28 ตุลาคม 2565
ชีวิตจะเศร้าขนาดไหนเมื่อเกิดมามีทุกอย่างครบปกติ แต่แล้ววันนึงต้องมาสูญเสีญความปกติไป “ตั้ม” อรรคเดช ชูชื่นกลิ่น คือหนึ่งในผู้โชคร้ายดังกล่าว ทั้งๆ ที่เขาเกิดมามีครบทุกอย่างเหมือนคนปกติทั่วไป แต่เหมือนชะตาชีวิตกลั่นแกล้ง เมื่อต้องมาอวัยวะชิ้นสำคัญประสิทธิภาพเริ่มถดถอย มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่อายุเพียง 4 ขวบ นับแต่นั้นการใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปของเขาเหมือนเริ่มนับถอยหลัง จนกระทั่งอายุ 11 ขวบ เขาไม่สามารถเดินด้วยสองขาของตัวเองอีกต่อไป และจากจุดนั้นจนถึงปัจจุบันก็เป็นช่วงเวลาที่เขาเผชิญกับการใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้งต้องอดทนต่อคำดูถูกสารพัด แทบจะสิ้นหวังในการใช้ชีวิต แต่ด้วยหัวจิตหัวใจอันเข้มแข็งของเขาที่ไม่ยอมแพ้ต่อชะกรรม ในที่สุดเขาก็ค้นพบแสงสว่างของตัวเองเมื่อได้รู้จักกับกีฬาบอคเซีย
สู้กลับชะตาชีวิตด้วยกีฬา
แม้ว่าชีวิตจะสู้กลับตั้งแต่ 4 ขวบ แต่ “ตั้ม” อรรคเดช ก็ไม่เคยยอมแพ้ เขาสู้กลับชีวิตด้วยมาตลอด เมื่อเริ่มใช้วีลแชร์และได้ไปศึกษาที่โรงเรียนศรีสังวาล จ.เชียงใหม่ ที่แห่งนี้เองที่ทำให้ได้รู้จักกับกีฬาบอคเซีย กีฬาที่ทำให้ชีวิตค้นพบความหมายที่แท้จริง
ตั้ม หัดเล่นอยู่นานพอสมควรกว่าจะเริ่มจับทางกีฬาทอยลูกนิ่มได้ ช่วงแรกๆ เล่นไป งงไปอยู่ระยะหนึ่ง แต่ด้วยความสนุกและความมุ่งมั่นที่หมั่นฝึกซ้อมอย่างหนักจนเริ่มชำนาญ จนเริ่มฉายแววเป็นนักกีฬา และมีโอกาสได้ลงแข่งขัน ก่อนจะจึงแจ้งเกิดจากการคว้าเหรียญเงินกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ คร้ังที่ 12 ปี 2554 ที่จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นในปีถัดมาก็ขยับขึ้นไปคว้าได้ถึง 2 เหรียญทองในกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ คร้ังที่ 13 ปี 2555 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในคลาส BC4 ประเภทคู่และประเภทบุคคล ทำให้เขากลายเป็นดาวรุ่งที่ได้รับการจับตามองของวงการบอคเซียไทยทันที
ในปี 2556 ถือเป็นปีทองของตั้ม เขาถูกเรียกตัวร่วมทัพทีมชาติไทยเป็นครั้งแรก ได้เป็นแทนไปแข่งขันเอเชียนยูธพาราเกมส์ ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ “โค้ชแจ่ม” สัมฤทธิ์ คชศิลา และครอบครัวผิดหวัง ตั้ม คว้าเหรียญทองในประเภทบุคคลและอีก 1 เหรียญเงินจากประเภทคู่
เป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ เพราะเขาได้หลุดออกจากความคิดเดิมที่เคยถูกตราหน้าว่า คนพิการควรยอมรับชะตากรรมของตัวเอง
ล้มเหลวแต่ไม่ล้มเลิก
ในปี 2558 ตั้มติดทีมชาติร่วมกับ “เปเล่” พรโชค ลาภเย็น และ นวลจันทร์ พลศิลา ไปแข่งขันที่ฮ่องกง กับเกาหลีใต้ แต่ด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนล้าจากการซ้อมอย่างหนัก จบสองรายการที่ฮ่องกง กับ เกาหลีใต้ ตั้มกลับบ้านมือเปล่า ส่งผลให้ใจฝ่อห่อเหี่ยว จึงเบนเข็มกลับไปพักตั้งหลักอยู่ที่บ้าน
จากนั้นมีรายการพาราลิมปิกที่บราซิล ตั้มกลับมาคัดตัวอีกครั้ง แต่ก็ไม่สมหวัง แพ้รวดไม่มีชื่อติดทีมชาติ ร่างกายฟ้องว่าโยนบอลไม่ไหวแล้ว ยิ่งระยะไกลยิ่งยากขึ้น ผ่านไป 6 ปี กลับมาแข่งขันอีกรอบในกีฬาคนพิการแห่งชาติ ที่เชียงราย จบอันดับ 5 จึงตัดสินใจเปลี่ยนคลาสไปลงเล่น BC3 ประเภทราง
ด้วยประสบการณ์จาก BC4 มาก่อน เมื่อเปลี่ยนมาเป็น BC3 ประเภทราง ก็ทำความเข้าใจได้ไม่ยากบวกกับการได้ “โค้ชเบิร์ด” เสกสรรค์ เจริญสุข ยอดโค้ชด้านการคำนวณระยะมาเป็นผู้ฝึกสอน ทำให้ตั้มคืนสู่ทีมชาติอีกครั้ง และไปชิงแชมป์เอเชียที่สหรัฐอาหรับเอมิเรต ปลายปี 2021 โดยลงเล่นประเภทคู่กับ ลดามณี กล้าหาญ และคว้าเหรียญทองแดงกลับประเทศไทย
ปี 2022 ได้ไปเก็บตัวที่สิงคโปร์ และไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่โปรตุเกส ช่วงเดือนกรกฎาคม ตั้มทำผลงานใน BC3 ได้เปรี้ยงปร้าง จากม้านอกสายตา มือวางอันดับบ๊วย ผงาดคว้าเหรียญทองในประเภทบุคคล ทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 7 ของโลก
จากนั้นก็คว้าเหรียญทองประเภทบุคคล และเหรียญเงินประเภทคู่ในอาเซียนพาราเกมส์ต่อ ที่ อินโดนีเซีย และล่าสุดควง ลดามณี ออกไปเก็บเหรียญทองแดงรายการบอคเซีย ชาเลนจ์ ที่กรุงโรม อิตาลี
พิการไม่ได้หมายความว่าไร้ค่า
ปัจจุบัน ตั้ม อายุ 24 ปี เป้าหมายใหญ่ของเขาคือการคว้าแชมป์โลกและเหรียญทองพาราลิมปิก ไม่ว่าเขาจะทำมันสำเร็จหรือไม่คงไม่มีใครตอบได้ แต่ ณ วันนี้เขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความแข็งแกร่งไม่จำเป็นต้องมาจากร่างกายที่สมบูรณ์เสมอไป เนื้อแท้มันมาจากจิตใจที่มั่นคง แม้ว่าจะมีบางอย่างที่ยังทำไม่ได้ ขอแค่อย่าหยุดความพยายาม สุดท้ายเราจะเจอหนทางของตัวเอง
TAG ที่เกี่ยวข้อง