stadium

‘มลิกา กันทอง’ ตำนานบีหลังกับมุมมองต่ออนาคตวอลเลย์บอลไทย

12 พฤศจิกายน 2565

วงการวอลเลย์บอลไทยในอดีตที่ผ่านมา ‘ยุค 7 เซียน’ ถือได้ว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุดยุคสมัยหนึ่งของทัพกีฬาไทย เพราะนอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ตัวนักกีฬาเองก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นหลังหันมาเอาดีด้านวอลเลย์บอลเพิ่มมากขึ้น บรรดานักวอลเลย์บอลสาวไทยต่างครองใจคนไทยทั้งประเทศทำให้เหล่า 7 เซียนกลายมาเป็นไอดอลในวงการกีฬา

 

หนึ่งในนั้นปรากฏชื่อของ ‘มลิกา กันทอง’ อดีตนักตบลูกยางสาวไทยที่ปัจจุบันยังคงโลดแล่นในเวทีวอลเลย์บอลลีกอาชีพกับสโมสรสุพรีม ชลบุรี โดยครั้งนี้เธอจะมาถ่ายทอดเรื่องราวและมุมมองที่มีต่อวงการวอลเลย์บอลไทยในยุคปัจจุบันว่าในสายตาของเธอแล้วตลอดระยะที่ผ่านมามีอะไรแปรเปลี่ยนไปบ้าง

 

 

เด็กเสิร์ฟน้ำกับความฝันก้าวสู่ทีมชาติ

 

ในช่วงวัยเด็กของมลิกา เธอเป็นสาวน้อยที่สนใจวอลเลย์บอลเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและมีโอกาสได้เข้าร่วมฝึกซ้อมกับทางโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง ในช่วงแรกเธอรับสารภาพว่า ความสามารถของเธอทางด้านวอลเลย์บอลแทบจะเรียกได้ว่ามีเพียงแค่เบสิคพื้นฐาน 'งูๆ ปลาๆ' เธอเปรียบเทียบให้เราพอเห็นภาพ กระทั่งก้าวสู่ระดับมัธยมต้นมลิกาจึงได้มีโอกาสย้ายไปโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี โดยหวังลึกๆ ว่าที่นั่นจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของเธอขึ้นมาได้ ... แต่ทว่า! 

“เข้าไปซ้อมทีแรกงูๆ ปลาๆ มาก คนอื่นๆ เขาเล่นกันเป็นหมด แต่เราฝีมือไม่ถึงเขาก็ได้เป็นแค่ตัวสำรองทำหน้าที่คอยหิ้วกระติกน้ำให้เพื่อนเท่านั้น เป็นแบบนั้นมาจนขึ้นม.3 ผู้ช่วยก็เดินมาบอกกับเราว่าจะให้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยนาท ก็ตัดสินใจย้ายที่เรียนอีกครั้ง คือพอเราไปถึงเขาจับเราเริ่มนับหนึ่งใหม่เลยทั้งการอันเดอร์บอล การตีบอล ทุกอย่างต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด”

“แต่มันกลายเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเรา มันทำให้ตัวเองเล่นดีขึ้น มันมีความหวังว่าในสักวันจะได้ลงเล่นเป็นตัวจริง ทั้งหมดนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับโค้ชผู้ฝึกสอนในตอนนั้นที่ช่วยเคี่ยวเข็ญเราอย่างหนัก พยายามทุกอย่างเพื่อให้เราสามารถนำธงชาติมาติดที่หน้าอกให้ได้ แต่ความรู้สึกในตอนนั้นคือมันเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากๆ กับการที่จะติดทีมชาติ" 

 

 

 

ก้าวสู่ตัวหลักกับการคว้าแชมป์เอเชีย

 

มลิกา มีโอกาสได้กลับมาโรงเรียนกีฬาสุพรรณบุรีอีกครั้ง ทว่าครั้งนี้เธอพกความมั่นใจมาเต็มกระเป๋า บวกกับ ‘อาจารย์ธนกฤต อินเลี้ยง’ คอยช่วยผลักดันให้เธอเข้าสู่เวทีการคัดตัวนักกีฬาวอลเลย์บอลระดับเยาวชนทีมชาติเรื่อยมาจนท้ายที่สุดธงชาติไทยก็ถูกประทับไว้ที่อกซ้ายตามที่เธอหวัง

 

“ความรู้สึกแรกคือ ดีใจมากที่จะได้เดินทางไปแข่งขันที่ต่างประเทศ แต่ก็ยังไปในฐานะตัวสำรองเหมือนเดิมเพราะในตำแหน่งบอลเร็วมีแต่คนตัวสูงๆ 180-190 เซนติเมตรกันทั้งนั้น เรายังเป็นเด็กตัวก็เล็กกว่าพี่ๆ เขาแต่อย่างน้อยก็ยังมีโอกาสได้ติดไปแข่งกับเขาด้วย จนมาถึงตอนติดทีมชาติชุดใหญ่โค้ชถึงจับมาเล่นตำแหน่งบีหลังแล้วก็เล่นในตำแหน่งนั้นมาถึงทุกวันนี้”

 

เป็นธรรมดาของน้องใหม่ในนามทีมชาติมักจะเกิดอาการประหม่ามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมลิกาต้องลงซ้อมคู่กับ ‘พัชรี แสงเมือง’ นักวอลเลย์บอลระดับตำนานอีกหนึ่งคนของไทย

 

“ในทุกครั้งที่ลงซ้อมเรามักจะชอบรับลูกเสิร์ฟแฉลบไปโดนหน้าพี่ต๋อย (พัชรี) มันก็เลยทำให้รู้สึกว่าต้องโดนพี่เขาด่าแน่ๆ เลยเป็นแบบนี้ประจำ ซึ่งพี่ต๋อยก็จะดุเราว่า เฮ้ย! รับให้ได้ซิ รับดีๆ หน่อย ทีนี้ก็กลายเป็นเรากลัวพี่เขาไปเลย นอกจากนี้โค้ชอ๊อต (เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร) ก็เป็นอีกคนที่ชอบดุ เสียงดัง แต่ก็มีพี่ๆ คอยมาปลอบใจเราซึ่งมันก็เป็นผลดีที่ทำให้เราสนิทกันและมีความเป็นทีมเวิร์คมากขึ้น แต่ว่าเราก็ไม่ได้มีอะไร จนมีชื่อไปลุยศึกวอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชีย”

 

การที่ทัพนักตบลูกยางสาวไทยผงาดคว้าแชมป์วอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชียได้เป็นสมัยแรกในปี 2009 ทำให้กระแสความฮอตของกีฬาชนิดนี้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ มลิกายอมรับว่าเธอไม่เคยเจอปรากฏการณ์แฟนคลับมากมายที่มารอต้อนรับฮีโร่ของชาติกลับมาจากการแข่งขันแบบมืดฟ้ามั่วดินแบบนี้มาก่อน การคว้าแชมป์มิใช่เพียงสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ แต่หมายรวมไปถึงการปลุกกระแสกีฬาวอลเลย์บอลให้ตื่นฟื้นหลังจากที่หลับใหลมาเป็นเวลาเกือบๆ 20 ปี

 

 

ฮึดสู้กับไทรอยด์โรคร้ายที่เกือบทำลายชีวิต

 

การเดินทางไปเล่นลีกวอลเลย์บอลอาชีพยังต่างแดน แทบจะทุกประเทศที่มลิกาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรนั้นๆ เธอแทบจะไม่มีความกังวลใจเลยแม้แต่น้อย ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานับแรมปี ผสมผสานความเชื่อมั่นในตัวเองจนทำให้เธอสามารถโชว์ศักยภาพของนักกีฬาสายเลือดไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

“มันเป็นช่วงที่เซอร์ไพรส์มาก ที่ทีมจากลีกอาชีพประเทศอาเซอร์ไบจานเขาจ้างทีมวอลเลย์บอลไทยไปเล่นให้เขาทั้งหมด มันเลยทำให้เราเห็นว่ากีฬาวอลเลย์บอลบ้านเขาก็ได้รับความนิยมไม่น้อยเลย ทีมใหญ่มีการจ้างนักกีฬาดีๆ มาเล่นซึ่งเมื่อเทียบกับบ้านเราในช่วงแรกเรายังขาดสปอนเซอร์ที่เข้ามาสนับสนุน แต่ในลีกบ้านเรานั้นไม่มี การฝึกซ้อนและรูปแบบการแข่งขันจะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า” 

 

ในห้วงเวลาที่มลิกากำลังไปได้ดีกับเส้นทางนักกีฬาสายอาชีพ ทว่าเรื่องร้ายก็เกิดขึ้นกับเธอจนได้ เมื่อสภาพร่างกายของเธอเริ่มแย่ลงแบบไร้สัญญาณเตือน ความคล่องตัว สมรรถภาพถดถอย เมื่อแพทย์ผู้ชำนาญการลงความเห็นพ้องกันว่าเธอกำลังเผชิญกับโรคไทรอยด์อย่างไร้ทางเลี่ยง

 

“รู้สึกเสียใจอยู่เหมือนกันกับการที่ต้องมาเป็นโรคไทรอยด์และเป็นจังหวะสำคัญในช่วงที่เราไปเล่นลีกที่อาเซอร์ไบจาน ไม่คิดเลยว่าจะกลับมาเล่นวอลเลย์บอลได้อีกมั้ยเพราะว่าหมอสั่งห้ามออกกำลังกายหนัก ใช้เวลารักษาอยู่ประมาณ 6 เดือนก็กลับมาเล่นได้ปกติอาจเพราะความอยากของเราด้วย ในใจคิดเสมอว่าจะกลับมาเล่นวอลเลย์บอลให้ได้อีกครั้ง แต่มันก็ส่งผลกับตัวเองพอสมควรจากที่เมื่อก่อนใส่เต็มร้อยตลอดพอมาตอนนี้ต้องคอยเซฟตัวเองเยอะขึ้น”

 

 

เพราะความเชื่อมั่นเด็กรุ่นใหม่จะโลดแล่นได้ไกลกว่า

 

ในสายตาของอดีตตัวบีหลังระดับตำนานอย่างมลิกา พูดถึงทัพลูกยางสาวไทยชุดปัจจุบันนี้ว่าพัฒนาการของนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง ณ ปัจจุบันนี้ถือยอดเยี่ยมด้วยประสบการณ์จากการแข่งขันที่มีมาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการได้ออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ยังต่างแดน การได้เล่นในลีกอาชีพในประเทศต่างๆ มันคือแหล่งเรียนรู้ชั้นเลิศและสามารถนำกลับมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดทัพวอลเลย์บอลไทย

 

“ส่วนตัวคิดว่าน้องๆ ชุดนี้จะยังไปได้ไกลอีกมาก เผลอๆ ไกลกว่าพวก 7 เซียนด้วยซ้ำ เราเองก็ติดตามและให้กำลังใจมาโดยตลอดได้เห็นพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงนี้กระแสวอลเลย์บอลบ้านเรากำลังได้รับความนิยมซึ่งมันต่างจากเมื่อก่อนมากที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม ตรงนี้น้องๆ จะเป็นเหมือนแรงบัลดาลใจให้เด็กๆ อยากจะเล่นวอลเลย์บอลเยอะขึ้น”

 

มลิกา ฝากทิ้งท้ายว่า การเป็นนักกีฬาไม่ว่าจะลงเล่นในตำแหน่งไหนหรือในฐานะตัวจริงหรือสำรอง เมื่อโอกาสมาถึงจงทำให้ดีที่สุด ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการเล่นกีฬาประเภททีมคือทีมเวิร์คที่จะช่วยให้ก้าวต่อไปได้ไกลกว่าเดิมและสิ่งที่จะได้รับกลับมาคือชีวิตใหม่ที่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่ขัดสนเหมือนที่อย่างมลิกาเคยได้รับจากกีฬาวอลเลย์บอล

 


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose