6 ธันวาคม 2565
6 ธันวาคม 2565 – ดำเนินมาถึงครึ่งทางกับการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 34 ประจำปี 2565 และเป็นวันแข่งขันวันสุดท้ายของการแข่งขันเรือใบเล็กรายการ “อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส” ซึ่งจัดแข่งขันตั้งแต่วันที่ 3-6 ธันวาคม จบเกมนักกีฬาเยาวชนไทยทำผลงานสุดประทับใจ คว้าชัยไปถึง 6 รุ่น ได้แก่ ออพติมิสต์ชาย-หญิง, สกิฟฟ์โบ้ต, ไอแอลซีเอ 7 โอเพ่น, 420 และ 470 ส่วนในสนามเรือใบใหญ่ซึ่งแข่งขันเป็นวันที่ 2 ผลปรากฏกัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ เแห่งเรือ Pine Pacific สามารถพลิกเกมขึ้นมาเป็นผู้นำตารางในรุ่นพรีเมียร์ได้สำเร็จ
การแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส (International Dinghy Classes) ได้รับการผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรายการภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างนักกีฬาเรือใบเล็กที่มีศักยภาพให้มากยิ่งขึ้นและร่วมพัฒนาวงการกีฬาเรือใบของไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยปีนี้มีทัพเรือใบเล็กจากหลายประเทศเข้าร่วมการแข่งขันมากเป็นประวัติการณ์กว่า 180 ลำ การแข่งขันประกอบด้วยรุ่นออพติมิสต์ชายและหญิง, สกิฟฟ์โบ้ต, รุ่นไอแอลซีเอ 4 โอเพ่น, รุ่นไอแอลซีเอ 6 โอเพ่น, รุ่นไอแอลซีเอ 7 โอเพ่น, รุ่น 420, รุ่น 470, และรุ่นโอเพ่นสกิฟฟ์
รายชื่อผู้ชนะการแข่งขันเรือใบเล็ก “อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส” คิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 34
รุ่นออพติมิสต์ชาย – ชนาธิป ทองกล่ำ จากไทย
รุ่นออพติมิสต์หญิง – ปริญ ทรัพย์ยิ่ง จากไทย
รุ่นสกิฟฟ์โบ้ต – นริสรา สัตตะ และ นิชาภา ไหวไว จากไทย
รุ่นไอแอลซีเอ 4 โอเพ่น – คีแนน ตัน จากสิงคโปร์
รุ่นไอแอลซีเอ 6 โอเพ่น – คู แซคารี จากสิงคโปร์
รุ่นไอแอลซีเอ 7 โอเพ่น – ประกาศิต หงส์ประดับ จากไทย
รุ่นโอเพ่นสกิฟฟ์ – อนันดี ชานดาวาร์คาร์ จากอินโดนีเซีย
รุ่น 420 – ทีมของ ปาลิกา พูนพัฒน์ และ จักรภัทร วิริยะกิตติ จากไทย
รุ่น 470 – ทีมของนาวี ธรรมสุนทร และ ปณิดา สุขสมพร จากไทย
นาวาเอกพรพรหม สกุลเต็ม ผู้อำนวยการ การแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส กล่าวว่า “การแข่งขันเรือใบเล็กในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะในปีก่อน ๆ มีทีมเรือร่วมแข่งขันไม่เกินร้อยลำ แต่ในปีนี้มีจำนวนมากกว่า 180 ลำ ซึ่งถือว่าเป็นฟลีตที่ใหญ่มาก และทะเลภูเก็ตยังคอนเซ็ปต์สนามลมแรงซึ่งเด็ก ๆ ที่เล่นเรือใบเล็กรู้เลยว่ามาที่นี่ต้องเจอลมแรงแน่นอนและต้องแข็งแกร่งเท่านั้นถึงจะคว้าชัยในสนามนี้ได้ ดังนั้นในภาพรวมการจัดแข่งขันถือได้ว่าเกินความคาดหวังเลยทีเดียว ในส่วนการเล่นของนักกีฬาไทย รุ่นเล็กอย่างออพติมิสต์ถือว่ายกทีมชาติไทยมาลงแข่งเกือบทั้งหมดเพราะช่วงนี้ออพติมิสต์ยังไม่มีแข่งที่อื่น ทำให้น้อง ๆ มีโอกาสมาแข่งประกบพี่ ๆ ในสนามที่ลมแรงเหมือนต่างประเทศ จึงช่วยเพิ่มประสบการณ์ได้อย่างมาก โดยในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา นักกีฬาเรือใบเล็กของเราติด Top 5 ของโลกมาตลอด ในรุ่น 420 และรุ่น 470 รวมถึงรุ่นสกิฟฟ์ ที่มาแข่งในคิงส์คัพปีนี้ล้วนเป็นมือทีมชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสมาเก็บตัวและซ้อมที่นี่ด้วย เพื่อเตรียมแข่งในซีเกมส์ที่กำลังจะมาถึง รวมถึงรายการชิงแชมป์โลกที่จะมีต่อไปอีก และยังมีการแข่งคัดตัวโอลิมปิกในปีหน้า เห็นได้ว่าเราได้ร่วมกันปูเส้นทางการพัฒนากีฬาเรือใบเล็กไทยไว้อย่างต่อเนื่อง”
ปัจจุบัน ทุกภาคส่วนต่างพยายามร่วมกันผลักดันกีฬาเรือใบเล็กในเมืองไทยให้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากจบการแข่งขัน “อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส” ในคิงส์คัพรีกัตต้า ทางสโมสรเรือใบราชวรุณฯ ยังร่วมกับสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยและเมืองพัทยา จัดการแข่งขัน ILCA Asian Open Championship ในวันที่ 10-15 ธันวาคม โดยเป็นการจัดให้กับ ILCA Asia International Laser Class Association (Asia) ซึ่งการจัดแข่งขันอย่างต่อเนื่องจะช่วยต่อยอดความสำเร็จของรายการคิงส์คัพรีกัตต้า ยกระดับประเทศไทยให้เป็น Venue of Choices for International Sailing Events ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาทั้งกีฬาเรือใบเล็กและเรือใบใหญ่ของไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับการแข่งขันเรือใบใหญ่ทั้งประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ในวันที่ 2 นี้ กัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ แห่งเรือ Pine Pacific สามารถชิงตำแหน่งผู้นำตารางได้สำเร็จ หลังเจอสภาพลมแรงที่เข้าทางทีมคู่แข่งในวันแรกและเกิดปัญหาใบเรือขาดจนคว้าเพียงที่ 2 ในวันแรก
ผู้นำการแข่งขันเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์วันที่ 2 ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 34
รุ่นไออาร์ซี 0 – เรือ Team Hollywood กัปตันเรย์มอนด์ โรเบิร์ต จากออสเตรเลีย
รุ่นไออาร์ซี 1 – เรือ Let's Get It On กัปตันแกรี่ ฮอลต์ จากออสเตรเลีย
รุ่นพรีเมียร์ – เรือ Pine Pacific กัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ จากไทย
รุ่นครูซิ่ง – เรือ Kinnon กัปตันทอร์เบ็น คริสเตนเซน จากเดนมาร์ก
รุ่นมัลติฮัลล์ – เรือ 2fast4you กัปตันเฮอร์มานน์ ชวาร์ซ จากออสเตรีย
การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันเรือใบภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ภายใต้การอำนวยการของสโมสรเรือใบราชวรุณ โดยการสนับสนุนจากกองทัพเรือ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้สนับสนุนการจัดงานคือ กะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท, อาร์เอ็มเอ กรุ๊ป, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และ เวิร์กฟอร์ซ อินเตอร์เนชั่นแนล
TAG ที่เกี่ยวข้อง