stadium

เต็มอิ่มทุกเรื่องราวบนคอร์ทแบด​ทุกรสชาติของชีวิต ‘รัชนก อินทนนท์’ ​

8 ธันวาคม 2565

เป็นเวลา 10 กว่าปีมาแล้วที่ ‘เมย์’ รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันสาวไทยได้โลดแล่นอย่างโดดเด่นอยู่ในแวดวงลูกขนไก่ ความสำเร็จมากมายที่สาวน้อยคนนี้ได้สร้างไว้เป็นประวัติศาสตร์วงการแบดมินตันด้วยการคว้าแชมป์โลกด้วยวัยเพียง 18 ปี และการก้าวขึ้นไปเป็นมือหนึ่งโลกอย่างสง่า 

 

ตลอดการเดินทางไล่ล่าเหรียญรางวัล ทุกความสำเร็จนั้นต่างก็มีเรื่องราวและความทรงจำที่แตกต่างกันซ่อนอยู่ และในวันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยเธอ เจ้าของฉายาสาวน้อยมัศจรรย์ ถึงเรื่องความทรงจำต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในการเดินทางบนคอร์ทแบด

 

OverheadCrossCourt โปรเจ็กต์พิเศษของ Stadium ที่จะพาทุกคนร่วมสัมผัสทุกความทรงจำอันมีค่าของรัชนก อินทนนท์ ไปพร้อมกัน อย่าลืมไปกดติดตามช่องทางต่าง ๆ ของเรา เพื่อสัมผัสประสบการณ์ร่วมกับช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้

 

 

ฟื้นความจำแชมป์เยาวชนโลก

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า น้องเมย์คือนักกีฬาแบดมินตันที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่แวดวงลูกขนไก่เคยมีมาด้วยความอัจฉริยะในกีฬาชนิดนี้ เมื่อผนวกเข้ากับความกระสันในชัยชนะทำให้ ‘รัชนก อินทนนท์’ สามารถคว้าแชมป์แบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลก 3 สมัยซ้อน ปี 2009-2011 อย่างน่าเหลือเชื่อ

 

“ความจริงแล้วเมย์ติดทีมชุดเยาวชนโลกครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี ปีแรกลงแข่งขันในประเภทคู่ผสม แต่ไม่ได้รางวัลอะไรกลับมา จากนั้นปีต่อมาอายุ 14 ปี ได้ลงแข่งประเภทบุคคล เข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ต้องดวลกับพี่พีช (พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข) ความรู้สึกในตอนนั้นอย่างแรกคือรู้สึกดีที่อย่างน้อยแชมป์ก็เป็นของคนไทย แต่พอเมย์คว้าแชมป์ก็ดีใจที่ได้แชมป์ เพราะก็ไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสคว้าแชมป์ได้อีกเมื่อไหร่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันคือโอกาสที่ดีที่เราทำมันได้สำเร็จ”

 

 

ความรู้สึกของเด็ก​ 17 กับโอลิมปิกครั้งแรก

 

แจ้งเกิดจากแชมป์เยาวชนโลก 3 ปีซ้อน ต่อเนื่องถึงการได้มีโอกาสเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 2012 'ลอนดอนเกมส์' มหกรรมกีฬาในฝันของนักกีฬาทุกคนบนโลก ซึ่งเธอทำได้ครั้งแรกด้วยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น

 

“ความรู้สึกตอนที่ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตอนนั้นหนูอายุ 17 ปี ความรู้สึกมันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นมากๆ ด้วยความที่หนูไม่เคยเจอผู้คนในสนามเยอะแยะแบบนี้มาก่อน และด้วยความที่ยังเป็นเด็ก ก็เลยงงๆ อยู่บ้าง แต่ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายที่ลอนดอน มันเป็นปีที่เหนื่อยมากๆ กับการลงแข่งเพื่อเก็บคะแนน ในปีนั้นเมย์ต้องลงทำการแข่งขันมากกว่า 20 รายการ เพื่อทำคะแนนให้ได้ไปแข่งโอลิมปิก แต่พอได้ไปก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เหรียญรางวัลเพราะรู้ตัวว่าตัวเองยังใหม่มากๆ กับรายการนี้ แต่เมย์ก็พยายามเล่นให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุดเพราะต้องการลบคำสบประมาทจากใครบางคนด้วย”

 

 

แชมป์โลกคนแรกและอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์

 

“เมย์ยังจำโมเม้นต์นั้นได้ดี เพราะก่อนการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะเริ่ม เมย์ไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะ ลี เสี่ยว เร่ย (นักแบดมินตันชาวจีนมือหนึ่งของโลก ณ ตอนนั้น) ได้ เพราะเมย์เพิ่งแพ้เขามาในรายการ ไชน่า โอเพ่น แต่เมย์เป็นคนที่จะรู้ตัวเองดีว่า เรามักจะทำได้ดีกับการแข่งขันที่ไม่คาดหวังอะไร ตอนนั้นแค่พยายามยิ้มรับทุกสถานการณ์และยอมรับในทุกคะแนนที่เกิดขึ้น ซึ่งเมย์เองมองว่าอาจจะเพราะว่าเราเล่นด้วยความกดดันที่น้อยกว่าเขา​ทำให้เราสามารถพลิกชนะแล้วคว้าแชมป์โลกมาได้ ซึ่งนี่คือโมเม้นต์ที่ดีที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้”

 

 

เจ็บปวดจากเสียงวิจารณ์บนโลกออนไลน์

 

ในช่วงต้นที่เริ่มก้าวขาออกไปสู่ความฝันย่อมมีแรงต้านจากภายนอกเสมอ เธอไม่สามารถอธิบายได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นบททดสอบของชีวิตหรือไม่เพราะด้วยขวบวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บางช่วงบางตอนของการเป็นนักกีฬาอาชีพ เมื่อไหร่ที่ไร้ความสำเร็จ เมื่อนั้นคำด่าและเสียงวิจารณ์ก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็นตามโคนต้นไม้ใหญ่

 

“คอมเม้นท์บนโลกโซเชี่ยล หลายครั้งมันทำให้เมย์รู้สึกท้อแท้ที่สุด ซึ่งก็เข้าใจได้ว่ามันมีทั้งดีและไม่ดี เพราะเราไม่สามารถห้ามความคิดของใครได้ แต่มันอยู่ที่ตัวเราเองว่าจะสามารถทำได้ดีมากน้อยขนาดไหน ตอนเป็นเด็กก้าวขึ้นมาใหม่ๆ มีบ้างที่เมย์เลือกตอบโต้กลับโดยใช้อารมณ์เป็นตัวนำ ง่ายๆ คือด่ามาด่ากลับ (หัวเราะ) ก็มีผู้ใหญ่คอยตักเตือนว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันไม่ถูก พอเริ่มโตขึ้นก็เริ่มเข้าใจ หัดปล่อยวาง ก็ไม่ได้ใส่ใจกับคอมเม้นท์เหล่านั้นแล้ว”

 

 

ความรู้สึกหลังตรวจพบโรคโลหิตจาง


“การที่มารู้ตัวเองทีหลังว่าเป็นโรคโลหิตจาง แน่นอนว่ามันกระทบต่อการฝึกซ้อมและการแข่งขันสำหรับเมย์พอสมควรเลย เพราะถ้าเทียบกับนักกีฬาหรือคนที่มีสภาวะเลือดปกติ เมย์จะเหนื่อยง่ายกว่า แต่ตัวเมย์เองก็ยังโชคดีที่มีผู้ใหญ่ทั้งรักและเอ็นดู คอยให้การช่วยเหลืออยู่ตลอดจึงทำให้เมย์ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ มันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรอก ไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพแบบนี้ แต่เมื่อเราเลือกเกิดไม่ได้ก็ต้องยอมรับและหาวิธีสู้กับมัน เพื่อกลับไปมีสมาธิมุ่งมั่นกับแบดมินตันอีกครั้ง” 

 


นักกีฬาอาชีพกับการมีความรัก

 

"ในช่วงวัยรุ่นการมีความรักมันทำให้เรารู้สึกกระชุ่มกระชวย ทุกอย่างมันกลายเป็นสีชมพูไปหมด ซึ่งมันทำให้เมย์ไปโฟกัสกับตรงนั้นเยอะมากเหมือนว่าเรายังไม่โตพอ ในตอนแรกก็ไม่เชื่อว่าความรักมันจะส่งผลทำให้เราเสียสมาธิและส่งผลกระทบถึงการแข่งขัน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งการใช้ชีวิตในแต่ละวัน การพบเจอกับปัญหามันทำให้เมย์โตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เมื่อเมย์กลับมาคิดทบทวนดูใหม่ เราจะยังมีเวลาในการเล่นแบดมินตันได้อีกนานแค่ไหน บวกกับสารภาพร่างกายที่เริ่มไม่เหมือนเดิม จึงทำให้เมย์กลับมามีสมาธิอยู่กับแบดมินตันมากขึ้น เพราะว่าเมย์ยังอยากที่จะเล่นแบดมินตันต่อไป เหมือนเราโตพอที่จะเรียนรู้จากเรื่องราวต่างๆ และรู้วิธีรับมือกับมันมากขึ้น"

