21 ธันวาคม 2565
3 ชั่วโมง 13 นาที คือสถิติที่ดีที่สุดในการวิ่งมาราธอน ของ "ลุงหน่อง" ศักดิ์ชัย หล้ามาชน ในวัย 62 ย่าง 63 ปี สถิตินี้เพิ่งจะเกิดขึ้นในมหกรรมการวิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองหลวง "กรุงเทพมาราธอน 2565" เป็นความเร็วที่ยอดเยี่ยมเพียงพอสำหรับถ้วยรางวัล และดีพอในการควอลิฟายไป "บอสตันมาราธอน" หนึ่งในงานวิ่งมาราธอนเมเจอร์ที่คนทั้งโลกใฝ่ฝัน
นี่คือเรื่องราวความฝันของชายคนหนึ่ง ความฝันที่เริ่มต้นขึ้นในวัยใกล้เกษียณ วัยที่บางคนหยุดคิดที่จะวิ่งไล่ตามสิ่งใด แต่ลุงหน่องกำลังเริ่มต้น...
เริ่มวิ่งเพราะถูกลดชั่วโมงการทำงาน
3 ปีก่อนหน้านี้ ลุงหน่องในวัย 59 ปี วัยใกล้เกษียณ เขาถูกลดชั่วโมงการทำงานในวันเสาร์อาทิตย์เพราะพิษโควิด-19 ที่ทำให้หลายบริษัทลดค่าใช้จ่าย และรัดเข็มขัด นั่นทำให้ลุงหน่องกังวลเรื่องรายได้ที่หายไป จึงลองเข้าสู่วงการวิ่งเพราะเห็นว่ามีนักวิ่งเก่งๆ สามารถหาเงินจากการแข่งวิ่งถนนได้ทุกสุดสัปดาห์
"แต่การวิ่ง ไม่ใช่เริ่มแล้วได้รางวัลเลย" ลุงหน่องเริ่มเล่า พร้อมกับบอกถึงความมุ่งมั่นและวิธีการที่จะได้รางวัลและได้เงินจากการวิ่ง "มันต้องซ้อม ผมเลยเริ่มไปสวนรถไฟ ทำงานตอนกลางคืน เลิกงานตอนเช้าไปซ้อมวิ่ง ฝึกอยู่ 2-3 เดือน เริ่มจากวิ่งธรรมดา วิ่งไปเรื่อยๆ ตอนนั้นใจอยากวิ่งมาราธอนมาก"
แม้จะไม่เคยเล่นกีฬาใดมาก่อนเลย แต่ลุงหน่องก็มีความตั้งใจเป็นพื้นฐานแรก บวกกับเป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และมีนิสัยใจเย็น ถือว่าเหมาะกับกีฬาวิ่งมาราธอนที่ต้องค่อยๆ สะสมระยะทาง และสะสมความแข็งแรงไปพร้อมกัน "ที่จริงผมสุขภาพดีอยู่แล้ว ไม่สูบไม่ดื่ม พอวิ่งแล้วก็ชอบ เหนื่อยแต่ก็ดี ได้ออกกำลังกาย อยากแข็งแรง ยังไม่อยากตายง่ายๆ"
มาราธอนแรกในวัย 59 ปี
หลังจากฝึกวิ่งคนเดียวที่สวนรถไฟได้ 3 เดือน ลุงหน่องเริ่มหาสมัครงานวิ่งมาราธอน แต่ในปีนั้นมีงานจัดน้อยมาก จึงลองลงแข่งระยะฮาล์ฟมาราธอนก่อน เป็นการแข่งที่สมุทรสาคร งานนั้นเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 4 ของรุ่นอายุ ได้ถ้วยรางวัลกลับมา แม้ยังไม่ได้เงินรางวัลแต่ก็ยังลงแข่งต่อเนื่อง ถือเป็นช่วงสะสมประสบการณ์
"คือก่อนมีโควิด ตอนนั้นงานวิ่งยังเยอะ พอมีโควิดก็งดจัด ผมก็ซ้อมเรื่อยๆ เพราะเป้าหมายคืออยากแข่งฟูลมาราธอน ได้แข่งฟูลแรกหลังจากนั้น เป็นงานที่สุโขทัย นั่งรถไปแข่งคนเดียว วิ่งจบก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองได้รางวัล พอรู้ตัวก็ดีใจมาก ได้ถ้วยตั้งแต่มาราธอนแรก" ลุงหน่องเล่าด้วยความภูมิใจ
จากนั้นมาลุงหน่องก็ยังมุ่งมั่นฝึกซ้อม โดยวางเป้าหมายพิชิตปริญญานักวิ่ง ที่งานวิ่งเขาชะโงกซูเปอร์ฮาล์ฟ รับถ้วยพระราชทานจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ เป้าหมายของนักวิ่งสมัครเล่นทุกคนในประเทศไทย "เขาชะโงก 2565 เป็นงานวิ่งที่ผมวิ่งดีที่สุดในชีวิต ลงแข่ง 33 กิโลเมตร ได้ที่ 1 รุ่นอายุ 60 และทำสถิติใหม่ให้สนามนี้ เร็วกว่าสถิติคนเดิม 2 วินาที ผมรู้สึกว่ามาไกลมากในการวิ่ง"
ไม่มีคำว่าช้าเกินไปสำหรับการเริ่มต้น
กระทั่งถึงปัจจุบันประสบการณ์วิ่งของลุงหน่องรวม 3 ปี มีมาราธอนถัดไปเกิดขึ้นรวม 20 มาราธอน และอีกหลายฮาล์ฟมาราธอน สะสมถ้วยรางวัลได้กว่า 50 ใบ และในปี 2565 ลุงหน่องก็ทำได้ตามเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงการหาเงินจากการวิ่งทุกสุดสัปดาห์ เพราะงานแข่งวิ่งมาราธอนได้กลับมาจัดเต็มรูปแบบในปีนี้
"มันไม่มีคำว่าช้าเกินไปสำหรับการเริ่มต้น และไม่ได้สำคัญเรื่องอายุ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองแก่ เพราะผมสุขภาพดี ผมมาไกลมากสำหรับการวิ่ง ถือว่าเป็นแถวหน้าคนหนึ่งแล้ว ปีนี้เริ่มหาเงินจากการวิ่งได้แบบเต็มรูปแบบจริงๆ ทุกสัปดาห์ ผมไม่เคยเหนื่อยกับการวิ่ง ไม่เคยท้อกับความไกล สนุก และไม่เคยบาดเจ็บ"
วงการวิ่งถนนในตอนนี้มีนักวิ่งเก่งๆ มากมายทั่วประเทศไทย ทุกคนพิสูจน์ตัวเองว่าดีพอจากการชนะในหลายการแข่งขัน ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ทั้ง บุรีรัมย์มาราธอน กรุงเทพมาราธอน ขอนแก่นมาราธอน ไปจนถึงเขาชะโงกซูเปร์ฮาล์ฟ แต่หนึ่งในความฝันของเหล่านักวิ่งไทยก็คือการได้ร่วมแข่งในมาราธอนเมเจอร์
เป้าหมายถ้วยรางวัล "บอสตันมาราธอน"
บอสตัน โตเกียว นิวยอร์ก ชิคาโก เบอร์ลิน และลอนดอน เป็น 6 สนามมาราธอนเมเจอร์โลก ผู้ที่จะได้เข้าร่วมจะต้องใช้วิธีการสมัครเพื่อจับสลากรับสิทธิ์ หรือ ล็อตโต้ ยกเว้น "บอสตันมาราธอน" เท่านั้นที่จะต้องยื่นเวลาให้ผ่านมาตรฐาน หรือ การควอลิฟาย ซึ่งจะต้องแข่งขันกันกับนักวิ่งทั่วโลก
การได้ไปบอสตันมาราธอนจึงหมายถึงการเป็นหนึ่งในสุดยอดนักวิ่ง ซึ่งเวลาของลุงหน่องที่ 3 ชั่วโมง 13 นาทีนั้นผ่านควอลิฟายแล้ว แต่ลุงหน่องยังมีเป้าหมานที่สูงกว่านั้น "ควอลิฟายได้แล้ว แต่เป้าหมายคือวิ่งต่ำกว่า 3 ชั่วโมงก่อน เราจะไม่ไปเฉยๆ เราจะต้องได้ถ้วยด้วย ดูสถิติแล้วถ้าวิ่งเท่านี้จะได้ถ้วยรางวัล"
ในน้ำเสียงและแววตาของลุงหน่องเล่าเรื่องราวนี้ด้วยความมั่นใจและมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม แม้จะเป็นเป้าหมายที่ไม่ง่ายนักของคนในวัยนี้ ซึ่งลุงหน่องไม่ได้แค่พูดเท่านั้นแต่เขาลงมาทำด้วย ทุกวันนี้ลุงหน่องเกษียณจากงานประจำแล้ว ทุ่มเทเต็มที่กับการซ้อมวิ่ง ทุกเช้าที่สวนรถไฟ ชายคนนี้จะสวมรองเท้าผ้าใบออกวิ่งวันละ 30 กิโลเมตรทุกวัน
"ตอนนี้มีคนสนับสนุนรองเท้าและอุปกรณ์วิ่งให้บ้าง แต่ยังไม่มีใครสนับสนุนเรื่องการเดินทางไปบอสตัน ก็อยากมีสปอนเซอร์ มีคนเห็นความพยายามของเรา ถ้าปีนี้ยังไปไม่ได้เราก็รอได้ รุ่นอายุ 65-70 ปีก็ยังไม่สายเกินไป ผมรอได้"
60 ปีอาจเป็นช่วงอายุที่ทำให้ใครหลายคนหมดไฟที่จะฝัน แต่เรื่องราวของลุงหน่อง ศักดิ์ชัย หล้ามาชน อาจเติมไฟให้อีกครั้ง...เพราะการเริ่มต้นไม่มีคำว่าช้าเกินไป
TAG ที่เกี่ยวข้อง