29 สิงหาคม 2565
ที่ยืนเคียงข้าง "บิว” ภูริพล บุญสอน บนโพเดี้ยมที่ฮานอยรับเหรียญทองในการแข่งขันวิ่งผลัด 4X100 เมตร และการแข่งเดี่ยววิ่ง 100 และ 200 เมตรชาย เด็กหนุ่มในชุดทีมชาติไทยที่พุ่งเข้าไปกอดบิว ภูริพลที่เส้นชัย นั่นคือ "ต้า สรอรรถ ดาบบัง" เพื่อนร่วมทีม รูมเมท ที่เป็นเหมือนพี่ชายอีกคนของบิว
เด็กเกเรที่ต้องวิ่งเพื่อโควตาเรียนต่อ
"ตอนเด็กๆ ผมยังไม่ชอบอะไรเลย วิ่งก็ไม่ชอบ เรียนก็ไปไม่ไหว ซ้อมก็ไม่ค่อยอยากซ้อม วิ่งร้อยเมตรรอบเดียวก็เหนื่อย เกเร ติดเพื่อนได้มาเข้าแคมป์ทีมชาติก็เบื่อ อยากหนีกลับหลายครั้ง เพราะปรับตัวไม่ได้" ต้า สรอรรถ เล่าสรุปเรื่องของตัวเอง ที่ฟังดูแล้วแทบไม่อยากเชื่อว่า เขาจะมาอยู่ในจุดที่มีวินัยและประสบความสำเร็จในการวิ่งได้
ไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วไป “ต้า” สรอรรถ ในช่วงวัยรุ่นเป็นเด็กติดเพื่อน ที่ไม่ชอบการเรียน แต่จำเป็นต้องวิ่งเพื่อโควตาเรียนต่อมัธยม "เริ่มวิ่งอายุ 13 เพราะสมัครเข้าสอบความสามารถพิเศษที่โรงเรียนประจำจังหวัดสิงห์บุรี ตอนนั้นเรียนประถมไม่เก่ง ไม่รู้จะเรียนต่อได้ยังไง เลยลองไปวิ่งก็ทดสอบ 100 และ 200 เมตรแล้วทำได้ก็ได้เข้าเรียน ผมโชคดีที่เรียนไม่เก่งก็ยังได้เรียนโรงเรียนที่ดีที่สุดของจังหวัด"
ถึงแม้จะเข้าเรียนมัธยมได้ในฐานะนักวิ่ง แต่ต้าก็ยังไม่ชอบวิ่ง ไม่ชอบเรียน จนเลื่อนชั้นไป ม.4 ก็เกือบตกซ้ำชั้นจนต้องลาออก "ตอนนั้นชอบไปเล่นสนุ๊ก อายุ 16-17 จนถึงขั้นขอลาออก เพราะจะโดนซ้ำชั้น เลยลาออกไปเรียนที่เทคนิคสิงห์บุรีแห่งที่ 2 ก็ดีขึ้น แต่คิดถึงเพื่อนที่โรงเรียนเก่า เลยนัดเจอกัน"
เหตุการณ์วันนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่เส้นทางการเป็นนักวิ่งของต้า เพราะนัดเจอเพื่อนเก่าที่สนามวิ่ง จึงได้กลับสู่โลกของการวิ่งอีกครั้ง
แชมป์กรีฑาอาชีวะสู่แคมป์ทีมชาติ
จุดเริ่มต้นสู่แคมป์ทีมชาติของ "ต้า สรอรรถ" เกิดขึ้นจากการแข่งขันกรีฑาอาชีวศึกษา ในตอนนั้นอาจารย์ชวนต้าให้แข่งวิ่งระยะสั้น เขาเอาชนะได้ทั้งระดับภาคและระดับประเทศ ด้วยเวลาที่ดีมาก ระยะ 200 เมตร ทำเวลา 10.99 วินาที ทำให้มีแมวมองดึงตัวเข้าไปเก็บตัวที่สมาคมกรีฑา
"ไปเก็บต้วแล้วผมก็เบื่อขึ้นมาอีก หนีกลับหลายครั้ง แต่ที่บ้านอยากให้อยู่ต่อ เพราะกลับบ้านแล้วเกเร ก็เลยต้องอยู่" ต้าเล่าถึงปัญหาของตัวเองที่ไม่สามารถปรับตัวกับระเบียบต่างๆ ได้ เขาก็ผ่านไปเพราะกำลังใจจากที่บ้าน จนอยู่ที่สมาคมได้ 1 ปี ต้าเปลี่ยนเป็นคนใหม่ เลิกเกเร เลิกดื่ม "ผมเปลี่ยนเป็นคนละคน ทั้งความคิดวุฒิภาวะ"
พอกลับมาเต็มที่ ต้า สรอรรถ ที่ไม่เคยชนะใครในแคมป์คนที่แพ้ตลอดทั้งตอนแข่งตอนซ้อม ก็กลับมาชนะได้ "จากคนสุดท้ายของกลุ่มก็ไต่ขึ้นมา จนถึงอันดับ 2 ในกลุ่มนักวิ่งด้วยกัน" ต้าเล่าด้วยความภูมิใจ
จนวันแข่งชิงแชมป์ประเทศไทย ผู้ใหญ่ในสมาคมให้โอกาสที่สำคัญกับต้าคือการแข่งเดี่ยว 100 เมตร ต้าในตอนนั้นไม่เข้าใจถึงเหตุผล แต่ก็ลงแข่งและทำได้ดีมาก "ผมวิ่งได้ 10.20 วิ ลมบวก เป็นเวลาที่ดีมาก เลยทำให้สมาคมมั่นใจมากขึ้นว่าเราทำได้"
กระทั่งวันที่ทดสอบเวลาเพื่อคัดตัวไปแข่งซีเกมส์ที่ฮอานอย ต้าคือนักวิ่งที่ทำเวลาได้ดีที่สุดรองลงมาจาก "บิว ภูริพล" โอกาสสำคัญที่สุดในชีวิตจึงเกิดขึ้น ด้วยการได้ลงแข่งเดี่ยว 100 เมตรชาย และ 4 คูณ 100 เมตรชาย เป็นไม้ที่ 2
ชีวิตเปลี่ยนตลอดไปจากความสำเร็จในซีเกมส์
ซีเกมส์ที่ฮานอย คือครั้งแรกของหลายอย่างในชีวิต ต้า สรอรรถ ในวัย 19 ย่าง 20 ปี นี่คือครั้งแรกของการขึ้นเครื่องบิน ครั้งแรกของการไปต่างประเทศ และครั้งแรกที่แข่งวิ่งในระดับนานาชาติ
"ตื่นเต้นมาก กลัวความสูงด้วย เป็นครั้งแรกของชีวิตครั้งแรกของหลายๆ อย่างของผม"
ต้าเล่าว่า ตอนรายการแรกคือ 4X100 เมตร เขาตื่นเต้นมากเพราะคนดูเยอะเต็มสนาม บรรยากาศปลุกเร้าจากแสงสีเสียง แต่ก็เป็นกีฬาทีมเลยไม่กดดันมากและมั่นใจว่าชนะแน่นอน "ตอนนั้นคิดว่าทีมตัวเองชนะแน่นอน จากสถิติเฉลี่ยทุกคนวิ่งดี และก็ได้ที่ 1 จริงๆ ดีใจมาก แต่ไม่ดีใจเท่าแข่งเดี่ยว"
สำหรับต้าการแข่งเดี่ยวกดดันมากกว่า เพราะต้องออกตัวเอง วิ่งเอง ตัดสินใจเอง แต่ก็ทำได้ ได้รับเหรียญเงิน "ตอนนั้นไม่รู้มันทำได้ไง ไม่รู้อะไรทำให้ตัวเองกดหัวเข้าเส้นชัยแบบนั้น ผมเห็นหลังบิว แต่ไม่เห็นใครข้างๆ เลย ก็เลยคิดว่าโขกและมุดเสี่ยงไปเลย เจ็บก็ช่าง เพราะรายการสุดท้ายแล้ว"
ในการแข่งวันนั้น เราได้เห็นภาพที่น่าประทับใจของบิวและต้า ที่วิ่งเข้ามากอดกันหลังรู้ผลว่าได้อันดับ 1 และ 2 ในตอนแรกต้ายังไม่รู้ตัวและไม่แน่ใจว่าได้เหรียญเงินเพราะทุกคนวิ่งเข้าเส้นชัยใกล้เคียงกัน แต่พอทราบผลทางการก็ดีใจมาก
"ตอนแรกไม่กล้าดีใจ เพราะทุกคนห่างกันนิดเดียว พอผลเป็นผม ก็กล้าไปหาน้อง (บิว) หาเพื่อน ตอนนั้นดีใจมาก ดีใจสุดๆ เพราะลุ้นมาก คุยกันตลอดว่าถ้าบิวได้ 1 ผมอยากได้ที่ 2 นะ บิวก็บอกตามประสาเด็กว่า ต้าทำได้อยู่แล้ว"
"ต้า-บิว" คู่จิ้นที่ไม่ใช่คู่แข่ง
หลังกลับจากฮานอย ชีวิตของต้าก็เปลี่ยนไปตลอดกาล ไม่นับการเปลี่ยนแปลงแรกที่เขาได้กลายเป็นคนใหม่ในแคมป์ทีมชาติ แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่กว่าของเด็กวัยรุ่นอายุ 20 ปี ในฐานะมือ 2 ที่วิ่งเร็วที่สุดในประเทศไทย เรื่องเกิดขึ้นจาก 10 วินาทีที่เปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตต้าตลอดไป ซึ่งนั่นมี "บิว ภูริพล" เป็น 1 ในคนสำคัญของความสำเร็จ
เมื่อถามต้าว่า เคยรู้สึกเป็นคู่แข่งกับบิวบ้างหรือไม่ ก็ได้คำตอบที่ไม่มีน้ำเสียงของความลังเลกลับมา "ส่วนตัวไม่รู้สึกเป็นคู่แข่งกับบิว ถ้าไม่ได้บิว นักวิ่งไทยอาจจะไม่พัฒนาขนาดนี้ บิวเหมือนช่วยฉุดผมขึ้นไป ตอนนี้บิวที่เก่งมาก ทำให้อันดับ 2 ก็พยายามมากขึ้น เพื่อวิ่งให้ดีขึ้นให้ใกล้เคียงกับอันดับ 1 ให้ได้ และอันดับ 3 ก็อยากเป็นอันดับ 2"
แรงผลักดันนั้นเอง ได้ทำให้ทีมผลัด 4x100 เมตรที่สร้างตำนานสถิติประเทศไทยที่ซีเกมส์ฮานอย ทำลายสถิติตัวเองได้อีกครั้งที่เกาหลีใต้ "ทุกคนอยากทำให้ดีขึ้นด้วยเหมือนกัน และทุกคนก็ทำได้ สุดท้ายทีมก็ดีกันทั้งทีม ต้าเชื่อว่าหลังจากนี้ถ้าบิวทำเวลาลงได้อีก ต้าก้ต้องพยายามอีก เพื่อนพี่น้องก็ต้องพยายามไปด้วยกัน"
สิ่งที่สะท้อนชัดเจนว่าคำพูดของต้าเป็นเรื่องจริงก็คือภาพของทุกคนในทีมที่ดีใจไปด้วยกัน รวมถึงตัวต้าเองที่เข้าไปกอดบิวหลังรู้ตัวว่าได้อันดับ 2 ที่ฮานอย ภาพประทับใจของคนไทย "ตอนแรกไม่เข้าใจที่คนจิ้นกับบิว พอเข้าใจก็เข้าใจว่าคนมองว่าน่ารัก เอ็นดู ขอบคุณมากๆ วันที่วิ่งไปกอดน้องก็คือตัวตนจริงๆ ความรู้สึกจริงๆ"
ความภูมิใจสูงสุดในวันที่ได้ทำเพื่อแม่
ในฐานะลูกชายคนเล็กของครอบครัวดาบบัง พ่อและแม่ไม่เคยบังคับและกดดันต้า แต่คอยติดตามและให้กำลังใจตลอด ปล่อยให้ตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินของตัวเอง ตั้งแต่เด็ก ในวันที่เคยเกเรมาก จนถึงวันที่เปลี่ยนเป็นคนใหม่ ในวันที่ต้าประสบความสำเร็จจึงเป็นความภาคภูมิใจของทุกคนในครอบครัว
"แม่ดีใจมาก แม่ดีใจกับทุกการแข่งขัน แม่ดีใจมาตลอด แข่งในประเทศก็ไปดูตลอด แม่ชมตลอด ชอบเห็นลูกออกทีวี ชอบดูข่าวลูก โทรหาทุกเย็นไม่เคยขาด ส่วนพ่อไม่ค่อยแสดงออกแต่เราก็รู้ว่าพ่อดีใจ"
เงินรางวัลจากการแข่งขันทั้งซีเกมส์ เกาหลีใต้ และคาซัคสถานต้าก็ยกให้แม่เพื่อใช้หนี้ วันที่แม่ได้รับเงิน คำที่แม่พูดกับต้าเต็มไปด้วยความตื้นตัน "แม่บอกว่า ขอบคุณมาก และบอกว่า เหนื่อยใช่มั้ย แม่รู้นะ ผมดีใจมากที่ทำได้ตามความตั้งใจ"
เป้าหมายของต้าก็คือการทำสถิติให้ดียิ่งขึ้นไปอีก บนเส้นทางนักวิ่งระยะสั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อหารายได้ ช่วยที่บ้านและสะสมเก็บไว้เพื่อตัวเอง "ขอบคุณทุกคนที่เชียร์ให้กำลังใจทุกช่องทาง ไม่คิดว่าจะมีคนมาติดตามเยอะขนาดนี้ ผมมาถึงขนาดนี้แล้ว จะวิ่งต่อไป อยากประสบความสำเร็จมากกว่านี้"
ความรู้สึกของต้า สรอรรถ การวิ่งคือการค้นพบพรสวรรค์ เป็นพรสวรรค์ที่สร้างรายได้ช่วยเหลือครอบครัวได้ วันแรกของการเก็บตัวเหมือนเป็นการลองผิดลองถูกของเด็กวัยรุ่น ที่ยังไม่ค้นพบตัวเอง แต่เมื่อเส้นทางนี้เดินเข้ามาแล้วไม่ควรย้อนกลับไป ต้าจึงเลือกที่จะตั้งใจ และวันนี้เขาก็ได้ความสำเร็จเป็นรางวัล
TAG ที่เกี่ยวข้อง