุ้นกันว่าโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ชื่อของธรรญธร สุขข์เจริญ จะถูกจารึกชื่อไว้ในทำเนียบนักกีฬาเหรียญทองของไทยได้หรือไม่ แต่ดูจากความมุ่งมั่นที่เกินร้อยแล้วเธอคนนี้จะสู้เต็มที่เพื่อครอบครัวและเพื่อประเทศไทยแน่นอน


stadium

author

ปองพล สิงห์สิทธิ์

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV