stadium

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ผลงานนักแบดมินตันไทยในศึกชิงแชมป์โลก

25 สิงหาคม 2565

เส้นทางประวัติศาสตร์ของวงการแบดมินตันไทย นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ถือว่ามีนักกีฬาที่หมุนเวียนกันขึ้นมาสู่ระดับท็อปของโลกไม่ใช่น้อย แถมยังผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจากรุ่นสู่รุ่น ตลอดเส้นทาง 20 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะในศึกชิงแชมป์โลก 20 ปีที่ผ่านมานั้น นักกีฬาแบดมินตันไทย ทำผลงานได้  2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง เป็น 1 ใน 11 ชาติที่คว้าเหรียญทองได้รายการนี้ และอยู่อันดับ 8 ถ้าหากนับผลงานรวมทุกเหรียญรางวัล และนี่คือ 7 เหรียญในประวัติศาสตร์ของนักแบดมินตันไทยที่คว้ามาได้ในศึกชิงแชมป์โลก

 

 

เหรียญแรกแห่งประวัติศาสตร์ ปี 2005 ที่สหรัฐอเมริกา

 

เต่า-ส้ม” สุดเขต ประภากมล – สราลีย์ ทุ่งทองคำ ถือเป็นคู่ที่ก้าวเข้ามาเขย่าวงการแบดมินตันโลกอย่างแท้จริง เริ่มจับคู่กันในปี 2003 ใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวก็พากันไปโอลิมปิกเกมส์ 2004 ด้วยกันเป็นครั้งแรก แม้จะจอดป้ายในรอบ 16 คู่เท่านั้นที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ แต่ประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนั้นทำให้ทั้งสองคนได้พัฒนาขึ้น และในปีต่อ ”เต่า-ส้ม” ก็จับคู่กันเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ด้วยการเป็นคู่นักแบดมินตันไทยคนแรกที่สามารถก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญรางวัลในศึกชิงแชมป์โลกปี 2005 ที่สหรัฐอเมริกา 

 

กติกาในปีนั้นยังแข่งขันเพียง 15 แต้ม ทั้งคู่ต้องฟันฝ่าตั้งแต่รอบ 64 คู่ ผ่านเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนแพ้ให้กับ ลิลิลยาน่าร์ นัตเซอร์ กับ โนวา วิเดียนโต คู่มือ 1 ของโลก ที่ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์โลกในปีนั้น 1-2 เกม ทำให้ทั้งสองคนได้เหรียญทองแดงมาครองเป็นครั้งแรก และเป็นเหรียญแรกของวงการแบดมินตันไทยที่ทำได้ในรายการนี้

 

 

“เต่า-ส้ม” คู่แรกที่ได้ 2 เหรียญทองแดงในชิงแชมป์โลก ปี 2006 ที่สเปน

 

ในช่วงปี 2000 “เต่า-ส้ม” สุดเขต ประภากมล – สราลีย์ ทุ่งทองคำ ถือเป็นคู่ผสมที่ดีสุดของเมืองไทย มีจุดแข็งอยู่ที่การเล่นเกมบุก ความยอดเยี่ยมของทั้งคู่ไม่หยุดเพียงแค่นั้น คล้อยหลังเพียง 1 เดือนหลังจากได้เหรียญทองแดงชิงแชมป์โลก 2005 ทั้งคู่ช่วยกันคว้าแชมป์เอเชียได้สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหม่ไม่แพ้การได้แชมป์โลก เพราะว่านักแบดมินตันมือระดับท็อปของโลกนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียทั้งหมด

 

นั่นทำให้พวกเขาหมายมั่นปั้นมือว่าชิงแชมป์โลก 2006 จะต้องไปได้ไกลกว่าเดิม  ซึ่งปีนี้แบดมินตันได้ปรับมาเล่นกัน 21 แต้ม แต่ว่าทุกอย่างกลับเป็นหนังม้วนเดิม ทั้งคู่ทะลุเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะมาแพ้ให้กับคู่ นาธาน โรเบิร์ตสัน กับ เกล เอ็ม คู่เหรียญเงินโอลิมปิก 2004 จากอังกฤษ ซึ่งก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลกปีนั้น ถือว่าน่าเสียดายมาก เพราะในเกมที่ 3 ในช่วงท้าเกมคู่ของไทยมีโอกาสปิดเกมก่อนแต่ทำไม่ได้ ก่อนจะแพ้ไป 23-25 ทำให้ตกรอบ 

 

ครั้งหนึ่ง สุดเขต ประภากมล ถึงกับบอกไว้ว่าแมตช์นี้เป็นเกมที่น่าเสียดายที่สุดในชีวิต เพราะปีนั้นตั้งเป้าไว้เป็นแชมป์ และมีโอกาสเข้าชิงแต่ทำไม่ได้ อย่างไรก็ตามทั้ง เต่า และ ส้ม ถือเป็นคู่นักแบดมินตันไทย ที่สร้างประวิติศาสตร์คว้าเหรียญรางวัลได้เป็นครั้งแรกและ 2 ปี ติดต่อกัน

 

 

 

กำเนิดแชมป์โลกชาวไทยคนแรก

 

ในปี 2013 “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ยังเป็นเพียงดาวรุ่งอายุแค่ 18 ปี ในตอนนั้น เธอพกดีกรีแชมป์เยาวชนโลก 3 ปีซ้อน มาสู้กับ ลี เสี่ยว เร่ย มือ 1 ของโลกจากจีน และพกดีกรีแชมป์โอลิมปิกเกมส์ 2012  ในตอนนั้นไม่ว่าใครก็มองว่า รัชนก นั้นเป็นรองอยู่หลายขุมทั้งประสบการณ์ ฝีมือและฟอร์มการเล่น รวมไปถึงสถิติที่เป็นรองแบบชัดเจน ชนะได้เพียง 1 ครั้ง จากการพบกับ 5 ครั้ง คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
 

แต่ว่าจุดอ่อนกลายเป็นจุดแข็ง เพราะว่าเป็นรองจึงทำให้ “เมย์” เล่นได้เป็นธรรมชาติ ไร้ความกดดัน กลับกันกลายเป็น ลี เสี่ยว เร่ย ที่ยิ่งเล่นยิ่งกดดัน สุดท้ายเป็น รัชนก ที่พลิกล็อกเอาชนะไป 2-1 เกม กลายเป็นแชมป์โลกคนแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และสร้างสถิติเป็นแชมป์โลกที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 18 ปี โดยสื่อต่างประเทศถึงกับแซวว่า เธอเป็นแชมป์โลกตั้งแต่ยังเป็นเด็กดัดฟันอยู่เลย

 

 

เหรียญเงินแรกจากปี 2019 

 

หลังจากหมดยุคของ เต่า-ส้ม แบดมินตันประเภทคู่ผสมของเราก็เงียบหายไปสักพัก มีการจับคู่ลองผิดลองถูกกันอยู่หลายคู่ จนกระทั่งคู่ของ “บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ - ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ได้ก้าวขึ้นมา ทั้งสองคนเริ่มจับคู่กันปลายปี 2015 ใช้เวลาเพียง 4 ปี ขยับขึ้นมาอยู่ท็อป 5 ของโลก ในศึกชิงแชมป์โลก ปี 2019 บาสและปอป้อ ลงแข่งในฐานะมือวางอันดับ 4 ของรายการ ซึ่งทั้งคู่ก็เล่นกันได้ตามฟอร์ม แถมยังโค่นคู่ หวัง ยี่ ลู่ กับ หวง ดอง ปิง คู่มือ 2 ของโลกจากจีน ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรก สร้างสถิติเป็นคู่ผสมไทยคู่แรกที่ผ่านเข้าถึงรอบชิงรายการนี้ได้

 

ส่วนในรอบชิงชนะเลิศ ต้องบอกว่าเป็นงานหนักจริงๆ เพราะต้องเจอกับ เชง ซีเว่ย กับ หวง หย่าเชียง คู่มือ 1 ของโลกจากจีน ดีกรีแชมป์โลก 4 สมัย แถมสถิติที่เคยพบกัน 8 ครั้ง เราแพ้ไปถึง 7 ครั้ง ซึ่งผลก็เป็นคู่ของจีนที่เอาชนะไปตามคาด ทำให้ บาส-ปอป้อ ได้เหรียญเงินปลอบใจ พร้อมสร้างสถิติเป็นนักแบดมินตันคู่ผสมไทยคู่แรกที่ได้เหรียญเงินในศึกชิงแชมป์โลก
 

 

"เมย์" กับเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์ ปี 2019

 

ในช่วงหลายปีมานี้ นักแบดมินตันประเภทหญิงเดี่ยว มือระดับท็อป 10 ของโลก ต้องยอมรับตามตรงว่าสูสีกันมาก ทุกคนสามารถเอาชนะกันได้หมด แต่รัชนกของเราพาตัวเองยืนอยู่ 1 ใน 10 ของโลกได้ตลอดเช่นกัน แถมยังเคยขึ้นไปถึงมือ 1 ของโลกมาแล้ว 

 

ส่วนในศึกชิงแชมป์โลก 2019 จากสาวน้อยมหัศจรรย์เมื่อ 6 ปีก่อน มาในคราวนี้ เธอมาในฐานะมือ 6 ของโลก สู้จนมาถึงรอบรองชนะเลิศ ดวลกับ โนโซมิ โอกูฮาระ มือ 4 ของโลก เกมในวันนั้นต้องตัดสินกันในเกมที่ 3 ใช้เวลาดวลกันถึง 82 นาที ก่อนที่ น้องเมย์ จะแพ้ไปในท้ายที่สุด ได้เหรียญทองแดงเป็นรางวัลปลอบใจ อย่างไรก็ตามเธอยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันไทยประเภทที่ 2 ที่ทำได้ 2 เหรียญในศึกชิงแชมป์โลก ต่อจาก เต่า-ส้ม คู่ผสมที่ได้เหรียญทองแดง 2 ปีติดต่อกัน ในปี 2005-2006

 

 

 

กันตภณ หวังเจริญ ชายเดี่ยวคนแรก ปี 2019 ที่บาเซิล สวิตเซอร์แลนด์

 

ปลายปี 2016 “ซูเปอร์แมน” บุญศักดิ์ พลสนะ ตำนานนักแบดมินตันชายเดี่ยวไทย ที่ทำสถิติได้ไปโอลิมปิกเกมส์ถึง 5 สมัย ได้ประกาศเลิกเล่นอย่างเป็นทางการ ได้สร้างความกังวลให้กับแฟนแบดมินตันไทยว่าจะมีใครแทนที่เขาได้ไหมในอนาคต ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็มีนักแบดมินตันชายหลายคนที่ได้รับการคาดหมายขึ้นมา แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนระยะอยู่ได้นานเกินปี รวมไปถึง กันตภณ หวังเจริญ ก็เช่นกัน ในช่วงปี 2018 เขาพาตัวเองขึ้นมาอยู่ท็อป 20 ของโลก แม้อันดับโลกของเขาในช่วงนั้นจะขึ้นๆลงๆ แต่พอเข้าปี 2019  เริ่มทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในศึกชิงแชมป์โลก 

 

เจ้ากัน มือ 15 ของโลก เล่นได้ดีเหนือความคาดหมาย พลิกเอาชนะมือวางของรายการได้ถึง 2 คน คาดัมบี้ สีกาน มือวาง 7 ของรายการ มืออันดับ 10 ของโลกจากอินเดีย , โจว เทียนเฉิน มืออันดับ 2 ของโลกจากไต้หวัน ก่อนจะจบไปที่รอบรองชนะเลิศ โดยแพ้ให้กับ อันเดรส แอนทอนเซ่น มือวางอันดับ 5 ของรายการ มืออันดับ 9 ของโลกจากเดนมาร์ก แต่ก็ถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดในชีวิตของ กัน และทำให้เขาเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ที่แม้แต่ ซูเปอร์มน บุญศักดิ์ ยังทำไม่ได้ นั่นก็คือการได้เหรียญในศึกชิงแชมป์โลก

 

 

 

2021 : "บาส-ปอป้อ" แชมป์โลกที่ 2 ของแบดมินตินไทย

 

แม้จะพลาดเหรียญโอลิมปิกไปก็ตาม แต่ต้องบอกว่าปี 2021 ถือเป็นปีทองของดูโอ้คู่นี้จริงๆ ลงแข่ง 11 รายการ เข้าชิง 9 ได้มา 8 แชมป์ โดยในศึกชิงแชมป์โลก "บาส-ปอ" เล่นได้ตามฟอร์มของตัวเองอย่างไร้ที่ติตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบชิงฯ

 

ในรอบชิงชนะเลิศ คู่ของไทยโคจรมาพบกับ ยูตะ วาตานาเบะ กับ อาริสะ ฮิงาชิโนะ คู่มือ 4 ของโลกจากญี่ปุ่น คู่ที่ทำให้พวกเขาอักหักในโตเกียวเกมส์ 2020 แต่ทว่าในแมตช์นี้กลับเป็น บาส-ปอป้อ ที่เอาชนะไปได้แบบไม่ยากเย็น ใช้เวลา 46 นาที เอาชนะไป 2-0 เกม คว้าแชมป์โลกมาครองได้เป็นสมัยแรก ปิดปีปฏทิน 2021 ด้วยการเป็นมือ 1 ของโลกและคว้าแชมป์ 5 รายการติดต่อกัน พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์เป็นคว้าแชมป์โลกคู่ผสมคู่แรกของประเทศไทย และยังเป็นแชมป์โลกครั้งที่ 2 ของประเทศไทยในกีฬาแบดมินตันต่อจาก รัชนก อินทนนท์ หญิงเดี่ยวในปี 2013 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

โฆษณา