stadium

ณรงค์ แคสนั่น​ ลูกประมงผู้สู้ชีวิต สู่ฮีโร่จอมพลังเหรียญทองแดงพาราลิมปิก

16 ธันวาคม 2565

ถ้าเปรียบปัญหาและอุปสรรคเป็นคลื่นที่ถาโถมเข้ามา เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ควรเลือกที่จะเปลี่ยนความคิดและฝึกฝนทักษะที่จะเผชิญหน้ากับแรงสาดโถม ไม่ควรเอาแต่พร่ำเพ้อภาวนาไม่ให้เจอะเจอกับปัญหา

 

เพราะมนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นนักโต้คลื่น

 

อ่านมาถึงตอนนี้คุณจะปล่อยบทความนี้ผ่านไปเลยก็ได้ แล้วเอาเวลาไปทำสิ่งที่คุณคิดว่ามีประโยชน์ก็ได้ ก็เอาที่คุณสะดวก

 

แต่คุณอาจจะเสียใจในภายหลัง หากไม่ได้อ่านเรื่องราวการโต้คลื่นชีวิตของ “บัง”ณรงค์ แคสนั่น จอมพลังจากสตูล จนจบ

 

 

“บัง” พิการจากโรคโปลิโอตั้งแต่อายุ 1 ขวบ ร่ำเรียนเขียนอ่านร่วมกับเด็กปกติจนกระทั้งจบ ป.6 ก็ออกมาช่วยครอบครัวทำประมง พออายุ 22 ปี ก็หิ้วกระเป๋าออกไปเผชิญกับโลกกว้าง โดยเข้าเรียนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการจังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นก็ถูกชักชวนให้มาเพิ่มพูนทักษะที่ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา

 

จุดเริ่มต้นของจอมราชันแห่งอาเซียน เริ่มจากวีลแชร์บาสเกตบอลก่อน แต่ตอนนั้นตัวเล็ก สู้แรงปะทะไม่ได้ เลยหลบมาเล่นกีฬาที่ต้องแข่งกับเองคือยกน้ำหนัก ซ้อมอยู่เกือบสองปี ก็ออกไปคว้าเหรียญเงินในกีฬาคนพิการแห่งชาติที่เชียงใหม่ จากนั้นเริ่มขยับสู่ทีมชาติครั้งแรกตอนอายุ 27 ปี ไปแข่งอาเซียนพาราเกมส์ 2003 ที่ ฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้เหรียญเงินมาครองในรุ่น 56 กิโลกรัม

 

“ผมเป็นมุสลิม ถ้าเครียดมากๆ ก็จะไปสวดอัลกุรอาน แล้วเราก็จะมีสมาธิมาจัดการกับปัญหาได้ง่ายขึ้น หรือบางครั้งก็จะปรึกษากับโค้ช กับพี่น้องในทีม ว่าผมมีปัญหาตรงนี้นะ แล้วทีมก็จะให้คำปรึกษาพูดคุยแก้ปัญหาไปด้วยกัน ผิดพลาดจุดไหนก็ปรับจูนกันใหม่ มันเหมือนการซ่อมอุปกรณ์ ตรงนี้ไฟเข้าแรงไปก็ไม่ดี ลดลงหน่อย บัดกรีตรงนี้เชื่อมสายให้แน่น เดี๋ยวก็จะดีขึ้นมาเอง” ณรงค์ เผยวิธีรับมือกับความเครียด

 

 

 

 

ด้วยเคล็ดไม่ลับนี้เอง “บัง” จึงสร้างผลงานอย่างน่าทึ่ง โดยล่าสุดที่เมืองโซโล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ก็คว้า 1 เหรียญทองใน รุ่น 65 กก. ชาย ทำน้ำหนักรวม 453 กก. ซึ่งการลงชิงชัย 9 ครั้งในสังเวียนอาเซียน เขาคว้าเหรียญทองมาได้ถึง 8 ครั้ง ตำแหน่งจอมราชันแห่งอาเซียนพาราเกมส์จึงไม่ใช่การอวยที่เกินจริงเลย

 

“ปกติก็จะนึกถึงครอบครัวครับ ตั้งแต่เด็ก ครอบครัวก็จะคอยให้กำลังใจมาตลอด ทุกวันนี้ก็ก้าวข้ามจุดที่ถูกเขาดูถูกมาแล้ว ได้เป็นนักกีฬาพาราลิมปิกพิสูจน์ให้คนที่เคยดูถูกได้เห็นว่าเราทำได้ ตอนนี้ก็มีภรรยา มีลูกสองคนเป็นกำลังใจ ก็จะสอนลูกไม่ให้ดูถูกคนอื่น เขาก็จะมองว่าคนพิการก็สามารถเป็นฮีโร่ให้เขาได้” ณรงค์ เผยวิธีจัดการกับอารมณ์ความคิดตัวเองเมื่อรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดมาพิการ

 

ในเวทีระดับทวีป “บัง” มาไกลถึงอันดับ 4 เอเชีย ซึ่งแมตช์ที่สร้างชื่อให้กับเขา คือการคว้าเหรียญทองแดงในพาราลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง มาคล้องคอ แต่ในโตเกียวเกมส์ ที่ผ่านมา มีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวน ปิดจ๊อบในอันดับที่ 6 กลับบ้านแบบคอเปล่าๆ

 

 

“ที่ผมมาถึงจุดนี้ได้ต้องขอบคุณตัวเองและครอบครัว ไม่เคยคิดว่าจากช่างอิเล็กทรอนิกส์ จะได้มาเป็นนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติ ภูมิใจที่มีธงชาติไทยติดหน้าอก ขอบคุณ โค้ชนิรุทธ์ ศนีบุตร ที่ให้คำปรึกษาและสอนทักษะต่างๆ และที่สุดของผมคือ คุณนิดหน่อย จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี เวลาผมท้อหรือเหนื่อย ผมก็จะนึกท่าน ท่านเป็นอีกพลังสำคัญให้ผมและนักกีฬาทุกๆคนเลยก็ว่าได้ แม้ท่านจะจากไปแล้ว แต่ก็จะสถิตอยู่ในใจผมตลอดไป”

 

“บัง” ณรงค์ แคสนั่น ปัจจุบันอายุ 45 ปี มุ่งมั่นที่จะคว้าเหรียญในพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส เรื่องราวของเขา แสดงให้ทุกคนได้รู้ว่า อุปสรรคต่างๆ ในชีวิต เป็นเหมือนบททดสอบ ที่จะช่วยทำให้คุณมีโอกาสได้พิสูจน์ฝีมือและความสามารถของตนเอง ดังนั้นหากกำลังเผชิญหน้ากับปัญหา อย่าได้เสียเวลากับการคร่ำครวญถึงความไม่ยุติธรรม ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และเมื่อคุณพิชิตความยากลำบากได้สำเร็จ คุณก็จะกลายเป็นคนเก่ง สามารถทำในสิ่งที่คนธรรมดาทำไม่ได้


stadium

author

Para Post

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose