stadium

สู้ชีวิตตั้งแต่เกิด “เน๊ะ โนแฮนด์” นักปิงปองไร้แขนกับเรื่องราวชีวิตที่ไม่เคยยอมแพ้

28 พฤศจิกายน 2565

หากทำงานธรรมดา ก็จะเป็นเพียงแค่ “คนธรรมดา” ที่ไม่มีความสามารถพิเศษอะไร แต่หากทำงานยากๆ คุณจะกลายเป็นคนเก่ง มีศักยภาพ ซึ่ง “เน๊ะ” เฉลิมพงษ์ พันภู่ เจ้าของเหรียญทองอาเซียนพาราเกมส์ คือผู้ที่นำเอาปัญหาและอุปสรรค มาเป็นบันไดให้เขาก้าวสู่ที่ที่สูงขึ้น 

 

 

นักเขียนแบบไร้แขน

 

“เน๊ะ” เกิดที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นลูกชายคนสุดท้อง มีความพิการตั้งแต่กำเนิด คือ ไม่มีแขนทั้งสองข้าง ขาก็ไม่เท่ากัน ใยวัยเด็กการถูกล้อ ถูกแกล้งทุกวัน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา และหากไปใส่ใจกับพฤติกรรมเหล่านั้นหาได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด หนำซ้ำจะเป็นตัวบ่อนทำลายจิตใจตัวเอง

 

และด้วยความที่ชอบเล่นกีฬาวอลเล่ย์บอล เขาก้าวข้ามความพิการ มุ่งมั่นตั้งใจฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ จนเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนๆ ยกตำแหน่งมือเซ็ทของทีมโรงเรียนให้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนกระทั่งมัธยมศึกษา ซึ่งเมื่อจบชั้น ม.6 ก็หิ้วกระเป๋าเข้ามาเรียนเขียนแบบที่กรุงเทพ และยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาญาติพี่น้อง

 

เน๊ะทำงานเป็นช่างเขียนแบบให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างของพี่เขย ควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาตรีภาคพิเศษ มหาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แต่พอเข้าสู่ปีที่สอง ถูกส่งไปดูงานเขียนแบบที่ภูเก็ตยาวครึ่งปี ต้องด็อปเรียน สุดท้ายก็ยอมยกธง 

 

 

วางปากกา ถือไม้ปิงปอง

 

เน๊ะ รับงานเขียนแบบ เรื่อยมาจนกระทั่งอายุได้ 29 ปี ก็ชวนแฟนไปเล่นกีฬาที่ กกท.หัวหมาก ตั้งใจจะเล่นวอลเล่ย์บอล กีฬาที่เล่นตั้งแต่เด็ก แต่เปลี่ยนใจมาเล่นเทเบิลเทนนิส เพราะสามารถเล่นสองคนกับแฟนได้

 

“ผมตีปิงปองที่ กกท. อยู่เกือบสองปี ก็ได้รู้จักกับ ชนาธิป เขมรัตน์ ประธานชมรมเทเบิลเทนนิสของมหาลัยรามคำแหง ผมตีกับเขาบ่อยมาก วันหนึ่งเขาถามว่าอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติไหม เดี๋ยวจะช่วยผลักดัน และเป็นเทรนเนอร์ให้ ผมก็ตอบรับเลย คราวนี้ซ้อมเต็มรูปแบบ จนได้ไปคัดทีมชาติ ปี 2552  ได้อันดับสอง แต่เขาเอาแค่ที่หนึ่งในแต่ละคลาสไป ตอนนั้นผิดหวังมาก ถึงขนาดเลิกเล่นเลย” เฉลิมพงษ์ เล่าย้อนเวลาให้ฟัง

 

หลังจากตัดใจจากปิงปองก็กลับมาทำงานต่อ  ถัดมาพาราลิมปิกเกมส์ เน๊ะดูถ่ายทอดสด รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ตบเอาชนะวาเรลา อัลวาโร มือหนึ่งของโลกชาวสเปน 3-0 เกม คว้าเหรียญทองกลับประเทศไทย ก็ตัดสินใจกลับมาเล่นอีกครั้ง โดยติดต่อไปยังรุ่งโรจน์ ด้านรุ่งโรจน์ก็ตอบรับเป็นอย่างดี

 

 

 

ท้อแต่ไม่ถอย

 

“ตอนนั้นยังประกบแขนตี  ซึ่งรุ่งโรจน์แนะนำ ทำไงก็ได้ให้ตีแขนเดียว ผมก็ไปฝึก แต่ก็ยังยาก จนไปเจอร้านขายหนังเย็บรองเท้า เลยไปขอเศษหนังมาขึ้นแบบ เอามาห่อแขนกับไม้ปิงปอง ไปตีกับเครื่องยิงลูกปิงปอง สองสัปดาห์แรก ตีไม่ได้เลย ท้อแต่ไม่ถอย  ซ้อมตีทุกวันจน จนผ่านไปครึ่งปี จึงตีได้ ก็ไปเจอพี่เบิร์ด พ.ต.ท. สุริยะ พ่วงสมบัติ ประกอบกับช่วงนั้นมีคัดตัวนักกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ที่เนปิดอว์ เมียนมาร์ ตอนนั้นยังไม่เก่ง แต่โชคดีที่คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี มีนโยบายผลักดันนักกีฬาใหม่ 30% นักกีฬาเก่า 70% ก็เลยได้โควต้านักกีฬาหน้าใหม่เข้าไป ติดเป็นมือสอง ไปแข่งครั้งแรกในอาเซียนพาราเกมส์ 2013 ที่เมียนมาร์ ได้มา 2 เหรียญทองจากในประเภททีม และประเภทคู่กับรุ่งโรจน์ และได้เหรียญเงินในประเภทเดี่ยว ติดทีมชาติหนแรกก็ได้มา 2 ทอง 1 เงิน เลยตัดสินใจลาออกจากงานมาเล่นกีฬาอย่างเดียว เพราะหากทำควบคู่ไป การที่จะได้โควต้าไปพาราลิมปิกไม่น่าจะประสบผลสำเร็จแน่ นอกจากนั้นกีฬาสามารถสร้างรายได้ไม่น้อยไปกว่าอาชีพเขียนแบบ”

 

เน๊ะ เข้าฝึกซ้อมในค่ายทีมชาติตลอดเกือบทั้งปี นอกจากเบี้ยเลี้ยงแล้วยังมีเงินเดือนจากการเป็นพนักงานของเซ็นทรัลกรุ๊ป ทำให้มีสมาธิในการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่จนสามารถคว้าโควต้าพาราลิมปิกเกมส์ ที่กรุงโตเกียว ซึ่งแม้จะพลาดเหรียญรางวัล แต่เป็นที่สุดแห่งประสบการณ์ของเขา 

 

 

ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

 

เฉลิมพงษ์ ขยับจากคลาส TT6 มาเป็นคลาส TT 7  ซึ่งยากกว่ามาก แต่ด้วยความมุ่งมั่นซ้อมอย่างหนักตั้งแต่บ่ายถึงสามทุ่มทุกวัน ทำให้มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด สามารถเอาชนะนักกีฬาจากชาติมหาอำนาจอย่างจีน และญี่ปุ่น จนปัจจุบันเน๊ะในวัย 41 ปี รั้งมือวางอันดับ 6  ของโลก ถือว่ามีลุ้นได้ไปพาราลิมปิกอีกสมัย นอกจากนี้ เฉลิมพงษ์ ยังหันกลับไปสานต่อในเรื่องการศึกษาเรียนต่อจนจบปริญาตรี จากมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต RBAC University

 

“ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำให้เต็มที่ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็พร้อมจะยอมรับทั้งในเกมกีฬาและในการดำเนินชีวิต” เฉลิมพงษ์ พันภู่ ทิ้งท้ายด้วยคติสอนใจตัวเอง

 

เรื่องราวของ เน๊ะ เป็นตัวอย่างของการมีจิตใจที่กล้าหาญ พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความยากลำบาก เพราะเมื่อไหร่ที่เราหากสามารถกำหนดและควบคุมปัจจัยที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ ปัญหาต่างๆ จะไม่ยากอีกต่อไป


stadium

author

Para Post

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose