stadium

ไขลานความคิด อรนวีย์ ศรีสหกิจ จัดระเบียบชีวิตอย่างไรถึงเป็นแชมป์โลก

14 ตุลาคม 2565

"เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย" ประโยคนี้ดูจะเข้ากันกับ "ออมสิน" อรนวีย์ ศรีสหกิจ สาวน้อยวัย 22 ปีนักกีฬาเทควันโดประเภทพุมเซ่ หรือเทควันโดประเภทร่ายรำ สาววัยใสที่มีความเฉลียวฉลาดและเก่งรอบด้านทั้งเรียน-เล่นเธอสามารถปฏิบัติควบคู่กันไปได้โดยไม่บกพร่อง กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จด้วยการคว้าแชมป์โลกเทควันโด ประเภททีมหญิง ปี 2016 และแชมป์เอเชียนเกมส์ประเภททีมหญิงปี 2018 ส่วนผลงานล่าสุดคือการคว้าเหรียญเงินซีเกมส์ 2021 

 

แต่กว่าที่ออมสินจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เธอเคยตกอยู่ในสภาวะสับสนและเกือบจะมองหาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้ เมื่อภาระมันหน่วงชีวิตเธอให้เคลื่อนที่ช้าลงจนเกือบต้องยอมแพ้ให้กับความเหนื่อยล้าทั้งกายใจ

 

ก่อนที่รอยยิ้มของออมสินจะเต็มลัก ก่อนที่เธอจะสืบเท้าก้าวไปสู่แชมป์โลกและก่อนที่จะมีวันนี้ ออมสินบอกว่า "มันไม่ง่ายสำหรับเธอเลย"

 

IG : aomsin_or

 

พุมเซ่ศาสตร์อีกแขนงของเทควันโด

 

StadiumTH ได้มีโอกาสพูดคุยกับออมสินในฐานะนักกีฬาเทควันโดประเภทพุมเซ่หรือการร่ายรำ ที่แม้ว่าจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักเพราะส่วนใหญ่เรามักจะติดภาพจำของกีฬาชนิดนี้ว่ามันคือการต่อสู้ ต้องมีการปะทะ แต่อันที่จริงแล้วพุมเซ่คือหนึ่งในประเภทของกีฬาเทควันโดเช่นกัน ไม่มีการปะทะถึงเนื้อถึงตัว แต่ในขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งความดุดัน แข็งแรงในท่วงท่าและลีลา

 

"พุมเซ่ก็เหมือนกับเทควันโด เพียงแค่มันไม่ต้องไปปะทะกับใครที่ออมสินเลือกเล่นเทควันโดประเภทนี้ก็เพราะว่าเหตุผลนี้แหละ" ออมสินบอกและว่า

 

ก่อนหน้านี้ ออมสินมีโอกาสได้เข้าเรียนคลาสการสอนเทควันในระดับเบื้องต้น ในช่วงวัยที่กำลังสนุกไปกับการวิ่งเล่นกับเพื่อน กิจกรรมทุกรูปแบบที่คุณแม่แนะนำเธอไม่เคยปฏิเสธและเทควันโดก็กลายมาเป็นที่โปรดปรานของออมสินไปโดยปริยาย

 

 

IG : aomsin_or

 

"ตอนเด็กคุณแม่พยายามหากิจกรรมให้ออมสินทำเยอะมาก ทั้งบัลเล่ต์ เปียโน ว่ายน้ำ จนกระทั้งมาเจอคอร์สสอนเทควันโด ซึ่งคุณแม่บอกว่าอยากจะให้ออมสินเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวก็เลยตกลงจะเข้าเรียนและเมื่อได้เจอเพื่อน ได้วิ่งเล่น ได้เตะเป้าซ้อม ออมสินรู้สึกว่ามันสนุกก็เลยบอกกับคุณแม่ว่าไม่อยากทำกิจกรรมอื่นละนอกจากเทควันโด"

 

"ตอนแรกเรียนทั้งการต่อสู้และท่ารำ แต่รู้สึกว่าการต่อสู้มันเจ็บตัว เอาจริงๆ ไม่ชอบที่จะต้องไปยืนตรงหน้ากับคู่ต่อสู้แล้วโดนเตะกลับมา ออมสินรู้สึกว่าไม่สนุกกับตรงนั้น แต่ก็ยังอยากจะเล่นเทควันโดอยู่เหมือนเดิมเลยเปลี่ยนมาซ้อมแบบท่ารำแทน ซึ่งมันก็มีความสวยงามอยู่ในตัวเองจึงรู้สึกว่ามันเหมือนเรากำลังเต้นเข้าจังหวะเพลง ได้ออกท่าทางตามครูที่สอน แต่ไม่ใช่แค่เต้นเฉยๆ มันมีการเตะ ต่อย เหมือนเทควันโดประเภทต่อสู้ทุกอย่างแค่ไม่มีคู่ต่อสู้ตรงหน้าเท่านั้นเอง มันดูสวยงามและแข็งแรง"

 

นับตั้งแต่นั้น ออมสินก็ฝึกซ้อมกีฬาเทควันโดพุมเซ่เรื่อยมาโดยไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งเธอจะก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์โลก

 

"แค่ซ้อมเอาสนุก แค่ได้วิ่งเล่นกับเพื่อน ไม่ได้หวังหรอกว่าจะไปแข่งอะไรกับใครหรือว่าติดทีมชาติ แต่สิ่งที่ได้กลับมามันคือความพยายามที่หนูเหนื่อยมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา"

 

 

IG : aomsin_or

 

เวลาน้อยแต่ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

จากเด็กหญิงวัยเพียง 10 ขวบในวันนั้นสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ ออมสินแบ่งเวลาให้กับสองคาแร็คเตอร์นี้ได้อย่างสมดุล ทั้งบทบาทในการเป็นนักเรียนและหน้าที่ของนักกีฬาทีมชาติ เธอบอกกับเราว่ามันเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาเอาเรื่อง

 

"ถามว่ามันเหนื่อยแค่ไหน ต้องบอกแบบนี้ว่าตอนเด็กๆ ก็ไม่เท่าไหร่ช่วง ป.4 ป.5 เราก็แค่ตื่นเช้าไปเรียนตามปกติ ตกเย็นก็ซ้อมเทควันโดซึ่งมันก็ไม่ได้ซ้อมหนักอะไรเหมือนการเรียนพื้นฐานทั่วไปวันละ 2-3 ชั่วโมงก็กลับบ้าน แล้วก็ตื่นเช้าไปเรียนมันจะวนลูปอยู่แบบนี้ แต่ถามว่ามันกระทบกับการเรียนมั้ยตรงนี้บอกได้เลยว่ามันไม่ขนาดนั้น เรื่องเรียนก็ไม่ได้ยาก การบ้านก็ไม่ได้เยอะ จะมีก็แค่ก่อนจะสอบเข้ามัธยมที่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มซึ่งตรงนั้นออมสินก็ต้องแบ่งเวลาให้ถูกด้วย"

 

ออมสินเพิ่มเติมว่า ในช่วงวัยนั้นเธอยังไม่คิดที่จะจริงจังกับพุมเซ่จึงทำให้มุ่งเน้นไปที่การเรียนเป็นหลักให้ความสำคัญกับการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่ง ยิ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการสอบเข้าชั้นปีที่สูงกว่ายิ่งต้องศึกษาตำหรับตำราให้เข้มข้นขึ้น

 

"ข้อดีของออมสินอย่างนึงคือ เป็นคนที่เรียนรู้อะไรได้เร็ว การที่เราต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มก็เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ๆ ที่คลาสเรียนปกติยังไม่ได้สอนหรือสอนไม่ถึง ตรงนี้จึงทำให้ดูค่อนข้างได้เปรียบกว่าเพื่อนคนอื่น กับการที่เราต้องซ้อมเทควันโดด้วยแล้วมันก็ไม่ได้กระทบขนาดนั้นเพราะออมสินเลือกเรียนเป็นหลักก่อนช่วงใกล้สอบก็จะอ่านหนังสือมากขึ้นลดการซ้อมลงไป"

 

ด้วยการที่ออมสินเป็นเด็กหัวไวจึงทำให้เธอสามารถทำผลการเรียนได้ดีและอยู่ในระดับที่เกรดเฉลี่ยสูงกว่า 3.00

 

กระทั่งช่วงวัย 15 ปี ออมสินพาชีวิตเข้าสู่ทางเลือกอีกครั้ง เมื่อโค้ชผู้ฝึกสอนเล็งเห็นความสามารถของเธอจึงเสนอทางเลือกให้เข้าคัดตัวเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติและนี่เองจึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต

 

"เด็กผู้หญิงคนนึงที่ไม่คิดจะจริงจังกับกีฬา แต่พอโค้ชเขาเสนอทางเลือกมันก็ทำให้เริ่มคิดแล้วว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อไปดี จะเน้นไปทางกีฬามั้ยหรือไปเอาดีทางด้านการเรียนให้เต็มที่เพราะออมสินคิดว่าคนเรามันต้องมีหลักยึดสำคัญสักอย่างให้ชีวิต เรื่องของเรื่องคือออมสินไปคัดทีมชาติกับเพื่อนแล้วไม่ได้ มันก็เลยเป็นที่มาว่าต้องกลับมาทบทวนความคิดของตัวเองใหม่อีกครั้ง"

 

 

IG : aomsin_or

 

เป็นวัยรุ่น (ทีมชาติ) มันเหนื่อย!

 

การที่ยังเป็นเด็กประสบการณ์ชีวิตฮาจยังไม่มากนัก เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต จึงกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งสำหรับเธอ เกิดเป็นความสับสนและความลังเลใจเมื่อเธอต้องเลือก

 

"ระหว่างนั้นออมสินถูกเรียกติดทีมชาติ มันเป็นเวลาที่เราต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เลือกด้วย ซึ่งมันเป็นอะไรที่ตัดสินใจยากมากว่าจะเอายังไงดี จะเรียนต่อมั้ยหรือว่าไปเอาดีทางด้านกีฬาเลยเพราะตอนนั้นก็ติดทีมชาติไปแล้ว"

 

ในเมื่อไม่สามารถเลือกได้ ออมสินจึงตัดสินใจควบบทบาททั้งสองหน้าที่ในคราวเดียวกัน คือเป็นทั้งนักศึกษาและนักกีฬาเทควันโดพุมเซ่มันเสียเลย แต่ทว่าต้องแลกมาซึ่งความเหน็ดเหนื่อยเป็นเท่าตัว

 

"มันแตกต่างกันมากระหว่างช่วงมัธยมกับมหาวิทยาลัย มันยากกว่ากันเยอะมาก ปกติเราไม่ต้องเหนื่อยขนาดนั้น หมายถึงว่าเรียนวิชานี้ก็แค่คาบเดียว แต่พอมาเป็นระดับมหาวิทยาลัยมันไม่ใช่ วิชานึงเราอาจต้องเรียนถึง 3-4 ชั่วโมง แต่อย่างที่บอกไปว่าออมสินสนุกกับการเรียน ด้วยการที่คุณแม่ปลูกฝังให้รักการเรียนตั้งแต่เด็กและถูกส่งไปเรียนพิเศษมันทำให้ออมสินเข้าใจได้เร็วกว่าคนอื่น"

 

เรียกได้ว่าในช่วงวัยนั้นของเธอแทบจะไม่มีเวลาได้กระดิกตัวไปทำกิจกรรมอื่นใดนอกจากเรียน ซ้อม เรียนและซ้อม ชีวิตถูกตั้งระบบไว้เช่นนั้นเสมอ

 

IG : aomsin_or

 

ออมสินเล่าว่า ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย เธอต้องฝืนตาตื่นตั้งแต่ตี 5 ครึ่งเพื่อไปฝึกซ้อมก่อนที่จะถึงเวลาเข้าเรียนในช่วง 8 โมงเช้าพอถึงเวลาพระอาทิตย์คล้อยตัวต่ำลงก็ต้องเข้าโรงยิมเพื่อฝึกซ้อม

 

"เหมือนว่าเวลามันน้อยลงทุกที อย่างเมื่อก่อนออมสินจะโฟกัสไปที่เรื่องเรียนเป็นหลักแต่พอติดทีมชาติกีฬามันคือส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปเลย ถ้าเป็นตอนเด็กเราเรียนแล้วแบ่งเวลาไปเล่นแต่พอมาเป็นนักกีฬาทีมชาติเราเล่นแล้วค่อยแบ่งเวลาไปเรียนอันนี้คือความแตกต่างกลายเป็นว่าออมสินต้องหาเวลาว่างจากการฝึกซ้อมเพื่อไปเรียน"

 

ออมสินบอกกับเราต่อว่า "ในช่วงที่ว่างจากการซ้อมออมสินจะต้องเคลียร์ตารางเรียน เคลียร์งานที่ต้องส่งอาจารย์เหมือนกับว่าเราเอาเวลาพักของเราไปเรียนแทน ถามว่ากระทบต่อการเรียนมั้ยสำหรับหนูคิดว่าไม่กระทบต้องบอกแบบนี้ว่าช่วงมัธยมงานไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ซึ่งออมสินก็สามารถเคลียร์งานได้"

 

เมื่อออมสินก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงที่สาหัสสากรรณ์ที่สุดช่วงหนึ่งของเธอ ออมสินเล่าว่ามันเกือบจะทำให้เธอล้มเลิกความตั้งใจ

 

IG : aomsin_or

 

"ในช่วงปี 2018 เป็นช่วงที่ออมสินกำลังจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนๆ คนอื่นเเริ่มเรียนกันไปแล้วแต่ออมสินต้องไปแข่งเอเชียนเกมส์ เป็นช่วงที่ยากมากๆ ของชีวิต เพราะว่าเราจะต้องไปทำการแข่งขันมันเลยทำให้เวลาเรียนไม่พอแต่ก็พยายามเข้าเรียนให้เยอะที่สุด บางครั้งเข้าไปนั่งฟังอาจารย์ที่สอนเพื่อตามเพื่อนให้ทันและอีกอย่างคือออมสินพยายามจับกลุ่มกับเพื่อนๆ เพื่อให้เขาช่วยไม่งั้นไม่ไหว เรียกว่าโหดหินกว่าช่วงมัธยมเยอะมาก ... 

 

... มันรู้สึกท้อมากตอนเริ่มเรียนปีหนึ่ง ถึงขนาดที่ว่าออมสินไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมถึงต้องมากดดันตัวเองขนาดนี้ คิดไปขนาดที่ว่านี่เรามาเป็นทีมชาติแต่ก็ต้องมาเรียนหนักขนาดนี้เลยเหรอ ทำไมไม่เรียนอย่างเดียวหรือว่าทำไมต้องมาเรียนมหาวิทยาลัยที่มันยากเย็นแบบนี้ ทุกอย่างมันดูวุ่นวายและสับสนไปหมด"

 

ดูท่าจะหนักเกินกว่าที่เด็กสาวคนหนึ่งจะแบกรับไหว ออมสินบอกว่า ถ้าเป็นช่วงที่มีการสอบวัดผลหลังจากซ้อมกีฬาเธอจะต้องมาอ่านหนังสือเตรียมสอบกว่าจะข่มตานอนเข็มนาฬิกาก็บอกเวลาตีสองเข้าไปแล้ว

 

"ออมสินต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบจนถึงตีสองแล้วพอตีห้าครึ่งก็ต้องตื่นไปสอบอีกซึ่งมันหนักมากๆ จนมีความคิดที่ว่าจะเลือกเอาดีทางกีฬาเลยดีกว่าเพราะออมสินคิดว่าการเรียนมันไม่จำเป็นจะต้องจบภายในสี่ปีแล้วเราจะไม่ต้องมาเหนื่อยขนาดนี้ แต่ว่าออมสินอยากจบพร้อมกับเพื่อนๆ สมมติว่าออมสินถอนวิชาเรียนออกไปซักตัวนึงแล้วหาเวลาไปเรียนเก็บตอนนั้นออมสินจะไม่มีเพื่อนเรียนด้วย ซึ่งมันจะทำให้ยากกว่าเดิม ก็เลยกลายเป็นว่าออมสินจะต้องควบสองบทบาทแม้ว่ามันจะเหนื่อยก็ตาม"

 

IG : aomsin_or

 

จัดระเบียบความคิด วางเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน

 

ผลพ่วงจากความเหนื่อยหนักที่ออมสินต้องกดฟันสู้ ส่งผลให้เธอสามารถก้าวขึ้นมาสู่บัลลังก์แชมป์โลกเทควันโดพุมเซ่ได้ในครั้งแรกที่รับใช้ชาติ แม้ว่าจะมีเวลาในการเก็บตัวเพียงสองเดือนเท่านั้นแต่ด้วยการเคี่ยวเข็ญของ 'ลี นายอน' ผู้ฝึกสอนชาวเกาหลีใต้จึงทำให้ออมสินประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

 

"ครั้งแรกที่ลงแข่งขันในรายการใหญ่ออมสินไม่รู้สึกว่ามันตื่นเต้นอะไรเลย เพราะซ้อมมาเยอะมากและพร้อมที่จะแข่ง เราเตรียมตัวมาดีมาก เป็นผลมาจากการซ้อมที่หนักในช่วงสองเดือนก่อนแข่ง เชื่อมั้ยว่าในช่วงนั้นไม่มีความทรงจำกับเพื่อนร่วมทีมเลยหมายความว่ามันซ้อมหนักซะจนไม่มีเวลาคุยกับเพื่อน หลังเลิกซ้อมก็กลับห้องนอนเพราะมันเหนื่อยมากเจอกันอีกทีก็ที่โรงยิมเป็นแบบนี้ตลอดสองเดือน แต่ผลที่ได้มามันก็คุ้มค่า"

 

ออมสิน บอกว่า โดยปกติการเก็บตัวฝึกซ้อมในกีฬาเทควันโดประเภทพุมเซ่นี้จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าสี่เดือน ทั้งยังต้องเข้าเวทเทรนนิ่งเพื่อสร้างกล้ามเนื้อหรือแม้กระทั้งการวิ่งเพื่อช่วยให้ระบบหายใจดีขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาจำเป็นต้องลดทอนบางอย่างออกไปก่อนที่จะจัดหนักในเรื่องเทคนิคร่ายรำให้เข้มข้นกว่าเดิม

 

"การได้แชมป์โลกถือว่าเป็นการพลิกชีวิตของออมสินมากๆ  แน่นอนว่ามันช่วยสร้างความมั่นใจให้เราเอง ตอนแรกออมสินก็มีความประหม่าว่าเราเป็นคนตัวเล็กจะทำได้ดีมั้ยแต่หลังจากนั้นมาก็มีความมั่นใจมากขึ้น"

 

IG : aomsin_or

 

เมื่อถามว่า วางเป้าหมายต่อไปไว้อย่างไร ออมสินเปรยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงเก็บตัวจะมีรายการแข่งขันอีกครั้งในปีหน้า ซึ่งตัวเธอนั้นยังคงหลงใหลในท่วงท่าของพุมเซ่และวาดภาพในความคิดว่าจะต้องคว้าเหรียญรางวัลใหญ่มาให้ได้อีกครั้ง

 

"ยังอยากเล่นต่อไปเรื่อยๆ เพราะเราสะสมประสบการณ์มาอย่างเต็มที่แล้วต้องการที่จะสะสมเหรียญรางวัลต่อไปอีก แต่ก็ขึ้นอยู่ที่โค้ชผู้ฝึกสอนด้วยว่าจะยังต้องการเราในทีมชาติอยู่อีกมั้ย ต้องขึ้นอยู่ที่โค้ชด้วย"

 

ช่วงสุดท้ายของบทสนทนา ออมสินฝากแง่คิดให้กับใครก็ตามที่กำลังสับสนและยังหาทางออกในทางเลือกไม่ได้เธอว่า

 

"เวลาที่เราเจอเรื่องหลายอย่างถาโถมเข้ามา อันดับแรกให้เริ่มจัดการกับความคิดของเราก่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เรียบเรียงความคิดจัดลำดับความสำคัญแล้วดูว่าอะไรสำคัญที่สุด ต้องรู้จักตัวเอง ใจเย็นๆ พักลงก่อนพาตัวเองออกมาจากจุดนั้น แล้วมาดูว่าเราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไรเพราะมันเป็นการทำให้ตัวเองมีสติ มีสมาธิในการแก้ปัญหา ...

 

... ออมสินไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้อยู่แล้ว แต่เราสามารถควบคุมความคิดของตัวเองได้ แน่นอนว่าเราจะไปบอกให้โค้ชอย่าฝึกหนักนะซึ่งมันทำไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะบอกกับตัวเองได้ว่าถ้าเหนื่อยก็พักก่อน จัดลำดับความคิดของตัวเองให้ดี เรียงลำดับความสำคัญให้ได้แค่นั้น ถ้าอยากให้ทุกอย่างออกมาดีมันต้องแลกกับความเหน็ดเหนื่อยอยู่แล้วไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง แต่สุดท้ายทั้งหมดมันจะดีกับตัวเราเอง"

 

IG : aomsin_or

stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose