stadium

ย้อนผลงาน 5 ครั้งของทีมวอลเลย์บอลสาวไทยในศึกชิงแชมป์โลก

23 กันยายน 2565

การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศโปแลนด์ โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 19 ของศึกชิงแชมป์โลกแล้ว ซึ่ง 18 ครั้งที่ผ่านมานั้น สาวนักตบทีมชาติไทยได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันได้สำเร็จ จำนวน 5 ครั้ง คือ ในปี 1998, 2002, 2010, 2014 และครั้งล่าสุด 2018 ซึ่งก่อนที่จะไปชมศึกชิงแชมป์โลกที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ วันนี้พวกเราจะพาท่านย้อนอดีตไปดูผลงานของนักตบลูกยางสาวไทยในการแข่งขันครั้งที่ผ่านมากัน

 

 

ครั้งแรก ปี 1998

 

วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 14 ที่ประเทศญี่ปุน มีจำนวนทีมที่เข้าร่วมทั้งหมด 16 ทีม โดยทีมสาวไทยได้ไปแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาตร์ โดยในรอบเพลย์ออฟของทวีปเอเชีย ทีมไทยสามารถเอาชนะไต้หวันไปได้ทั้ง 2 นัด ทำให้คว้าตั๋วใบสุดท้ายของทวีปได้สำเร็จ ในการจับสลากแบ่งสายของศึกชิงแชมป์โลก ทีมชาติไทยถูกจัดให้อยู่ในสาย D ร่วมกับจีน, โครเอเชีย และเกาหลีใต้ โดยในการแข่งขันครั้งนั้นยังเป็นระบบการนับคะแนนแบบเก่า 15 คะแนนต่อเซต (ฝ่ายเสิร์ฟถึงจะได้คะแนน) และในส่วนผลการแข่งขันก็เป็นไปตามคาด นักตบลูกยางสาวไทยที่ยังอ่อนประสบการณ์ระดับโลกแพ้รวดด้วยสกอร์ 0-3 เซต ทั้ง 3 นัด จบการแข่งขันเป็นอันดับสุดท้าย คือ อันดับที่ 13 ร่วมกับเยอรมนี, เคนย่า และสหรัฐอเมริกา
 

 

ครั้งที่สอง ปี 2002

 

วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 15 ที่ประเทศเยอรมัน มีการเพิ่มจำนวนทีมเข้าแข่งขันเป็น 24 ทีมเป็นครั้งแรก นอกจากนั้นยังปรับระบบการแข่งขันมาเป็น 25 คะแนนต่อเซต และนับคะแนนแบบแรลลี่พอยต์ ในครั้งนี้ทีมไทยถูกจัดให้อยู่สาย D ร่วมกับบราซิล, จีน, โปแลนด์, กรีซ และออสเตรเลีย และทีมชาติไทย สามารถเก็บชัยชนะนัดแรกของศึกชิงแชมป์โลกได้สำเร็จ โดยสามารถเอาชนะออสเตรเลียไป 3-1 เซต (25-18, 21-25, 25-17, 25-16) นักตบสาวไทยชุดประวัติศาสตร์นั้น นำทีมโดย กัปตันทีม แอนนา ไภยจินดา, พัชรีย์ แสงเมือง, ปิยะมาศ ค่อยจะโป๊ะ,วัลภา จิตอ่อง, ศรันยา ศรีสาคร, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, นุรักษ์ นกพุทรา, สุภาพ ผงทอง, สมหมาย นิยมพล, วิสุตา หีบแก้ว, อำพร หญ้าผา และวรรณา บัวแก้ว เป็นตัวรับอิสระ แต่นัดที่เหลือก็แพ้รวด จบการแข่งขันอันดับ 17 ร่วมกับอาร์เจนติน่า, แคนาดา และสาธารณรัฐเช็ก

 

 

ครั้งที่สาม ปี 2010

 

หลังจากผิดหวังในรอบคัดเลือกปี 2006 ที่แพ้ต่อเกาหลีใต้ และคาซัคสถาน ในปี 2010 ทีมชาติไทยกลับมาคว้าตั๋วไปแข่งขันชิงแชมป์โลกได้อีกครั้ง ในขณะนั้นต้องถือว่าสาวไทยอยู่ในช่วงที่ฟอร์มกำลังดีต่อเนื่องหลังจากในปี 2009 คว้าแชมป์เอเชียครั้งแรกได้สำเร็จ โดยในรอบแรกทีมไทยอยู่ในสาย C ร่วมกับสหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, คิวบา, โครเอเชีย และคาซัคสถาน สุดท้ายสาวไทยเก็บชัยชนะได้ 2 นัด เหนือโครเอเชีย และคาซัคสถาน ผ่านเข้ารอบสองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่วนในรอบที่สอง สาวไทยเก็บชัยชนะได้อีก 2 นัด จากเนเธอร์แลนด์ และสาธาณรัฐเช็ก แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะผ่านเข้ารอบต่อไป สิ้นสุดการแข่งขันที่อันดับ 13 ร่วมกับเกาหลีใต้

 

 

ครั้งที่สี่ ปี 2014

 

ในปี 2014 เกิดเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในวงการวอลเลย์บอลไทยอีกครั้ง เนื่องจากช่วงเวลาของการแข่งขันชิงแชมป์โลก ที่อิตาลีนั้นซ้อนทับกับมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่เกาหลีใต้ ทำให้สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ชุด โดยผู้เล่นตัวหลักอย่าง อรอุมา, นุศรา, ปลืมจิตร์, วิลาวัณย์ มลิกา และฐาปไพพรรณ ถูกส่งไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ และส่งผู้เล่นดาวรุ่งในตอนนั้นอย่าง อัจฉราพร, ชัชชุอร, พรพรรณ, หัตถยา, กัตติกา และจรัสพร โดยมีตัวรับอิสระ วรรณา บัวแก้ว เป็นผู้เล่นตัวเก๋าคอยไปประคองอยู่ในสนาม รวมถึงโค้ชอ๊อต เกียรติพงศ์ รัชตเกรียงไกร นำทีมไปแข่งขันชิงแชมป์โลก ทำให้ศึกชิงแชมป์โลกรอบแรก ที่ทีมชาติไทยอยู่ใน C ร่วมกับสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, เนเธอร์แลนด์, คาซัคสถาน และเม็กซิโก สำหรับผลการแข่งขันเหล่านักตบสาวดาวรุ่งไทยทำได้แค่เพียงชนะทีมชาติเม็กซิโกเพียงนัดเดียวเท่านั้น ทำให้ทีมชาติไทยตกรอบแรกพร้อมกับคว้าอันดับที่ 17 ร่วมกลับบ้าน

 

 

ครั้งที่ห้า ปี 2018

 

วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกปี 2018 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยการแข่งขันครั้งนี้ สาวนักตบไทยถูกจัดอยู่สาย C ร่วมกับสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, เกาหลีใต้, อาเซอร์ไบจาน และตรินิแดด แอนด์ โตเบโก เป็นศึกชิงแชมป์โลกอีกครั้งหนึ่งที่ทีมไทยประสบปัญหาที่ทำให้เป็นที่น่าจดจำกันมากมาย จะมีอะไรบ้างเราจะมาพาไล่เรียงกันไปให้ทราบไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้

 

  • อาการบาดเจ็บของชัชชุอร และหัตถยา

ก่อนเดินทางไปแข่งขัน ทีมชาติไทยประสบปัญหาผู้เล่นตัวหลักอย่างชัชชุอร โมกศรี กับหัตถยา บำรุงสุข ได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขันก่อนหน้านี้ โดยหัตถยาบาดเจ็บหนักที่หัวเข่าจากรายการ AVC Cup 2018 (พักรักษาตัวหลังจากนั้นนานถึง 2 ปี) ทำให้ต้องถอนตัวจากรายการชิงแชมป์โลก ส่วนในรายของชัชชุอร ได้ประสบอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก ระหว่างการแข่งขันรายการเอเชียนเกมส์ ที่อินโดนีเชีย โดยชัชชุอรสามารถเดินทางมากับทีมได้ แต่สภาพร่างกายยังไม่สมบูรณ์ 100% ยังไม่สามารถกระโดดได้ จึงทำได้เพียงแค่ลงมาเปลี่ยนตัวเพื่อเสิร์ฟในบางจังหวะ ทำให้ทีมไทยขาดอาวุธหลักไปแล้วถึง 2 คน

 

  • พิมพิชยา หัวเข่าพลิก

ถึงแม้นักกีฬาของทีมจะไม่สมบูรณ์ทุกคน แต่ทีมชาติไทยก็เปิดสนามได้อย่างยอดเยี่ยม เอาชนะเกาหลีใต้ไปได้ 3-2 เซ็ต ส่วนในเกมนัดที่สอง ทีมชาติไทยออกนำอดีตแชมป์โลกอย่างรัสเซียไปก่อน 2-0 เซ็ต แต่แล้วซูเปอร์สตาร์อย่าง นาตาเลีย กอนชาโลว่า ก็แผลงฤทธิ์ทำคนเดียว 30 แต้ม พารัสเซียพลิกกลับมาชนะไทยไปได้ 3-2 เซ็ต พลาดท่าแพ้ไปอย่างน่าเสียดาย นัดต่อมาทีมไทยมีโปรแกรมพบกับตรินิแดดฯ ผลการแข่งขันก็เป็นไปตามคาดหมาย สาวไทยเอาชนะไปได้ 3-1 เซ็ต แต่ชัยชนะในนัดนี้กลับต้องแลกมากับผู้เล่นตัวหลักอย่างพิมพิชยา ก๊กรัม ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าจนต้องหามออกจากสนามในช่วงเซ็ตที่สาม (ซึ่งหลังจากกลับมาตรวจอย่างละเอียดที่ไทยนั้น พิมพิชยาบาดเจ็บหนักจนต้องเข้ารับการผ่าตัด)

 

  • อัจฉราพร ข้อเท้าพลิก

ในการแข่งขันนัดที่สี่ ทีมชาติไทยถูกสหรัฐอเมริกาออกนำไปก่อน 2-0 เซ็ต ก่อนที่สาวไทยจะโชว์ลูกฮึดไล่ตามมาตีเสมอ 2-2 เซ็ต แต่จุดเปลี่ยนของเกมก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อตัวทำคะแนนหลัก อัจฉราพร คงยศ เกิดอุบัติเหตุข้อเท้าพลิก ในระหว่างการแข่งขันเซ็ตที่สี่ ต้องถูกหามออกจากสนามอีกหนึ่งคน ก่อนที่จะพ่ายสหรัฐฯ ไปอย่างน่าเสียดายในเซ็ตสุดท้าย ส่วนนัดสุดท้ายของรอบแรก นักกีฬาส่วนที่เหลือก็สามารถช่วยกันเล่นจนเอาชนะอาเซอร์ไบจันได้ จบรอบแรกเป็นอันดับที่ 3 ผ่านเข้ารอบสองได้สำเร็จอีกครั้ง

 

  • สภาพร่างกายที่อ่อนล้า และชิงแชมป์โลกครั้งสุดท้ายของเหล่าเซียน

ในรอบสองของศึกชิงแชมป์โลก ทีมชาติไทยเหลือผู้เล่นตัวทั้งหมด 11 คน โดยตำแหน่งตบหลัก เหลือนักกีฬาสมบูรณ์อยู่แค่ 3 คน คือ อรอุมา, วิลาวัณย์ และมลิกา ไม่เหลือแม้กระทั่งตัวสำรองที่คอยเปลี่ยน สุดท้ายทีมชาติไทยที่ในรอบแรก ต้องเล่น 5 เซ็ต ถึง 3 นัด นักกีฬาเกือบทุกคนเต็มไปด้วยอาการอ่อนล้าและบาดเจ็บสะสม ทำให้ไม่สามารถเก็บชัยชนะในการแข่งขันรอบสองได้ แพ้รวด 4 นัด ปิดฉากวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลกครั้งสุดท้ายของตำนาน 7 เซียน ที่ยังเล่นอยู่ทั้ง 5 คน คือ นุศรา ต้อมคำ, ปลื้มจิตร์ ถินขาว, วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, อรอุมา สิทธิรักษ์ และมลิกา กันทอง ด้วยอันดับที่ 13

 

และนี่ก็คือผลงานของสาวไทยในศึกชิงแชมป์โลกทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา หลังจากนี้แฟน ๆ วอลเลย์บอลไทยก็ต้องเตรียมตัวติดตามชมและส่งใจไปเชียร์ การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022 ระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2565 มาเป็นกำลังใจให้ทีมชาติไทย เก็บชัยชนะและทำอันดับให้ดีที่สุด


stadium

author

Wantleyball

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจ Wantleyball

La Vie en Rose