stadium

เส้นชัยที่ต้องไปให้ถึง ผู้หญิงคู่ควรกับมาราธอนโอลิมปิก

5 มีนาคม 2563

เมื่อพูดถึงชื่อของ กาเบรียล่า แอนเดอร์เซ่น เชสส์ หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูมากนัก แต่เมื่อให้ลองนึกภาพวินาทีของหญิงสาวคนหนึ่ง ที่ตกอยู่ในสภาพอิดโรยแต่ยังคงพยายามประคองร่างกายที่อ่อนล่าสุดขีดเพื่อเดินไปให้ถึงเส้นชัยในการแข่งขันวิ่งมาราธอนของโอลิมปิกเกมส์ คงจะพอคุ้นๆเกี่ยวกับความทรงจำเหล่านั้น เพราะวินาทีดังกล่าวถูกยกให้เป็น 1 ในช่วงเวลาแห่งการสร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดของโลก ไม่แพ้เหตุการณ์ของ เดเร็ค เรดม่อนส์ , อาเบเบ บิกิลา, เคอรี่ สตรัก หรือ ความสำเร็จของ ยูเซน โบลต์ และ ไมเคิล เฟลป์ส

            

เหตุการณ์ครั้งนั้นถือว่าอันตรายถึงชีวิต เนื่องจาก กาเบรียล่า ต้องต่อสู้กับสภาวะขาดน้ำจนทำให้เกิดสภาวะชนกำแพงก่อนจะถึงเส้นชัย แต่อะไรที่ทำให้เธอต้องสู้อย่างบ้าเลือดขนาดนั้น เพราะท้ายที่สุดเวลาของเธอไม่ได้ลุ้นเหรียญใดๆเลยด้วยซ้ำ … 

 

 

มาราธอนในโอลิมปิกเกมส์ ไม่ใช่เวทีของเพศที่อ่อนแอ

 

ย้อนกลับไปการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1896 เดิมทีผู้หญิงซึ่งถูกมองว่าเป็นเพศที่ไม่มีความอดทนหรือแข็งแรงมากพอ ยังมีโอกาสเข้าร่วมกับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกน้อย โดยในปี ค.ศ. 1900 มีเพียงแค่ 5 ชนิดกีฬาเท่านั้นที่สตรีเข้าร่วมแข่งขันได้แก่ เทนนิส, โครเก้ต์, เรือใบ, ขี่ม้า และ กอล์ฟ ซึ่งมีผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขันเพียง 22 คน จากนักกีฬาทั้งหมด 997 คน หรือคิดเป็น 2.2% เท่านั้น ขณะเดียวกันกีฬาระดับโลกหลายๆ ชนิด ก็ยังคงกีดกันผู้หญิงออกจากการแข่งขัน และ หนึ่งในนั้นคือมาราธอนเพราะมีความเชื่อว่า ผู้หญิงไม่เข้มแข็งพอที่จะวิ่งได้จบการแข่งขัน

 

กระทั่งปี ค.ศ. 1967 ก็ได้มีวีรสตรีคนแรกที่ร่วมแข่งขันวิ่งรายการบอสตันมาราธอน ที่ประเทศอังกฤษเธอคือ แคธรีน สวิตเซอร์ ซึ่งเธอสามารถวิ่งจบด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 33 นาที และส่งผลให้ตั้งแต่ปี ค.ศใ 1972 เป็นต้นมา การแข่งขันบอสตันมาราธอน ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขันอย่างเป็นทางการ และท้ายที่สุดสวิตเซอร์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าหอเกียรติยศของประเทศสหรัฐอเมริกา จากการที่เธอเป็นผู้ปลุกพลังให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมกับการแข่งขันวิ่งอย่างเป็นทางการ

 

ขณะที่การแข่งขันมาราธอนในโอลิมปิกเกมส์ เริ่มเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมเข้าแข่งขันเป็นทางการในปี ค.ศ. 1984 พร้อมๆกับ กีฬายิงปืนและจักรยาน อย่างไรก็ตาม ณ เวลานั้นยังมีเสียงการวิพากษ์วิจารณ์และสบประหม่าว่า “พลังของผู้หญิง” จะสามารถสร้างความสำเร็จในการวิ่งมาราธอนได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในโอลิมปิกที่ลอสแองเจลลิส ปี 1984 ได้เปลี่ยนความคิดของคนทั่วโลกไปตลอดกาล

 

วีรสตรี ไร้เหรียญที่ถูกจดจำมากที่สุดในมาราธอนหญิงครั้งประวัติศาสตร์

 

ภายหลังเวลา 2 ชั่วโมง 24 นาที 52 วินาที ชื่อของ โจแอน เบอนัวต์ นักวิ่งจอมอึดชาวสหรัฐฯถูกประกาศในสนามว่าเป็นผู้ชนะประจำการแข่งขันมาราธอนหญิง ของโอลิมปิก เกมส์ ปี 1984 ตามมาด้วยความยินดีของ กรีท เวทซ์ ปอดเหล็กชาวนอร์เวย์ และ โรซ่า โมต้า นักวิ่งหญิงชาวโปรตุเกส อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์ที่เติดตราตรึงใจคือหลังจากนั้นราวๆ 15 นาทีหลังจากนั้น ….

 

ร่างกายที่ดูอ่อนระโหยโรยแรง และเดินอย่างโซซัดโซเซเข้ามาสู่ระยะ 400 เมตรสุดท้ายของการแข่งขันกาเบรียล่า แอนเดอร์เซ่น เชสส์ นักสกีหิมะชาวสวิตเซอร์แลนด์วัย 39 ปี กำลังแสดงให้คนทั้งโลกเห็นถึงวินาทีที่สำคัญที่สุดของโอลิมปิกปี 1984 … วินาทีระหว่างความเป็น กับ ความตาย แต่เพราะความตั้งมั่นในเป้าหมายมันทำให้เธอตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า เธอจะต้องเข้าเส้นชัยในการวิ่งมาราธอนให้ได้

 

“ฉันบอกตัวเองว่าให้พยายามวิ่งต่อไป ให้เดินหน้าต่อไป แม้ว่าร่างกายที่ถูกเล่นงานโดยสภาวะขาดน้ำจะทำให้กล้ามเนื้อหยุดการตอบสนองไปแล้วก็ตาม …. ฉันรู้แค่ถ้าหากฉันหยุดหรือฉันเลือกที่จะนั่งลงระหว่างนั้น ทุกอย่างจะจบลงทันที ดังนั้นสิ่งเดียวที่สมองสั่งการ ณ เวลานั้นคือ ฉันต้องไปถึงเส้นชัยให้ได้”

 

 

อาการชนกำแพง บน 400 เมตรสุดท้าย … นาทีสยองขวัญที่คนทั้งสนามลุกขึ้นให้กำลังใจ

 

จากอากาศร้อน และกำหนดการที่มีจุดให้น้ำเพียงแค่ 5 แห่ง ซึ่ง กาเบรียล่า พลาดการรับน้ำในจุดที่ 5ส่งผลให้ร่างกายของเธอขาดน้ำ และประสบปัญหาเรื่องความชื้นในร่างกาย ภาพการพะยุงตัวเองเดินทีละก้าวสภาพแขนที่ห้อยต่องแต่ง การเดินเอียงซ้ายทีขวาที พร้อมกับลำตัวที่บิดงอ หรือศัพท์ในวงการวิ่งเรียกว่า“อาการชนกำแพง” แต่สิ่งที่เธอเลือกทำคือการปฏิเสธการช่วยเหลือจากทีมแพทย์ เพราะนั่นจะทำให้เธอต้องออกจากการแข่งขันในทันที

 

ผู้คนในสนาม แอลเอ โคลีเซียม ต่างลุกขึ้นปรบมือให้กำลังใจเธอ พร้อมคราบน้ำตาที่เกิดจากการเอาใจช่วย หลายคนไม่อยากที่จะเห็นภาพเหล่านั้นด้วยซ้ำ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เฝ้าดูหญิงแกร่งผู้ก้าวผ่านกำแพงที่เธอต้องเจอในระยะ 400 เมตรสุดท้ายจนกระทั่ง เธอทำสำเร็จ ... กาเบรียล่า อาศัยหัวใจที่เด็ดเดี่ยวประคองร่างกายเข้าเส้นชัยอย่างช้าๆ ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 48 นาที 42 วินาที จบอันดับ 37 ของการแข่งขันจากนักกีฬาที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 50 คน 

 

แม้ว่าเธอจะไม่ได้เหรียญรางวัลใดๆเลย แต่การต่อสู้ของเธอในระยะ 400 เมตรสุดท้าย ซึ่งมีการบันทึกว่าเธอใช้เวลามากถึง 5.44 นาที เพื่อสร้างวินาทีแห่งแรงบันดาลใจและเป็นการตอกกลับคำวิจารณ์ที่ว่าผู้หญิงไม่เข้มแข็งพอสำหรับกีฬามาราธอน ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากมีนักกีฬาชายประสบปัญหาเดียวกับเธอจะสามารถนำพาตัวเองเข้าถึงเส้นชัยได้หรือไม่ หรืออาจถอดใจออกจากการแข่งขันไปก่อนแล้วก็เป็นไปได้

 


stadium

author

นวพล เกียรติไพศาล

เบนซ์ชอบกินข้าวมันไก่แต่กลัวอ้วน รักแมวจึงมักโดนข่วน อินกับเรื่องราวกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจ