16 กันยายน 2565
กรีฑาชิงแชมป์โลก 1 ในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนักกรีฑาและนักวิ่งทั่วโลก "คีริน ตันติเวทย์" นักวิ่งทีมชาติไทยได้สร้างประวัติศาสตร์ผ่านการคัดเลือกไปแข่งขันรายการนี้ในปี 2022 นี้ นับเป็นอีก 1 ก้าวสำคัญของคีริน หลังจากได้เห็นเขามาแล้วทั้งในโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์
...นี่คือเรื่องราวเส้นทางก่อนจะมาถึงวันนี้ของคีริน เริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว มหาวิทยาลัย ไปจนถึงทีมโบเวอร์แมนแทร็คคลับ แถมด้วยข้อมูลอินไซด์ มุมสบายๆ และความเป็นไทยของนักวิ่งหนุ่มลูกครึ่งหนุ่มผู้ถือครอง 10 สถิติประเทศไทย
"พี่ชาย" จุดเริ่มต้นการวิ่งเด็กชายคีริน
เริ่มต้นก้าวแรกในฐานะนักวิ่งของเด็กชายคีริน ตันติเวทย์ ไม่ต่างจากนักกีฬาไทยคนอื่นๆ โดยคีรินนั้นถึงแม้จะเกิดและโตในสหรัฐฯ และเป็นลูกครึ่งไทยสหรัฐฯ แต่เด็กชายคีรินก็มีชีวิตวัยเด็กเหมือนกับเด็กไทยทั่วไป คีรินมี "ชนันต์ ตันติเวทย์" พี่ชายที่อายุห่างกัน 3 ปี เป็นแรงบันดาลใจในการวิ่งตั้งแต่ยังเด็ก
"ตอนนั้นผมอายุประมาณ 10 ขวบ เรียนชั้นประถม พี่ชายเริ่มวิ่งก่อน เห็นเขาวิ่งแล้วดูสนุกมาก เลยอยากวิ่งด้วย ตอนนั้นอยากตามพี่ให้ทัน แต่ยังตามไม่ทัน แต่ตอนนี้เขาวิ่งไม่ทันผมแล้ว" คีรินเล่าเรื่องสมัยเด็กพร้อมรอยยิ้ม พร้อมกับเล่าถึงคุณพ่อ ดร.วรเวช ตันติเวทย์ ว่า สนับสนุนให้ 2 พี่น้องเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็กด้วย
ส่วนชนันต์ในตอนนี้อายุ 28 ปี อยู่ที่สหรัฐฯ เช่นกัน ชนันต์ยังคงวิ่งอยู่แต่เป็นการวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ หากวันที่คีรินไม่ได้วิ่งเร็วมากนักทั้ง 2 คนก็จะวิ่งด้วยกัน ชนันต์บอกว่า "ผมชอบวิ่งนะ ปกติวิ่ง 5 กิโลเมตร ถึงฮาล์ฟมาราธอน แต่ชอบวิ่งเทรล ถ้าทำเวลาได้ดีก็อยากแข่งให้ทีมชาติไทยเหมือนกัน"
บรรยากาศของครอบครัวตันติเวทย์ ถือว่า เต็มไปด้วยความอบอุ่น ของพ่อแม่ลูก และพี่ชายกับน้องชาย โดยมีคุณพ่อเป็นกุญแจสำคัญหล่อหลอมความมุ่งมั่นให้กับคีรินในด้านความเป็นเลิศทางการกีฬา และความเป็นเลิศทางการศึกษา ซึ่งทั้ง 2 อย่าง เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้คีรินเข้าสู่การเป็นนักวิ่งมืออาชีพ
ม.ฮาร์วาร์ดจารึกชื่อ "คีริน"
คีรินตอนอายุประมาณ 14 ปี ได้ค้นพบความชอบของตัวเองกับการวิ่ง การได้ทำกิจกรรมกับเพื่อน มีเพื่อนเพิ่มขึ้น ทำให้คีรินเลือกใช้เวลาว่างจากการเรียนกับการวิ่งตลอดมา โดยในช่วงแรกเคยเล่นฟุตบอลไปด้วย แต่สุดท้ายก็เลือกโฟกัส กับการวิ่งมากกว่า จึงเลิกเตะฟุตบอลไป
จากนั้นก็พัฒนาไปสู่การแข่งขัน และชนะเป็นครั้งแรกในตอนที่ยังเรียนอยู่ระดับมัธยมปลายเป็นการแข่งแบบครอสคันทรี ระยะ 5000 เมตร เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วิ่งต่อไป และวิ่งมาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย
หลายคนอาจเคยทราบถึงโปรไฟล์ด้านการเรียนที่ยอดเยี่ยมของคีริน โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยคีรินเข้าเรียนที่คณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผลการเรียนระดับดีมากเกิดขึ้นควบคู่กับการเข้าสู่ชมรมวิ่งของมหาวิทยาลัย
คีรินเล่าถึงบรรยากาศการอยู่ที่ชมรมวิ่งฮาร์วาร์ดว่าอบอุ่นและสนุกมาก ชมรมวิ่งมหาวิทยาลัยคือความทรงจำที่ดีมากในช่วงวัยรุ่น "ที่มหาวิทยาลัยสนุกมาก ในทีมมีนักวิ่งหลายคน เราซ้อมด้วยกัน อยู่ด้วยกัน พักด้วยกันที่หอพัก ทั้งเรียนและวิ่งด้วยกัน กินเที่ยวด้วยกัน มันสนุกมาก"
และเมื่อปี 2019 คีรินได้ถูกพูดถึงไปทั้งสถาบัน ในวันที่เกิดรองเท้าหลุดระหว่างแข่งระยะ 3000 เมตร งานไอวี่ลีก งานรวมมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของสหรัฐฯ แต่เขายังวิ่งต่อจนจบด้วยรองเท้าข้างเดียว เข้าเส้นชัยอันดับ 1 ทั้งที่รองเท้าหลุดตั้งแต่ 500 เมตรแรก และต้องวิ่งต่อด้วยเท้าเปล่าอีก 2500 เมตร
ชื่อของคีรินจึงถูกบันทึกไว้ในฐานะนักวิ่งของฮาร์วาร์ด ที่วิ่งได้ดีที่สุดในระยะ 1 ไมล์ ด้วยเวลา 3:57.36 นาที ซึ่งเป็นสถิติประเทศไทยในปัจจุบัน ผลงานที่ยอดเยี่ยมทำให้ฮาร์วาร์ดเผยแพร่บทความชื่นชมลงบนเว็บไซต์ พร้อมบันทึกเรื่องราวของหนุ่มลูกครึ่งไทยรายนี้ในฐานะนักวิ่งชายแห่งปี 2020
ในตอนนั้นคีรินให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “โดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากทำได้ดีในฐานะทีมชาติไทย โดยยังคงเป็นนักวิ่งของมหาวิทยาลัยต่อไป และหวังว่าจะได้มีโอกาสไปแข่งขันโอลิมปิก และกรีฑาชิงแชมป์โลก ผมหวังว่าจะวิ่งได้อย่างมืออาชีพ” จากนั้นคีรินก็ทำได้ตามสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้
เบื้องหลังเหรียญแรกในฐานะทีมชาติไทย
ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2018 มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชีย เป็นสนามแรกในฐานะนักวิ่งทีมชาติไทยของ คีริน ตันติเวทย์ ที่ลงแข่งขันระยะ 10000 เมตร คีรินลงสนามพร้อมกับนักวิ่งระดับเอเชียและระดับโลกหลายคน ทั้งจากประเทศจีน บาห์เรน ซึ่งแต่ละคนมีสถิติที่น่ากลัวทั้งนั้น
ในวันนั้นคีรินวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 4 ตามหลังนักวิ่งจากบาห์เรน 2 คน ที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 และ 2 ส่วนทีมชาติจีนเป็นอันดับ 3 โดยมีคีรินวิ่งตามมาติดๆ แต่นักวิ่งจากบาห์เรนถูกตรวจพบสารกระตุ้น คีรินจึงคว้าเหรียญทองแดงแรกให้ทีมชาติไทยได้สำเร็จด้วยเวลา 30:29 นาที
คีรินจำเรื่องราวในวันนั้นได้อย่างดี เพราะเป็นก้าวแรกของเขาในฐานะทีมชาติ "ทั้งสนุก และภูมิใจมาก ก่อนหน้านั้นผมก็อยากติดทีมชาติ แต่ยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ และเรียนหนักมาก แต่ในที่สุดก็ทำได้ตามความตั้งใจ"
เบื้องหลังการติดทีมชาติของคีริน เริ่มต้นก่อนหน้าเอเชียนเกมส์ที่อินโดนีเซีย 2 ปี โดยเมื่อปี 2016 คีรินและคุณพ่อเดินทางมาประเทศไทย และได้เข้าพบกับผู้ใหญ่ของสมาคมกีฬากรีฑาฯ ซึ่งก็คือ พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักวิ่งทีมชาติไทย
นักวิ่งที่ให้ความสำคัญกับการเรียน
ช่วงแรกของการติดทีมชาติ คีรินยังอยู่ในช่วงเรียนปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และอยู่ในฐานะนักวิ่งสมัครเล่นของชมรมประจำมหาวิทยาลัย จึงเก็บตัวอยู่ที่สถาบัน หลังผ่านเอเชียนเกมส์ปี 2018 คีรินก็กลับมาแข่งซีเกมส์ในปีถัดมา และกลายเป็นลูกรักของคนไทย
ซีเกมส์ 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ คีรินประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะทีมชาติ ทำได้ 2 เหรียญทองซ้อนจากการแข่งวิ่งระยะ 10000 เมตร และ 5000 เมตร เป็นชัยชนะแบบเหนือชั้น ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักเขา รวมไปถึงแฟนกีฬาทั่วภูมิภาคอาเซียน
แต่ในตอนนั้น คีรินซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนมาก ไม่ได้อยู่รับเหรียญทองไป 1 เหรียญเพราะต้องรีบกลับไปสอบ ซึ่งที่จริงแล้วคนไทยเกือบไม่ได้เห็นเหรียญทองนั้น เพราะคีรินจะกลับก่อนเนื่องจากกังวลว่าจะกลับไปสอบไม่ทัน แต่สุดท้ายสมาคมฯ ได้ขออนุญาตมหาวิทยาลัยจนคีรินสามารถอยู่แข่งขันได้จนจบ
"ดีใจและภูมิใจที่คีรินทำได้ตามความคาดหวัง และทำสำเร็จได้ตามความตั้งใจ ตามสิ่งที่ตัวเองตั้งใจทำมาตลอด เป็นความฝันของคีรินเอง ซึ่งตัวพ่อก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ โดยเฉพาะการเป็นที่รักของทุกคน" คุณพ่อวรเวช เล่าความรู้สึกที่มีต่อลูกชาย
นักวิ่งไทยคนแรกในทีมวิ่งอาชีพสหรัฐฯ
เมื่อจบการศึกษาแล้ว คีรินก้าวเข้าสู่การเป็นนักวิ่งอาชีพแบบเต็มตัว โดยได้รับการเปิดตัวในฐานะนักวิ่งของทีม "โบเวอร์แมน แทร็คคลับ" ทีมวิ่งอาชีพของสหรัฐฯ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น 1 ในทีมวิ่งที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ สร้างนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมทั้งชายและหญิง จากหลายประเทศทั่วโลก และสถิติการวิ่งระดับโลก
นี่คือนักวิ่งไทยคนแรกที่ได้ร่วมทีมวิ่งอาชีพสหรัฐฯ ทำให้ทั้งคีรินเองและทีมวิ่งโบเวอร์แมนฯ โด่งดังมากยิ่งขึ้นในวงการวิ่ง โดยเฉพาะความชื่นชอบของคนไทยที่มีต่อทีมโบเวอร์แมนฯ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยในทีมโบเวอร์แมนฯ นั้นประกอบด้วยนักวิ่งระดับหัวกะทิจากทั่วโลก เฉพาะนักวิ่งชายทีมวิ่งนี้ได้รวมตัวท็อปของโลกไว้หลายคน
ไล่ไปตั้งแต่คีริน ทีมชาติไทย, แกรนท์ ฟิชเชอร์, แมทธิว เซ็นโทรวิทซ์ และวูดดี้ คลินเคท ทีมชาติสหรัฐฯ, โม อาเหม็ด ทีมชาติแคนาดา, มาร์ค สก็อตต์ จากสหราชอาณาจักร ทุกคนอยู่ด้วยกัน ซ้อมวิ่งในทีมวิ่งเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อความสำเร็จและสถิติที่ดีขึ้นของแต่ละคน
คีรินเล่าว่า บรรยากาศในทีมเหมือนกับครอบครัว แต่ความเข้มข้นของการซ้อมก็มีความเป็นมืออาชีพมาก "ซ้อมกับทีมโบเวอร์แมนหนักมาก แต่ก็สนุกมาก ผมเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนในทีมอีก 11 คน เราทุกคนเป็นเพื่อนสนิทกัน ซ้อมด้วยกัน เหนื่อยแต่ก็สนุกไปด้วยกัน"
เป้าหมายของโบเวอร์แมนฯ คือ "สถิติ" และเป้าหมายนั้นเกิดกับคีรินด้วย นั่นคือการทำเวลาผ่านควอลิฟายไปแข่งขันโอลิมปิกได้สำเร็จ โดยทำเวลา 10000 เมตรได้ 27:17.14 นาที เป็นสถิติใหม่ประเทศไทย และสถิติที่ดีที่สุดอันดับ 29 ของโลก จากการจัดอันดับของกรีฑาโลก หรือ worldathletics
แม้โอลิมปิกที่โตเกียวจะเผชิญการระบาดของโควิดจนล่าช้าไป 1 ปี แต่เมื่อได้กลับมาจัดในปี 2021 มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกก็เต็มไปด้วยนักกีฬาที่ดีที่สุดมารวมตัวกันทุกชนิดกีฬา รวมถึงการวิ่ง "ไม่เคยคิดว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้ ที่ได้ไปไกลจนถึงโอลิมปิก ผมเคยฝันว่าวันนึงจะทำได้ และดีใจที่ทำได้สำเร็จจริงๆ ตอนลงแข่งสนามจริงๆ ที่โตเกียว ผมตื่นเต้นมาก และเป็นประสบการณ์ที่ดีมากจริงๆ"
ปัจจุบัน (2022) คีรินถือครองสถิติที่ดีที่สุดของประเทศไทยรวม 9 รายการ ทั้งประเภทในร่ม และกลางแจ้ง และสถิติทวีปเอเชีย ระยะ 5000 เมตร ด้วยเวลา 13:08.41 นาที นั่นเป็นการพิสูจน์ความเป็นนักวิ่งอาชีพที่แท้จริงของคีริน
ความเป็นไทยในตัว "คีริน"
แม้จะเกิดและโตในสหรัฐฯ แต่คีรินมีความเป็นไทยในตัวเองอยู่มาก โดยคุณพ่อวรเวช ให้ลูกชายทั้ง 2 คน คือ คีรินและชนันต์ได้เรียนภาษาไทย จึงทำให้คีรินและพี่ชายทั้งอ่าน พูด และเขียนภาษาไทยได้ ครั้งแรกที่นักข่าวเคยได้สัมภาษณ์คีริน เป็นการไปส่งคีรินที่สนามบิน เพื่อไปแข่งซีเกมส์ที่ประเทศฟิลิปปินส์
ด้วยความที่สื่อทราบว่าคีรินเป็นลูกครึ่ง จึงสัมภาษณ์ด้วยภาษาอังกฤษ แต่คำตอบที่ได้รับกลับมากลายเป็นภาษาไทย โดยคีรินบอกว่า "พูดไทยได้ครับ ขอตอบคำถามเป็นภาษาไทย" และกล่าวขอบคุณคนไทยที่รอเชียร์เขา ซึ่งสุดท้ายคีรินก็มอบของขวัญให้คนไทยด้วยการสวมเสื้อทีมชาติไทย เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ทั้ง 2 รายการ
คีรินยังชอบอาหารไทย และแบ่งปันความชอบของเขาให้เพื่อนในแคมป์ทีมโบเวอร์แมน ผ่านฝีมือทำอาหารไทยของตัวเอง "ผมชอบอาหารไทย ผมทำอาหารให้เพื่อนในทีมกิน ทุกคนกินแล้วบอกว่าอร่อย" คีรินเล่าแล้วหัวเราะแบบเขินๆ ซึ่งเมนูที่ทำให้เพื่อนในทีมก็คือ "ผัดไทย" อาหารไทยยอดนิยมที่คนทั่วโลกชื่นชอบ
"ผมชอบเมืองไทย ผมเคยมาเมืองไทยเพื่อพบญาติๆ ผมอยากกลับไปเมืองไทยอีกครั้ง ปีนี้เมื่อจบการแข่งเวิล์ดแชมป์เปี้ยนชิปก็อยากกลับเมืองไทย" การแข่งเวิล์ดแชมป์เปี้ยนชิป หรือ กรีฑาชิงแชมป์โลกนั้น เพิ่งจบไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คีรินสวมเสื้อทีมชาติไทยลงแข่งขัน จบเป็นอันดับ 19 จากผู้แข่งขัน 22 คนในฮีต
แม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อยในรายการนี้ แต่คีรินได้แสดงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ตลอดทั้ง 25 รอบสนาม นับเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ร่วมแข่งกรีฑาชิงแชมป์โลก โดยคีรินบอกว่าอยากทำเวลาของตัวเองให้ดีกว่าโอลิมปิกที่โตเกียว
"ผมอยากแข่งให้ทีมชาติไทยไปเรื่อยๆ รวมถึงซีเกมส์ที่กัมพูชาปีหน้า (2023) ผมดีใจที่ทุกคนสนับสนุนและให้กำลังใจ ได้อ่านข้อความทั้งหมด เป็นพลังให้กับผมอย่างมาก"
12 กันยายน 2565 คีรินได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง เพื่อท้าชิงการทำสถิติประเทศไทยทางถนนระยะ 10 กิโลเมตร ในรายการแข่งขัน บางแสน10K เป้าหมายเพื่อสถิติประเทศไทย นับเป็นการเปิดตัวในการแข่งขันทางถนนในประเทศไทยครั้งแรกของคีริน
ทั้งนี้ แม้ คีริน จะพลาดการคว้าแชมป์โดยเข้าเส้นชัยตามหลัง จอห์น เอ็มบูรู จาก เคนยา 9 วินาที อย่างไรก็ตามเขายังทำลายสถิติประเทศไทยได้สำเร็จ ทำให้ได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท จากกิจกรรม "M-150 Break the Record" ซึ่งสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม M-150 มอบให้นักวิ่งไทยที่ทำลายสถิติการวิ่งถนนของประเทศไทย รายการ มาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน และวิ่ง 10 กิโลเมตร ส่งผลให้ คีริน ตันติเวทย์ ถูกจารึกชื่อไว้ในฐานะ "ผู้ถือครอง 10 สถิติประเทศไทย"
TAG ที่เกี่ยวข้อง