6 กันยายน 2565
ในแวดวงผู้ตัดสินไทยคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า 'ไพรัช เรืองวิริยะชัย' คืออีกหนึ่งบุคลากรผู้ตัดสินที่มีคุณภาพมากฝีมือคนหนึ่งของเมืองไทย ด้วยบทบาทที่ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศ แต่ไพรัชกลายเป็นที่ยอมรับจากวงการผู้ตัดสินทั่วทั้งโลกจากการเป็นผู้ตัดสินไทยคนแรกที่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินให้กับกีฬาปิงปองในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
การที่จะทำให้ทั่วทั้งโลกยอมรับไม่ใช่เรื่องง่ายที่ก้าวไปสู่จุดนั้น ไพรัชต้องสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ พร้อมกับอาศัยปัจจัยภายนอกอย่างคนรอบข้างรวมถึงโชคชะตาเพื่อนำพาไปสู่จุดที่มั่นหมาย
StadiumTH จะนำท่านผู้อ่านไปถอดความคิดของไพรัชและเรื่องราวที่สั่งสมมาตลอดทั้งชีวิต กว่าจะมาเป็นผู้ตัดสินปิงปองที่ได้รับการยอมรับจากคนต่างชาตินั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร
ผันตัวจากนักกีฬาสู่ผู้ตัดสินระดับโลก
ภาพของชายวัยกลางคนมาดละเมียดดูสุภาพและนอบน้อม สวมสูททรงเข้ารูปดูสง่าและน่าเคารพ ใช่ครับเรากำลังพูดถึง 'ไพรัช เรืองวิริยะชัย' หนึ่งในผู้ตัดสินกีฬาปิงปองมากฝีมือของไทยที่ได้สร้างชื่อให้คนต่างชาติได้จดจำ
ไพรัช ขอย้อนความก่อนมาเป็นผู้ตัดสินปิงปองระดับโลกว่า เขาก็ไม่ต่างจากเด็กที่มีใจรักกีฬาทั่วไป แต่ด้วยการที่เขาประเมินศักยภาพตนเองแล้วว่าอยู่ในระดับใดจึงเลือกปลีกตัวออกมาทำหน้าที่อื่นในเส้นทางปิงปอง
"ก่อนเริ่มมาเป็นผู้ตัดสินพี่ก็เป็นนักศึกษาคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มเล่นกีฬาปิงปองมาตั้งแต่เด็กเพราะที่บ้านพี่ชายเขาเป็นนักกีฬาปิงปองของโรงเรียน บวกกับที่บ้านมีโต๊ะปิงปองก็เลยมีโอกาสได้ลองจับลองเล่นตั้งแต่นั้นมา ก่อนจะมีโอกาสได้มาเล่นเป็นนักกีฬาปิงปองของโรงเรียน จนกระทั่งพี่เป็นตัวแทนของจังหวัดได้ไปแข่งขันในรายการต่างๆ ในประเทศ แต่เมื่อพี่ประเมินศักยภาพของตัวเองแล้ว มองว่าฝีมืออย่างเราไม่น่าจะไปได้ไกลเท่าไหร่ คือมันไม่ได้เก่งถึงขนาดที่จะต้องไปติดทีมชาติพี่มองตัวเองไว้แบบนั้น แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองยังอยู่ในเส้นทางของกีฬาปิงปอง เพราะว่ามันผูกพันธ์ตั้งแต่เด็กพี่รู้สึกชอบและไม่อยากทิ้งมัน"
ไพรัชย้อนความให้ฟังและว่า ...
"พอมาช่วงที่พี่เป็นนักศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 มีรุ่นพี่อย่าง 'ณัฐวุฒิ เรืองเวส' (ปัจจุบันนายกสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย) และ 'นิวัฒน์ เสมาเงิน' สมัยที่พี่ยังอยู่กับชมรมปิงปองของรามคำแหงมาชักชวนให้เข้าสู่วงการผู้ตัดสินปิงปอง ซึ่งพี่มองเห็นว่ามันคือโอกาสก็เลยคว้ามันไว้ อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงนั้นประเทศไทยยังขาดผู้ตัดสินและมองเห็นว่าพี่มีพื้นฐานด้านกีฬาปิงปอง รุ่นพี่ทั้งสองก็เลยชักชวนให้ไปเป็นผู้ตัดสิน ...
... ยอมรับว่าตอนนั้นพี่ไม่มีพื้นฐานของการเป็นผู้ตัดสินเลย รู้แค่ว่าเราเคยเป็นนักกีฬาปิงปองมาก่อนแค่นั้นเอง ยังไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนหรือศึกษากฏกติกาที่แน่ชัด ที่ตัดสินใจไปเป็นผู้ตัดสินปิงปองก็เพราะความที่มีพื้นฐานของการเป็นนักกีฬาเท่านั้นเลย"
ต่อมาในปี 2533 ไพรัช ก็เลือกที่จะเดินไปตามเส้นทางของผู้ตัดสินปิงปองอย่างเต็มตัว โดยตัดสินใจเข้าสอบคัดเลือกเป็นผู้ตัดสินระดับนานาชาติ และได้รับการอนุเคราะห์จาก 'ดร.สันติภาพ เตชะวณิช' ผู้ตัดสินระดับนานาชาติคนแรกของประเทศไทยเป็นผู้ผลักดันและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นผู้ตัดสินในกีฬาปิงปอง
"นอกจากพี่ณัฐวุฒิและพี่นิวัฒน์แล้ว อีกคนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือพี่สันติภาพเพราะว่าเขาคือผู้ที่คอยให้คำแนะนำพร้อมแนะแนวทางในการศึกษาข้อมูลกฏกติกาของปิงปองว่า จะต้องไปสืบค้นจากแหล่งไหนเพราะในช่วงนั้นพี่กำลังจะเตรียมตัวเพื่อสอบเป็นผู้ตัดสินระดับนานาชาติพอดี"
ในที่สุดความฝันในระดับเริ่มต้นของไพรัชก็เกิดขึ้นจริงในปี 1999 ไพรัช ได้กลายมาเป็นผู้ตัดสินกีฬาปิงปองระดับนานาชาติได้สำเร็จ ผลงานที่ผ่านมาของไพรัชในระดับนานาชาติประกอบด้วย
รายการ Asian top 12 Table Tennis, สิงค์โปร์ ปี 1999
รายการ ชิงแชมป์เอเซีย ,โดฮา, กาตาร์ ปี 2000
กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ปี 2002
การแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภททีม กรุงโดฮา กาตาร์ ปี 2004
รายการ Korea Open - ITTF Pro Tour เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ปี 2010
ชิงแชมป์โลกประเภทบุคคล เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ ปี พ.ศ. 2011
ชิงแชมป์โลกประเภททีม ดอร์ทมุน ประเทศเยอรมันนี ปี 2012
ชิงแชมป์โลกประเภทบุคคล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2013
และล่าสุดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปี 2020
ไม่ยากและไม่ง่ายถ้าจะก้าวติดท็อปโลก
ไพรัช บอกกับเราต่อว่า การที่จะก้าวขึ้นมาสู่การเป็นผู้ตัดสินระดับท็อปของโลกไม่ใช่เรื่องยาก แต่กว่าจะได้มาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การศึกษาและอัพเดตข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่พึงมีควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
"ผู้ตัดสินปิงปองเขาจะมีการแบ่งระดับขั้นของกรรมการเริ่มจาก ไวท์เบลด บลูเบลดและโกลด์เบลด ซึ่งโกลด์เบลดเพิ่งจะมีการคัดเลือกไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขั้นตอนการคัดเลือกคณะกรรมการจากสหพันธ์เบิลเทนนิสนานาชาติ จะดูจากความรู้ในกติกาและความสามารถที่เรามีโดยเริ่มต้นจากการสอบข้อเขียนและสอบภาคปฏิบัติ นอกจากความแม่นยำของกติกาแล้ว เขายังมีเกณฑ์ตัดสินในเรื่องของความกระตือรือล้น ความเที่ยงธรรมในการตัดสิน ไม่มีความผิดพลาด นั่นคือการสอบภาคปฎิบัติ ส่วนการสอบข้อเขียนจะเป็นการทบทวนความรู้ด้านกติกาแต่จะเป็นในเชิงลึก เช่นว่า ข้อสอบจะสร้างเหตุการณ์สมมติขึ้นแล้วให้เราตอบอธิบายไปว่าจะแก้ไขปัญหาตามโจทย์นั้นอย่างไร"
มันคงไม่ต่างอะไรกับการสอบเข้ามหาลัยชั้นนำที่จะต้องทำคะแนนออกมาให้ดีที่สุดเพื่อให้เข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด ซึ่งนั่นเท่ากับว่าไพรัชจะต้องพลิกหน้าตำราเป็นว่าเล่นเพื่อทำความเข้าใจกับเนื้อหา นอกจากนั้นความเที่ยงธรรมในการตัดสินและไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะจะต้องควบคู่กันไป
"ทั้งหมดมันเกิดจากการเรียนรู้และการแชร์ประสบการณ์ของการเป็นผู้ตัดสินด้วยกันเอง มันก็เหมือนกับว่าเราต้องเป็นคนขี้สงสัยและต้องหาคำตอบอยู่ตลอดเวลา ในช่วงแรกที่ผมได้ขึ้นมาเป็นผู้ตัดสินระดับนานาชาติ มีโอกาสได้ไปทำหน้าที่อยู่ปีละครั้งสองครั้ง เช่นการตัดสินรายการชิงแชมป์เอเชีย ชิงแชมป์โลก, เวิลด์ คัพ ซึ่งตรงนี้มันคือคลังความรู้ของเรา มันคือประสบการณ์ที่เราจะต้องเก็บเกี่ยวมาให้มากที่สุด เพื่อที่จะขยับตัวเองจากไวท์เบลดไปเป็นผู้ตัดสินระดับบลูเบลด และที่สำคัญเราต้องมีการพูดคุยในแง่ของการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ผมมองว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้แหละที่ต้องเก็บเกี่ยวมันไว้"
ความใฝ่รู้ของไพรัชนำมาซึ่งความสำเร็จตามที่ใจต้องการ มันคือสิ่งที่เขาฝันใฝ่ตั้งแต่เยาว์วัยว่าจะต้องเดินไปบนเส้นทางของกีฬาปิงปองให้ได้ไม่ว่าจะอยู่สถานะใดก็ตาม ทำให้ในทุกครั้งที่ไพรัชลงทำหน้าที่ผู้ตัดสินเขาจึงตั้งใจทำเต็มที่พร้อมกับซึมซับประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาจนเต็มเปี่ยม
ที่สุดของที่สุด
ความพยายามของไพรัชก็ประสบความสำเร็จตามคาด ในปี 2009 เขาก็ขยับจากผู้ตัดสินระดับไวท์เบลดสู่การเป็นผู้ตัดสินบลูเบลดระดับสูงในปีนั้น
"ผมใช้เวลาเกือบๆ สองปีที่ไปกับการศึกษาตำหรับตำราและอัปเดตกฏกติกาใหม่ๆ อยู่เสมอพร้อมกับตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้ตัดสินชั้นแนวหน้าให้ได้ และก็ทำได้จริงๆ เมื่อทุกขั้นตอนมันผ่านมาได้แล้วก็จะเหลือแค่การสัมภาษณ์จากทางสหพันธ์ เขาจะถามเราว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการเป็นผู้ตัดสินในระดับบลูเบลด ตรงนี้ที่เขาจะดูแนวคิดเราว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกับการที่จะมาเป็นผู้ตัดสินระดับสูง อยากเข้ามาอยู่ตรงนี้เพราะอะไร อยากพัฒนาหรือว่าอยากไปตัดสินโอลิมปิกหรือในระดับที่สูงกว่านั้น ...
... เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ มาได้แล้วเขาก็จะถามไอเดียเราเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิด ซึ่งทั้งหมดนี้จะบอกว่าความยากมันอยู่ตรงที่การสื่อสาร เพราะทุกๆ ขั้นตอนที่ว่ามาจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเลยตั้งแต่ข้อเขียน ภาคปฏิบัติยันการสัมภาษณ์ฉะนั้นเราจะต้องเตรียมตัวมาให้ดีๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าภาษาเป็นจุดอ่อนของบ้านเรา ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสได้ไปต่างประเทศอยู่บ่อยๆ ก็เลยอาศัยตรงนั้นฝึกฝนภาษาไปในตัวก็พอสื่อสารได้แต่ไม่ได้เก่งอะไร คือจะบอกว่าเราต้องกล้าพูด กล้าคุยกับเขา เพราะมันจะทำให้เราพัฒนาด้านภาษาไปด้วย"
หลังจากที่พยายามไต่เต้าจากระดับขั้นไวท์เบลดขึ้นสู่บลูเบลด จนท้ายที่สุดไพรัชก็เอาชนะมาได้และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ตัดสินที่ลงทำหน้าที่นัดชิงชนะเลิศในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมากลายเป็นผู้ตัดสินชาวไทยเพียงคนเดียวที่ได้ไปยืนทำหน้าที่ชี้ขาดในสนามในรอบชิงชนะเลิศ
"มันสุดยอดมากนะกับการที่เราได้ไปยื่นอยู่จุดนั้น มันก็เหมือนกับนักกีฬานั่นแหละที่ใครๆ ต่างก็อยากเข้าร่วมโอลิมปิกด้วยกันทั้งนั้นขอซักครั้งในชีวิตก็ยังดี อารมณ์คงไม่ต่างกัน แต่ถ้านั่นเรียกว่าสุดยอดแล้วการที่เราได้ลงตัดสินคู่ชิงชนะเลิศมันคือที่สุดของที่สุด ลองนึกภาพตามสมมติว่านักกีฬาได้ไปโอลิมปิกแค่นั้นก็ดีใจแล้วจะแพ้หรือชนะก็ได้แค่ได้เข้าร่วมซักครั้ง แต่ถ้าเราได้ทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศมันเป็นอะไรที่สุดๆ ไปเลยนะ"
ไพรัช บอกกับเราด้วยว่า ปัจจุบันนี้เขากำลังเตรียมตัวที่จะสอบเพิ่มระดับขั้นผู้ตัดสินจากบลูเบลดเป็นโกลด์เบลด ซึ่งถ้าสามารถผ่านเกณฑ์การคัดเลือกได้อีกครั้งนั่นเท่ากับว่าจะเป็นใบผ่านที่การันตีการลงทำหน้าที่ในรายการใหญ่ระดับโลกแบบไม่ต้องตั้งข้อสงสัยใดๆ
"ระดับโกลด์เบลดจะมีมาตรฐานที่สูงมากและหากผ่านไปได้จะมีการจัดทดสอบความรู้และความสามารถในทุกๆ 3 ปี นอกจากนั้นยังมีการจัดการสัมนาอีกทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ในตอนนี้ผมกำลังเตรียมสอบข้อเขียนอยู่ถ้าผ่านก็จะเข้าสู่การสอบภาคปฏิบัติอีกสองครั้งผมก็จะได้โกลด์เบลดแล้ว"
คำแนะนำจากรุ่นสู่รุ่น
ไพรัชบอกว่า ในวงการผู้ตัดสินก็เหมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งที่ต่างพึ่งพาอาศัยและมอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อวงการซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เพียงแค่ต่างประเทศเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงในประเทศไทยด้วยคล้ายกับว่ามันคือวัฒนธรรมที่สืบทอดกลายเป็นประเพณีปฏิบัติไปแล้ว
"ผมก็คือหนึ่งในคนที่เคยเป็นผู้ตัดสินฝึกหัดมาก่อนและเข้าใจดีว่ากว่าจะมายืนตรงจุดนี้มันไม่ง่าย เพราะฉะนั้นการส่งต่อองค์ความรู้มันถึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะผมเองก็อยากเห็นผู้ตัดสินคนไทยไปทำหน้าที่ต่างประเทศเยอะๆ เอาจริงนะคนไทยเราก็เก่งแต่ข้อเสียอย่างเดียวคือเรื่องของภาษาอย่างที่เคยบอกไว้นั่นแหละ มันจึงเป็นข้อจำกัดที่ต้องข้ามไปให้ได้ ต้องฝึกฟัง พูด อ่าน เขียนให้ได้หรืออย่างน้อยก็พอที่จะสามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ตรงนี้นี่แหละที่ผมกังวลในเรื่องของฝีมือ ข้อนี้ไม่มีปัญหาเพราะผู้ตัดสินไทยเองก็อยู่ในระดับไวท์เบลดหลายต่อหลายคนแต่มีเพรยงไม่กี่คนที่ไปถึงบลูเบลดได้"
แม้จะยังมีข้อเสียเปรียบอยู่บ้างหากแต่เป็นอุปสรรคที่สามารถบรรเทาได้ ไพรัชแนะนำว่า นอกจากการฝึกภาษาแล้วจำต้องมีการค้นคว้าหาความรู้อย่างเสมอให้เป็นกิจวัตรสำหรับผู้ตัดสิน
"เราต้องสร้างวินัยให้ตัวเอง อันดับแรกเราต้องทำความเข้าใจกับกติกาของมันอย่างละเอียดลึกซึ้ง จากนั้นต้องให้ความเที่ยงธรรมต่อนักกีฬารวมถึงตัวเองไม่เอนเอียงหรือค้านสายตา แต่ไม่ว่าอย่างไรกีฬาปิงปองมันโกงกันยากอยู่แล้ว แค่ต้องการให้เกิดเป็นมาตรฐานของตัวเอง นอกจากที่ว่ามาเราต้องมีไหวพริบรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การตัดสินใจที่รวดเร็วเด็ดขาดและถูกต้อง จะต้องทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ...
... ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงทำหน้าที่ตัดสิน ศึกษาเทปการแข่งขัน ปลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดกับกรรมการด้วยกันเองซึ่งมันช่วยเราได้เยอะมากและสุดท้ายเราต้องจัดการกับตัวเองให้เรียบร้อยเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับรุ่นต่อๆ ไป"
ปัจจุบันไพรัชประกอบอาชีพเป็นนายธนาคาร แต่ในทุกครั้งที่มีรายการใหญ่ทำการแข่งขันเขาก็พร้อมจะปรับตัวจากพนักงานสู่การเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบแล้วว่าการทำหน้าที่เพื่อชาติก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำหน้าที่ต่อองค์กร จึงทำให้ไพรัชยังรับบทบาททั้งสองควบคู่กันไปโดยไม่บกพร่อง
นอกจากนี้ ไพรัชยังพร้อมที่จะมอบองค์ความรู้ที่มีต่อการเป็นผู้ตัดสินกีฬาปิงปองให้กับคนรุ่นต่อไปที่กำลังเดินตามรอย "ใครมีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำผมก็ยินดีที่จะส่งต่อความรู้เพราะมันไม่ใช่แค่เรา แต่มันคือหนึ่งในการทำหน้าที่ในนามชาติไทยเหมือนกัน ผมต้องการเห็นคนไทยไปต่อในการแข่งปิงปองรายการใหญ่ๆ ลงทำหน้าที่นัดชิงชนะเลิศเพื่อให้คนทั้งโลกรู้ว่าคนไทยทำได้" ไพรัช กล่าว
เห็นได้ชัดว่าความรู้และประสบการณ์คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ การค้นคว้า ศึกษาหรือซักถามคือพื้นฐานของผู้ที่ใฝ่รู้ เฉกเช่น 'ไพรัช เรืองวิริยะชัย' ผู้ตัดสินกีฬาปิงปองชาวไทยที่ทั่วโลกยอมรับ
TAG ที่เกี่ยวข้อง