stadium

เส้นทางล่าฝัน 4 นักไตรกีฬาไทย สู่ IRONMAN 70.3 World Championship

26 ตุลาคม 2565

28 ตุลาคมนี้ จะมีการแข่งขัน IRONMAN 70.3 World Championship 2022 ที่ยูท่าห์ สหรัฐฯ การแข่งขันของนักไตร กีฬาระดับโลก ที่เทียบได้กับศึกฟุตบอลโลกของวงการลูกหนัง ซึ่งปีนี้มีนักไตรกีฬาไทย ได้ควอลิฟายไปร่วมงาน 4 คน 

 

และนี่คือเรื่องราวของ 4 ตัวแทนประเทศไทย คือ กานต์ พรธีรา, ภัส ปัณ ณภัทร, นัท ณัฐวุฒิ และ แบงค์ กลย์ธัช ย้อนเส้นทางสู่การเป็นนักไตรกีฬา กีฬาสุดโหดที่หลายคนไม่กล้าที่จะลอง แต่พวกเขาท้าท้าย จนได้ไปไกลถึงการชิงแชมป์โลก

 

 

"แบงค์ กลย์ธัช" อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติ กับเป้าหมายไตรแชมป์โลก

 

ไอรอนแมน 70.3 ที่ยูท่าห์ คือ การแข่งขันระยะนี้ครั้งที่ 2 ของ ‘แบงค์’ กลย์ธัช คุณาบริมาส อดีตนักว่ายน้ำทีมชาติไทย ที่ผันตัวมาเล่นไตรกีฬาเต็มรูปแบบ แพสชั่น และวินัย นำพาแบงค์ไปไกล จนถึงสหรัฐฯ จากนักว่ายน้ำที่เพื่อนชวนปั่นจักรยาน มาสู่การแข่งขันชิงแชมป์โลกไอรอนแมน 70.3 สนามที่ 2

 

"ตอนเด็กเป็นนักกีฬาว่ายน้ำครับ ตั้งแต่ป.1 เคยติดทีมชาติไปซีเกมส์ตอนปี 2011 อยู่กับกีฬาตั้งแต่เด็ก ซ้อมทุกวันเช้าเย็น จนอายุ 18 ได้แข่งไตรครั้งแรก แต่เป็นแบบผลัด ผมเป็นคนว่าย ตอนนั้นสงสัยมากว่าทำได้ไง คนเดียวเล่น 3 กีฬา" แบงค์เล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นชีวิตนักกีฬาของเขา ซึ่งไตรกีฬาแรกที่ลากูนาภูเก็ตคือก้าวแรก

 

ผ่านไป 6 ปีจากบรรยากาศไตรกีฬาครั้งแรก แบงค์ กลย์ธัช หยุดว่ายน้ำไปช่วงหนึ่งไปใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือน จนเจอเพื่อนชักชวนเข้าวงการไตรกีฬา "เราก็สนใจ เพื่อนชวนไปแข่งไปซ้อม สนามแรกที่เต็มตัวแข่งเดี่ยวคือพัทยาไตรลีก ก็ติดใจ เพราะสนุก บวกกับเราเล่นกีฬามาแต่เด็ก และทำได้ดีก็เลยเล่นต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ผมยังสนุกกับมันทุกวัน ไตรกีฬาคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ขาดไม่ได้"

 

 

 

3 ปีที่เล่นไตรกีฬาเต็มตัว ซ้อมเป็นระบบ มีโค้ช และแบบแผน แบงค์จึงเริ่มได้ขึ้นโพเดี้ยมต่อเนื่อง และทำให้เขาอยากขยับระยะขึ้นไปเป็นไอรอนแมน 70.3 นั่นหมายถึงการว่าย 1900 เมตร ต่อด้วยปั่น 90 กิโลเมตร ปิดท้ายด้วยวิ่ง 21.1 กิโลเมตร "พอขยับแล้วไปแข่งก็ได้รางวัล ที่ไต้หวันปี 2019 เวลาผ่านควอลิฟายไปเวิลด์แชมป์ฯ ที่นิส ฝรั่งเศสครับ"

 

แบงค์ คือ นักไตรกีฬาไทยหนึ่งเดียวใน เวิลด์ แชมป์เปี้ยนชิพ ยูท่าห์ สหรัฐฯ 2022 ที่เคยผ่านสนาม เวิลด์ แชมป์เปี้ยนชิพ ที่เมืองนีซ ประเทศฝั่งเศสมาก่อน แบงค์เล่าประสบการณ์ว่า "ที่นีซคือปั่นขึ้นเขายาวมาก 10 โล ทางยากเป็นทางเดียวกับทางปั่นจักรยานทางไกล ตูร์ เดอ ฟร็องส์ ส่วนยูท่าห์คือจะเจอวิ่งขึ้นเขาด้วย เพิ่มความท้าทายมากขึ้นไปอีก"

 

เป้าหมายที่ยูท่าห์ครั้งนี้ แบงค์ กลย์ธัช ยอมรับว่าการเทียบชั้นกับต่างชาติอาจจะยาก แต่เขาจะเต็มที่ และทำให้ดีที่สุด นี่คือการท้าทายตัวเองครั้งใหม่ ในการทำเวลาให้เร็วขึ้น เพื่อขยับขึ้นไป Full IRONMAN World Championship ที่ Kailua-Kona ที่ฮาวาย สนามในตำนานเป้าหมายของนักไตรกีฬาทั่วโลก

 

 

 

"กานต์ พรธีรา" สาวนักปั่นผู้เต็มเปี่ยมด้วยแพสชั่น

 

กานต์ พรธีรา เศรษฐสมภพ อายุ 32 ปี สาวนักเรียนนอก จากครอบครัวที่มีแต่ผู้ชาย เริ่มต้นเส้นทางนักไตรกีฬา จากการปั่นจักรยานกับพ่อ น้าและพี่ชาย "กานต์เริ่มจากปั่น และเริ่มสนุกตอนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เดนมาร์ก ประเทศเขาใช้จักรยานเป็นหลัก บวกกับที่บ้านมีแต่ผู้ชายทุกคนปั่นกันหมด ปั่นมา 9 ปีก็จริงจังมากขึ้น"

 

กานต์บอกว่าหลังปั่นมาตลอดก็เริ่มจริงจัง จนถึงปี 2016 มีคนรู้จักเล่นไตรกีฬาเลยลองเล่นตาม สนามแรกในการเล่นไตรกีฬาของกานต์ก็คือไตรแดช งานแข่งที่มีตลอดปี และเป็นสนามแรกของนักไตรไทยหลายคน "เล่นไตรได้ปีนึงก็เริ่มขึ้นโพเดี้ยม เลยอยากมีโมติเวชั่นเพิ่ม เลยหาโค้ชต่างชาติมาเทรน ช่วงนั้นก็พัฒนาขึ้นมาก" 

 

จากนั้นกานต์พักการเล่นไตรกีฬาเพราะไปเรียนต่อที่สหรัฐนาน 2 ปี เมื่อกลับไทยก็กลับสู่วงการไตรกีฬาอีกครั้งผ่านสนามใหญ่มาหลากหลาย ทั้งฮาล์ฟไอรอนแมนพัทยา ลากูนาไตรฯ CIMB จนถึง ฟูล ไอรอนแมน ที่เดนมาร์ก และท้าทายความฝันที่ไอรอนแมน 70.3 ที่ดานัง ประเทศเวียดนาม

 

 

"กานต์เคยล้มหนักที่ลากูนา จักรยานหัก แต่ยังเล่นต่อ ไปหลายสนาม จนถึงดานังก็ล้มอีก แต่สนามนี้ทำให้ได้สล็อตไปเวิลด์แชมป์ฯ 70.3 ตอนนั้นแผลหนักบนหน้า ถลอก แต่เลือดไม่ไหลเลยปั่นต่อ และทำเวลาดีมาก" กานต์เล่าถึงสนามดานัง ที่ทำให้เธอทำเวลาผ่านได้ไปชิงแชมป์โลกที่ยูท่าห์ที่กำลังจะมาถึง

 

นักปั่นจักรยานโดยเฉพาะคนที่ใช้ความเร็วสูง เลี่ยงได้ยากที่จะไม่เคยประสบอุบัติเหตุ แต่จะหนักมากหรือน้อยเท่านั้น เพราะระหว่างปั่นคือช่วงเวลาเสี้ยววินาทีของการตัดสินใจ และจะเป็นประสบการณ์สำหรับครั้งต่อไป ซึ่งกานต์เองก็เช่นกัน แม้จะเคยล้มมาแต่ก็ไม่ทำให้เธอยอมแพ้

 

"ที่จริงก็กลัว เพราะเวิลด์แชมป์มีเขา โค้ง เคยล้มมาก็แหยง เลยเตรียมตัวให้ดีขึ้น ไปซ้อมเขาใหญ่ กาญฯ บอกตัวเองว่า ต้องมีสติที่สุด" กานต์เล่าด้วยน้ำเสียงมั่นใจ พร้อมบอกว่าการปั่นคือสิ่งที่เธอถนัดที่สุดใน 3 ชนิดกีฬา ส่วนการวิ่งก็ไม่ได้กังวล และต้องการทำสถิติใหม่สำหรับการวิ่ง ส่วนว่ายน้ำก็เตรียมตัวมาเต็มที่ เวิลด์แชมป์จะเป็นสนามระดับโลกแรก เพื่อเป้าหมายไอรอนแมนระยะเต็มที่ฮาวายเช่นเดียวกับแบงค์ กลย์ธัช

 

Photo Credit : ร้าน Masque&17:09

 

"นัท ณัฐวุฒิ" นักว่ายน้ำ สู่เส้นทางชิงแชมป์เพราะคำชวนของเพื่อน

 

"แฟนชวนปั่นเลยซื้อจักรยาน ไปปั่นเล่นที่สกายเลน เจอพี่แบงค์ (แบงค์ กลย์ธัช) เขาเลยชวนมาเล่นไตร" นัท ณัฐวุฒิ ศิริธนโชติ เล่าจุดเริ่มต้นสู่วงการไตรกีฬาของเขา ที่แทบไม่น่าเชื่อว่า จะเดินทางมาไกลจนถึงการชิงแชมป์โลก จากนักว่ายน้ำเยาวชนสมัยเด็ก ที่ทำให้นัทรู้จักกับแบงค์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ชมรมว่ายน้ำที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จนถึงวันที่ชวนกันมาเล่นไตร และแบงค์ก็คือคนที่ชวนเขาไปไกลถึงยูท่าห์

 

"แค่ลองก็สนุก" นัทบอก ด้วยความที่มีวินัยมาตั้งแต่เด็ก ปรับตัวเข้ากับการเล่นไตรกีฬาได้ไม่ยาก และเพิ่มความจริงจังมากขึ้น ซ้อมได้ไม่นานก็เริ่มแข่ง แล้วทำได้ดี "สนุก ก็เลยจริงจัง จริงจังก็เริ่มมีกลุ่มที่ซ้อมด้วยกัน เลยเต็มตัวมากขึ้น" จากวันนั้นผ่านมา 3 ปี ก็เริ่มหนทางสู่ชิงแชมป์โลก 70.3

 

"เวิลด์แชมป์ของผมเริ่มจากพี่แบงค์ไปมาก่อน เลยอยากไปบ้าง เลยไปควอลิฟายเพื่อสล็อต ไปแข่งที่ดานัง แล้วก็ทำได้" อย่างที่บอกว่านัทนั้นมีวินัยเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว บวกกับความมุ่งมั่น และแรงผลักดันจากแบงค์ การได้สิทธิ์ไปเวิลด์แชมป์จึงไม่ใช่เรื่องเกินฝัน

 

แบงค์ที่อยู่กับนัทมาตั้งแต่วันแรกบอกว่า รู้นิสัยนัทอยู่แล้วว่าเป็นคนชอบการแข่งขัน และพร้อมจะพัฒนา จึงชวนให้มาเล่นไตรกีฬาด้วยกัน "ผมคิดว่าไตรเหมาะกับนัท และคิดว่าเขาจะทำได้ดีแน่นอน เห็นตั้งแต่เขาปั่น ว่าย ผมรู้ว่าเขาทำได้แน่ แล้วเขาก็ทำได้จริงๆ" แบงค์เล่าความในใจที่มีต่อนัท

 

ซึ่งนัทเองก็เล่าความมุ่งมั่นของตัวเองกว่าจะมาถึงวันนี้ เขาตั้งใจมา 1 ปีครึ่ง และดีใจที่เขามาถูกทาง "เป้าหมายที่เวิลด์แชมป์คือทำให้ดีที่สุด แข่งกับตัวเอง ทำให้ได้เท่าที่ซ้อม เท่านี้ก็ถือว่าผมมาไกลมากแล้ว และผมยังพร้อมที่จะไปต่อไป" 

 

Photo Credit : ร้าน Masque&17:09

 

"ภัส ปัณณภัทร" สาวหน้าหวาน นักว่ายน้ำเยาวชนสู่ฝันของนักไตรฯ 

 

สาวหน้าหวาน ภัส ปัณณภัทร กรัณย์เพชร เริ่มเส้นทางนักไตรกีฬาจากการเป็นนักว่ายน้ำมาตั้งแต่ 4 ขวบ จากนักกีฬาโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย "จบป.โทก็ยังอยากเป็นนักกีฬาต่อ เลยยังว่ายต่อ ภัสทำงานธุรกิจครอบครัว ก็แบ่งเวลามาซ้อมทั้งเช้าเย็น ก่อนและหลังเลิกงาน"

 

20 ปีเต็มบนเส้นทางการว่ายน้ำ การได้มองแค่กรอบสี่เหลี่ยมที่ก้นสระ เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ภัสหันมาเล่นไตรกีฬา "เปลี่ยนฟีลจากว่ายไปไตรเพราะว่ายมาแต่เด็ก ได้แค่มองช่องสี่เหลี่ยมของสระ เลยอยากลองอะไรที่ท้าทาย ก็ชอบวิ่งอยู่แล้ว เลยมาเล่นไตรจริงจัง"

 

ภัสเล่นไตรกีฬาโดยมีโค้ช มีโปรแกรมซ้อมเป็นระบบ ภายใต้การสนับสนุนอย่างดีของครอบครัว ผ่านไป 5 ปี จึงเริ่มตั้งเป้าหมาย การขึ้นโพเดี้ยมอันดับ 1 ในรุ่นอายุ "แข่ง 70.3 ครั้งแรกที่เวียดนามก็ทำได้เลย ก็เลยได้ 1 เป้าหมาย ที่บ้านก็สนับสนุนมาก พาไปซ้อม ไปปั่นก็ขับรถตามคอยดูแล"

 

การได้ไปแข่ง ไอรอนแมน 70.3 ชิงแชมป์โลกของภัส จึงเป็นทั้งการเดินตามฝันของตัวเองและครอบครัว "เป้าหมายคือทำให้ดีที่สุด แค่ควอลิฟายผ่านก็คือโบนัสแล้ว ที่บ้านก็สนับสนุนมากเรื่องนี้" ภัสบอกว่า หลังจากกลับจากเวิลด์แชมป์ก็ยังอยากเล่นไตรกีฬาต่อไป อยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นบนเส้นทางไตรกีฬา

 


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

โฆษณา