stadium

ยุวดี พันธ์นิคม : Terry Fox เมืองไทย ผู้ส่งมอบกำลังใจด้วยการออกวิ่ง

13 กันยายน 2565

คุณจะทำอย่างไรถ้าตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่าอวัยวะสำคัญอย่างเช่น ขา ของคุณหายไป ซ้ำร้ายไปกว่านั้นมันยังมาพร้อมกับโรคร้ายอย่าง "มะเร็ง" เชื่อเหลือเกินว่ามีไม่น้อยที่ทึกทักไปแล้วว่าชีวิตนี้คงหมดสิ้นแล้วในทุกสิ่ง นั่นคงไม่ต่างอะไรกับ "ออย" ยุวดี พันธ์นิคม ผู้หญิงหัวใจแกร่งที่ครั้งหนึ่งเคยมีความคิดว่า "โลกใบนี้ช่างโหดร้ายกับเธอนัก"

 

ออยต้องประสบโชคชะตาอันเลวร้ายเมื่อช่วงชีวิตหนึ่งของเธอความตายเดินมาหายใจรดต้นคอ เส้นบางๆ ระหว่างความเป็นและความตายอยู่ตรงหน้า จะหายใจต่อหรือพอใจแล้วกับชีวิตนี้? คือสิ่งที่เธอต้องเลือกเมื่อสภาพร่างกายที่เข้าขั้นวิกฤต แต่สิ่งเดียวที่ทำให้เธอก้าวข้ามเส้นกลั้นนั้นมาได้นั่นคือความเชื่อในใจ

 

"วันหนึ่งจะต้องกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติให้ได้"

 

นี่ไม่ใช่ "เทอร์รี่ ฟ็อกซ์" อย่างที่ใครรู้จัก แต่เป็นหญิงแกร่งที่พร้อมจะส่งมอบกำลังใจให้กับคนที่กำลังท้อแท้ วันนี้ StadiumTH จะพาท่านผู้อ่านไปค้นหัวจิตหัวใจของออยพร้อมกัน

 

ภาพจาก FB : Oil Phanni

 

โลกทั้งใบหล่นทับ

 

ช่วงชีวิตวัยเด็กของใครหลายๆ คนต่างเป็นช่วงวัยที่กำลังสุขสนุกกับการใช้ชีวิตที่อิสระ เพลิดเพลินกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมๆ กับความฝันที่สดใส แต่กับออยนั้นไม่ใช่เพราะสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่เคยเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้เธอเห็นเลย ชีวิตส่วนใหญ่ของเธอถูกใช้ไปกับการรักษาโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายอย่าง "มะเร็ง" 

 

"ตอนอายุ 14 เราเป็นมะเร็งกระดูก ตอนแรกก็ไม่รู้หรอก รู้แค่ว่ามันปวดที่ขาอยู่บ่อยๆ เราก็ไม่รู้นึกว่ามันเป็นแค่อาการปวดธรรมดาก็เลยไม่สนใจ แต่อาการมันหนักขึ้นเรื่อยๆ ปวดจนเราทนไม่ไหวก็เลยต้องไปหาหมอแล้วก็ได้รู้ว่ามันคือมะเร็งกระดูกและมันลุกลามไปจนถึงปอดทั้งสองข้าง จึงจำเป็นต้องทำการตัดขาซ้ายทิ้งไป ส่วนการรักษานั้นเราได้ทำการรับคีโมเพื่อดูว่าก้อนมะเร็งที่ปอดนั้นยุบลงมั้ย ปรากฏว่ามันยุบลงแค่ก้อนเดียว ส่วนอีกสองก้อนมันไม่ยุบตามไปด้วย พร้อมกับที่ร่างกายเรามันรับยาไม่ไหวแล้ว หมอก็เสนอแนวทางมาให้เราตัดสินใจเอาว่าจะตัดปอดทิ้งเลยมั้ย เพราะตอนนั้นเราเหนื่อยกับการรับยาและการทำคีโมมากๆ ก็เลยจำเป็นต้องตัดปอดทิ้ง"

 

นับจากนั้นมาการรักษาที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด กลับทำให้สภาพร่างกายของออยแย่ลงไปอีก เพราะหลังจากที่ตัดอวัยวะสำคัญทิ้งไปแล้วเหมือนว่าอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นทวี

 

 

ภาพจาก FB : Oil Phanni

 

"แผนการรักษาในตอนนั้นคือการให้คีโมต่อให้ครบ แต่พอผ่านไปแค่ 8 คอร์ส กลับมีเลือดออกที่ลูกตาดำ ซึ่งหมอก็บอกกับเราว่าแบบนี้จะทำให้ตาเราบอดได้ก็เป็นอันต้องยุติการให้ยาและหยุดการทำคีโมไปด้วย ในตอนนั้นก้อนมะเร็งมันกัดกินที่ปอดทั้งสองข้างเลย แต่ก้อนข้างขวามันไม่ยุบเลยต้องตัดทิ้ง"

 

นับจากวันนั้นจวบจนวันนี้ออยยังต้องเข้ารับการ CT Scan ทุกๆ 5 ปีเพื่อดูว่าก้อนมะเร็งขนาด 6 มิลลิเมตรที่ยังเป็นอุปสรรคก้อนโตกีดขวางชีวิตของเธอนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งออยยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นด้วยคำพูดที่เสียดแทงใจของแพทย์ผู้ให้การรักษาว่า "ไม่ฟันธงว่าจะหายขาดนะ" นั่นจึงทำให้เธอต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคร้ายนี้มานานกว่า 20 ปี

 

ย้อนความคิดของออยกลับไปในช่วงวัยที่กำลังสนุกกับการใช้ชีวิต เธอยอมรับว่าในเวลานั้นชีวิตของเธอเหมือนถูกโลกทั้งใบหล่นทับ บดและขยี้ร่างกายและจิตใจของเธอจนแตกสลาย

 

"เราคิดว่าเราต้องตายแน่ๆ แล้ว เพื่อนในกลุ่มเดียวกันยังพูดกับเราด้วยว่าให้เป็นโรคเอดส์ยังดีกว่ามาเป็นมะเร็ง เพราะไม่ต้องตัดขาทิ้งมันควบคุมได้ แต่กับมะเร็งนั้นรอวันตายอย่างเดียวเลย ซึ่งมันก็จริงแต่เรากลับมาคิดว่าเพิ่งจะเกิดมาดูโลกได้แค่ 14 ปีเองบุญคุณพ่อแม่ก็ยังไม่ได้ทดแทนจะรีบตายไปไหน มันเลยทำให้เรารู้สึกว่ายังอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่หมอก็บอกกับเราอีกว่าถ้าเป็นแบบนั้นก็จำเป็นต้องตัดขาทิ้งถ้าไม่ก็จะอยู่ได้แค่ 2-3 ปีเท่านั้น มันไม่มีทางเลือกก็เลยจำเป็นต้องทำ"

 

ในเมื่อไม่มีทางเลือกและประตูทางออกมีเพียงช่องทางเดียว ออยจึงจำใจสละปอดและขาซ้ายทิ้งเพื่อรักษาชีวิตที่เหลือของเธอไว้เพื่ออยู่ดูโลกที่เคยหล่นทับเธอมาเกือบทั้งชีวิต

 

ภาพจาก FB : Oil Phanni

 

ยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลง

 

มันเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากเมื่อรู้ว่าอวัยวะสำคัญอย่างเช่นขาที่ออยใช้เดินจะไม่อยู่พยุงร่างให้เคลื่อนเดินอีกต่อไปแล้ว สิ่งเดียวที่เธอพอจะทำได้และต้องยอมรับในเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้งคือการเลือกใส่ขาเทียม

 

"ช่วงปีแรกๆ เราต้องอยู่แต่โรงพยาบาล นอนอย่างเดียวแทบไม่ได้ทำอะไรเลยเพราะเราไม่มีแรงบวกกับการที่เราต้องรับการรักษาด้วยคีโมอีกใช้เวลาอยู่แบบนั้นเกือบปีกว่าจะได้ขาเทียมมาใช้ บอกตามตรงว่าตอนนั้นเราลืมเรื่องที่จะกลับมาเดินได้ไปแล้วพอได้ขาเทียมมาเราต้องกลับไปฝึกเดินใหม่ ตอนแรกก็คิดว่ามันง่ายแต่ไม่ใช่เลยซึ่งมันเจ็บและอึดอัดสุดท้ายเราก็ต้องถอดมันทิ้งแล้วหันมาใช้ไม้เท้าพยุ่งตัวเดินแทน"

 

ออยสารภาพว่าช่วงแรกที่เดินไปไหนมาไหนด้วยไม้เท้านั้นเธอรู้สึกเขินอายต่อสายตาคนรอบข้างที่จ้องมองมาที่เธอ คำว่า "คนพิการ" กระตุกให้เธอต้องตระหนักคิดว่า "ทำไมต้องเป็นเรา" 

 

"ทั้งสภาพร่างกายที่ซีดเหลือง หัวก็โล้น มันทำให้เรารู้สึกอายมากๆ เวลาที่คนมองมาที่เรา"

 

ภาพจาก FB : Oil Phanni

 

ทว่าชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป ในเมื่อออยตั้งใจไว้แล้วว่าจะขอมีลมหายใจเพื่อบุพการีต่อไป แม้จะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใดเธอก็ไม่เคยคิดจะยอมจำนนต่อโชคชะตา

 

"เรายังมีพ่อกับแม่ที่ยังคอยช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างเราเสมอ ไหนจะมีเพื่อนๆ อีกที่คอยสนับสนุนเราตลอดมา จะไปไหนมาก็ให้พวกเขาช่วยเหลือ จนมาถึงช่วงอายุ 17 ปีเราเริ่มคิดได้ว่าจะอยู่แบบนี้ไม่ได้เพราะยังไงซะพ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอดทั้งชีวิต จึงหันกลับมาฝึกใช้ขาเทียมให้คล่องบวกกับไปเจอพี่ที่สนิทคนหนึ่งเขาแนะนำว่าให้ไปเข้าโรงเรียนฝึกสอนคนพิการที่นั่นเขาฝึกสอนทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งมันฟรีทุกอย่างทั้งค่ากิน ค่าเรียนเรามองว่ามันคืออนาคตจึงตัดสินใจเข้าไปเรียน"

 

ที่นั่นคือที่ๆ จุดประกายความคิดของออย เมื่อสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากสถาบันแห่งนั้นนอกจากความรู้เธอยังได้เห็นสัจธรรมของการใช้ชีวิตมากขึ้น

 

"เราคิดมาตลอดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันหนักหนาสาหัส แต่เมื่อเราได้ไปเห็นคนที่นั่นแล้วเรารู้ได้ทันทีเลยว่ายังมีคนที่อาการหนักกว่าเราอีกมาก หนักถึงขั้นต้องนั่งวีลแชร์ บางคนก็เป็นโปลิโอ เรารู้สึกว่าที่เราเป็นมันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับพวกเขา สิ่งที่เราพอจะทำได้ในตอนนั้นคือพยายามเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือคนอื่นๆ ซึ่งมันก็ทำให้เรากล้าที่จะใช้ชีวิตมากกว่าเดิม"

 

ภาพจาก FB : Oil Phanni

 

ก้าวข้ามข้อจำกัดของชีวิต

 

ต้องยอมรับด้วยความสัตย์จริงว่า สิ่งที่ออยได้เรียนรู้และเข้าใจถึงการมีชีวิตอยู่ส่งผลให้เธอมองโลกใบเดิมที่เคยทำร้ายเธอให้เจ็บเจียนตายแตกต่างออกไป ออยกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ว่าอะไรก็ตามรวมถึงแววประกายยามที่สบตากับผู้คนรอบข้าง ไม่มีความเขินอายอีกต่อไปแล้วสำหรับเธอ

 

"เมื่อเรามองย้อนกลับแล้วรู้สึกว่าเหมือนปล่อยเวลาให้เสียเปล่าโดยไร้ประโยชน์ เพราะเมื่ออายุเราเริ่มมากขึ้นก็ยิ่งต้องทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้นตามไปด้วยยิ่งสภาพร่างกายเราไม่เหมือนคนอื่นๆ ยิ่งจำเป็นต้องรักษาความสมบูรณ์ที่มีไว้ให้นานที่สุด จึงหันมาออกำลังกายด้วยการเดินจากนั้นพอเรารู้ว่าเราทำได้ก็เริ่มสร้างความท้าทายให้ตัวเองด้วยการออกวิ่งเบาๆ ซึ่งมันดีกับเรามาก"

 

เมื่อรู้ว่าอะไรคือข้อจำกัดในการใช้ชีวิต ออยก็คิดหาหนทางในการทลายกำแพงนั่นทิ้งไปเสีย เธอจึงออกวิ่ง วิ่งและวิ่ง เพื่อก้าวข้ามคำว่า "ผู้พิการ" 

 

"อยากจะบอกว่า ที่เราเปลี่ยนความคิดของตัวเองใหม่แบบนี้ก็เพราะโครงการ 'วิ่งสู่ชีวิตใหม่' ของ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ) ที่มีจุดประสงค์ให้ผู้พิการที่ไม่เคยเดินหรือวิ่งได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยได้ทำ จะบอกว่าการวิ่งให้ครบ 10 กิโลเมตรมันคือความฝันของผู้พิการเลยก็ว่าได้เพราะส่วนใหญ่จะวิ่งกันได้แค่ 5 กิโลเมตรเท่านั้นอย่างเราเองเต็มที่ก็แค่ 3-5 กิโลเมตรบางที่ยังเดินไม่พ้นหน้าบ้านด้วยซ้ำก็ล้มลงไปกองกับพื้นแล้ว"

 

ภาพจาก FB : Oil Phanni

 

ในโครงการดังกล่าวใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้ที่จะได้รับเลือก ทางโครงการได้มีวิธีการจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่จะเข้าร่วมด้วยการเขียนใบสมัครถ้าบุคคลใดเข้าเกณฑ์ก็ถือว่าบุคคลนั้นมีโอกาสได้ท้าทายตัวเอง

 

"ตอนนั้นเราเขียนใบสมัครไปให้กับพี่โอ๋ที่เป็นแอดมินเพจวิ่งแถวบ้าน ผลคือเราได้รับเลือกจากโครงการ ตอนนั้นเรายังทำได้แค่เดินอยู่เลยแต่เราก็ฟิตร่างกายอยู่ระยะหนึ่งจาก 50 วัน เพิ่มมาเป็น 100 วันต้องขอบอกว่าการวิ่งแบบนี้มันรู้สึกฟินมากๆ เราไม่เคยใจเต้นหรือทะยานขึ้นไปแบบนั้น จนสุดท้ายเราก็ได้เข้าร่วมวิ่งในรายการเฮลท์เดย์รัน 2019"

 

จากรายการวิ่งดังกล่าวทำให้ออยหญิงสาวที่เมื่อก่อนเดินไม่กี่ก้าวก็ล้มลงกลายมาเป็นผู้หญิงขาเทียมที่วิ่งได้ไกลด้วยระยะถึง 10 กิโลเมตรในเวลา 2 ชั่วโมง 9 วินาที!

 

ภาพจาก FB : Oil Phanni

 

เข้าใจและให้ความเคารพในตัวเอง

 

ด้วยความทะเยอทะยานอยากใช้ชีวิตแบบไร้ข้อจำกัดของออย มันจึงกลายเป็นตัวจุดประกายความหวังลึกๆ ในใจของเธอว่าสักวันหนึ่งจะต้องกลับมาก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยลำแข้งของตัวเองให้ได้แต่สิ่งที่ออยได้รับกลับมาไม่ใช่เพียงแค่ก้าวเดินแต่มันคือการสืบเท้าก้าววิ่งไปข้างหน้าอย่างภาคภูมิใจ

 

"เราแค่ชอบการวิ่งเพราะมันคือความสุขที่เรามี แม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ ไม่ไกลแต่นั่นก็เพียงพอแล้วไม่ได้หวังว่าจะต้องวิ่งให้ได้ระยะทางเป็น 20 กิโลเมตรหรือวิ่งระดับมาราธอนที่ต้องวิ่งก็เพราะเราจะเอามาเป็นเหตุผลในการออกกำลังกายจะ 3 กิโลเมตรหรือ 5 กิโลเมตรเราก็พอใจแล้ว ...

 

... แต่ก็ยังไม่วายที่คนปกติทั่วไปจะมาคาดหวังให้เราวิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้น นานขึ้น บางครั้งยังมีคำถามกับเราว่าทำไมถึงต้องออกท่าทางวิ่งแบบนั้นก็เพราะว่าเราต้องใส่ขาเทียมมันไม่ใช่ขาปกติแบบคนทั่วไป การวิ่งก็แตกต่างออกไปด้วยการวิ่งแบบจั๊มพ์เข่าข้างขวามันผิดวิธีซึ่งมันไม่ควรทำแบบนั้นเพราะเข่าเราจะเสียได้ถ้ายังทำแบบนั้นต่อไป เราเลือกที่จะผ่อนระยะเอาแบบว่าวิ่งไปซัก 100-200 เมตรก็พักหรือแล้วแต่ว่าเราเหนื่อยตอนไหนจากนั้นก็สลับมาเป็นการเดินแทนทำแบบนี้สลับกันไป"

 

เมื่อถามว่าตอนนี้ออยยังมีความรู้สึกเคอะเขินอยู่อีกหรือไม่ เธอตอบอย่างภาคภูมิใจว่า "ไม่มีความรู้สึกนั้นหลงเหลืออยู่อีกแล้ว"

 

"มันรู้จักการเคารพตัวเองมากขึ้นกลับกันมันยิ่งจะทำให้เรารู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่เราเป็น แต่ก็ไม่ค่อยชอบเวลาที่คนอื่นมองมาที่เราด้วยสายตาที่เราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรในใจ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไปในมุมที่ดี บางคนเขาก็เข้ามาถามด้วยความห่วงใย ด้วยความสุภาพ มีบ้างที่ถามว่าทำไมไม่ไปเลือกเล่นกีฬาที่เหมาะกับสภาพร่างกายของเราซึ่งเราก็ตอบไปว่าไม่รู้ว่าอะไรที่มันเหมาะสม การเลือกออกมาวิ่งก็เพราะว่ามันไม่จำเป็นจะต้องรอใครสามารถออกมาวิ่งคนเดียวได้เลย"

 

ภาพจาก FB : Oil Phanni

 

หลากกำลังใจที่ออยได้รับมันคือสิ่งวิเศษที่ผู้คนรอบข้างที่เข้าใจในสิ่งที่เธอเป็นมอบให้ แต่ก็ใช่ว่าสวยงามเสมอไปมีรักก็ย่อมมีชังออยบอกว่า มีบางครั้งที่คำพูดเสียดแทงเข้าไปถึงหัวใจ

 

"จำได้ไม่เคยลืมเลยว่ามีป้าอยู่คนหนึ่งที่พูดกับลูกแกว่าอย่าซนนะถ้าซนจะเป็นเหมือนพี่เขา ซึ่งเราได้ยินแล้วมันรู้สึกเสียใจมาก ใครฟังก็โมโหเข้าใจนะว่าจะสอนลูกแต่เรารู้สึกว่ามันเป็นการสอนที่ผิดวิธี บางครั้งมันก็ไม่ได้มาจากความซุกซนเสมอไป ถามว่าทำยังไงเราเลือกที่จะเดินออกมาจากตรงนั้นเลย เด็กก็มองเราแต่ก็เข้าใจได้ ส่วนมากจะเป็นเด็กๆ ที่ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเป็นเ ราก็ได้แต่บอกไปว่าพี่เป็นหุ่นยนต์กลางคืนพี่แปลงร่าง เด็กๆ ที่ได้ยินแบบนั้นเขาก็จะรู้สึกดีขึ้นมาหน่อย"

 

ออยฝากบอกด้วยว่า ถ้าใครไม่ชอบหรือไม่ยอมรับในสิ่งที่เธอเป็นขอให้พูดกับเธอตรงๆ ได้เลยเธอพร้อมและยินดีที่จะรับฟังเพราะคนเราย่อมมีเหตุผลของตัวเอง 

 

ภาพจาก FB : Oil Phanni

 

ผู้ส่งมอบกำลังใจ

 

ออยไม่เคยลืมตัวว่าสภาพร่างกายของเธอนั้นเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ทำให้เธอดูเหมือนคนปกติทั่วไปคือกำลังใจที่พร้อมจะส่งมอบให้เพื่อนที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน

 

"คนปกติเขาไม่มาสนใจเท่าไหร่ เขายินดีด้วยซ้ำที่คนอย่างเราๆ กล้าออกมาใช้ชีวิต กล้าที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเองไม่ได้งอมืองอเท้าแบมือขออยู่เฉยๆ แต่เป็นคนพิการเองนี่แหละที่มองว่าตัวเองไม่ดีพอ อย่างแรกเลยคือเขาเคยเป็นคนปกติแต่มาพิการทีหลังเขาเลยคิดว่าทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว อย่างที่บอกมันไม่มีใครที่จะมาดูแลเราได้ตลอดชีวิตเราต้องดูแลตัวเองให้ได้ ต้องเริ่มก้าวออกมาด้วยตัวเองหลังจากนั้นจะมีคนอื่นยื่นมือเข้ามาช่วย เข้ามาซัพพอร์ทเราเอง เหมือนกัน เราไม่เคยคิดว่าจะวิ่งได้ถึง 10 กิโลเมตรแต่เมื่อเราเริ่มต้นมันแล้วก็จะมีคนมาให้กำลังใจจนสุดท้ายมันก็ทำได้"

 

ออยเพิ่มเติมว่า ประการแรกควรจะตองเริ่มรักตัวเองให้ได้เสียก่อน ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของหัวจิตหัวใจล้วนๆ ถ้าใจไปแล้วอะไรๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ต้องกล้าที่จะรักตัวเอง ยอมรับสิ่งที่เป็นให้ได้ควบคู่ไปกับการมองโลกรอบตัวให้สวยงามเสมอ

 

"เรารู้สึกเคารพตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง ชอบตัวเอง รักตัวเอง ในทุกวันนี้มาก ตอนนี้อยากบอกอะไรในวัย 40 ปี ก็อยากจะบอกว่าตัดสินใจถูกแล้วที่ยอมตัดขา ตัดปอด ตัดสินใจถูกทุกอย่างแต่มีสิ่งหนึ่งที่หากเป็นไปได้อยากกลับไปบอกกับเด็กในวันนั้นว่าไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 30 ปีนะควรจะทำตั้งแต่อายุ 20 ได้แล้วเพราะมันจะดีกว่านี้มากๆ ถ้าเริ่มออกวิ่งตั้งแต่นั้น แต่ว่ามันก็ไม่มีอะไรที่สายเกินไปถ้าเราลงมือทำ"

 

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่ถูกส่งต่อให้กับใครก็ตามที่รู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังในการใช้ชีวิต ออยคือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้อย่างแจ่มชัดแล้วว่า ถ้าหัวจิตหัวใจคุณแกร่งพอคำว่า พิการ ก็แค่วลี


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

MAR 2024 KV