stadium

‘ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์’ คีย์แมนเบื้องหลังความสำเร็จ ‘บาส-ปอป้อ’

30 ธันวาคม 2565

การทำงานเป็นทีมคือกุญแจสู่ความสำเร็จของ ‘เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่’ หน้าฉากเราเห็น ‘บาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์’ กับ ‘ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย’ มีรอยยิ้มจากความสำเร็จ ยืนขนาบข้างด้วยโค้ชโอม เทศนา พันธ์วิศวาส กุนซือคู่บุญ

 

แต่ฉากหลังรอยยิ้มของความยินดีเหล่านี้ ยังมีอีกหนึ่งคนคอยทำงานอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก​ นั่นก็คือ ‘ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทย์ศาสตร์การกีฬาจาก ‘เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่’ ซึ่งอยู่คู่กับวงการกีฬาไทยมาอย่างยาวนาน เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกความสำเร็จของ ‘บาส-ปอป้อ’ รวมถึงหลากชนิดกีฬาที่ท่านได้เข้าไปให้ความรู้

 

Stadium TH ชวนผู้อ่านไปค้นหาคำตอบถึงในการสร้างนักกีฬาในแบบฉบับนักวิชาการด้านกีฬาผู้ลงมือทำจริงๆ นั่นมองว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ผลักดันให้นักกีฬาไทยก้าวสู่ความสำเร็จ

 

 

แพ้ให้เป็นเพื่อเรียนรู้สู่การเป็นผู้ชนะ

 

ศ.ดร.เจริญ เกริ่นนำก่อนว่า เหนืออื่นใดแล้วตัวนักกีฬารวมถึงผู้ฝึกสอนต้องเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า “พื้นฐานของกีฬาชนิดนั้นๆ คืออะไร” รวมไปถึงต้องมีความเป็น “มืออาชีพ” อยู่ในจิตวิญญาณควบคู่ไปกับการนำสิ่งที่ผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ถูกต้องตามหลักคิดของวิทยาศาสตร์การกีฬาที่พิสูจน์แล้วว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการกีฬามากขึ้น

 

“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าที่เราแพ้ๆ เพราะอะไรแล้วเราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนั้น ตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะใดก็ตามที่เราไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดผลาดก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมันจะกลายเป็นการทำพลาดซ้ำๆ อยู่แบบนั้นจนทำให้ไม่ไปถึงไหนเสียที”

 

ศ.ดร.เจริญบอกว่า แท้จริงแล้วการแพ้หรือชนะนั้นมีสาเหตุและที่มาเสมอ ซึ่งนัยยะสำคัญอยู่ที่การเตรียมความพร้อม การวางแผนและทำความเข้าใจว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร

 

“ไม่ใช่ว่าเก่งแล้วจะชนะตลอดหรือคุณไม่เก่งก็ไม่ใช่ว่าจะชนะไม่ได้ แต่โดยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นตัวนักกีฬาเองหรือผู้ฝึกสอนรวมถึงคนในวงการกีฬาบ้านเราที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจมักจะมองโดยใช้ความรู้สึกเป็นตัวตัดสิน ตั้งแต่ที่อาจารย์เข้ามาดูแลให้กับอะคาเดมี่ตั้งแต่ปี 2560 จะย้ำเสมอว่าอย่าไปกลัวแรกๆ ทุกคนก็รู้สึกกลัวจีน กลัวเกาหลี ถ้ายังกลัวแบบนี้จะมาเล่นทำไมนั่นแปลว่าเรายอมรับแล้วว่าเราแพ้เขาใช่ไหมคือมันเป็นวิธีคิดที่ไม่มีเหตุผลและสังคมกีฬาไทยส่วนใหญ่คิดแบบนั้นมันถูกปลูกฝังกันมา อาจารย์ได้ยินมาตลอดว่าเขาเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ก็เลยย้อนถามกลับไปว่า แล้วเราซ้อมยังไงถึงไม่เก่งแบบเขา”

 

 

 

ศ.ดร.เจริญ อธิบายถึงปัญหาต่อไปว่า นักกีฬาของไทยนั้นมีความสามารถเพียบพร้อมอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จาดหายไปคือวิธีคิดที่ถูกต้องรวมถึงการนำข้อผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไข

 

“ตัวอย่างเช่น บาสและปอป้อ ไปแพ้มาในรายการแข่งขันก่อนหน้านี้ ถามว่าคู่แข่งที่แพ้เรามาเขากลับไปวางแผนหรือเตรียมตัวเพื่อที่จะกลับมาชนะเราหรือไม่ ในขณะเดียวกันเมื่อเราชนะเขาได้แล้วเรากลับมาพัฒนาต่ออีกหรือไม่ เพราะฉะนั้นมันจึงมีความสำคัญและข้อย้ำว่าอย่าใช้ความรู้สึกมาตัดสิน ต้องย้อนกลับมาสำรวจดูว่าที่แพ้มันแพ้เพราะอะไร หรือในบางครั้งไม่ใช่ว่านักกีฬาเล่นไม่ดีแต่มันเป็นจังหวะผิดพลาดในช่วงสำคัญของเกมการแข่งขันส่งผลให้เราต้องเสียแต้มรวมไปถึงเสียขวัญกำลังใจ ... 

 

... เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ความหมายคือถ้าแพ้ต้องแพ้ให้เป็นและต้องรู้ว่าที่เราแพ้นั่นมันแพ้เพราะอะไร แต่ปัญหาก็คือบุคลากรของเรามีความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาตรงนั้นหรือไม่ อ่านเกมออกบอกเกมได้แก้ไขเกมเป็นนี่คือหน้าที่ของโค้ช ถ้ายังไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนั้นได้แล้วจะไปแก้ไขอะไรที่ตัวนักกีฬาได้นี่คือปัญหาที่อาจารย์เห็นในโค้ชเกือบจะทุกชนิดในประเทศไทย”

 

“มันไม่มีใครที่จะชนะได้ตลอดและไม่มีใครที่จะแพ้ได้ตลอด” คำพูดเชิงจิตวิทยาที่ ศ.ดร.เจริญ เน้นย้ำอยู่เสมอที่ช่วยสร้างขวัญกำลังให้กับตัวนักกีฬา

 

“ อาจารย์จะบอกกับเด็กเสมอว่าคำพูดไม่สามารถทำให้เราเลวหรือดีได้แต่การกระทำและพฤติกรรมมันจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่กับความจริงเพราะวิทยาศาสตร์คือความจริงที่พิสูจน์แล้วและกำลังรอการพิสูจน์ต่อไป”

 

 

อุปสรรคสำคัญที่เหนี่ยวรั้งความสำเร็จ

 

ศ.ดร.เจริญบอกกับเราว่า ปัญหาใหญ่ของโค้ชและนักกีฬาเมืองไทยมักจะเน้นไปที่การซ้อมหนัก ซ้อมมากและซ้อมนาน ซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์หนำซ้ำยังผิดเป้าประสงค์ตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา

 

“ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วัตถุประสงค์ในการซ้อมคืออะไร ไม่ใช่ว่าจะให้แต่เด็กซ้อมอย่างเดียว พอแพ้มาก็อ้างว่าแรงไม่ดีแล้วก็กลับมาซ้อมหนักอีกเหมือนเดิมแบบนั้นก็แสดงว่าโค้ชไม่มีความรู้ จะมาอ้างว่าซ้อมแบบนี้มาเป็น 10-20 ปีแล้วไม่ได้เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถามว่าจะไปพัฒนาได้อย่างไร การที่นักกีฬามีพัฒนาการที่ดีนั่นเป็นเพราะว่าเขานำประสบการณ์ที่เกิดจากการออกไปแข่งขันกลับมาเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ใช่เป็นเพราะผู้ฝึกสอนอย่างที่เข้าใจ”

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาแนะนำว่า ผู้ฝึกสอนจำเป็นต้องมีความรู้และพื้นฐานในกีฬาชนิดนั้นๆ รวมไปถึงการใช้จิตวิทยาขั้นสูงเข้ามาช่วยในการฝึกนักกีฬา ศ.ดร.เจริญยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ในระดับนานาชาตินักกีฬาที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกจะมีสมาธิอยู่ในเกมเสมอ เพราะฉะนั้นหลักการทางจิตวิทยาจะมีบทบาทอย่างมากที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงนิสัยของนักกีฬาว่าชอบแบบไหนไม่ชอบแบบไหนหรือถนัดการเล่นในรูปแบบใด เหล่านี้ก็เพื่อพัฒนาให้นักกีฬาก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ

 

“เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่สำคัญว่ามีความเป็นมืออาชีพมากน้อยแค่ไหน คำว่ามืออาชีพคือต้องรู้ว่าบทบาทหน้าที่ของตัวเองคืออะไรและต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องมีรูปแบบการซ้อมและต้องหาวิธีมาปรับปรุงจุดที่บกพร่องซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่นักกีฬามืออาชีพเขาจะมาซ้อมก่อนกลับที่หลังเช่น เจ-ชนาธิป  อุ้ม-ธีรธร หรือว่าซิโก้-เกียรติศักดิ์ เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้โค้ชเลือกเราให้ลงแข่งขันจำเป็นต้องมีความเป็นมืออาชีพอย่างที่ได้บอกไว้ บ้านเรามีนักกีฬาอาชีพเยอะแต่มืออาชีพไม่ค่อยมี รวมไปถึงตัวโค้ชเองด้วยเช่นกันที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานของกีฬานั้นๆ อย่างถ่องแท้”

 

“คนไทยมักจะติดนิสัยชอบขอ ตัวอย่างโค้ชฟุตบอลมีแต่แบบฝึกพอโค้ชชาวต่างชาติเข้ามาให้วิธีการสร้างองค์ความรู้และหลักการเพื่อให้เป็นของตัวเองก็ไม่สนใจ แต่เลือกที่จะขอแบบฝึกสำเร็จรูปจากเขาแล้วมันจะไปเก่งได้อย่างไร หรืออย่างแบดมินตันพอเห็นโค้ชคนไหนเก่งๆ ก็ไปลอกการฝึกมาจากเขา อาจารย์จะพูดเสมอว่าถ้าอยากเก่งแบบเขาไม่จำเป็นจะต้องไปฝึกแบบเขา เพราะฉะนั้นโค้ชต้องดีไซส์รูปแบบการฝึกซ้อมได้ ต้องวางแผนการฝึกเป็น” ศ.ดร.เจริญทิ้งท้าย

 

 

ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ก้าวสู่มือหนึ่งโลก

 

ความสำเร็จของ ‘บาส’ และ ‘ปอป้อ’  ภายในระยะเวลากว่า 6 ปี ทั้งคู่กวาดแชมป์แบดมินตันในประเภทคู่ผสมมาแล้ว 15 รายการพร้อมกับก้าวขึ้นสู่มือหนึ่งของโลกอย่างสง่างาม นี้นั่นไม่ใช่ความสำเร็จเพียงฉาบฉวย หากแต่เป็นการเรียนรู้จากจุดบกพร่องและนำมาปรับปรุงแก้ไข อันมาจากความร่วมมือกันระหว่างนักกีฬาและผู้ฝึกสอนแล้วลงมือฝึกซ้อมตามรูปแบบและกระบวนการด้วยหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลและสถิติเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดจนก้าวไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ

 

ศ.ดร.เจริญบอกว่า ที่เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่มีการวัดและประเมินผลงานในระหว่างการซ้อม ตั้งโต๊ะกางสถิติและเปิดข้อมูลให้ทุกคนได้เห็นกันจะๆ ว่าการฝึกซ้อมของแต่ละคนเป็นอย่างไร จากนั้นทีมงานจะสุมหัวร่วมกันเพื่อประเมินคุณภาพของนักกีฬาว่ายังมีข้อผิดพลาดตรงไหน อย่างไรและจะใช้วิธีการใดเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น

 

“วัตถุประสงค์ของการซ้อมตามหลักวิทยาศาสต์มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อหลักๆ ด้วยกันก็คือ 1.ต้องลดข้อบกพร่องของตัวเอง 2.พัฒนารูปแบบการเล่นของตัวเองให้กลายมาเป็นรูปแบบการเล่นเฉพาะตัว  ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่โค้ชมักจะบอกกับนักกีฬาว่าต้องตีให้เหมือนคนนั้นคนนี้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ จำเป็นต้องเป็นตัวของตัวเองด้วยรูปแบบการซ้อมเฉพาะตัว ที่นี่เราจะสอนให้เด็กรู้จักวิธีคิด ซึ่งมันคือพื้นฐานของนักกีฬา ตัวอย่างบาส-ปอป้อเราก็จะให้ความรู้ที่ละขั้นตอนพร้อมกับเตือนพวกเขาตลอดเวลาว่าช่วงต้นเกมเป็นเวลาสำคัญพยายามอย่าให้คู่แข่งทำแต้มทิ้งห่างออกไปมาก เพราะเมื่อไหร่ที่แต้มตามหลังเขาเยอะเราก็จะต้องเร่งทำแต้มแล้วมันจะเกิดข้อผิดพลาดและจะทำให้ลืมรูปแบบวิธีการเล่น”

 

 

ศ.ดร.เจริญบอกต่อว่า นอกจากวิธีคิดที่เป็นพื้นฐานแล้ว ทั้งบาสและปอป้อจะถูกจับเข้าฝึกสมาธิแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นการจับเอานักกีฬามานั่งหลับตาซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นนักกีฬาต้องผ่านการเรียนรู้และเข้าใจ แต่จะนำสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกซ้อมและการแข่งขันมาอบรมร่วมกัน

 

“เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการฝึกสมาธิจริงๆ แล้วทำไมต้องหาที่สงบ ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีอะไรมาทำให้เกิดความวุ่นวายใจ แต่เมื่อไหร่ที่คุณมีสมาธิแหน่วแน่ดีแล้วโค้ชก็จะจับไปฝึกในที่ๆ มีเสียงรบกวนหรือสิ่งเล้าที่ทำให้หลงใหลก็เพราะเขาจะดูว่านักกีฬามีสมาธิแข็งจริงหรือไม่ เช่นกันกับการแข่งขันหลายๆ เกมเด็กของเรายังดูไม่นิ่ง ยังไม่มีสมาธิเมื่อเจอกับเสียงรบกวนภายนอก สิ่งเหล่านี้เราได้ทำการเก็บรวบรวมไว้ทั้งหมด ทั้งภาพถ่าย เทปวิดีโอแล้วเรามาทำการวิเคราะห์ร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเลยว่าอาการของนักกีฬาออกหรือไม่เมื่อโดนนำแสดงว่านั่นยังไม่นิ่งพอแล้วจะทำอย่างไรเพื่อดึงให้สมาธิกลับมา” 

 

ศ.ดร.เจริญบอกด้วยว่า สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บาสและปอป้อสามารถพัฒนาไปได้ไกลคือ ทั้งคู่มีทักษะพื้นฐานของกีฬาแบดมินตันที่ยอดเยี่ยมและมีความเข้าใจเกมที่สูงมาก ความคล่องตัวในการเคลื่อนที่อยู่ในขั้นที่ว่องไวนั่นเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คู่ผสมมือหนึ่งของโลกคู่นี้โดดเด่นที่สุดในยุคนี้

 

“อาจารย์เข้ามาดูแลบาสและป้อประมาณปี 2545-46 สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานั้นคือเบสิคพื้นฐานที่อาจารย์จะต้องช่วยให้ทั้งคู่เข้าใจว่าแบดมินตันเล่นอย่างไร มีการตีลูกแบบไหนบ้าง เซิร์ฟยังไง สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของเทคนิคเพราะเมื่อใดก็ตามที่เบสิคแน่นการเล่นลูกเทคนิคต่างๆ ก็จะทำได้ง่าย จะช่วยทำให้รู้ว่าในแต่ละการตีนั้นจะต้องใช้เทคนิคอะไรในการเล่น นอกจากนี้จุดเด่นของทั้งคู่คือความคล่องตัว แม้จะดูตัวเล็กแต่เคลื่อนที่ได้เร็ว นั่นก็เพราะมาจากการฝึกซ้อม...

 

... อาจารย์จะบอกบอกเสมอว่าการเล่นแบดมินตันไม่ใช่ว่าเราโยนลูกให้เด็กตี แต่เราต้องทำให้เกิดมูฟเม้นท์เพราะในสนามจริงเราไม่มีทางได้ยืนตีลูกเฉยๆ อยู่แล้วเพราะฉะนั้น การเคลื่อนที่ก็สำคัญ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเคลื่อนที่ทันลูกเท่ากับว่าเราจะมีโอกาสได้เลือกว่าจะตีลูกต่อไปนั้นอย่างไรอาจารย์จะย้ำเสมอว่าเราต้องให้นักกีฬารู้เท่าๆ กับที่เรารู้”

 

 

ปัจจัยหลักสำคัญที่นักกีฬาต้องมีคือ ความรู้ที่จะทำให้นักกีฬารู้ว่ายังขาดอะไร ควรจะต้องเพิ่มเติมด้านไหนและจะพัฒนาไปอย่างไรโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมารอให้โค้ชสั่งว่าต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ต้องคิดเป็นมีองค์ความรู้เพื่อนำไปประยุกต์วิธีการเล่นให้เป็นรูปแบบของตัวเอง เพราะฉะนั้น 3 องค์ประกอบหลักที่นักกีฬาควรจะต้องมี 1.ทักษะกีฬาต้องดี 2.ร่างกายต้องพร้อม 3.จิตใจต้องแข็งแกร่ง 

 

“การเป็นนักกีฬาจำเป็นต้องเรียนรู้อยู่ตลาดเวลา เมื่อใดก็ตามที่หยุดเรียนรู้ก็เท่ากับว่าล้าหลังเขาไปแล้วและต่อให้คุณเป็นแชมป์โลกก็ใช่ว่าจะไม่มีวันแพ้ เพราะฉะนั้นมันต้องมีการเรียนรู้ ปรับปรุง แก้ไขและพัฒนาอยู่เสมอ ทั้งบาสและปอป้อถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เริ่มต้นทุกอย่งต้องค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลา ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนักกีฬาด้วยว่าพร้อมที่จะเปิดรับกระบวนการเรียนรู้หรือไม่ ต้องค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอนจะยัดให้เด็กทีเดียวเลยก็ไม่ได้ ก็เหมือนแบบฝึกหัดที่ไล่ระดับจากยากไปง่าย”

 

สุดท้ายแล้ว ศ.ด.เจริญย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือว่าโค้ชผู้ฝึกสอน พยายามอย่ายึดติดกับความสำเร็จ อย่าหลงไปกับภาพมายาหรือว่าสิ่งเล้าภายนอก การรักษามาตรฐานเป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าหากต้องการความสำเร็จจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับมาตรฐานของตัวเองให้สูงขึ้นหากหวังจะก้าวไปสู่ความสำเร็จ


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

KV Paris 2024