 

 

การสูญเสียครั้งใหญ่

 

การจากไปของคุณแม่คำผัน สุวรรณศาลา ผู้เปรียบเสมือนดวงใจของอดีตแชมป์โลกจากไวรัสโควิด19 นี่คือการสูญเสียครั้งใหญ่ที่ทำให้เธอเสียศูนย์จนต้องใช้เวลาตั้งหลักอยู่พักใหญ่กว่าจะลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง

 

“ก่อนหน้านี้อาการของคุณแม่ไม่แน่นอน ดีขึ้นแล้วก็แย่ลง ช่วงที่เมย์กลับมาจากโอลิมปิก คุณแม่ก็เริ่มมีอาการกินอะไรไม่ค่อยได้ร่างกายไม่รับ แต่ด้วยความที่เมย์ไม่ได้อยู่ดูแลท่าน เพราะคุณพ่อติดเชื้อโควิค - 19 ทำให้ต้องแยกตัวออกมา ทำให้เมย์ไม่รู้เลยว่าคุณแม่มีอาการแย่แค่ไหน​ รู้อีกทีก็ตอนที่ท่านทรุดหนักแล้ว แต่ท่านไม่เคยบอกใครเพราะท่านจะห่วงคนรอบข้างมากกว่าตัวเองเสมอ จนกระทั่งท่านก็มาจากเราไป ซึ่งมันค่อนข้างที่จะทำใจได้ยากมากๆ​ เมย์ใช้เวลาอยู่นานมากกว่าจะทำใจยอมรับได้ แต่เมย์โชคดีที่ยังมีคนรอบข้างคอยให้กำลังใจและตัวเมย์เองก็พยายามก้าวต่อไปในแต่ละวันให้ดีที่สุด เพื่อทำให้ตัวเองกลับมาเข้มแข็งให้เร็วที่สุด”

 

เมย์บอกต่อว่า เธอเองยังคงรู้สึกคิดถึงคุณแม่คำผันในทุกอณูของลมหายใจ เธอเองเชื่อโดยสนิทใจว่านี่คือความโชคดีที่สุดของตัวเธอเองที่ได้เกิดมาเป็นลูกของคุณแม่คำผัน และในทุกครั้งที่เมย์รู้สึกท้อแท้จะนึกถึงคุณแม่เสมอเพื่อสร้างกำลังใจ ทำให้รู้สึกเข้มแข็งและการได้แชมป์หลังจากการสูญเสียครั้งนี้ขอมอบให้กับคุณแม่คำผันเพื่อเป็นการอาลัยและความรัก

 

 

ชีวิตเหมือนการท่องเที่ยว

 

ในฐานะนักกีฬาแบดมินตัน เมย์บอกว่าการโลดแล่นในเส้นทางแบดมินตันเปรียบได้กับการท่องเที่ยวเพราะนี่คือการเดินทางที่มากไปด้วยประสบการณ์ของชีวิตที่หาไม่ได้จากหนังสือเล่มไหน เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของในสนามแข่งขันแต่รวมไปถึงประสบการณ์ภายนอกสนามแข่งอีกด้วย

 

“เมย์ได้รู้จักกับผู้คนมากขึ้นได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มันทำให้รู้สึกว่าเรายังมีคนที่เอ็นดูเรา แนะนำในสิ่งที่ดีให้กับเรา เมย์คิดว่าตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมามันสอนให้เมย์สามารถนำสิ่งที่ได้จากแบดมินตันไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย”

 

เมย์ ทิ้งท้ายว่า เหรียญโอลิมปิกยังคงเป็นเป้าหมายสูงสุดของเธอ เพราะไม่จะอย่างไรเมย์จะต้องไปให้ถึงฝั่งฝันให้ได้และจะไม่มีวันละทิ้งความฝันของตัวเธอเองเด็ดขาด

 


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose