stadium

‘เพชรดา เคซี่ ตัน’ สาวผู้ลาออกจากสถาปนิกเพื่อเป็นนักกีฬายูยิตสูจนเป็นแชมป์โลก

11 ตุลาคม 2565

กว่าขวบปีมาแล้วที่ชื่อของ ‘เพชรดา เคซี่ ตัน’ ถูกพูดถึงในฐานะนักกีฬายูยิตสูคนแรกของไทยที่สามารถคว้าแชมป์เปี้ยนในรายการ Abu Dhabi Jiu-Jitsu World Championship 2021 ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการชิงแชมป์โลกที่ใหญ่ที่สุด ในระดับสายสีม่วง รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม หากแต่ย้อนวันเวลาไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2-3 ปีหญิงสาววัย 30 ต้นๆ คนนี้ แทบจะไม่รู้เลยว่ายูยิตสูคืออะไร เธอยังเป็นเพียงพนักงานออฟฟิศที่คลุกตัวอยู่กับงานประจำที่มีรายรับต่อเดือนถึงครึ่งแสนบาท แต่ในวันนี้บทบาทของเคซี่เปลี่ยนไปแล้วและกลายมาเป็นแชมป์โลกหญิงคนล่าสุดของยูยิตสู

 

StadiumTH ได้มีโอกาสต่อสายถึงเคซี่ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เสียงปลายสายขานรับด้วยความยินดี น้ำเสียงนุ่มละมุ่นชวนฟังคลุกเคล้ากับเสียงหัวเราะทำให้เดาได้เลยว่าเธอน่าจะเป็นผู้หญิงที่เริงร่า สนุกสนาน แต่ในขณะเดียวกันก็เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองสูง

 

เคซี่ เกริ่นมาก่อนว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เธอต้องเก็บตัวฝึกซ้อม เพราะช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้เธอจะเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อลงแข่งขันในรายการใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมให้มากที่สุด อย่างที่ทราบกันแล้วว่า เคซี่ คือ เวิลด์ แชมป์เปี้ยน (แชมป์โลก) ยูยิตสูในประเภทสายม่วง รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม แน่นอนว่ากว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้มันไม่ใช่เรื่องง่าย เธอต้องเสียสละหลายสิ่งอย่างเพื่อแลกกับการวิ่งตามความฝัน เส้นทางของผู้หญิงที่ดูเหมือนจะมีหน้าที่การงานที่มั่นคง ค่าตอบแทนสูงชนิดที่ว่าอยู่เมืองไทยควักกระเป๋าจับจ่ายใช้สอยได้สบายมือ แต่เพราะอะไรและทำไม? เคซี่ถึงเลือกฝากอนาคตไว้กับกีฬายูยิตสู StadiumTH จะพาท่านผู้อ่านไปหาคำตอบนั้นพร้อมกัน

 

PIC : IG kacieingi

 

ลาออกจากงานที่ได้รับค่าจ้างที่สูงมาก?

 

“เรารักสถาปนิกพอๆ กับกีฬายูยิตสู เพราะตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยรังสิตเราเลือกเรียนในคณะสถาปัตยกรรม เราชอบเป็นสถาปนิก คิดไม่ออกว่าจะเป็นอาชีพอะไรถ้าไม่ใช่อาชีพสถาปนิก พอเรียนจบก็ได้งานในบริษัทดังตามที่เราตั้งเป้าไว้ แต่ด้วยความที่เหมือนกับมนุษย์ออฟิศทั่วไปคือเข้าทำงาน 9 โมงเช้ากว่าจะเลิกงานก็ 6 โมงเย็น บางทีมีแก้งานต้องอยู่ต่อจนดึก หรือถึงงานจะเลิกตรงเวลาก็ต้องเจอกับปัญหารถติดและอะไรอีกมากมายที่ต้องเจอในกรุงเทพ เราเลยคิดว่าชีวิตเรามันได้แค่นี้เองเหรอทั้งที่มันมีอะไรให้ทำมากกว่านี้ จนทำงานมาได้ประมาณ 2 ปี เราจึงตัดสินใจลางานไปท่องโลกเพื่อเป็นการชาร์จพลังให้กับชีวิตแล้วค่อยกลับมาลุยงานต่อเราคิดแบบนั้น ...

 

... คิดว่าชีวิตคนเราไม่ใช่ว่าจะต้องทุ่มเทให้กับบริษัทมากเกินไปเพียงเพื่อหวังในตัวเงิน ถามว่าเงินเดือนมันเยอะมั้ยสำหรับเราเงินที่ได้มาก็ประมาณ 4-5 หมื่นบาท แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชีวิตเราดำเนินต่อไปได้ เพราะอย่างที่บอกชีวิตมันมีอะไรที่ให้ทำอีกเยอะมาก อีกเหตุผลนึงคือในช่วงนั้นเรามีปัญหาเรื่องสุขภาพพอสมควร การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดจากการทำงาน มันเกิดการสะสมจนสุดท้ายก็ตัดสินใจแล้วว่าจะขอหยุดพักการทำงานเอาไว้ก่อน”

 

 

PIC : IG kacieingi

 

ช่วงเวลาที่ออกไปเปิดโลกมันดีกว่านั่งจับเจ่าในกรุงเทพ?

 

“ตอนที่ตัดสินใจลางานเราพกเงินติดตัวไป 5 หมื่นบาท โดยที่ปลายทางคือประเทศออสเตรเลีย ตั้งใจว่าจะต้องใช้เงินก้อนนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังไงก็จะไม่เอาเงินออมมาใช้มากกว่านั้นอีกเด็ดขาด นั่นคือเป้าหมายตอนนั้นที่ตั้งไว้ ซึ่งมันก็ยากอยู่นะ เพราะตอนที่อยู่เมลเบิร์นไม่ได้ขอเงินพ่อกับแม่เลย ตอนไปอยู่ที่นั่นเราก็ไปเป็นเด็กเสิร์ฟบ้าง รับจ้างล้างจานบ้าง เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าห้องและใช้จ่ายในแต่ละวัน คิดเพียงอย่างเดียวว่าจะต้องอยู่ให้ได้ในทุกๆ สถานการณ์ เราเป็นคนที่ชอบหาอะไรใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ชอบความท้าทายแต่ไม่เคยคิดว่ามันคือความเสี่ยง อย่างน้อยมีความเป็นไปได้ซัก 1 เปอร์เซ็นก็ยังดีกว่าไม่มีเลย...

 

... เราเป็นคนที่ชอบคิดเป้าหมายใหม่ๆ ตลอด เล็ก ใหญ่ ยาก ง่าย คือต้องมีให้ตัวเองทุกวัน ชอบเอาชนะแต่ก็คือเอาชนะตัวเองนี่แหละ ถ้าจะทำอะไรจะทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ แต่ก็เคยคิดนะว่าถ้าไปทางกีฬาไม่รุ่งก็จะกลับมาเป็นสถาปนิกเหมือนเดิมเพราะมั่นใจว่ายังไงต้องมีที่ไปอยู่แล้ว”

 

หลังจากที่เคซี่ทำงานในบริษัทสถาปนิกชื่อดังได้ประมาณ 2 ปี เธอก็เริ่มเกิดความเบื่อหน่ายเพราะรู้สึกว่าชีวิตมันซ้ำซาก ขาดความตื่นเต้น จึงเกิดความรู้สึกหมดไฟ แน่นอนว่าความรู้สึกนั้นไม่แฟร์กับบริษัทที่รับเธอเข้าทำงาน คำตอบเดียวคือเธอตัดสินใจลาออกไปอยู่ออสเตรเลียเกือบ 2 ปี ไปเปิดโลกกว้าง ไปชาร์จพลังให้ชีวิต โดยที่เธอคิดว่า “จะรออะไร ถ้าเราไม่ไปตอนนี้ เมื่อไหร่เราจะได้ไปซะที” 

 

เคซี่บอกต่อว่า ตอนอยู่ไทยใช้เงินแบบสบายๆ แต่พอมาอยู่ออสเตรเลียต้องประหยัดจะใช้เท่าที่จำเป็นมันทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ในขณะนั้นเธอต้องไปเรียนภาษาด้วยเพราะมันจำเป็นจะต้องลงคอร์สเรียนเพราะถือวีซ่านักศึกษา ขอออกไปเจอโลกกว้างสักหน่อย พ้องกับที่เคซี่ได้วางแผนไว้แล้วว่าจะมาเรียนต่อปริญญาโทที่ออสเตรเลีย เธอก็เลยถือโอกาสนี้เป็นการมาดูลู่ทางเอาไว้

 

 

PIC : IG kacieingi

 

จากพนักงานออฟิศทำไมถึงมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยยูยิตสู?

 

“ช่วงที่คบกับ วินซ์ (แฟนชาวสิงคโปร์) ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นนักกีฬา เป็นโค้ช มียิมที่สิงคโปร์ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือยูยิตสู แต่พอหลังจากที่ได้เห็นเขาซ้อมและฝึกสอน เราเห็นแล้วก็รู้สึกว่ายูยิตสูน่าสนใจนะ คือมันเป็นกีฬาต่อสู้ที่ไม่ได้ใช้แค่ร่างกายแข็งแรงเพื่อเอาชนะ ทุกการเคลื่อนไหวคือเราจะต้องคิด หรือมาจากการฝึกซ้ำๆ เพื่อให้ร่างกายจดจำ ที่ชอบที่สุดคือคนตัวเล็กกว่าสามารถชนะคนตัวใหญ่ได้ แต่ยังไงมันก็ยังคงเป็นกีฬาต่อสู้ เลยทำใจยอมรับว่าเลยว่าจะต้องมีเจ็บตัวแน่นอน ก็เลยลองดู … 

 

… ตอนแรกๆ เราแค่จะเล่นสนุกๆ เหมือนการเล่นกีฬาทั่วไป แค่อยากดูแลสุขภาพให้มากขึ้น แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ ยูยิตสูก็เปลี่ยนหลายๆ สิ่งในตัวเราให้ดีขึ้น ถือว่าเป็นจุดพลิกของชีวิตเราเลยก็ว่าได้ หลักๆ เลยคือวิธีคิดของเราเปลี่ยนไป เพราะการที่เราจะเป็นนักกีฬาที่ดี เราจะต้องมีมายด์เซ็ตที่ดี ซึ่งมันแทบจะเป็นพื้นฐานหลักของนักกีฬาที่ดีเลยก็ว่าได้ ต้องขยัน อดทน ทุ่มเทเสียสละเวลา มีระเบียบตั้งแต่การซ้อมจนถึงเรื่องการกิน การนอน คือในทุกๆ วันถ้าเรามีพวกนี้ ชีวิตเราเปลี่ยนแน่นอน …

 

... ต้องบอกแบบนี้ว่าจากเมื่อก่อนที่เราเป็นมนุษย์ออฟฟิศมันไม่มีแรงจูงใจขนาดที่ว่าเฮ้ย! เราต้องทำงานให้ได้เหรียญทองนะหรืออะไรแบบนั้น อาจจะเป็นเพราะสิ่งที่เราทำ มันยังไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่พอเปลี่ยนกระทันหันมาเป็นนักกีฬา มันเหมือนเราเกิดใหม่ แต่คือเราไม่ได้เกิดในร่างทารกซึ่งมีเวลาเหลืออีกมากมายบนโลกนี้ เราเกิดในร่างของผู้หญิงที่ได้ใช้เวลาในชีวิตไปแล้ว 30 ปี และยังเป็นเวลา 30 ปีที่ไม่เคยเล่นกีฬาฉะนั้นในทุกๆ นาทีมันมีค่าสำหรับเรามาก มันเลยทำให้เราต้องเคร่งคัดกับตัวเองให้มากขึ้น เพราะเริ่มช้ากว่าคนอื่นๆ จะต้องแข่งขันกับนักกีฬาที่เขาเริ่มฝึกฝนกันตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนมาก 8-10 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากที่จะเอาชนะนักกีฬาเหล่านั้น เราต้องฝึก ต้องทำให้มากกว่าสองเท่าหรือแม้กระทั่งมากกว่านั้น”

 

PIC : IG kacieingi

 

นั่นเท่ากับว่าเวลาส่วนใหญ่ทุ่มให้กับยูยิตสู?

 

“ต้องบอกแบบนี้ว่า ตลอดระยะเวลาช่วง 3 ปีกว่าที่เริ่มเข้าสู่วงการยูยิตสู เราต้องเสียสละเวลาส่วนตัวออกไปเกือบทั้งหมด เพื่อทุ่มเทกับการฝึกซ้อมที่ยิมให้มากขึ้น แม้ว่าเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องสู้เดินหน้าต่อไปเพื่อแข่งกับเวลา ถ้าอยากเทียบชั้นกับคนอื่นๆ การเป็นเวิลด์แชมป์ซักครั้งมันหนึ่งคือบัคเก็ตลิสต์ของเราในตอนนั้น (รายการของสิ่งที่อยากทำก่อนตาย) ซึ่งตอนนี้ก็ได้ติ๊ก 3 บัคเก็ตลิสใหญ่ๆ คือ หนึ่งชนะยูยิตสูระดับเวิลด์ แชมป์เปี้ยน เราได้เหรียญมาแล้วในรุ่นสายม่วง ที่อาบูดาบี ยูเออี , สองคือ IBJJF เวิลด์มาสเตอร์ ที่ลาสเวกัส อเมริกา ระดับสายน้ำตาล และสามได้รับโปรโมทเป็นสายดำในต้นปี 2022 ซึ่งเราก็เป็นนักกีฬายูยิตสูสายดำผู้หญิงคนแรกของไทยที่เทรนที่ประไทยและเอเชีย ซึ่งทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ที่เราทุ่มเทมาสามปีกว่า”

 

หญิงสาววัย 33 ปีคนนี้บอกต่อด้วยว่า เป้าหมายต่อไปของเธอคือการเอาชนะนักแข่งในรุ่นสายดำ ในทัวร์นาเม้นท์ใหญ่ๆ ซึ่งล่าสุดชนะทัวร์นาเม้นท์ที่อาบูดาบีซึ่งเป็นการเอาชนะที่สุดสะใจ เพราะการที่จะเอาชนะนักกีฬาประเภทสายดำมันซึ่งเป็นสายสูงสุดของกีฬานี้ เป็นเรื่องที่โหดหินพอสมควร โดยเฉพาะทัวร์นาเม้นท์ใหญ่ๆ ที่มีนักกีฬาสายดำจากประเทศบราซิลที่เขาเก่งมากในเวทีระดับโลก

 

“ถามว่าทำไมถึงอยากจะเอาชนะนักกีฬาจากบราซิล เพราะต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้อยู่ที่ประเทศบราซิล ชื่อเต็มๆ ของมันก็คือ ‘บราซิเลี่ยน ยูยิตสู’ มันทำให้มีนักกีฬาเก่งๆ ในบราซิลแทบจะทุกลำดับขั้นของโลกเลยก็ว่าได้ เราจึงรู้สึกว่าการเอาชนะนักกีฬาจากบราซิลมันเป็นความท้าทายและเป้าหมายที่อยากจะทำให้สำเร็จ อารมณ์ก็คงจะเหมือนมีนักมวยต่างชาติมาขอชกกับนักมวยไทยนั่นแหละ คนไทยก็จะบอกว่า ‘ก็มาดิ จัดไปเลย จะไปยอมเหรอ’ เหมือนกันในกีฬายูยิตสูคนบราซิลเขาก็ไม่ยอมง่ายๆ ในระดับโลกก็จะมีแต่คนประเทศนี้เท่านั้นที่อยู่ในระดับสูงสุดแทบทั้งนั้น ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่ามันเหมือนเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เราอยากจะเอาชนะให้ได้ …

 

… หลายคนจะเข้าใจว่าการออกจากกรอบเดิมมันดูอิสระ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะว่าเราต้องซ้อมตั้งแต่เช้าเลย ตื่นมาซ้อม ๆ ๆ แล้วก็กลับบ้านนอนเช้าวันรุ่งขึ้นก็ต้องเข้ายิมมาซ้อมอีกมันจะวนเวียนอยู่แบบนี้ แล้วเราต้องอยู่ในกฏระเบียบ ต้องรักษาวินัย อันดับแรกเลยคือเวลาซ้อมเราก็จะต้องทำให้ดีที่สุด สองคือเราต้องดูแลสภาพร่างกายไม่ให้รับบาดเจ็บ สามเราเป็นโค้ชด้วยก็ต้องทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีเช่นกัน เราต้องทำให้ดีขึ้นๆ ในทุกๆ วันอย่างสม่ำเสมอ ผิดพลาดอะไรตรงไหนเราต้องแก้ไขในทันที่ มันทำให้เราคิดอยู่ตลอดเวลา”

 

PIC : IG kacieingi

 

แล้วมันต่างอะไรกับการนั่งทำงานในห้องสี่เหลี่ยม?

 

“สิ่งที่ต่างออกไปคือความสุข ที่เราได้ทุ่มเทสุดๆ เพื่อตัวเอง การล่าบัคเก็ตลิสต์ การตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ อย่างตอนแรกที่เริ่มลงแข่งยูยิตสูก็ตั้งเป้าเอาไว้ว่าเราอยากชนะในการแข่งขันเราก็ทำได้  พอแข่งมาเรื่อยๆ ก็วางเป้าหมายใหม่ว่าจะต้องเอาชนะในการแข่งขันระดับโลกและจะเป็นคนไทยคนแรกที่ทำได้ ซึ่งมันก็เป็นไปตามเป้าเราได้เหรียญทอง มันรู้สึกดีมากๆ เลยนะเวลาที่เห็นธงชาติไทยข้างๆ ชื่อเราๆ รู้สึกว่าเราทำได้นะซึ่งนั่นแหละคือความสุข อยากจะเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่เอาชนะนักแข่งในเวทีระดับโลกให้ได้ เพราะฉะนั้นความสุขของเราก็คือการได้ทำตามเป้าหมายที่มันใหญ่ขึ้นๆ เรื่อยเหมือนเป็นการท้าทายตัวเอง …

 

… ในการแข่งขันช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เป้าหมายคือจะต้องคว้าเหรียญทองมาให้ได้ แม้ว่าจะต้องรีดน้ำหนักลงไปมากจากเดิมก็ตาม เพราะต้องลงแข่งในรุ่น 45 กิโลกรัมแน่นอนว่ามันมีผลต่อสุขภาพร่างกายของเรา แต่มันคือสิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ ใจอยากจะทำมันเป็นอะไรที่แบบว่าครั้งหนึ่งเราได้ทำอะไรให้กับประเทศไทยบ้างอารมณ์ประมาณนั้น ไม่ได้นะพูดเพื่อให้ตัวเองดูดีนะ แต่รู้สึกว่าเกิดมาแล้วจะต้องทำอะไรให้โลกได้จดจำ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าตอนนี้เรานั่งทำงานเป็นสถาปนิกชื่อของเราจะไปอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์มั้ย จะมีคนอยากมาสัมภาษณ์เพื่อให้เราเป็นแรงผลักดันให้กับคนอื่นมั้ย ถ้าจะให้เลือกว่ารักอะไรมากกว่ากันระหว่างสถาปนิกกับยูยิตสู เราบอกไม่ได้ว่ารักแบบไหนมากกว่า สถาปนิกสบายกว่าแต่ยูยิตสูมันทำให้รู้สึกมีความสุขมากกว่า  ต่อให้เราต้องลดน้ำหนักลงไปเล่นในรุ่น 45 กิโลกรัมก็ไม่เป็นไรเพราะเราเต็มใจที่จะทำ มันคือเป้าหมาย มันคือความสุข ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”

 

PIC : IG kacieingi

 

จะก้าวไปให้ถึงเป้าหมายแบบนั้นต้องทำอย่างไร?

 

“ถ้านับช่วงเวลาของนักกีฬาปกติ เขาจะใช้เวลาอยู่กับยูยิตสูเป็น 10 ปีกว่าจะก้าวขึ้นสู่ระดับสายดำ แต่เราเองใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่าก็ก้าวมาถึงจุดนั้นแล้ว มันเป็นเพราะว่าการลงทุนลงแรงในการฝึกซ้อม มันมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนพาเรามาถึงจุดนี้ถ้าให้มองย้อนกลับไป ก็ยังไม่ค่อยเชื่อตัวเองเลยว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ คนรอบข้างบอกตลอดว่าบ้าซ้อมมากไปรึเปล่า ที่ทำอยู่มันเกินไป ขนาดแม่ของเรายังไม่อยากจะเชื่อเลยจะซ้อมอะไรเว่อร์ขนาดนั้น แต่พอได้เห็นรูปของลูกตัวเองบนหน้าหนังสือพิมพ์ก็ดีใจแหละที่เห็นเราประสบความสำเร็จ …

 

… จริงๆ มันคือเบสิคมากๆ แต่ก็เข้าใจได้ว่าพูดน่ะมันง่ายแต่ทำยาก สำหรับเราแม่จะสอนเสมอว่าทำอะไรให้ทำด้วยความตั้งใจแล้วความสำเร็จจะตามมเอง เราต้องแน่วแน่และกล้าที่จะก้าวออกมาจากคอมฟอร์ทโซน ทำต้องทำให้สุดไม่ใช่ว่าครึ่งๆ กลางๆ โฟกัสของความมุ่งมั่นไม่ใช่แค่ 100 แต่ต้องเป็น 1,000 เปอร์เซ็นแล้วทุกอย่างมันจะราบรื่นในตัวของมันเอง แล้วต้องตั้งใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าอยากจะฉีกแนวของตัวเองทั้งที่ยังไม่มีเส้นทางหรือเป้าหมายที่ชัดเจน ความตั้งใจมันต้องสุดและไปให้สุดทางชนิดที่ว่าทำให้โลกจดจำกันไปเลย”

 

PIC : IG kacieingi

 

ฝากอะไรถึงใครบ้าง?

 

“เราอยากจะเป็นจุดผลักดันในกับทุกคนโดยเฉพาะนักกีฬาในบ้านเราให้ได้รับการตีแผ่เรื่องราวของพวกเขา เพราะรู้สึกว่านักกีฬาบ้านเราไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ไม่ค่อยได้รับการดูแลที่ดีเท่าไหร่ ซึ่งอย่างที่บอกสำหรับเราไม่มองเรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งการที่เราทำชื่อเสียงให้ประเทศในหลายๆ ครั้ง มาจากการสนับสนุนจากยิมที่สิงคโปร์และเงินตัวเองล้วนๆ แม้กระทั่งการแข่งขันที่จะถึงนี้ก็ตาม อยากให้มองถึงนักกีฬาคนอื่นๆ ว่าเขาได้รับเงินเดือนบ้างมั้ย ได้รับการดูแลดีแค่ไหน สนับสนุนมากน้อยแค่ไหน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นนักกีฬาทีมชาติ ไม่ใช่แค่ในมุมนักกีฬาเท่านั้นนะยังรวมไปถึงทีมงานและบรรดาผู้ฝึกสอน ถ้าเราอยากให้นักกีฬาของเราไปให้ไกลจะต้องมีการดึงผู้ฝึกสอนจากต่างชาติเข้ามาให้ความรู้บ้าง เพื่อเทคนิคใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ความรู้ที่ได้มันจะต่างจากเดิมแน่นอนและมันจะทำให้เกิดการพัฒนาในตัวนักกีฬา”

 

เคซี่บอกต่อว่า แท้จริงแล้วนักกีฬายูยิตสูประเทศไทยมีความพร้อมในด้านร่างกายที่แข็งแรง หัวจิตหัวใจเปี่ยมไปด้วยนักสู้แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือเทคนิคและรูปแบบในการต่อสู้ 

 

“ถ้าจะให้จัดลำดับว่านักกีฬายูยิตสูของเราอยู่ในระดับไหน ตามความคิดของเราคิดว่าอยู่ในระดับกลางๆ เพราะคนไทยขยัน มีระเบียบวินัยและร่างกายแข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ยังขาดในส่วนของเทคนิคที่หลากหลาย และประสบการณ์ต่างแดน จะดีมากถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะเปิดใจแล้วเลือกผู้ฝึกสอนหลากหลาย เข้ามาสอนจะทำให้ยูยิตสูไทยไปได้ไกลกว่านี้ เพราะยูยิตสูซ้อมหนักอย่างเดียวไม่ได้มันต้องมีเทคนิค มีความรู้ ใช้อะไรหลายๆ อย่างมาประกอบกันหรือไม่ก็พานักกีฬาไทยออกไปเปิดโลกดูว่าต่างประเทศเช่น อเมริกา ฟิลิปปินส์ บราซิล เพราะเราเชื่อว่าการจะเก่งยูยิตสู มาจากการฝึกซ้อมกับนักกีฬาที่หลากหลาย ไม่ใช่เรียนรู้จากยูทูบว์”

 

เรื่องราวทั้งหมดที่เคซี่ถ่ายทอดออกมานั้น สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดที่ถูกวางลำดับขั้นไว้อย่างประณีตดีแล้ว เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายกับการที่คนหนึ่งคนจะสามารถเดินไปบนเส้นทางสายใหม่ได้อย่างสง่า หากไร้ซึ่งความตั้งใจที่แน่วแน่และความกล้าที่จะหลุดจากกรอบเดิม


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose