stadium

เทศนา พันธ์วิศวาส ถอดโมเดลสร้างแชมป์โลก SCG Academy Badminton

19 ธันวาคม 2565

เบื้องหลังทุกความสำเร็จของ​ ‘บาส-ปอป้อ’ สองนักตบลูกขนไก่ไทยตลอดช่วงครึ่งทศวรรษมานี้ ​นอกจากตัวนักกีฬาที่ลงทำการแข่งขันแล้ว ส่วนสำคัญคือคือทีมงานข้างหลังที่ทำงานอย่างหนักไม่แพ้กัน โดยหนึ่งในนั้นคือ เทศนา พันธ์วิศวาส หรือโค้ชโอม หัวหน้าผู้ฝึกสอนคนเก่งของสังกัด SCG Acadamy Badminton

 

อดีตนักแบดมินตันประเภทชายคู่มือ 2 ของโลก ที่ผันตัวเองมารับงานผู้ฝึกสอน ประสบการณ์ในสนามถูกถ่ายทอดสู่นักกีฬารุ่นใหม่ไปพร้อมความคาดหวังที่อยากจะเห็นนักแบดมินตันไทยคว้าเหรียญโอลิมปิกให้ได้ในสักวัน ด้วยหลักคิดและแนวทางการสอนอันเข้มงวดทำให้บรรดาลูกศิษย์ของ “โค้ชโอม” ยกระดับก้าวไปอยู่บนเวทีระดับโลกและมีโอกาสที่จะทำให้ความฝันของเขานั้นกลายเป็นจริงเข้าไปทุกทีแล้ว

 

 

รับงานโค้ชเพื่อสานต่อความสำเร็จ

 

อย่างที่ทราบกันดีว่าโค้ชโอมเคยเป็นอดีตนักแบดมินตันในรุ่นเยาวชน ขวบวัยของการเรียนรู้โดยมีคุณพ่อเป็นเสมือนแรงบันดาลใจที่ทำให้โค้ชโอมก้าวเข้าสู่วงการลูกขนไก่ ทว่าการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาทำให้เขาต้องพลิกบทบาทชีวิตของตนเอง

 

“หลังจากที่เลิกเล่นแบดมินตันไปแล้ว ผมก็ไปช่วยงานมูลนิธิร่วมกตัญญูศูนย์นเรนทรอยู่สักพัก ก่อนมี่จะมาช่วยทีมเล็กๆ สอนแบดมินตันและได้ประสบการณ์การสอนจากตรงนั้น ก่อนที่จะถูกชักชวนจาก ‘คุณณปภัช ประไพตระกูล’ ผู้จัดการโครงการ เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่ ซึ่งท่านของให้มาช่วยพัฒนาด้านกีฬารุ่นเยาวชนของโครงการนี้ผมจึงตัดสินใจเข้ามารับงานโค้ชตั้งแต่นั้น”

 

โค้ชโอมบอกต่อว่า การเข้ามารับหน้าที่การเป็นผู้ฝึกสอนแบดมินตันที่เอสซีจี แบดมินตัน อะเคดิมี่เหมือนชีวิตกำลังเริ่มต้นใหม่ ความท้าทายจากการทำหน้าที่นอกสนามครั้งนี้โจทย์ใหญ่ที่เขาวางเป้าหมายไว้คือการทำให้นักกีฬากระโดดขึ้นไปคว้าเหรียญโอลิมปิกมาให้ได้

 

“ผมเริ่มตั้งแต่ชุดยุวชนและไปเยาวชนเพื่อให้เขาก้าวขึ้นไปเป็นทีมชาตินั่นคือสิ่งที่ผมวางไว้ บวกกับเป้าหมายที่ผมยังไปไม่ถึงคือการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตอนเป็นนักกีฬาผมใฝ่ฝันอยากได้เหรียญ อันดับโลกสูงสุดคือได้อันดับ 2 หลังจากที่ไปไม่ถึงเป้าหมายก็เลิกเล่นและฉากการเป็นนักกีฬา แต่คำถามคือผมจะสามารถทำได้มั้ยที่จะให้นักกีฬาได้เหรียญโอลิมปิก”

 

 

 

ฐานรากที่มั่นคงส่งผลต่อผลผลิต

 

เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่ เป็นแหล่งผลิตและฟูมฟักนักกีฬาแบดมินตันมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักตามมาตรฐานสากลด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามามีบทบาทในการพัฒนานักกีฬาให้มีศักยภาพเพื่อป้อนนักตบขนไก่ดาวรุ่งสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งทั้งหมดถูกควบคุมด้วยหน่วยงานภายในต่างๆ ที่ประกอบไปด้วย 1. ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะกีฬา  2. ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา 3.ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสภาพร่างกาย และ 4. แผนกธุรการ โดยมีการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันก่อนที่จะผลักดันนักกีฬาสู่ทัพทีมชาติไทย

 

“เมื่อก่อนมีโค้ชจีนคอยดูแลและผมได้เห็นการทำงานของเขา แต่ไม่ได้ก้าวก่ายการทำงานของเขาเพราะผมมีแนวทางของตัวเองบวกกับประสบการณ์ที่มีเพียงแค่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเป็นโค้ช ซึ่งเส้นทางใหม่จากนักกีฬามาเป็นผู้ฝึกสอนค่อนข้างยาก ผมเองต้องมีแนวทางว่าเราจะเดินไปในทิศทางไหนลองผิดลองถูกไปเรื่อย จากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการสร้างนักกีฬาจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีกว่าจะได้นักแบดมินตัน 1 คู่ แต่พอได้เรียนรู้และกลับมาทบทวนก็เหลือ 3 ปี 2 ปี หรือ 1 ปีครึ่งซึ่งมันลดระยะเวลาในการสร้างนักแบดมินตันลงมาได้เยอะพอสมควร”

 

โค้ชมือทองบอกต่อว่า การกำหนดแนวทางที่ชัดเจนย่อมทำให้บรรลุตามเป้าหมาย สิ่งแรกที่นักกีฬาพึงมีคือเรื่องระเบียบวินัย ความเข้าอกเข้าใจซึ่งการและกัน นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วนั่นคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

“ช่วงแรกๆ ตอนเป็นโค้ชใหม่ๆ ก็มีบังคับ มีการลงโทษบ้าง แต่พอตอนหลังได้รู้ถึงบางอย่างคือบางครั้งนักกีฬาไม่รู้ว่าทำไปเพราะอะไร ทำไมเราต้องบังคับเขา ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี แต่สุดท้ายทำไมเขาถึงทำไม่ดี เขารู้เรื่องมั้ย ทำไมเราถึงต้องบังคับทำนั่นทำนี่ ก็เลยให้เหตุผลอธิบายจนกว่าเขาจะเข้าใจกัน คือมันต้องมองไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่การบังคับให้เขามาทำงานจะบอกเสมอว่ามันคือเป้าหมายของเขานะ แต่เราจะช่วยทำให้เป้าหมายของเขาสำเร็จ ก็คือต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

 

 

บทบาทใหม่ที่เข้มข้นกว่าที่เคยเป็น

 

แน่นอนว่าการเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนแบดมินตันของโค้ชโอม โจทย์ใหญ่ที่รออยู่นั่นคือจะทำอย่างไรเพื่อให้นักกีฬาเติบโตออกไปสู่โลกกว้างอย่างมีคุณภาพ นี่ไม่ใช่เพียงการทำหน้าที่แบบขอไปทีแต่โค้ชโอมต้องการเห็นความสำเร็จเกิดขึ้นกับนักกีฬาของเขาทุกคน

 

“เราเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะพานักกีฬาไปถึงตรงจุดไหนและจะทำอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมาย นอกจากที่ว่ามาก็ต้องมาดูอีกด้วยว่าจะพัฒนานักกีฬาให้ต็มศักยภาพอย่างไร มันต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเสมอตัวอย่างเช่น ในช่วงนี้จะต้องออกไปแข่ง 4 สัปดาห์ติดกันแน่นอนมันจะเหนื่อยมากและอาจมีอาการบาดเจ็บแล้วถ้าเจ็บก็ต้องหยุดซ้อมซึ่งมันจะมีผลต่อการพัฒนาร่างกาย”

 

แม้ว่าทักษะด้านกีฬาจะขี้นอยู่กับตัวนักกีฬาเป็นหลัก แต่เรื่องของการพัฒนาระบบต่างๆ ในร่างกายเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน อาการบาดเจ็บจึงเลี่ยงไม่ได้ โค้ชโอมเองอ่านเกมขาดว่าถ้าประสบปัญหานี้สิ่งที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสภาพร่างกายจำเป็นจะต้องพึ่งวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วย ดังนั้นอาจารย์เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยตรง

 

“อาจารย์เจริญเป็นเหมือนที่ปรึกษาเหมือนห้องสมุด เวลาผมอยากรู้อะไรก็จะไปปรึกษาท่าน ซึ่งท่านจะมีคำอธิบายที่สามารถนำไปใช้ได้เลย ไม่ต้องแปลความหมาย ท่านขยายความให้เรียบร้อย เมื่อนำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้แล้วก็จะกลับมารายงานผลกับท่านทราบเหมือนท่านเป็น CPU ให้ผมเป็นตัวกรองเป็นชุดข้อมูลความรู้ คือว่าท่านเป็นทุกอย่างให้ผมจริงๆ”

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคู่ผสมมีหนึ่งโลก

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘บาส’ เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ ‘ปอป้อ’ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย สองนักแบดมินตันคู่ผสมของไทยประสบความสำเร็จมากมายภายใต้การกำกับดูแลของโค้ชโอมมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น สิ่งที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนคนนี้มองเห็นมันไม่ใช่แค่เรื่องทักษะฝีมือแต่มันคือความเข้าขารู้ใจที่นักแบดมินตันคู่ผสมคู่นี้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

“ผมเห็นทั้งคู่มาตั้งแต่เด็กๆ และเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนแรกผมไม่ได้กำหนดว่าทั้งสองคนจะต้องมาเล่นคู่กันแต่ในเมื่อทั้งคู่มีความพร้อมและผมเองก็เห็นว่าเล่นด้วยกันได้มันจึงเป็นการจับคู่ที่ลงตัวที่สุด ซึ่งทั้งบาสและป้อเองก็มีความเป็นระเบียบวินัยมากๆ ไม่เคยขาดซ้อมพวกเขามีความพยายาม มีความรับผิดชอบในหน้าที่และยอมรับซึ่งกันและกันได้ แน่นอนว่าปัญหามันก็มีไม่ได้ราบรื่นไปเสียหมดเพียงแต่ว่าเราสามารถจบมันได้ก็เลยกลายมาเป็นคู่ที่พร้อมและดีที่สุดแล้วในตอนนี้”

 

โค้ชโอมบอกด้วยว่า สิ่งที่พยายามเน้นย้ำกับตัวนักกีฬาอยู่เสมอนั่นคือความมีน้ำใจนักกีฬา ผลแพ้ชนะอยู่ที่ปลายทางและนั่นไม่ใช่ทั้งหมดของการแข่งขัน ทว่าระหว่างทางการแข่งขันนั้นสำคัญไม่แพ้กันและจำเป็นอย่างยิ่งที่นักกีฬาต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ในระหว่างการแข่งขัน

 

“ในสนามคาดหวังว่าคุณมีน้ำใจเป็นนักกีฬาหรือไม่ รู้แพ้รู้ชนะหรือไม่ เวลาแพ้แสดงให้เห็นหรือไม่ รู้หรือไม่ว่าแพ้เพราะอะไร ทำอะไรถึงแพ้ ชนะเป็นอย่างไร จะใช้คำพูดที่ว่า “ดีใจหรือเสียใจ 2 ชั่วโมงก็หายแล้วมันผ่านไปแล้วเป็นเหตุการณ์เก่าไปแล้ว” พยามยามสอนให้เด็กๆ รู้ถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ แล้วอดีตสอนอะไรบ้าง เพื่ออนาคต เด็กๆ ในทีมตอบรับดี มีความเข้าใจมากขึ้น จะบังคับในช่วงแรกและต้องอธิบายเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงบังคับ เพราะไม่มีใครมาแล้วทำได้เลย ทุกคนต้องเข้ามาอยู่ในกรอบ ที่เหลือก็อยู่ที่ตัวเด็กๆ เราไม่ได้สอนให้เขาเป็นเราแต่สอนให้เขาเป็นตัวเขาเอง เพราะเขาต้องดำเนินชีวิตของเขาต่อไปในอนาคต”

 

 

สิ่งที่สะท้อนออกมาในฐานะผู้ฝึกสอน

 

เป้าหมายที่โค้ชโอมได้วางไว้ตั้งแต่เริ่มเข้ามารับหน้าที่ผู้ฝึกสอนกำลังเติบโตเป็นรูปเป็นร่างและดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง สิ่งที่ผ่านสายตาโค้ชโอมมาตลอดระยะเวลากว่าสิบปีทำให้มองอนาคตวงการแบดมินตันไทยไว้อย่างนาสนใจว่าสิ่งที่จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนานักกีฬารุ่นใหม่ให้ขึ้นมาเทียบชั้นในระดับสากลไม่ใช่แค่เรื่องความเก่งกาจสามารถแต่ต้องมีความดีอยู่ในจิตใจเช่นกัน

 

“ผมปลูกฝังเด็กๆ ในอะคาเดมี่เสมอว่าอันแรกต้องเป็นคนเก่ง คนดี คนเก่งเป็นอย่างไร คนดีเป็นอย่างไร คนดีเมื่อคุณโตขึ้นคุณจะเป็นภาระสังคมหรือไม่ เมื่อคุณโตขึ้นคุณสามารถเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้มั้ย ไม่ใช่เป็นคนดีแต่ไม่เคยเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเดินตาม จะทำอย่างไรเพื่อดูแลสังคมให้ได้และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม นอกจากนี้เรื่องการเตรียมตัว การวางแผน แผนจะดีหรือไม่ก็มาดูที่ผลลัพธ์และต้องนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นเพราะในการแข่งขันไม่ว่าแพ้หรือชนะไม่ได้บ่งบอกว่าเราไม่มีข้อบกพร่อง”

 

โค้ชโอมเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดทั้งมวลมันคือการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างนักกีฬาและผู้ฝึกสอนร่วมถึงทุกภาคส่วนเพื่อเชื่อมโยงการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้ได้ผลลัพย์ที่ต้องการนั่นคือผลิตนักกีฬารุ่นใหม่ป้อนสู่การเป็นนักแบดมินตันทีมชาติไทยต่อไป

 

“มันคือหน้าที่ของผมที่จะพัฒนานักกีฬาที่เป็นเหมือนทรัพยากรของประเทศให้ไปสู่ระดับโลกให้ได้ เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายจะต้องพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรเอาให้ชัดเจนไม่ใช่การสร้างภาพ การทำงานต้องมีกระบวนการซึ่งปัญหาต่างๆ อาจตามมาก็ได้แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องมาร่วมมือกันเพื่อจุดประสงค์ที่วางไว้”


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose