9 พฤศจิกายน 2565
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเผชิญสารพันปัญหาถาโถมเข้ามาในชีวิต จนรู้สึกท้อท่อแท้ต่อโชคชะตา เรื่องราวชีวิตติดล้อของ “ลี” มะสบือรี อาแซ เด็กหนุ่มจากด้ามขวานทอง ที่กำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ คงจะช่วยเป็นกำลังใจดีๆ ที่จะทำให้คุณรู้ว่า ไม่มีใครชอบช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก แต่ทุกคนก็ไม่มีทางหนีมันได้พ้น ขึ้นอยู่ว่าคุณจะยอมจำนนหรือจะเงยขึ้นสู้เพื่อให้ผ่านไปให้ได้
โชคร้ายตั้งแต่แรกเกิด
มะสบือรี อาแซ หรือ “ลี” เกิดที่จังหวัดปัตตานี โชคร้ายตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ลืมตาดูโลก ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตครบ 32 เลยแม้แต่วินาเดียว พิการตั้งแต่กำเนิดจากโปลิโอช่วงท่อนล่างตั้งแต่ระดับเอวลงไป ไถวีลแชร์ในหมู่บ้านไปวันๆ จนกระทั่งอายุ 17 ปีเหมือนพบหนทางสู้แสงสว่าง หลังได้มาเห็นการแข่งขันกีฬาคนพิการในเพจโลกออนไลน์จนเกิดแรงบันดาลใจ เขาตัดสินใจเข็นตัวเองมาเรียนที่ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดปัตตานี โดยมีเป้าหมายเป็นนักกีฬาให้ได้ ก่อนที่จะถูกส่งต่อมาที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา
วัยรุ่นสู้ชีวิต
“ลี” เริ่มต้นเส้นทางกีฬากับวีลแชร์บาสเกตบอล แต่เป็นกีฬาที่ทั้งเร็วและหนัก ต้องใช้พละกำลังอย่างมาก ผ่านไป 2 ปี ค้นพบว่าไม่เหมาะกับตัวเอง จึงหันเล่นวีลแชร์เรซซิ่งที่เน้นความเร็วอย่างเดียว แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด
เขาต้องต่อสู้กับความยากลำบากในการฝึกฝน ต่อสู้กับความกดดัน และต่อสู้กับหลายสิ่ง หลายอย่างที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเจอมาก่อน
“มะสบือรี” ความหมายในภาษาอิสลาม หมายถึง ผู้มีความอดทนความเข้มแข็ง ต่อความยากลำบาก ก้มหน้าก้มตาซ้อมอย่างหนักใช้เวลาร่วมสองปีกว่าผลงานจะเข้าตา สุพรต เพ็งพุ่ม โค้ชผู้ปลุกปั้นและสร้างความสำเร็จให้กับประเทศไทยมากที่สุดคนหนึ่งในพาราลิมปิก
รางวัลตอบแทนความมุ่งมั่น
เมื่อมีชื่อติดทีมชาติ โอกาสแรกของ “มะสบือรี” คือการลงแข่งใน ไอวาส เวิลด์ เกมส์ 2018 มหกรรมกีฬาของมนุษย์ติดล้อ มะสบือรี เปิดตัวกับทีมชาติไทยได้แบบไม่ธรรมดา คว้า 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง กลับบ้านอย่างไม่อายใคร ถือเป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่ชิ้นแรกที่ได้รับหลังจากที่สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมาได้
เหมือนกับทุกคนที่รู้สึกอย่างไร เมื่อเราสามารถสร้างฝันให้เป็นจริง “ลี” เองก็รู้สึกแบบนั้น แต่พิเศษกว่าตรงที่ชีวิตติดล้อของเขาเร็วแรงแซงเพื่อนๆ คนปกติอีกหลายคน
หลังกลับมาจากไอซ์แลนด์ “ลี” ไม่ได้หลงละเลิงไปกับความสำเร็จ เขารู้ว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เขาเดินหน้าฝึกซ้อมอย่างหนักแบบต่อเนื่อง พร้อมออกตะเวนแข่งขันรายการต่างๆ เพื่อเก็บคะแนนจนคว้าตั๋วไปพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นไดด้สำเร็จตามเป้าหมาย
พาราลิมปิกเกมส์ 2020 แม้ “ลี” จะเตรียมความพร้อมทางร่างกายเป็นอย่างดีแค่ไหน แต่ด้วยประสบการณ์น้อยกับการลงแข่งในรายการใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เขาไม่สามารถควบคุมสภาพจิตใจของตัวเองได้ ผลงานในโตเกียวเกมส์จึงไม่ดีดั่งใจหวัง
ปัญหาและอุปสรรคในพาราลิมปิกเกมส์ได้มอบ “บทเรียนดีๆ” ให้กับเขาหลายอย่าง
เมื่อทบทวนตัวเองได้แล้ว เขาไม่เสียเวลาคร่ำครวญจากความผิดหวัง แต่ไปเพิ่มความมุ่งมั่น เติมความอดทน ใส่ความพากเพียรในการฝึกฝน และต้นปี 2022 “ลี” คนใหม่ก็ได้สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการคว้าเหรียญทอง 400 เมตร คลาส T 52/53 ด้วยสถิติ 49.76 วินาที ในรายการ "2022 ชาร์จาห์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเพ่น แอธเลติก มิตติ้ง" ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
จากนั้นได้ร่วมทัพพาราลิมปิกไทยไปชิงชัยอาเซียนพาราเกมส์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งรายการนี้แม้เป็นได้แค่พระรอง เพราะต้องลงปะทะกับรุ่นพี่ “เทพลมกรดสองล้อ” อย่าง พงศกร แปยอ เจ้าของ 5 เหรียญทองพาราลิมปิก แต่กับผลงาน 2 เหรียญเงิน กับ 1 เหรียญทองแดง ที่เขาทำได้ก็ถือว่ายอดเยี่ยมมากแล้วๆ สำหรับการแข่งขันครั้งแรก
ส่งต่อแรงบันดาลใจ ถ้าผมทำได้ คุณก็ทำได้
“ผมก็ไม่คิดว่าจากเด็กพิการในหมู่บ้าน ปลายด้ามขวานเมืองปัตตานี อยู่ๆ จะกลายเป็นนักกีฬาทีมชาติ จากเด็กที่โยกรถวีลแชร์ในหมู่บ้าน แถมหนังสือก็ไม่ได้เรียน อ่านหนังสือไม่ค่อยออก พอได้มาเรียน มหาไถ่ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ทำให้มีอนาคตที่ดีขึ้น ก็ภาคภูมิใจนะครับ อีกอย่างหนึ่งก็อยากจะเป็นแรงใจให้กลับคนพิการ ผมเป็นนักกีฬาทีมชาติได้ทุกคนก็สามารถทำได้เช่นกัน อยากให้คนพิการที่ยังไม่มั่นใจ เปิดใจออกมา ลองให้โอกาสตัวเองได้พัฒนาสู่การเป็นนักกีฬา เปลี่ยนความกลัวให้เป็นความท้าทาย เชื่อว่าถ้ามีความตั้งใจจริงทุกคนจะประสบความสำเร็จได้” มะสบือรี อาแซ กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อต้องเจอกับอุปสรรคปัญหา จงเผชิญหน้าและอย่ากลัวที่จะรับมือ ไม่มีอะไรเกินความพยายาม ถ้าคนอื่นทำได้ คุณก็ทำได้เช่นกัน และขอยืนยันว่าทางเดียวที่จะเอาชนะปัญหาอุปสรรคได้ คือ “สู้กับมัน”
TAG ที่เกี่ยวข้อง