stadium

โยชิ คาวางูชิ ปาฏิหาริย์ลูกหนังอีกครั้งใน โอลิมปิก 2020

19 มกราคม 2563

เขาคือผู้รักษาประตูที่ติดทีมชาติมากที่สุดของญี่ปุ่น เป็นผู้รักษาประตูจากญี่ปุ่นคนแรกที่เล่นฟุตบอลอาชีพในสโมสรยุโรป ชื่อเสียงของเขาถูกยกให้เป็นหนึ่งในนายด่านที่เก่งกาจที่สุดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้รักษาประตูรุ่นใหม่ของประเทศญี่ปุ่น

 

ด้วยวัย 44 ปี โยชิคัตสุ คาวางูชิ เพิ่งจะประกาศแขวนถุงมือจากกรอบประตูเมื่อปี 2018 ยุติเส้นทางการค้าแข้งกว่า 20 ปี ผ่านเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อมากมาย เส้นทางใหม่ที่กำลังรอตำนานคนนี้อยู่คือบทบาทโค้ชผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นชุดอายุไม่เกิน 23 ปี ที่จะมีภารกิจสำคัญในการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียวในปีหน้า กับความคาดหวังที่จะสร้างปาฏิหาริย์ให้กับแดนอาทิตย์อุทัยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1996 ที่แอตแลนตา

 

 

ปาฏิหาริย์แห่งแอตแลนตา 1996

 

ย้อนไปเมื่อปี 1996 ในการแข่งขันฟุตบอลชายของ โอลิมปิกเกมส์ ที่นครแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมชาติญี่ปุ่นชุดโอลิมปิกเป็นหนึ่งใน 3 ตัวแทนของทวีปเอเชียและเข้ารอบมาในฐานะที่สองของรายการชิงแชมป์เอเชีย ทัพ “ซามูไรน้อย” เป็นหน้าใหม่แกะกล่องของฟุตบอลชายโอลิมปิกอย่างแท้จริง

 

เพราะพวกเขามาถึงรอบสุดท้ายในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกเท่านั้น เมื่อเทียบกับทีมชาติเกาหลีใต้ที่เป็นหน้าประจำ

ตัว คาวางูจิ เองเพิ่งจะอายุเพียง 19 ปีตอนที่ถูกเรียกมาติดทีมชาติเล่นรอบคัดเลือก ซึ่งในตอนนั้นเพิ่งจะจบ ม.ปลายได้เพียง 2 ปี และลงสนามใน เจลีก ให้กับ โยโกฮาม่า ฟลูเกล (โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส) ได้เพียงฤดูกาลเดียว

 

อย่างไรก็ตามกุนซือของทีมชาติญี่ปุ่นในเวลานั้นอย่าง อากิระ นิชิโนะ ได้เชื่อมั่นในตัวนายด่านหนุ่มจากจังหวัดชิสุโอกะให้เป็นมือหนึ่งของญี่ปุ่น และนั่นถือเป็นการตัดสินใจที่สร้างสิ่งมหัศจรรย์ในการแข่งฟุตบอลโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติ

 

โชคของญี่ปุ่นช่างไม่ดีเอาซะเลย เมื่อจับสลากมาอยู่ร่วมสายกับทีมชาติไนจีเรีย, ทีมชาติฮังการี และทีมชาติบราซิล ที่อุดมไปด้วยว่าที่สตาร์ดังระดับโลกทั้ง ริวัลโด, โรนัลโด, เบเบโต้ และ โรแบร์โต้ คาร์ลอส และในเกมแรกทีมชาติญี่ปุ่นต้องเจอกับขุนพล “เซเลเซา” ซะด้วย

 

แม้ญี่ปุ่นชุดใหญ่เพิ่งจะสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์เอเชียครั้งแรกได้เมื่อปี 1992 แต่มันแทบไม่มีค่าเลยในระดับโลก 23 ผู้เล่นชุดนั้นไม่มีใครเล่นในยุโรปด้วยซ้ำ โควตาอายุเกินก็ไม่มี ใครคิดใครเห็นก็ว่าญี่ปุ่นโดนเละเทะแน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่คิดแม้แต่นิดเดียว

 

 

สักขีพยานกว่า 46,000 คนที่สนาม โอเรนจ์ โบวล์ ที่ไมอามี่ คาดหวังจะได้เห็นหนังบู๊ที่บราซิลปูพรมบุกใส่ญี่ปุ่นแบบไม่ไว้หน้า ซึ่งรูปเกมก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่เหลือเชื่อว่าโอกาสยิงกว่า 28 ครั้งในเกมนั้น ไม่สามารถผ่านมือของ คาวางูชิ ได้เลย หนำซ้ำยังพลาดท่าเสียประตูให้ญี่ปุ่น

 

ด้วยความผิดพลาดของกองหลังอีกต่างหาก จบ 90 นาทีทีมชาติญี่ปุ่นของ อากิระ นิชิโนะ สร้างปาฏิหาริย์ล้มทีมชาติบราซิลได้สำเร็จ จนกลายเป็นตำนานที่ประวัติศาสตร์จดจำในชื่อ “ปาฎิหารย์แห่งไมอามี่” (Miracle of Miami) และสื่อฟากตะวันตกยกให้เกมดังกล่าวเป็น “แมตช์ที่พลิกล็อคที่สุดในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโอลิมปิกเกมส์”

 

หลังจากเกมนั้น ชื่อเสียงของฟุตบอลแดนปลาดิบก็เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น กุนซืออากิระ นิชิโนะ ได้รับการยกย่องจากสื่อในประเทศก่อนที่อีกสองปีต่อมา จะขยับไปสร้างตำนานให้กับสโมสรชั้นนำในประเทศ

 

นอกจากนี้มิดฟิลด์วัย 19 ปีชื่อ ฮิเดโตชิ นากาตะ จากสโมสรฟุตบอลริมทะเล จะเติบโตไปเป็นกองกลางระดับโลก ในขณะเดียวกัน โยชิ คาวางูชิ ก็เดินหน้าสู่การเป็นตำนานทีมชาติญี่ปุ่น พร้อมกับฉายา “นายด่านแห่งไฟ” ในอนาคตด้วย

 

จากญี่ปุ่นสู่อังกฤษ และปลายทางของตำนานในวัย 43 ปี

 

คาวางูชิ กลับมาลงสนามให้ โยโกฮาม่า จนถึงปี 2001 ก่อนจะตัดสินใจย้ายไปค้าแข้งต่างแดนในเกาะอังกฤษกับ พอร์ทสมัธ ซึ่งได้เลื่อนชั้นไปเล่นในลีกสูงสุดพอดี

 

อย่างไรก็ตามแม้จะลงสนามไป 12 นัดตลอด 2 ฤดูกาลกับ “ปอมปีย์” แต่ก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก แต่การไปเล่นบน พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ของ คาวางูชิ ถือเป็นการเปิดทางให้กับรุ่นน้องอีกหลายๆ คนที่จะตามเขาไปยุโรปในอีกหลายๆ ปีต่อมา

 

แม้ว่าในช่วงเวลาของสโมสรอาชีพจะทุลักทุเลในต่างแดน แต่บทบาทของเขากับทีมชาติญี่ปุ่น ยากจะหาใครมาเบียด คาวางูชิ ในเวลานั้น เขาก้าวขึ้นไปสู่ทีมชาติชุดใหญ่ของ “ซามูไรบลู” ตั้งแต่อายุเพียง 21 ปี และลงสนามเป็นตัวจริงในฟุตบอลโลก 1998 และเป็นตัวจริงของญี่ปุ่นชุดคว้ารองแชมป์ คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ ปี 2001

 

คาวางูชิ ขึ้นชื่อในเรื่องของการเซฟจุดโทษเป็นอย่างยิ่ง มีหลายครั้งที่เมื่อถึงช่วงดวลเป้าหาผู้ชนะ ญี่ปุ่นมักผ่านไปได้ด้วยการเซฟของนายด่านเจ้าของความสูง 180 เซนติเมตร ในเอเชี่ยนคัพ 2004 คาวางูชิ เซฟถึง 2 จุดโทษช่วยให้ทีมชาติญี่ปุ่นเอาชนะจอร์แดน คว้าแชมป์ เอเชียน คัพ ไป

 

นอกจากนี้ในปี 2007 แม้ว่าญี่ปุ่นจะจบที่อันดับสี่แต่ในรอบน็อคเอาท์ คาวางูชิ ก็เซฟจุดโทษของสตาร์ออสเตรเลียอย่าง แฮรี่ คีเวลล์ และ มาร์ค วิดูก้า ได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้เขาได้รับฉายา “ปราการแห่งไฟ” จากการเซฟอันเหลือเชื่อในหลายครั้ง บวกกับเสื้อผู้รักษาประตูยุคคลาสสิคของทีมชาติญี่ปุ่นที่เป็นลายเพลิงนั่นเอง

 

บทบาทของเขากับทีมชาติเริ่มหายไปหลังจากการแจ้งเกิดของ เออิจิ คาวาชิม่า นายด่านรุ่นน้องที่รูปร่างดีกว่า และโตมาในยุคที่ญี่ปุ่นมีความแข็งแกร่งอย่างเต็มตัว คาวางูชิ ติดทีมชาติครั้งสุดท้ายในฐานะมือกาวสำรองร่วมกับคู่แข่งตลอดกาลอย่าง เซโกะ นาราซากิ ในฟุตบอลโลก 2010 ติดธงรวมทั้งสิ้น 116 นัดมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของทัพ “ยาตะการาสุ”


 

 

 

บทบาทโค้ช และแรงบันดาลใจให้กับนักเตะรุ่นใหม่

 

คาวางูชิ ออกจาก จูบิโล่ อิวาตะ ใน เจลีก วัน เมื่อปี 2013 และไม่สามารถหาสโมสรในลีกสูงสุดได้อีกด้วยวัยใกล้เลขสี่เต็มที แม้ว่าตัว คาวางูชิ จะมีความกระหายเหมือนที่เขาเฝ้าเสาให้ทีมชาติ แต่ร่างกายของเขาไม่พร้อมสำหรับลีกสุงสุดอีกต่อไป อย่างไรก็ตามด้วยชื่อเสียงของเขา ทำให้มีทีมเล็กในลีกรองสนใจดึงไปร่วมทีม

 

เขาย้ายไปร่วมทัพ เอฟซี กิฟุ ใน เจลีก ทรี และ เอสซี ซากามิฮาระ ซึ่งเป็นสโมสรสุดท้ายในอาชีพของเขา การใช้ชีวิตในลีกรองทำให้ คาวางูชิ ได้พบกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ตำนานของเขาที่เคยขีดเขียนไว้สมัยรับใช้ชาติสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในจังหวัดเล็กอย่างกิฟุ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เขามีความสุขกับปลายทางชีวิตการค้าแข้ง

 

หลังจากแขวนถุงมือ คาวางูชิ เริ่มเรียนโค้ชทันที โดยเขาเลือกที่จะเรียนในสายของ Goalkeeper Licensed ตามที่เจ้าตัวถนัด ซึ่งเพียงปีเดียวทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่นก็แต่งตั้งให้เขามารับตำแหน่งโค้ชผู้รักษาประตูให้กับทีมชุด U-19 ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ก่อนที่ปีนี้จะขยับขึ้นมารับตำแหน่งเดิมให่กับชุด U-23 ที่จะต้องแข่งขันใน โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020

 

แม้จะเป็นนายประตูระดับตำนานของทีมชาติญี่ปุ่น แต่กับเส้นทางโค้ชแล้วยังถือว่าใหม่มาก แต่โค้ชใหญ่ของชุดปรีโอลิมปิก ฮาจิเมะ โมริยาสุ มองว่าชื่อเสียงของ คาวางูชิ นั้นเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนายประตูวัยหนุ่มได้

 

เคย์ซึเกะ โอซาโกะ และ โคเซ ทานิ ประตูวัยเยาว์ของชุดโอลิมปิก ต่างโตมาโดยมี คาวางูชิ เป็นไอดอลแทบทั้งสิ้น ที่สำคัญประสบการณ์ในการสร้างปาฎิหารย์เมื่อปี 1996 เป็นอีกสิ่งที่โค้ชใหญ่คาดหวังในการนำพานักเตะรุ่นน้องเหล่านี้เดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ในการคว้าเหรียญรางวัลของการแข่งขันฟุตบอลมาให้ได้


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

Kapeebara

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose