stadium

อุปสรรคหล่อหลอมคนให้แกร่ง ชีวิตจริง "ติ๋ม ธนภรณ์" แชมป์โลกกรีฑาผู้สูงอายุ

26 สิงหาคม 2565

อุปสรรคหล่อหลอมให้คนแข็งแกร่ง เป็นเรื่องจริงในชีวิตของ "พี่ติ๋ม ธนภรณ์ อัศววงศ์เจริญ" หญิงไทยคนแรกที่สร้างประวัติศาสตร์เหรียญทองกรีฑาผู้สูงอายุชิงแชมป์โลก ชีวิตของพี่ติ๋มเรียกได้ว่าเริ่มต้นจากจุดที่ลำบากที่สุด และเจอกับอุปสรรคอีกหลายต่อหลายครั้ง แม้กระทั่งวันที่จะขึ้นไปอยู่บนจุดสุงสุดของความสำเร็จ ก็ยังมีอุปสรรคให้ต้อสู้ แต่ความแข็งแกร่งทั้งกายใจ ทำให้พี่ติ๋มเอาชนะและไปถึงจุดหมายได้

 

 

ลูกชาวสวนเล่นกีฬาเพื่อโอกาสในการศึกษา

 

ย้อนกลับไปที่อุปสรรคแรกในชีวิตพี่ติ๋ม คือเรื่องฐานะทางบ้าน พี่ติ๋มบอกว่าเลือกเล่นกีฬาตั้งแต่เด็กเพราะที่บ้านฐานะยากจน พ่อเป็นชาวสวนอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี "พี่เป็นลูกชาวไร่ชาวนา พ่อไม่อยากให้จับจอบจับเสียม อยากให้ลูกได้เรียนสูงๆ แต่ตัวพี่คิดว่าถ้าเรียนสูงแล้วพ่อแม่ลำบากก็ไม่อยากเรียน แต่เห็นพี่ชายเป็นนักกีฬาแล้วเรียนฟรี เลยอยากทำบ้าง"

 

โรงเรียนแรกที่ทำให้พี่ติ๋มเข้าสู่เส้นทางนักกีฬาเริ่มตั้งแต่ชั้นมัธยม ที่โรงเรียนห้วยทรายประชาสรรค์ จ.เพชรบุรี ตอนนั้นอายุ 15 ปี กีฬาแรกที่เลือกคือการวิ่งทางไกล ตั้งแต่ 800 เมตร 1500 เมตร ไปจนถึงวิบาก 3000 เมตร  โค้ชคนแรกส่งให้พี่ติ๋ม ธนภรณ์ได้ลงแข่งวิ่งระดับเยาวชน แต่ก็แพ้ จนหันมาลองเดินทน

 

"แข่งครั้งแรกพี่แพ้เลยนะ แต่โค้ชยังอยากให้เอาดีทางนั้น แล้วตอนเรียนมีนักเดินด้วย พี่เลยหัดเดินทนและทำได้ดีเช่นกัน" จากวันนั้นพี่ติ๋มเดินอยู่บนเส้นทางสายกรีฑาทั้งเดินและวิ่ง จนย้ายจากเพชรบุรี เพื่อเข้าชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม ซึ่งสามารถสนับสนุนให้ไปถึงระดับทีมชาติได้ จึงได้เรียนถึงปริญญาตรี

 

การเลือกมหาวิทยาลัยของพี่ติ๋มก็มีอุปสรรคเช่นกัน เพราะพี่ติ๋มมีความมุ่งมั่นที่จะติดทีมชาติ แต่สวนทางกับความต้องการของครอบครัว "พ่อไม่ได้อยากให้พี่เรียนราชภัฏนะ เพราะตอนนั้นสอบได้ธรรมศาสตร์ด้วย แต่พี่อยากติดทีมชาติ เลยเลือกราชภัฎนครปฐม สุดท้ายพี่ก็ติดทีมชาติจริงๆ หลังจบปริญญาตรี" 

 

 

 

สถิติแรกของ "ติ๋ม ธนภรณ์"

 

การรับใช้ชาติในนามทีมชาติไทยสนามแรกของพี่ติ๋ม ธนภรณ์ คือการเดินทน 10000 เมตรหญิงในซีเกมส์ที่อินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ.2540 ด้วยวัยเพียง 19 ปี แต่ตำนานบทแรกที่สร้างชื่อให้พี่ติ๋มเกิดขึ้นที่เอเชี่ยนเกมส์ที่ กรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2541 เป็นเจ้าภาพ ในรายการเดินหมื่นเมตร พี่ติ๋มเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 6 แต่เป็นสถิติประเทศไทย เป็นสถิติที่อยู่มายาวนาน 23 ปี และเพิ่งจะถูกทำลายในปีนี้โดยนักเดินรุ่นน้อง

 

"ภูมิใจมาก ดีใจมาก สถิติที่ทำได้วันนั้นคือความเร็วเท่าผู้ชายเลย" พี่ติ๋มเล่าด้วยเสียงตื่นเต้น ซึ่งนั่นเป็นแค่ความภูมิใจแรกของเธอ ที่นำมาสู่การสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมในฐานะทีมชาติอีกมากมาย ทั้งเหรียญเงินกีฬาซีเกมส์ ปีพ.ศ.2560 ที่กัวลาลัมเปอร์ และเหรียญทองแดงซีเกมส์เดินทน 20 กิโลเมตร 3 สมัย

 

ปัจจุบันพี่ติ๋มรับราชการไปด้วย และยังคงแข่งเดินรวมถึงวิ่งถนน และประสบความสำเร็จอีกหลายรายการ คนในวงการกรีฑาให้การยอมรับในความสามารถ และเป็นที่รู้จักในฐานะนักวิ่งและนักเดินที่ยังฟิตเสมอ ส่วนใหญ่แล้วพี่ติ๋มจะซ้อมประจำที่สนามศุภชลาศัย และมีหลายคนเข้ามาให้พี่ติ๋มสอนเดินสอนวิ่ง ซึ่งนั่นทำให้โอกาสที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตมาถึงอีกครั้ง

 

 

 

3 เหรียญแห่งประวัติศาสตร์ ในกรีฑาผู้สูงอายุชิงแชมป์โลก

 

"กลายเป็นว่าได้มาดังตอนแก่" พี่ติ๋มเล่าแล้วหัวเราะ แต่ที่จริงพี่ติ๋มนั้นเพิ่งจะอายุ 44 ปีเท่านั้น แต่สำหรับวงการกรีฑาอาชีพอายุมากกว่า 30 ปี ก็สามารถแข่งขันในระดับผู้สูงอายุได้แล้ว โดยจุดพลิกผันใหญ่ของพี่ติ๋มเกิดจากคนรู้จักที่เคยให้เธอสอนวิ่งที่สนามศุภฯ แนะนำให้ไปแข่งกรีฑาผู้สูงอายุชิงแชมป์โลกที่ฟินแลนด์

 

เส้นทางที่ดูเหมือนง่าย แต่ก็มีอุปสรรคอีกครั้ง จนเธอยังสงสัยว่าโดนหลอก "คนที่มาชวนพี่เขาเคยให้พี่สอนวิ่ง แต่พอช่วงโควิดเขาก็หายไป กลับมาอีกทีคือบอกเราว่ามีชิงแชมป์โลกที่ฟินแลนด์ จะพาไป มีคนออกเงินให้ ตอนแรกพี่ไม่เชื่อ คิดว่าโดนหลอก แต่เขาชวนมาทุกวัน สมัครให้ ทำพาสปอตให้ด้วย"

 

ขั้นตอนการไปแข่งต่างประเทศของนักกีฬามีความซับซ้อน ทั้งเรื่องการรับรองด้านเอกสาร การขอวีซ่า โดยจังหวะชีวิตนำพาให้ทุกอย่างผ่านไปได้ไม่ยาก สมาคมกีฬาผู้สูงอายุไทยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้จนได้เดินทางไปแข่งขัน 3 รายการ คือเดินทน 5000 เมตร 10 กิโลเมตร และ 20 กิโลเมตร

 

 

โชคชะตาก็เล่นตลกกับพี่ติ๋มอีกครั้งเพราะเมื่อเดินทางไปถึงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ สถานที่แข่งขัน พร้อมกับพ.อ.อ.ศิริศักดิ์ อัศววงศ์เจริญ สามีและโค้ช ปรากฏว่ากระเป๋าไม่ได้มาด้วย "จนจะแข่งแล้ว รองเท้าเสื้อผ้าไม่มาเลย พี่ก็ไม่รู้จะทำไง ก็ต้องหาซื้อใหม่ ใส่รองเท้าใหม่เสื้อผ้าใหม่"

 

ความไม่ยอมแพ้ทำให้พี่ติ๋มชนะได้ทุกอุปสรรค แม้รองเท้าจะไม่คุ้น เสื้อผ้าจะไม่ใช่ บวกกับอากาศร้อนตอนแข่งขัน อุปสรรคทั้งหมดไม่ได้บั่นทอนพลังของพี่ติ๋ม และเธอก็ทำได้สำเร็จในรายการแรกเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 ในการแข่งเดิน 5000 เมตร สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกรีฑาไทยคนแรกที่ได้เหรียญรางวัลจากรายการนี้

 

"บรรยากาศตอนแข่งร้อนมาก เข้ารอบสุดท้ายพี่เกือบไม่ไหว ไม่รู้ทำได้ไงเหมือนกัน แข่งเสร็จก็ปวดขามาก มีปัญหาเรื่องอาหารด้วย ดีใจที่ทำได้" ความรู้สึกของพี่ติ่มตอนนั้นนอกจากความดีใจแล้ว ยังมีความกังวลอยู่ด้วย เพราะอีก 2 รายการแข่งที่รออยู่หนักมากกว่าหลายเท่าคือการเดิน 10 กิโลเมตร และ 20 กิโลเมตร

 

 

การต่อสู้กับโชคชะตาของ "ติ๋ม ธนภรณ์"

 

โชคชะตาก็เล่นตลกกับพี่ติ๋มอีกครั้งในวันก่อนแข่ง 10 กิโลเมตร กระเป๋าใบแรกเดินทางมาถึงแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีรองเท้าในนั้น ทำให้วันแข่งขันเดิน 10 กิโลเมตรพี่ติ๋มยังต้องใส่รองเท้าใหม่ แต่ก็ทำผลงานได้เยี่ยม จบเป็นอันดับ 2 คว้าเหรียญเงินที่ 2 ให้นักกรีฑาผู้สูงอายุไทย 

 

กระเป๋าที่มาไม่ถึงเป็นอุปสรรคที่หนักที่สุด เพราะสิ่งที่ทำได้คือรอเท่านั้น สำหรับนักกีฬาโดยเฉพาะนักวิ่งทางไกล อุปกรณ์สำคัญมาก รองเท้าที่ซ้อมจนคุ้นเคยเป็นอาวุธคู่ใจ รองเท้าที่ไม่ได้ใช้ประจำทำให้พี่ติ๋มเริ่มมีอาการปวดขามากขึ้น จนลังเลที่จะแข่ง 20 กิโลเมตร

 

"กลายเป็นว่ารองเท้าแข่งอยู่ในกระเป๋าสามี ซึ่งยังมาไม่ถึง ตอนแรกว่าจะถอดใจเพราะปวดขาด้วย แต่อาการดีขึ้น พี่เลยรอดูคู่แข่งก่อน จนคืนก่อนแข่ง 20 กิโลฯ กระเป๋าก็มาครบ" ในที่สุดโชคชะตาก็เข้าข้างพี่ติ๋ม เพราะนอกจากอุปกรณ์จะมาครบแล้ว อากาศก็เริ่มดีขึ้น มีฝนตกลงมาก่อนแข่ง พี่ติ๋มจึงลงแข่งและกลับมาพร้อมชัยชนะ

 

 

เป็นชัยชนะแห่งประวัติศาสตร์ เสียงเพลงชาติไทยได้ดังกระหึ่มที่เฮลซิงกิ เมื่อติ๋ม ธนภรณ์ คว้าเหรียญทองให้ทีมกรีฑาไทย จากการเดิน 20 กม. รุ่น 40-45 ปี การเดินทางที่ยาวไกลจากประเทศไทยสู่ฟินแลนด์ ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายของหญิงไทยคนนี้ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

 

"สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจสู้คือชีวิตเรามันเป็นนักกีฬา มันต้องสู้ อุปสรรคและปัญหาคือแรงผลักดัน เป็นกำลังใจให้เราสำเร็จให้ได้ ดีใจที่ทำได้ถึงขนาดนี้" พี่ติ๋มถ่ายทอดความรู้สึก พร้อมกับบอกว่า หลังจากนี้เส้นทางชีวิตในฐานะนักกรีฑาของเธอจะยังคงเดินหน้าต่อไป หากมีโอกาสก็อยากลงแข่งทั้งวิ่งและเดิน

 

ความสำเร็จของพี่ติ๋ม ธนภรณ์ มาจากหัวใจและร่างกายที่แข็งแกร่ง แม้อุปสรรคจะมาแค่ไหน แต่หัวใจนักสู้ไม่ได้ทำให้เธอยอมแพ้ จนสร้างตำนานของนักกรีฑาไทยอีกครั้ง ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นปีทองของนักกรีฑาไทย และเรื่องราวที่เฮลซิงกิจะกลายเป็นก้าวสำคัญ ที่จะนำไปสู่การพัฒนานักกรีฑาไทยต่อไป


stadium

author

ทีมงานเพจนักวิ่งมีหนวด

เพจเรื่องวิ่งที่แอดมินมีหนวด ทำข่าววิ่ง ชอบป้ายยา ขิงรองเท้าเสื้อผ้าวิ่ง

La Vie en Rose