stadium

คุยกับ "โค้ชเป้" ภัททพล เงินศรีสุข แกะพิมพ์เขียวสร้างนักแบดบ้านทองหยอด

10 ธันวาคม 2565

ไม่มีความสำเร็จใดเกิดขึ้นแค่โมงยามเดียว ทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลาเพื่อบ่มเพาะ จุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ ก็คือแชมป์โลกครั้งแรกของแบดมินตันไทยในปี 2013 จาก “เมย์” รัชนก อินทนนท์

 

แม้ว่า รัชนก จะมีพรสวรรค์อยู่ในตัว แต่ความสามารถของเธอ ได้ถูกดึงออกมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพจากโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด โรงเรียนสอนแบดมินตันแห่งแรกในไทย ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนในการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ในวันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “โค้ชเป้” ภัททพล เงินศรีสุข ผู้อำนวยการสโมสรแบดมินตันบ้านทองหยอด ถึงหลักการบริหารจนทำให้บ้านทองหยอดกลายเป็นสโมสรแบดมินตันอาชีพที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

 

 

 

แยกงบให้ชัดเจนโปร่งใส

 

“โค้ชเป้” เล่าว่า สโมสรแบดมินตันบ้านทองหยอด เป็นโรงเรียนที่มีระบบการจัดการที่แข็งแรงและเป็นมืออาชีพที่สุดสโมสรหนึ่งในบ้านเรา ยึดหลักการจัดการแบบองค์กรกีฬา โดยใช้งบประมาณที่ได้รับจากผู้สนับสนุนภาคเอกชน รวมไปถึงธุรกิจของตนเอง ซึ่งเรื่องงบประมาณแต่ละส่วนก็ได้มีการแบ่งแยกใช้อย่างชัดเจน

 

“งบที่เราได้จากเอกชนที่เราไปขอมา เราใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ทุกอย่าง เพราะเวลาเราไปของบเราจะเขียนรายละเอียดว่าจะนำไปใช้พัฒนานักกีฬาในด้านใดบ้าง ให้ทุนนักกีฬา ซ้อมฟรี อยู่ฟรี อุปกรณ์ รวมไปถึงใช้สำหรับผลักดันส่งแข่งต่างประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรในองค์กร โค้ช วิทยาศาสตร์การกีฬา”

 

“ส่วนเรื่องโครงสร้าง สิ่งก่อสร้าง หรือค่าจ้างพนักงาน แม่บ้าน ภายในสโมสรเป็นเรื่องการบริหารจัดการของโรงเรียนเอง เราไม่ได้เอาเงินตรงนั้นมาใช้ สมมติสปอนเซอร์ให้มา10 ล้าน ผมไม่ได้เอา 10 ล้านมาจ้างคอร์ทเพิ่มหรือทำที่พัก เพราะจุดประสงค์ที่ผู้สนับสนุนเขาให้มา เราขอความช่วยเหลือด้านไหน เราเอามาใช้ด้านนั้น เงินทั้งหมดลงไปที่นักกีฬาโดยตรงหรือทางอ้อม ส่วนเรื่องสถานที่พัก ห้องอาหาร สนาม เป็นเรื่องที่เราเองต้องบริหารจัดการจากการที่ผมเปิดสอนนักกีฬา เป็นรายได้ที่เหลือจากจ่ายพนักงาน ผู้ฝึกสอนแล้ว มีกำไร หรือมีรายได้จากการเปิดให้นักกีฬาต่างประเทศมาฝึกซ้อม ตรงนี้เราเอามาพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย” 

 

เมื่อมีผู้ลงทุนแน่นอนว่าต้องมีอะไรตอบแทนความเชื่อมั่นกลับไปบ้าง สิ่งที่ทำได้คือการสร้างนักกีฬาให้ป้อนสู่เวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดไปสู่ความสำเร็จและมีชื่อเสียง แต่การจะปั้นดินให้เป็นดาวไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างถูกวิธี ซึ่งที่โรงเรียนบ้านทองหยอดนั้นได้แบ่งแนวทางสร้างนักกีฬาไว้ 4 ขั้นตอน

 

 

 

4 ขั้นตอนปั้นดินให้เป็นดาว

 

“ขั้นแรกเราเริ่มจากการเฟ้นหานักกีฬากันก่อน” โค้ชเป้ เริ่มอธิบายก่อนจะเล่าต่อไปว่า 

 

“ที่บ้านทองหยอดเรามีวิธีการเฟ้นหานักกีฬาอยู่ 2 แบบ คือเฟ้นหาจากเด็กในโรงเรียนของเราเอง และเฟ้นหานักกีฬาที่มีความสามารถจากสโมสรอื่นที่มีความสนใจอยากมาอยู่กับเรา เด็กจากต่างหวัดถ้าขาดแคลนทุนทรัพย์เราก็รับเข้ามาดูแล ซัพพอร์ทอุปกรณ์ค่าเรียนทั้งหมดให้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็มีการคัดกรองเด็ก โดยดูจากวิธีการเล่นแบดมินตันเป็นอย่างแรก”

 

“เมื่อเราได้เด็กตามที่ต้องการแล้ว เราจะทำการพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครองถึงเป้าหมาย เพราะเราจะสนับสนุนนักกีฬาตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ใช่เป็นแชมป์หรืออายุเยอะแล้ว เพราะนโยบายของเราคือการให้โอกาสเด็กก่อน มานั่งจับเข่าคุยกับผู้ปกครองและตัวเด็กเลยว่าว่างเป้าหมายไปในทิศทางไหน ซึ่งก็มีหลายประเภทที่เราได้เจอมา”

 

“ก็จะมีบางคนที่ตั้งเป้าหมายไว้สูง เช่น วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ กับ จิว พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ สองคนนี้มีเป้าหมายอยากติดทีมชาติ อยากเป็นแชมป์โลก แชมป์โอลิมปิก แต่ละคนเป้าหมายก็จะแตกต่างกันไป ส่วนความชัดเจนเราก็ต้องคุยกับผู้ปกครอง แน่นอนว่านักกีฬาเล็กๆ เหล่านี้ ต้องอาศัยความร่วมกับทางผู้ปกครอง ว่าจะให้การสนับสนุนเด็กมากน้อยขนาดไหน”

 

 

 

“ข้อสอง เราจะคอยจับตาดูพัฒนาการของเด็กๆ แต่ในระหว่างที่เราได้ฝึกสอน มันจะมีปัจจัยนึงที่สำคัญมาก คือว่าระหว่างทางมันจะมีความคิดต่างๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เด็กๆ อาจจะไขว้เขวจนเป้าหมายของเขาเปลี่ยนไป เราก็จะมีพูดคุยอย่างใกล้ชิดว่าเป้าหมายของคุณที่ตั้งใจไว้แต่แรกยังเป็นเหมือนเดิมอยู่ไหม ซึ่งตรงนี้ผู้ปกครองไม่เกี่ยวแล้ว เราจะคุยกับนักกีฬาเพราะถือว่าเราเป็นคนรับผิดชอบนักกีฬา เราจะคอยสังเกตพวกเขาจากการฝึกซ้อมหรือจากการแข่งขัน จากนั้นต้องมานั่งพิจารณากันว่า แต่ละคนยังมีเป้าหมายเหมือนเดิมหรือไม่ ที่ผ่านก็ยอมรับมาบางคนก็มีเปลี่ยนบ้าง ทำสำเร็จบ้าง ท้อบ้าง บางคนก็ยังมุ่งมั่นเหมือนเดิม ซึ่งตรงนี้พอเรารู้แล้วควรจะผลักดันทางด้านไหนต่อไป แต่เราจะไม่ตัดโอกาสเด็กทั้งหมด ยังคงให้โอกาสเด็กทุกคนต่อไป แต่เราต้องมานั่งปรับจูนความคิดเขาทั้งเรื่องการใช้ชีวิตหรือการเล่นแบดมินตัน”

 

“ส่วนเรื่องเรียน บ้านทองหยอดไม่ได้ซีเรียสว่าคุณจะต้องเลิกเรียนหนังสือ หรือหยุดเรียนเพื่อมาเล่นแบดมินตันเต็มตัวแล้วเราถึงจะสนับสนุนอันนั้นไม่ใช่ แน่นอนว่าการศึกษาสำคัญมากสำหรับเมืองไทย ผมเชื่อว่าการศึกษาสำคัญ เพราะอย่างน้อยๆ มันเป็นการฝึกระเบียบวินัยและความคิดของคนขั้นพื้นฐาน แต่ถึงจุดๆ นึง นักกีฬาที่คิดว่าพวกเขาไปต่อได้ จะมีการพูดคุยปรึกษากันกับทางโรงเรียน ผู้ฝึกสอนรวมถึงผู้ปกครอง บางคนอาจจะเริ่มตัดสินใจเรียนในรูปแบบการศึกษานอกระบบ เพื่อให้มีเวลาฝึกซ้อมมากกว่า”

 

“ยกตัวอย่าง เมย์ รัชนก ก็เรียนในระบบจนถึง ม. 3 แต่พอขึ้น ม. 4 เขาค่อนข้างไประดับโลกได้เร็วกว่าเด็กคนอื่น แต่เราก็ไม่หมายความว่าอยากให้เด็กตัดขาดจากการศึกษา ก็มีการจ้างครูภาษาอังกฤษมาสอน เพื่ออย่างน้อยให้เขามีความรู้ การเป็นนักกีฬาระดับโลก ภาษานั้นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับผู้ตัดสิน การสัมภาษณ์ หรือการสื่อสารกับเพื่อนร่วมอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขานำไปใช้ได้จริงๆ ในเวทีระดับโลกได้”

 

 

“ข้อสาม เป็นเรื่องของการผลักดันอย่างเต็มที่ สมมติผมทำนักกีฬา 50 คน เราจะคัดเลือกจากสตาฟฟ์โค้ชที่ได้ทำงานกับนักกีฬาแต่ละคน คัดเลือกจากผลงานในประเทศและต่างประเทศที่ได้ส่งออกไปแข่ง ดูจากเป้าหมายของนักกีฬาซึ่งข้อนี้ยังสำคัญ เราต้องคุยตลอดเวลา”

 

“พอเราเห็นภาพทุกอย่างประกอบกัน จนเกิดเป็นแนวโน้มที่เราคิดว่า เราสามารถผลักดันได้อย่างเต็มที่ในระบบที่เขาดูแลตัวเองได้ เช่น เมย์, จิว, วิว ที่เราเริ่มทำ นักกีฬาเหล่านี้สามารถมีรายได้ดูแลตัวเองอยู่ในระดับที่เรียกว่าสบายกว่าคนทั่วๆ ไป บางครั้งอาจจะผลักดันในเรื่องของการรับราชการ การเรียนในมหาวิทยาลัย รายการได้นอกสนาม พรีเซนเตอร์ ตามสังคมสมัยนี้พัฒนาไปเรื่อยๆ เราก็พยายามปรับตัวให้เข้าปัจจุบัน โดยยังเน้นให้เหมาะสมกับนักกีฬาไม่ใช่ดารา”

 

“ปัจจุบันเราเริ่มมีนักกีฬาสนใจเข้าอยู่ในโรงเรียนเยอะมากขึ้น ผู้ปกครอง นักกีฬา ให้ความร่วมมือกับโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เราต้องมีมาตรฐาน หรือกฎระเบียบในการสนับสนุนนักกีฬากลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นตัวแทนต่อยอดแบบรุ่นพี่ๆ เราก็ต้องมีการวางงบประมาณส่วนนึงสำหรับนักกีฬารุ่นต่อไป ซึ่งตรงนี้ในวงการแบดฯ ตอนนี้เท่าที่สัมผัสถือว่าเป็นวงการกีฬาชนิดนึงที่คนในความสนใจ และเป็นที่นิยมของประชาชนเยอะมากขึ้น สังเกตุได้จากโรงเรียนบ้านทองหยอด มีเด็กสนใจมาเล่นแบดฯ ใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกเดือน”

 

 

“สุดท้ายข้อสี่ เมื่อเราได้นักกีฬากลุ่มนี้มาแล้ว มันจะต้องมีการเซตระบบภายในโรงเรียนขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นการที่เรามีหลักเกณฑ์ มีนักกีฬา มันก็ต้องมีตัวชี้วัด การที่เราสนับสนุนคุณไปแล้วด้วยเม็ดเงินของผู้สนับสนุน เราอยากจะใช้งบตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะฉะนั้นบางคนอาจจะได้รับการสนับสนุนต่อเนื่อง บางคนไม่ต่อเนื่อง ก็ขึ้นอยู่กับผลงาน วินัยของนักกีฬาแต่ละคน”

 

โค้ชเป้ทิ้งท้ายด้วยว่า “เราเข้าใจอยู่แล้วว่านักกีฬาแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ พัฒนาการไม่เท่ากัน ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม แบ่งโค้ชออกเป็นชุดๆ ติดตามต่อเนื่องเป็นชุดๆ ดังนั้นต่อให้เด็กไม่มีผลงานไม่ได้หมายความว่าเราจะตัดโอกาส เพราะว่าบางคนอาจจะมีพัฒนาการช้า แต่เป้าหมายเขายังเหมือนเดิม จุดหมายปลายทางเขายังสามารถไปได้แต่อาจจะช้าหน่อย หรือบางคนเรามองว่าเขาไปได้เร็ว เราก็จะไม่เสียเวลาแม้ว่าอายุยังน้อย เพราะเราก็คิดว่าอายุไม่เกี่ยว ดูที่ความสามารถมากกว่า”

 

 

นี่ถือเป็นตัวอย่างของสโมสรอาชีพที่มีระบบการจัดการในแบบของมืออาชีพ ดูแลตัวเองได้ในรูปแบบขององค์กรกีฬา เป็นตัวอย่างให้สโมสรอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้เพื่อให้กีฬาชนิดนี้ไปไปต่อได้ในระยะยาวอย่างมั่นคง เพราะเมื่อระบบเข้มแข็งจะทำให้มีหลายสโมสรช่วยกันสร้างนักกีฬาได้จำนานมากขึ้น มีเด็กก้าวขึ้นมาทดแทนกันรุ่นต่อรุ่นเหมือนอย่าง จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ที่ทำมาตลอด 30-40 ปี แน่นอนว่าจะทำให้วงการกีฬาแต่ละชนิดไม่ซบเซา ไม่ขาดซูเปอร์สตาร์ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดแฟนกีฬา

 

ในอดีตเรามีตัวอย่างให้เห็นกันมานักต่อนักแล้วเมื่อระบบไม่แข็งแรง พอถึงจุดหนึ่งที่ซูเปอร์สตาร์เลิกเล่นวงการก็กลับไปซบเซา กระแสหาย ขาดแคลนนักกีฬา คราวนี้จะปั้นกลับมาให้บูมอีกครั้งก็เป็นเรื่องยากแล้ว

 


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

StadiumTH Content Creator / เชียร์หงส์แดง รักการเดินป่า เสพติดหมูกระทะ

โฆษณา