4 กุมภาพันธ์ 2563
ชัยชนะของทีมชาติไต้หวันจากประตูโทนที่เกิดขึ้นในแมตช์จั่วหัวคัดโอลิมปิกของฟุตบอลหญิงผลักชบาแก้วเข้ามุมมืดภายใต้บรรยากาศอันแสนหดหู่ เพราะโอกาสสำหรับโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวกลางปีนี้ มันริบหรี่เต็มที
แม้มันจะเป็นเพียงแค่ “แมตช์แรก” แต่เราทุกคนต่างรู้กันดีว่าในอีก2เกมที่เหลือ การเจอกับจีน ทีมอันดับ 15 ของโลกและเป็นเบอร์4ของทวีป กับดวลเจ้าบ้านออสเตรเลีย เบอร์ 7 ของโลกและเบอร์1ของทวีป อย่าว่าแต่จะทำยังไงให้ได้ไปต่อเลย แค่ลุ้นให้ชนะซักนัด มันยังเป็นเรื่อง “ยาก”
หลังเกมผมได้แอบส่องดูคอมเม้นท์ตามหน้าไซเบอร์ และสิ่งที่เจอก็ดูจะออกไปในทางเดียวกัน นั่นคือ คำตำหนิในเชิงลบ, คำสบประมาท และประโยคบั่นทอนกำลังใจเสียเป็นส่วนมาก (บ้างก็ว่าการได้ไปบอลโลกถึง2ครั้งมันไม่ได้ช่วยอะไร บ้างก็ว่าไม่เห็นการพัฒนาจากทีมชุดนี้ ที่หนักๆมีถึงขนาดพูดถึงการโละนักเตะยกทีมกันไปเลยก็มี)
ดูจะโหดร้ายเกินไปหน่อย(ที่ปล่อยให้ความผิดหวังพาให้เราคอมเม้นท์กันไปแบบนั้น) เพราะอันที่จริง ตลอดครึ่งหลังก็เป็นเราที่กดเขาอยู่ฝ่ายเดียว เพียงแต่จังหวะสุดท้าย เราไม่เฉียบคมพอ ไม่หลากหลายพอก็แค่นั้น
“เชื่อผมสิ!” ว่าสิ่งที่ท่านกำลังจะได้อ่านต่อจากนี้ มันไม่ใช่เรื่องของการ “แก้ตัว” จากความพ่ายแพ้จากแมตช์เมื่อวาน แต่มันมีปัจจัยที่ทำให้ชื่อหัวชื่อนี้พอจะเชื่อถือกันได้ต่างหาก (เราเองในเวลานี้ไม่ได้เหนือกว่าไต้หวัน แม้ว่าชื่อชั้นและโปรไฟล์ต่างๆของเราจะดูดีกว่าก็ตาม)
“ลีกฟุตบอลหญิง มันเป็นสิ่งที่ประเทศเราควรจะมี อย่างตอนที่หนูไปเล่นที่ต่างประเทศ หนูได้แก้ไขตัวเองในทุกๆแมตช์ ส่วนกับทีมชาติ เราเก็บตัวซ้อมกัน 2-3 เดือนจริง แต่ก็เป็นการซ้อมกับเพื่อน ลงทีม-ซ้อม-ลงทีม ไม่ได้เจอเกมที่มีความกดดัน ไม่ได้มาเจอสถานการณ์จริงที่มีแฟนบอล บ้านเราควรจะพัฒนาให้มีลีกฟุตบอลหญิง หรือจัดเป็นทัวร์นาเมนท์อะไรก็ได้ที่มันมากกว่าแค่การมาเก็บตัวฝึกซ้อมอย่างเดียว" บทสัมภาษณ์ของน้องไหม ธนีกานด์ แดงดา หลังเกมที่ไทยพลาดท่าพ่ายเวียดนามในนัดชิงฯซีเกมส์หนล่าสุด
“ท่านเห็นอะไรมั้ย” จริงๆแล้วฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่ป็อปปูล่าเป็นเบอร์1ที่ไต้หวัน เพราะคนไต้หวันส่วนใหญ่นิยมดูเบสบอลกันมากกว่า ยิ่งไม่ต้องพูดถึงบอลหญิงแทบจะหาคนดูได้น้อยมากๆ แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าที่ไต้หวัน เขามีลีกอาชีพของฟุตบอลหญิง, ทำกันอย่างจริงจัง และมีกัน 6 ปีมาแล้วด้วยซ้ำ!
บอลลีกของไต้หวันใช้ชื่อ “ไต้หวัน มู่หลาน ฟุตบอลลีก (ชื่อย่อคือTMFL)” เป็นลีกอาชีพที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลไต้หวัน ถือเป็นลีกสูงสุดที่มีการจัดการแข่งขันทุกสัปดาห์ โดยมีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด6ทีม ซึ่งแต่ละทีมต้องลงเล่นทั้งหมด15นัดเพื่อหาทีมแชมป์ที่มีแต้มสูงสุดในแต่ละฤดูกาล เป็นลีกที่เปรียบเสมือนเวทีผลิตแข้งสู่ทีมชาติ นั่นคือสิ่งแรกที่พวกเขามีมาก่อนเรา และถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ปัจจัยที่ 2 คือ การเดินทางในป่าใหญ่ต้องอาศัยพรานที่มีประสบการณ์
เป็นเวลากว่า 7 ปีมาแล้วที่ทีมไต้หวันชุดนี้วนเวียนอยู่กับการใช้กุนซือชาวญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์คลุกคลีอยู่ในวงการฟุตบอลญี่ปุ่น(โดยเฉพาะทีมหญิง)มาอย่างโชกโชน
ไม่ว่าจะเป็นโค้ชคนก่อนของพวกเขาอย่างมาซายูกิ นากิระ (ในปี2013-2017) ที่เจ้าตัวพกดีกรีเคยคุมทีมชาติญี่ปุ่นรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี, อดีตโค้ชทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ทีมหญิง และยังเคยเป็นอดีตโค้ชผู้รักษาประตูสโมสรโยโกฮาม่า เอฟ มารินอส นั่นคือโปรไฟล์ก่อนเข้ารับตำแหน่งเป็นนายใหญ่ทัพมู่หลาน
หรือจะเป็นโค้ชคนปัจจุบันอย่างคาซูโอะ อิจิโกะ อดีตกุนซือเวกัลตะ เซนได(ทั้งทีมหญิงและทีมเยาวชน) ที่เคยพาทีมหญิงจบอันดับ 4 บอลลีก แถมยังเคยคุมสโมสรเจฟ ชิบะในลีกดิวิชั่น2ของเจลีก เห็นได้ชัดว่าสมาคมฟุตบอลไต้หวันค่อนข้างจะจริงจังและเชื่อมั่นว่าประสบการ์ณเท่านั้นที่จะพาทีมไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคต
ความจริงคือ มันไม่แปลกหรอกที่เราแพ้ไต้หวันเมื่อวานนี้ แต่จะยิ่งแปลกถ้าเรายังไม่ยอมตื่นจากฝันอัน(เคย)หอมหวานซักที(ฝันที่ว่าเราเคยได้ไปบอลโลกมาแล้วตั้ง2ครั้ง, ฝันที่ว่าเราเคยเป็นถึงแชมป์ทวีป และฝันถึงการกอดโทรฟี่มากมายจากซีเกมส์และอาเซียนคัพ เป็นฝันหวานท่ามกลางความไม่แน่นอนในเรื่องพัