stadium

"จ็อบก้า" หนังชีวิต 170 กม. 'THE UTMB MONT-BLANC' โอลิมปิกของนักวิ่งเทรล

6 ตุลาคม 2565

ความสวยงามที่มาพร้อมความท้าทาย บนเส้นทางกว่า 100 กิโลเมตรของ THE UTMB MONT-BLANC ทำให้ยอดเขาแห่งนี้ คือ หนึ่งในสนามการแข่งขันวิ่งอัลตราเทรล เป้าหมายของนักวิ่งสายเทรลทั่วโลก รวมถึงอีลีทไทย "จ็อบก้า" หรือ จ็อบ ธนพงษ์ จันทร์กระจ่าง นักกีฬาจากทีม HOKA 

 

Ultra UTMB® World Series Event คือรายการแข่งขันใน 6 ทวีปทั่วโลก มีประมาณ 30 รายการ ซึ่งนักวิ่งที่ผ่านสนามเหล่านี้จะได้รับ Running Stone เพื่อสามารถเข้าร่วมชิงชัยที่ UTMB® World Series Final สนามชิงชัยสุดท้ายของซีรีส์ ซึ่งก็คือ UTMB® Mont-Blanc ที่วิ่งผ่าน 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ 

 

นั่นหมายความว่า การจะพิชิตสนามนี้ได้ ต้องผ่านสนามโหดหินต่างๆ มาก่อน จึงจะได้บัตรผ่านการันตีว่าคุณแข็งแกร่งพอที่จะรวมการแข่งขัน UTMB Mont-Blance ที่ถือว่าเป็นงาน Olympic ประจำปีสำหรับการวิ่งเทรล และหากผ่านสนามนี้ไปได้ก็นับได้ว่าได้ผ่านเส้นทางที่สุดยอดที่สุด นั่นคือเหตุผลที่ จ็อบ ธนพงษ์ เดินทางมาไกลถึงฝรั่งเศส

 

 

170 กิโลเมตรที่เต็มไปด้วยความท้าทาย

 

28 ชั่วโมงคือเวลาที่จ้อบก้าเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย สู่เมืองชาโมนิกซ์-มองบลังค์ ประเทศฝรั่งเศส เป้าหมายคือการพิชิตสนามอัลตราเทลในตำนาน ด้วยระยะ 170 กิโลเมตร "ตั้งแต่ไปถึงสนามที่ไปแข่ง บรรยากาศดีมาก เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคนที่เครซี่ มีแต่นักวิ่งทั่วเมือง คนใส่ชุดวิ่ง แบกเป้น้ำ ในร้านขายของก็มี แบบเอนเนอร์จี้สูงมาก" จ็อบก้าเล่าถึงบรรยากาศก่อนแข่ง

 

จ็อบก้านั้นถือเป็นอีลีทอัลตราเทรลแถวหน้าคนหนึ่งของประเทศไทย ได้เคยผ่านสนามแข่งต่างๆ มาแล้วมากมาย ทั้งในประเทศและเอเชีย เช่น ฮ่องกง 100 ถือเป็นนักวิ่งที่มีประสบการณ์ค่อนข้างสูง และเคยขึ้นโพเดี้ยมมาแล้วหลายครั้ง แต่เหตุการณ์ที่มองบลังค์ได้กลายเป็นสุดยอดความทรงจำในชีวิตของเขา

 

"นี่เป็น Oversea แรกของผม คอนดิชั่นการแข่งแตกต่างกันมาก คิดว่าเตรียมตัวไปดีแล้ว แต่ก็ยังผิดพลาด โดน Attitude เล่นงานหนักมาก เพราะเขาสูงมาก และหนาวมาก" จ็อบก้าเล่าพร้อมเสริมว่าตอนซ้อมที่เชียงใหม่เจอความชันมากที่สุดก็ไม่ขนาดนี้ และต้องไปเจออุณหภูมิเลขตัวเดียวที่มองบลังค์

 

อย่างไรก็ตามบรรยากาศสนามระดับโลกก็เร้าใจเสมอ เมื่อถึงจุดปล่อยตัว สิ่งที่อยู่ในใจจ็อบก็คือความฮึกเหิมเต็มที่ "หน้าเส้นมันสุดยอดจริง เป็นฟีลฮึกเหิมมาก พอปล่อยตัวไปแล้ว กองเชียร์ก็เยอะ วิ่งในเมือง 2 กิโลคนรอดูแน่นมากเหมือนคอนเสิร์ต เหมือนลอยกระทงบ้านเรา"

 

การปล่อยตัวเริ่มตอน 6 โมงเย็น ก่อนจะเข้าสู่ช่วงค่ำเมื่อผ่านระยะทาง 20 กิโลเมตรแรก จากนั้นก็เข้าสู่หนังชีวิตฉากแรกที่มองบลังค์

 

 

 

หนังชีวิตฉากแรกที่มองบลังค์

 

เขาสูง 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลคืออุปสรรคแรกที่ทำให้จ็อบก้าถึงกับท้อ ตอนนั้นเขาได้ผ่านช่วง 20 กิโลเมตรแรก จากระยะทางทั้งหมด 170 กิโลเมตร ซึ่งไม่ใช่แค่ความชันเท่านั้นที่เล่นงานเขา แต่เป็นความหนาวระดับหนาวมาก ถึงขั้น Extremely Cold และจ้อบซึ่งชะล่าใจ ไม่ได้เตรียมอุปกรณ์กันหนาวที่ดีพอไปด้วย

 

"ลืมไปว่าเราเป็นคนเอเชีย ที่ไม่คุ้นชินกับอากาศหนาวขนาดนี้ พอร่างกายเสียความร้อนเราก็วิ่งไม่ออกแล้ว หายใจก็ลำบาก พอชันเกิน 2,000 ก็หอบหนักมาก โดนลมตีแรงด้วย" และนี่คือจุดที่ทำให้จ็อบเปลี่ยนแผนการแข่ง 

 

"เปลี่้ยนแผนเลยครับ จากฮึกเหิมเป็น Survival เริ่มหาคนเกาะหาเพื่อน ตอนนั้นมืดแล้วยิ่งหนาว เรื่องความสูงเทียบกับอินทนนท์ก็สูงนะ แต่ที่นี่อากาศเบาบางกว่า โหดกว่า" สุดท้ายจ็อบก้าก็ผ่านช่วงครึ่งทางแรกไปได้ในสภาพต่อสู้กับตัวเองแบบหนักหน่วง

 

 

 

กระทั่งถึง Check Point ใหญ่ ที่ระยะ 80 กิโลเมตร ความฮึกเหิมก็กลับมาอีกครั้ง เพราะได้เจอซัพพอร์ตเตอร์ ซึ่งก็คือน้องโรส แฟนของจ็อบ ที่เดินทางตามไปด้วย "ได้เจอกันก็ฮึกเหิมอีกรอบ ได้เครื่องกันหนาวมาละ แต่พอออกไปวิ่งต่อก็เหมือนเดิม คือ ต้องเริ่มสู้กับตัวเองใหม่ ตอนนั้นเป็นกลางวันของวันที่ 2 แล้ว วิ่งไปพักไป"

 

นอกจากกำลังใจที่เช็กพอยท์แล้ว บรรยากาศเส้นทางเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเติมพลังให้เขา นั่นคือเสน่ห์ที่แตกต่างจากการวิ่งทั่วไป ซึ่งสนามมองบลังค์นั้นใช้เส้นทางไม่ซ้ำกันเลยตลอด 170 กิโลเมตร ข้ามผ่าน 3 ประเทศยุโรปที่สวยงามที่สุด คือ ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์

 

แต่ถึงแม้ว่าจะสวยแค่ไหน แต่ความโหดและความไกลก็ทำให้เกิดอารมณ์หลากหลายตลอดเส้นทาง "มันสวยจริงๆ แบบที่ชีวิตนี้ไม่เคยเจอแลนด์สเคปแบบนี้ แต่พอผ่านไปสักพักความสวยก็ไม่ช่วยอะไร คิดแค่ว่าอยากไปให้ถึงเส้นชัย"

 

 

นับถอยหลังทีละก้าวเพื่อพิชิต 170 กิโลเมตร

 

"ถ้าไม่มีคนเชียร์ ไม่มีคนรอที่เช็กพอยท์คงไม่จบ" จ็อบบอกว่ามองบลังค์คือสนามที่ให้ประสบการณ์ที่หลากหลายกับเขามาก ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งตามปกติการวิ่งบนเส้นทางสายอัลตราเทรลก็ไม่ได้แฮปปี้ตลอดอยู่แล้ว อารมณ์ที่เกิดขึ้นจะมีทั้งเอนจอย และช่วงดาวน์ แต่การเมนเทนให้มีสติตลอดทางคือกุญแจสำคัญเพื่อไปถึงเส้นชัย

 

ก่อนเดินทางมองบลังค์คือสนามในฝันของจ็อบ ธนพงษ์ "ผมอยากได้ชื่อว่าพิชิต UTMB Finisher" แล้วเขาก็เอาชนะทั้งความชัน ความหนาว ความอ่อนล้าได้เพราะความมุ่งมั่นนี้ "นับถอยหลังทีละก้าว ดูเป็นวินาที" จ็อบก้าเล่าความรู้สึกก่อนถึงเส้นชัย

 

สุดท้ายแล้วจ็อบ ธนพงษ์ พิชิตมองบลังค์ได้ด้วยเวลา 37:43:12 ชั่วโมง ที่เส้นชัยใบหน้าของเขาเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ราวกับว่าความเหนื่อยล้าทั้งหมดหายไป ประสบการณ์อัลตราเทรลกว่า​ 50 สนาม​ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พาเขามาถึงเป้าหมายสนามที่โหดหินที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

"คนที่อยากมาสนามนี้ ต้องซ้อมเยอะมากๆ เก็บความชันให้มากๆ ซ้อมที่สูงบ้าง เพราะชันจริงๆทุกระยะ ขนาดระยะ 15 กิโลเมตรก็ยังชัน สภาพอากาศก็โหด อุปกรณ์บังคับคือเครื่องกันหนาว สิ่งที่เคยซื้อไว้ที่ไทย แต่ยังไม่เคยใช้ต้องขุดมาให้หมด" จ็อบก้าฝากถึงผู้ท้าชิงคนต่อไป

 

ประเทศไทยเองก็มีสนามการแข่งขัน UTMB คือ Thailand UTMB อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งจ็อบก้าจะลงแข่งด้วยเป็นสนามต่อไป ท้าชิงที่ระยะทาง 100 กิโลเมตร ในวันที่ 9-12 ธันวาคมนี้ จะมีอีลีทจากทั่วโลกร่วมในการแข่งขัน และอาจกลายเป็น UTMB สนามแรกของนักวิ่งอัลตราเทรลไทย เพื่อเก็บหินปูทางไปสู่มองบลังค์เช่นเดียวกับ จ็อบ ธนพงษ์ จันทร์กระจ่าง


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

La Vie en Rose