stadium

10 เรื่องน่ารู้ ก่อนดูวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022

19 กันยายน 2565

ในโลกของวอลเลย์บอล มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ถือว่าเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ส่วนรายการที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างกันอีกรายการ คือ “รายการวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก” ที่จะจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี เช่นเดียวกันกับกีฬาโอลิมปิก และในปีนี้ก็ถึงคราวที่รายการนี้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง โดยในประเภทหญิงนั้น จะแข่งขันกันระหว่างวันที่ 23 กันยายน ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2565 โดยมีประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศโปแลนด์ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน 2 ประเทศ ซึ่งทางเราก็ไม่พลาดที่จะรวบรวม 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกมาให้ทุกท่านทราบกัน เพื่อจะได้รับชมการแข่งขันได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น

 

 

วอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก กับวอลเลย์บอลเวิลด์คัพ เป็นคนล่ะรายการ

 

หลายคนที่ไม่ได้ติดตามวอลเลย์บอลกันอย่างใกล้ชิด อาจจะสับสนในชื่อรายการของวอลเลย์บอลกันบ้าง เพราะว่าในภาษาอังกฤษมีทั้งชื่อ Volleyball World Cup และ Volleyball World Championship ซึ่งจากความคุ้นเคยจากการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้หลายๆ คนเข้าใจว่าวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลกคือ รายการ World Cup แต่ที่จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด เพราะถ้าพูดถึงรายการวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก จะหมายถึง รายการ World Championship ส่วนรายการ World Cup เป็นการแข่งขันอีกรายการที่ได้มีการจัดแข่งขันกันเพิ่มขึ้นมาในภายหลัง

 

 

วอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก คือ รายการที่เก่าแก่ที่สุดของวงการวอลเลย์บอล

 

วอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก เป็นรายการที่เก่าแก่ที่สุดของวงการวอลเลย์บอล มีอายุ 70 ปี จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1952 โดยมีเจ้าภาพคือ สหภาพโซเวียต ในการแข่งขันครั้งแรกมีทีมเข้าร่วมเพียง 8 ทีม และส่วนใหญ่เป็นทีมจากทวีปยุโรปเป็นหลัก มีเพียงอินเดีย หนึ่งเดียวจากทวีปเอเชีย ที่ไม่ใช่ทีมในทวีปยุโรป การแข่งขันใช้ระบบทุกทีมพบกันหมด และทีมที่มีคะแนนสูงสุด ก็คือ ทีมเจ้าภาพ สหภาพโซเวียต คว้าแชมป์โลกได้เป็นประเทศแรก

 

 

 

ประเทศเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลกมากที่สุด

 

สหภาพโซเวียตในอดีต คือ มหาอำนาจของวงการวอลเลย์บอลหญิง ที่สามารถคว้าแชมป์โลกไปครองได้ถึง 5 สมัย จากการเข้าชิงชนะเลิศมากที่สุด 7 ครั้ง โดยมีเพียงแค่ 8 ประเทศที่สามารถไปถึงตำแหน่งแชมป์โลก คือ สหรัฐอเมริกา, อิตาลี, เซอร์เบียและมีเพียง 5 ประเทศที่คว้าแชมป์โลกได้มากกว่า 1 ครั้ง คือ สหภาพโซเวียต (5 ครั้ง), ญี่ปุ่น (3 ครั้ง), คิวบา (3 ครั้ง), จีน (2 ครั้ง), รัสเชีย (2 ครั้ง)

 

 

ประเทศที่เข้ารอบชิงชนะเลิศมากที่สุด

 

นับตั้งแต่ปี 1978 รายการวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก ปรับรูปแบบการแข่งขันจากระบบพบกันหมด ใครได้คะแนนมากที่สุดเป็นแชมป์ เปลี่ยนมาเป็นระบบแพ้ตกรอบและมีรอบชิงชนะเลิศ จากการแข่งขันทั้งหมด 11 ครั้ง ประเทศจีน เป็นทีมที่ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้มากที่สุด จำนวน 5 ครั้ง

 

 

ประเทศที่อกหักในรอบชิงชนะเลิศมากที่สุด

 

บราซิล และจีน คือ 2 ทีมที่พ่ายแพ้ในรอบชิงชนะเลิศมากที่สุด 3 ครั้งเท่ากัน แต่บราซิลน่าสงสารกว่าตรงที่ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 3 ครั้งแล้วก็แพ้ต่อคู่แข่งไปทุกครั้ง ยังไม่เคยคว้าแชมป์โลกมาครองได้แม้แต่ครั้งเดียว

 

 

ประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกมากที่สุด

 

วอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก จัดขึ้นมาแล้ว 18 ครั้ง มีประเทศที่รับเป็นเจ้าภาพทั้งหมด 11 ประเทศ คือ จีน, บัลแกเรีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เม็กซิโก, เปรู และเช็กโกสโลวาเกีย โดยมีเพียง 3 ประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพมากกว่า 1 ครั้ง ได้แก่ บราซิล (2 ครั้ง), อดีตสหภาพโซเวียต (3 ครั้ง) และญี่ปุ่น ที่เคยเป็นเจ้าภาพมามากที่สุด จำนวน 5 ครั้ง

 

 

วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022 เป็นครั้งแรกที่มีเจ้าภาพร่วมกัน 2 ประเทศ

 

ปกติแล้วการแข่งขันในแต่ล่ะครั้งจะมีหนึ่งประเทศรับเป็นเจ้าภาพ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสการขอเป็นเจ้าภาพร่วมกันหลายประเทศเริ่มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลักๆ แล้วเหตุผลนั้นมาจากต้องการลดค่าใช้จ่ายของประเทศเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน และเปิดโอกาสให้ประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีศักยภาพที่จะเป็นเจ้าภาพเพียงชาติเดียวให้มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าภาพมากขึ้นด้วย ในวงการวอลเลย์บอลก็เริ่มต้นครั้งแรกจากวอลเลย์บอลชายชิงแชมป์โลก 2018 ที่อิตาลีและบัลแกเรียเป็นเจ้าภาพร่วมกัน แต่ในการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก 2022 นี้ จะเป็นครั้งแรกของประเภททีมหญิงที่จะมีเนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน

 

 

ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน และระบบการคัดเลือกเข้ามาแข่งขัน

 

วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก ถือว่าเป็นรายการที่จัดโดยสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ที่มีจำนวนทีมเข้าร่วมมากที่สุด โดยมี 24 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันมา ดังนี้ 

 

เนเธอร์แลนด์               เจ้าภาพ

โปแลนด์                      เจ้าภาพ

เซอร์เบีย                      แชมป์เก่า

สาธารณรัฐโดมินิกัน    แชมป์โซนทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง (NORCECA)

เปอร์โตริโก้                  รองแชมป์โซนทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง (NORCECA)

อิตาลี                           แชมป์โซนทวีปยุโรป (CEV)

ตุรกี                             อันดับ 3 ทวีปยุโรป (CEV) *ได้สิทธิ์แทนประเทศเซอร์เบีย

จีน                               ทีมอันดับ 1 โซนทวีปเอเชีย (AVC)

ญี่ปุ่น                           ทีมอันดับ 2 โซนทวีปเอเชีย (AVC)

บราซิล                         แชมป์โซนทวีปอเมริกาใต้ (CSV)

โคลอมเบีย                  รองแชมป์โซนทวีปอเมริกาใต้ (CSV)

แคเมอรูน                     แชมป์โซนทวีปแอฟริกา (CAVB)

เคนย่า                         รองแชมป์โซนทวีปแอฟริกา (CAVB)

 

ส่วนที่เหลืออีก 11 ทีมจะพิจารณาประเทศที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันเรียงตามอันดับโลกหลังจบปี 2021 ดังนี้ สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, เบลเยี่ยม, เกาหลีใต้, บัลแกเรีย, แคนาดา, ไทย, อาร์เจนติน่า, สาธารณรัฐเช็ก, คาซัคสถาน และประเทศสุดท้ายคือ โครเอเชีย ที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันแทนรัสเชีย ที่โดนแบนจากสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ จากกรณีที่รุกรานยูเครน

 

 

ผลงานของทีมสาวไทยในอดีต

 

ประเทศไทย ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแขมป์โลกมาทั้งหมด 5 ครั้ง คือ ปี 1998, 2002, 2010, 2014 และ 2018 โดยอันดับที่ดีที่สุดที่สาวไทยทำได้ คือ อันดับที่ 13 ในปี 1998, 2010 และ 2018 ส่วนปี 2014 นั้นทีมไทยทำได้เพียงแค่อันดับที่ 17 ร่วม

 

 

ประเทศที่น่าจับตามองในการแข่งขันครั้งนี้

 

ถ้าหากจะให้เลือกประเทศที่มีโอกาสคว้าแชมป์โลกในปีนี้ได้ พวกเราของฟันธงไว้ดังนี้

 

เต็ง 1 อิตาลี เจ้าของแชมป์วอลเลย์บอลเนชั่นส์ลีก 2022 ถ้าตราบใดที่อิตาลียังมีซูเปอร์สตาร์อย่าง เปาล่า อีกัวนู อยู่ในทีม คงไม่มีใครกล้ากาชื่ออิตาลีออกจากสารบบทีมลุ้นแชมป์ไปได้

 

เต็ง 2 เซอร์เบีย เจ้าของตำแหน่งแชมป์เก่า ที่ยังมีอาวุธหลักเป็นสิงห์อีซ้าย ทิยาน่า บอสโควิช เป็นกำลังสำคัญ

 

เต็ง 3 สหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าดาวดังหลายคนจะประกาศเลิกเล่นทีมชาติไปหลังจากจบโตเกียวโอลิมปิก แต่ด้วยระบบทีมที่แข็งแกร่ง และทรัพยากรนักกีฬาที่มีให้เลือกมากมาย ทำให้อเมริกาเป็นอีกหนึ่งทีมที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้

 

นอกจาก 3 ทีม ที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมี จีน และบราซิล สองประเทศยักษ์ใหญ่ที่ในปีนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในฟอร์มที่ดีเท่าไรนัก แต่ก็อาจจะเป็นทีมที่มีสิทธิ์สอดแทรกเข้ามาลุ้นแชมป์ได้เช่นเดียวกัน

 


stadium

author

Wantleyball

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจ Wantleyball

โฆษณา