stadium

สำรวจความคิดของ นันทน์กาญจน์ เอี่ยมสอาด ขนไก่สาวนักล่าฝัน

25 ธันวาคม 2565

เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ นันทน์กาญจน์ เอี่ยมสอาด เกือบจะไม่มีโอกาสได้มายืนฉีกยิ้มถือถ้วยรางวัลอยู่บนโพเดี้ยมให้เราได้เห็น เมื่อเธอต้องเลือกระหว่างการทำตามความฝันกับอนาคตที่มั่นคง ความผิดหวังซ้ำๆ จากการเล่นแบดสมัยเยาวชน เกิดเป็นคำถามกับตัวเองว่าควรพอหรือยังกับเส้นทางนี้ ความฝันกับอนาคตถึงเวลาที่ต้องแยกจากกันแล้วจริงๆ หรือไม่ ก่อนที่สุดท้ายเธอขอเลือกทำตามหัวใจตัวเอง เดิมพันชีวิตครั้งใหญ่ฝากอนาคตไว้กับลูกขนไก่เพื่อไล่ล่าความฝันอีกครั้ง

 

จากนั้นภายในระยะเวลา 3 ปี เธอจับคู่กับน้องสาวของตัวเอง สร้างผลงานสุดร้อนแรงในปี 2022 ด้วยการคว้ามาถึง 3 แชมป์จากการเข้าชิง 6 รายการ ในวันนี้ OverheadCrossCourt โปรเจ็กต์พิเศษของ Stadium จะพาผู้อ่านไปสำรวจความคิดของ ‘อันนา’ นันทน์กาญจน์ เอี่ยมสอาด นักแบดวัย 23 ปีคนเก่ง ที่ต้องทั้งแบกความคาดหวังของครอบครัวและต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำในคอร์ท​ รวมถึงจุดเปลี่ยนท่ีพาให้ชีวิตของเธอประสบความสำเร็จตลอดปี 2022

 

 

เด็กหญิงที่แบกความหวังไว้บนบ่าทั้งสองข้าง

 

อันนา ให้ความสนใจกีฬาแบดมินตันตั้งแต่ได้อายุ 7 ปี กระทั้งมีโอกาสได้ไปฝึกปรือฝีมือกับ ‘คิรี กลิ่นรอด’ โค้ชแบดมินตันคนแรกที่ มทบ.11 เข้ารับการฝึกซ้อมที่เข้มข้นและติวเข้มตลอดระยะเวลา 1 ปี จนสามารถลงทำการแข่งขันและคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มาครองได้ตั้งแต่ลงคอร์ทครั้งแรก หลังจากนั้นอันนาจึงลงทำการแข่งขันเรื่อยมาจนกระทั่งสามารถคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ แต่จากแชมป์ครั้งนั้นทำให้เธอต้องถูกโยนความกดดันมาให้อย่างเลี่ยงไม่ได้

 

“พอหนูได้แชมป์แรกมากลายเป็นว่าคุณพ่อเริ่มคาดหวังกับเราไว้สูงมาก คือไม่ว่าจะลงแข่งรายการไหนต้องเข้าชิงและต้องได้แชมป์ แต่เมื่อมันไม่ได้เป็นแบบนั้นในบางครั้งก็ถูกพ่อตีในวันที่หนูเล่นไม่ได้ดั่งใจเขา อาจจะเพราะหนูยังเด็กมันก็เลยมีความรู้สึกที่ว่าทำไมต้องหวังกับเราเยอะจัง หนูก็แค่ไม่อยากโดนพ่อตีซึ่งมันไม่มีความรู้สึกอื่นเข้ามาปะปนเลยเพราะฉะนั้นหนูต้องทำให้ดีที่สุด เพราะด้วยความที่เราเป็นเด็ก การได้แชมป์มันเลยทำให้หนูคิดถึงแต่เรื่องเงินเท่านั้น เพราะว่าการเป็นแชมป์มันได้เงิน หนูจึงรู้สึกว่าอยากลงแข่งอีกเรื่อยๆ”

 

 

ไม่ใช่เพียงความโดดเด่นด้านกีฬาเท่านั้นที่ต้องเป็นเลิศการเรียนจำต้องทำได้ดีควบคู่กันไป ช่วงวัยเด็กของอันนาจึงวนลูปอยู่เฉพาะการซ้อมแบดมินตันและอ่านตำราทบทวนเนื้อหาการเรียนเพราะด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่รับหน้าที่ราชการเป็นทั้งนายทหารและนางพยาบาลทำให้ชีวิตของเธอค่อนข้างถูกตีกรอบให้อยู่ในกฏระเบียบและข้อบังคับ

 

“คุณพ่อค่อนข้างคาดหวังว่าหนูจะต้องทำให้ดีไม่ว่าจะเรื่องการเล่นกีฬาหรือการเรียน ผลการเรียนในช่วงประถมได้ 4.00 มัธยมฯ 3.80 ซึ่งในความจริงหนูไม่ค่อยจะกดดันเรื่องการเรียนสักเท่าไหร่ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องอ่านหนังสือจนดึกดื่นหรือไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม แม้กระทั้งการติวหนังสือก่อนสอบกับเพื่อนก็ไม่มี แต่หนูจะใช้วิธีการอ่านหนังสือในวิชาที่จะสอบให้เข้าใจที่สุดเพราะในระหว่างที่เรียนในชั้นเรียนหนูก็ทำความเข้าใจกับมันไปแล้วจึงทำให้หนูสามารถทำข้อสอบได้และได้ผลการเรียนที่ดี ส่วนกีฬาหนูต้องซ้อมแบดฯ ทุกวันหลังเลิกเรียนมันจึงไม่มีเวลาไปทำอะไรแล้วเหมือนชีวิตวนลูปอยู่แบบนั้น”

 

 

 

เรียนแพทย์หรือนักกีฬา? ทางแยกที่ต้องตัดสินใจ

 

อันนา มองย้อนดูตัวเองเพื่อสำรวจความคิดที่ลึกลงไปในตัวตนก็พบว่า หากเธอยังดื้อดึงฝืนใช้วิธีคิดแบบเดิมอาจทำให้พลาดโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ อันนายอมรับว่าในวัยเด็กแม้เธอจะค่อยข้างเอาแต่ใจ ไร้เยื่อใยต่อโลกแต่เมื่อถึงช่วงชีวิตหนึ่งเธอกลับมาทบทวนความคิดของตนเองใหม่ทำให้เปลี่ยนเป็นคนละคน

 

“ก่อนหน้านี้ นิสัยส่วนตัวของหนูเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจโลกและค่อนข้างเอาแต่ใจ ด้วยความที่หนูเป็นลูกคนแรกของครอบครัวทั้งคุณพ่อและคุณแม่จึงค่อนข้างตามใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกส่วนตัวสูงนะ แค่ไม่ค่อยใส่ใจกับคำพูดของคนอื่น ไม่ว่าใครจะมองยังไงก็ช่างหนูคิดว่าการใช้ชีวิตแบบนี้มันมีความสุขแล้วไม่ต้องมีคนเข้ามาในชีวิตเยอะมีแค่ครอบครัวก็พอใจแล้ว แต่ทั้งหมดมันมาเปลี่ยนความคิดตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 1 ก็เริ่มมองโลกด้วยความคิดที่เติบโตขึ้นไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้วจะทำอะไรต้องพึ่งพาตัวเองและต้องปรับตัว” 

 

อันนาเล่าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ว่า ช่วงรอยต่อของเวลาคาบเกี่ยวก่อนเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในช่วงนั้นผลงานการแข่งขันแบดมินตันของเธอไม่ดีเลยเอาเสียเลยตกต่ำจนครอบครัวตกใจจนเกือบจะทำให้ต้องล้มเลิกความฝันของตนเอง

 

“คุณแม่ถามว่าจะเอาดีทางด้านไหนเพราะเกรดการเรียนหนูสามารถสอบเข้าคณะแพทย์ได้เพราะว่าลึกๆ ก็อยากเป็นเภสัชกร แต่หนูตัดสินใจเลือกมาทางแบดมินตันเพราะหนูวางเป้าหมายตั้งแต่ต้นไว้ว่าอยากจะเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติชุดใหญ่เพราะตอนนั้นยังเป็นแค่เยาวชนซึ่งใครๆ ก็สามารถคัดตัวมาได้แต่กับการขึ้นไปเป็นชุดใหญ่มันยากกว่านั้นถ้าไม่เก่งจริงจะไม่สามารถขึ้นไปถึงจุดนั้นได้เลย จึงคิดว่าจะขอลุยกับแบดมินตันอีกสัก 2-3 ปีถ้าไม่ดีค่อยกลับมาเต็มที่กับการเรียน”

 

 

การจับคู่น้องสาวที่พลิกเส้นทางแบด

 

อย่างที่รู้กันว่าอันนาคือนักกีฬาแบดมินตันหญิงคู่ของไทยที่สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมด การจับคู่กับ ‘มูนา’ เบญญาภา เอี่ยมสะอาด คือสูตรสำเร็จที่ลงตัวสายสัมพันธ์ทางสายเลือดช่วยสร้างคู่หูคู่ใหม่ให้กับวงการแบดมินตันเมืองไทย

 

“กว่าจะมาถึงตรงนี้หนูใช้เวลา 5 ปีและหนูต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในช่วง 3 ปีแรกหนูเล่นประเภทหญิงเดี่ยวซึ่งมองแล้วว่ามันไม่น่าจะไปได้ไกลเคยคิดที่จะหยุดและพอแค่นี้ แต่พอมาช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงเปลี่ยนมาเล่นประเภทหญิงคู่โดยจับคู่กับมูนามันเลยทำให้ผลงานของหนูดีขึ้นจึงเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าเรายังไหวและไปต่อกับกีฬาแบดมินตันได้”

การจับคู่กับมูนาถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผลงานดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องของการคาดหวังว่าจะต้องได้แชมป์ในทุกรายการหรือมีรางวัลติดไม้ติดมือแต่เป็นเพราะความสบายใจที่ได้จับคู่กับคนที่รู้ใจ อันนาบอกต่อว่า การจับคู่กับมูนาไม่เคยรู้สึกว่าเป็นการเพิ่มความกดดันเลยแม้แต่น้อย เพราะทั้งเธอและน้องสาวต่างช่วยกันเล่นด้วยความสบายใจเหมือนมีเพื่อนรู้ใจในสนาม

 

 

“เมื่อเราเล่นด้วยความเข้าใจกันจึงไม่มีความกดดันอะไรเลยและไม่รู้สึกว่ามันคือภาระที่เราต้องคอยแบกรับ อีกอย่างหนึ่งคือคุณพ่ออยากเห็นเราเล่นคู่กันอยู่แล้วแต่ครั้งนี้ท่านไม่ได้ตั้งความหวังหรือโยนความกดดันมาให้เราเหมือนตอนเด็กๆ ซึ่งทั้งหมดมันคือความเข้าใจกันในเกม รู้ว่าคนนึงจะเล่นลูกไหนและจะเล่นอย่างไรเพื่อให้เกมดำเนินต่อไปจนถึงชัยชนะ การจับคู่กับมูนามันทำให้หนูรู้สึกว่าจะมีใครเดินเกมได้ดีแบบนี้อีกมั้ยและคิดว่าคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการจับคู่กับน้องสาวคนนี้อีกแล้ว”

อันนาสารภาพว่า ในช่วงที่พบกับความแพ้ติดต่อกัน 3 ปี เธอแล้วว่าเริ่มคิดแล้วว่าหรือนี่คือการเลือกเส้นทางชีวิตผิดจนเกือบจะล่มเลิกความฝันนั้นไปแล้ว แต่การเข้ามาของมูนาทำให้ดวงไฟแห่งความหวังรุกโชนขึ้นอีกครั้ง


“เมื่อวันนี้มาถึงมันทำให้หนูรู้สึกว่าคิดถูกแล้วที่ยังเดินหน้าต่อกับแบดมินตัน ถึงแม้ว่ามันต้องใช้เวลาที่นานมากๆ แต่ก็คุ้มค่ากับสิ่งที่ทุ่มเทลงไปและทำให้เต็มที่ๆ สุดก็พอ พยายามหาจุดบกพร่องของตัวเองแล้วนำกลับมาแก้ไขใหม่ให้ดีขึ้น แม้ว่าจะกวาดเหรียญรางวัลมามากมายแต่หนูรู้สึกว่ายังไม่ใช่คนเก่ง เรายังมีจุดอ่อนที่เราต้องแก้ไขและพัฒนาอีกเยอะมากๆ เพราะในปีหน้าจะเริ่มมีการแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนไปเล่นโอลิมปิกพวกเราตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องทำให้ได้และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะคว้าเหรียญรางวัลกลับมาและจะพยายามทำอันดับโลกให้ดีที่สุดและรักษาไว้ให้นานที่สุด”

 

และนี่เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวงการลูกขนไก่ไทย การค้นพบดาวรุ่งดวงใหม่ที่เต็มเปรี่ยมไปด้วยศักยภาพคือก้าวสำคัญของการพัฒนาวงการแบดมินตันให้เดินไปข้างหน้า ซึ่งสำคัญกว่าเหรียญรางวัลใดๆ คือทัพนักกีฬาทีมชาติไทยกำลังได้ดาวดวงใหม่มาประดับวงการ

 

 


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

KV Paris 2024