stadium

จากติดลบถึงติดลมบน ‘สมพร ใช้บางยาง’ กับวิวัฒนาการวอลเลย์บอลไทย

10 ตุลาคม 2565

นับว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญกับทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยที่สร้างความสุขให้กับแฟนกีฬาบ้านเราตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความสำเร็จที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของผู้มีส่วนเกี่ยวในสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย รวมถึงความตั้งมั่นที่จะนำกีฬาลูกยางก้าวขึ้นไปเทียบชั้นเวทีโลก

 

โดยปัจจุบันหัวเรือใหญ่แห่งสมาคมฯ อย่าง ‘สมพร ใช้บางยาง’ นั่งแท่นกุมบังเหียนคอยกำหนดทิศทางที่ก้าวต่อไปในอนาคตให้กับทัพนักกีฬาวอลเลย์บอลทั้งประเภทในร่มและชายหาด โดยมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลให้เกิดเป็นรูปธรรม

 

 

 

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ

 

ท่านสมพรพาย้อนอดีตกลับไปถึงจุดเริ่มต้นว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาสมาคมฯ พยายามผลักดันให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2528 ถือว่าเป็นช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากที่สมาคมฯ พยายามเฟ้นหาบุคลากรด้านกีฬาเข้ามานั่งแท่นผู้บริหาร ก่อนที่จะได้ ‘พิศาล มูลศาสตรสาทร’ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยเข้ามาควบตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยอีกหนึ่งวาระ

 

แม้ว่าจะจัดสรรบุคลากรได้เพียบพร้อม แต่ทว่าปัญหาเก่าที่คาราคาซังอยู่นั้นจำเป็นจะต้องเร่งสะสางให้เสร็จสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้างค่าธรรมเนียมประจำปีของการประชุมจากสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชียจึงทำให้เป็นหนี้เป็นสินอยู่หลายสตางค์ จนหวิดที่จะถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิก แต่โชคดีที่นายกสมาคมวอลเลย์บอลสิงคโปร์ให้การช่วยเหลือ ทำให้ไทยได้รับการบรรจุเข้ามาเป็นสมาชิกสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชียอีกครั้ง

 

 

 

หลักการสำคัญที่สมาคมฯ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ท่านสมพรบอกว่า ต้องการให้กีฬาวอลเลย์บอลเป็นที่แพร่หลาย กระจายสู่ระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพของนักกีฬาในการต่อยอดก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ โดยวางรากฐานที่สำคัญคือ 1.จัดการแข่งขันในระดับเยาวชนเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 12 ปีเป็นต้นไป จากนั้นยกระดับการแข่งขันมาเป็นการชิงชัยในระดับประเทศเพื่อเป็นการเฟ้นหานักกีฬาที่โดดเด่น จากนั้นสมาคมฯ จะผลักดันให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติต่อไปในอนาคต

 

สำหรับการผลักดันให้เกิดการแข่งขันในระดับภูมิภาค สมาคมฯ ได้วางลู่ทางเอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยมอบหมายให้ ท่านสมพรประสานงานกับผู้บริหารส่วนท้องถิ่นโดยอาศัยความเป็นผู้บังคับบัญชาของท่านพิศาล ที่เป็นถึงปลัดกระทรวงมหาไทยคอยเป็นผู้ประสานงานกับบรรดาผู้ปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในระดับตำบล อำเภอและระดับจังหวัด ซึ่งการกำหนดรูปแบบดังกล่าวได้ผลตอบรับที่ค่อนข้างน่าพอใจเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นกระแสนิยมในวงกว้างมิใช่จำกัดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพียงเท่านั้น

 

“ในช่วงแรกจะบอกว่าเราเริ่มจากศูนย์ก็ไม่ใช่ ต้องบอกว่าเริ่มมาจากการติดลบเลยด้วยซ้ำ ติดลบที่ว่าก็คือ แทบจะไม่มีอะไรเลย ทั้งเงินงบประมาณก็เป็นหนี้เป็นสิน ทางสหพันธ์วอลเลย์บอลเอเชียก็ไม่ยอมรับเรา เพราะว่าช่วงนั้นเราค้างชำระค่าธรรมเนียมประจำปีหลายปี การจะเข้าประชุมคุณต้องชำระค่าสมาชิกก่อนยังดีว่าช่วงนั้นนายกสมาคมสิงคโปร์ก็เห็นใจเราก็เลยช่วยออกให้ก่อน จึงทำให้เราได้กลับมาเป็นสมาชิกของสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเชียอีกครั้ง”

 

 

ความเปลี่ยนแปลงภายใต้รูปแบบที่ชัดเจนขึ้น

 

ด้วยวิสัยทัศน์ของสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยในขณะนั้น มุ่งเน้นไปที่การกระจายตัวของรายการแข่งขันให้ขยายไปสู่ระดับภูมิภาค เพื่อเป็นการคัดสรรนักกีฬาฝีมือดีทำให้เกิดความนิยมอย่างรวดเร็ว นั่นจึงเป็นผลทำให้นักกีฬาวอลเลย์บอลรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมามากมายและนำไปสู่การพัฒนาเชิงโครงสร้างที่ต่อยอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน

 

ท่านสมพรอธิบายว่า การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการบูรณาการร่วมกันทั้งวอลเลย์บอลในร่มและวอลเลย์บอลชายหาด ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการทำให้สมาคมฯ เติบโตควบคู่กันไปในทุกด้านและเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้มีนักกีฬาที่จะก้าวขึ้นมาทดแทนนักกีฬารุ่นพี่ แนวคิดในการกระจายการแข่งวอลเลย์บอลสู่ภูมิภาคก็เพื่อมุ่งหวังให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จัก เริ่มจากการจัดแข่งขันในระดับอายุ 12 ปีเป็นต้นไปจุดประสงค์เพื่อเฟ้นหานักกีฬาที่มีศักยภาพและผลักดันสู่การเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทยต่อไปในอนาคต

 

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ใช่เพราะบุคลากรภายในองค์กรที่หวังจะพัฒนาวงการกีฬาวอลเลย์บอลอย่างจริงใจ ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจโดยไร้ซึ่งประโยชน์อื่นใดมาเคลือบแฝง การวางรากฐานที่มั่นคงแข็งแรงนี้ ส่งผลให้เกิดยุคทองของวงการวอลเลย์บอลบ้านเรา ‘7 เซียน’ ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ความมุ่งหวังของทางสมาคมฯ นับว่าเป็นก้าวแรกของการพัฒนาจวบจนปัจจุบันนี้

 

 

“นับว่าเป็นความโชคดีที่เหล่าผู้บริหารมองเห็นลู่ทางในการพัฒนาต่อยอดกีฬาวอลเลย์บอลไทย ซึ่งก็เป็นผลที่มาจากการทำงานต่อเนื่องของคณะทำงานชุดเดิมตลอด 30 ปีที่ผ่านมาและยังคงทำงานกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดความต่อเนื่องทั้งในเรื่องของนโยบาย ทั้งในเรื่องของการพัฒนา หลายคนอาจจะเคยกังวลว่าหากหมดยุคของ 7 เซียนแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งคำตอบมันก็ชัดเจนแล้วว่า เราได้มีการผลักดันเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนอยู่เสมอ”

 

นายกสมาคมฯ เพิ่มเติมว่า สมาคมฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการให้เท่าทันตามยุคสมัย ฉะนั้นจะเห็นได้ว่านักกีฬาวอลเลย์ไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งรูปแบบการฝึกซ้อม รูปแบบการเล่นในสนามแข่ง เพื่อให้เทียบเท่ากับทีมชั้นนำของโลก

 

 

ก่อนจะมาเป็น ‘สมพร’ นายกสมาคมฯ ณ ปัจจุบัน

 

ด้วยความที่ท่านสมพรสนิทชิดเชื้อกับท่านพิศาล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงได้เห็นวิธีการดำเนินงานภายใต้นโยบายที่สอดรับกับโลกปัจจุบัน ทั้งยังเห็นถึงพัฒนาการของกีฬาวอลเลย์บอลที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนทำให้ ท่านสมพรเกิดการซึมซับองค์ความรู้ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา กระทั่งท้ายที่สุดตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยถูกส่งมอบต่อมาถึงท่านสมพรในปัจจุบัน

 

ท่านสมพรเล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดฝันถึงตำแหน่งที่นายกสมาคมฯ ภาพจำของท่านเป็นเพียงผู้ติดสอยห้อยตามท่านพิศาลในฐานะเลขาฯ เท่านั้น แต่ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใดอาจเพราะเหตุบังเอิญหรือฟ้าบันดาลทำให้เลขาธิการในวันนั้นก้าวขึ้นมานั่งแท่นบริหารในวันนี้

 

“ส่วนตัวผมเองที่เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ความจริงก็ไม่ได้ตั้งใจอีกเหมือนกันที่จะมารับตำแหน่งตรงนี้ จะบอกว่าเป็นเหมือนกับอุบัติเหตุระหว่างทางที่ก็เห็นว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องเข้ามาช่วยเพราะเราก็คลุกคลีกับวงการวอลเลย์บอลมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมกับกระทรวงมหาดไทยที่ส่งต่อไปยังระดับภูมิภาคก็เลยเข้ามารับตำแหน่งตรงนี้”

 

องค์ความรู้ที่ท่านสมพรได้รับการส่งต่อมาจากนายกสมาคมฯ ท่านก่อนหน้านี้ ถูกต่อยอดและต่อเติมรวมถึงแก้ไขจุดบกพร่องให้ดีขึ้น สามารถเชื่อมโยงการทำงานเชิงบูรณาการได้กับทุกฝ่าย ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรต่าง ๆ ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและร่วมพัฒนาวงการวอลเลย์บอลไปพร้อมกัน โดยท่านสมพรบอกด้วยความภาคภูมิใจว่า ในเวลานี้วงการวอลเลย์บอลไทยกำลังเดินมาถูกทิศถูกทางแล้ว

 

 

เติมเต็มให้เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์

 

เสียงเชียร์ที่ดังกระหึ่มไปทั่วโลกของแฟนกีฬาวอลเลย์บอลชาวไทยในชั่วโมงนี้ ต้องยอมรับว่าสั่นสะเทือนวงการวอลเลย์บอลโลกไปแล้ว ด้วยผลงานที่ยอดเยี่ยมของนักตบลูกยางสาวไทยที่ทำผลงานไว้อย่างประทับใจจนผู้ชมลุ้นชิดติดขอบจอทุกแมตช์การแข่งขัน การพบกับนักกีฬาวอลเลย์บอลระดับท็อปของโลกแล้วสามารถสู้ได้สนุกสูสี มีลุ้นทุกเซต ทุกเกม ในมุมของแฟนกีฬานี่คือความสำเร็จที่สมบูรณ์แบบ

 

แต่ในมุมของคนภายในสมาคมฯ อย่างท่านสมพรกลับมองว่าทัพนักกีฬาวอลเลย์บอลไทยยังขาดบางสิ่งบางอย่างไปและเพื่อให้องค์ประกอบครบสมบูรณ์จำเป็นต้องเติมเต็มในจุดที่พร่องไป ปัญหาหรือข้อบกพร่องนี้นายกสมาคมฯ มิได้เพิกเฉยและเล็งเห็นแล้วว่าการนำหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาปรับใช้จะมีส่วนช่วยให้เกิดความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

 

“เราถือว่าเป็นสมาคมแรกก็ว่าได้ที่ทำวิจัยร่วมกับทางศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาของการกีฬาแห่งประเทศไทยโดยการนำหลักวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ ซึ่งเราก็เห็นประโยชน์ชัดเจนว่าการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้ส่งผลกระทบได้อย่างชัดเจน จากเมื่อก่อนนักกีฬาเราถ้าเล่นห้าเซตก็ล้าแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังดูมีความสดชื่น ดูมีชีวิตชีวาอยู่เลย ทำให้เห็นว่านักกีฬายังมีความพร้อมที่จะแข่งขันได้ต่อ ยกเว้นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นตรงนี้ก็ต้องพักรักษาร่างกายเป็นเรื่องปกติ”

 

ในส่วนของความต่อเนื่องในการจัดการแข่งขัน นายกวอลเลย์บอลไทยบอกว่า เพื่อเป็นไปตามแผนการพัฒนา ถ้าเราหยุดหรือพักการจัดการแข่งขันไปก็เท่ากับว่าเราเดินถอยหลังหรืออาจจะเสียโอกาสสำหรับเยาวชนหรือคนที่ทำทีมเขาก็ไม่มีโอกาสที่จะส่งเด็กเข้าแข่งขันเด็กก็ไม่มีโอกาสเล่นสมาคมฯ ก็ขาดบุคลากรในการที่จะพัฒนาต่อเนื่องเพื่อเติมเต็มในส่วนของการผลักดันนักกีฬารุ่นใหม่ขึ้นมาสู่ทีม

 

 

นอกจากที่กล่าวมานี้ นายกสมาคมฯ ยังให้ความสำคัญต่อบุคลากรภายในองค์กรด้วยการพยายามที่จะผลักดันให้ผู้ตัดสินของไทยเข้าไปมีบทบาทในสหพันธ์วอลเลย์บอลเอเชียหรือระดับนานาชาติ พยายามส่งผู้ตัดสินไทยเข้าไปแทรกอยู่ในกิจกรรมต่าง ๆ ในการแข่งขันระดับโลกให้มากขึ้น

 

“นี่คือพัฒนาการที่เราพยายามเติมเต็มให้กับทีมในอีกส่วน เพราะฉะนั้นการเข้าไปมีบทบาทในสหพันธ์นานาชาติหรือสหพันธ์แห่งเอเชีย จึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราได้ก้าวเข้ามาถึงทุกวันนี้ได้”

 

จากการปลูกฝังทัศนคติที่ว่า “ต้องทำเพื่อส่วนรวมนะไม่ใช่มาแสวงหาประโยชน์” จนกลายเป็นการส่งมอบวัฒนธรรมอันดีต่อองค์กรที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั่วทั้งระบบ ท่านสมพรบอกว่าวอลเลย์บอลเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งที่ทุกคนมีส่วนช่วยกันสร้างรากฐานอันแข็งแรงขึ้นมาทำให้กีฬาวอลเลย์บอลไทยกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอยู่ ณ เวลานี้

 

“ไม่ใช่เพียงแค่คนในสมาคมฯ เท่านั้น ยังร่วมไปถึงแฟนๆ ที่ช่วยกันเชียร์ทัพวอลเลย์บอลไทยด้วย รวมถึงสื่อมวลชนที่ช่วยสื่อสารเรื่องราวต่างออกไปให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สิ่งเหล่านี้ผมจึงเรียกว่าครอบครัววอลเลย์บอล”


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose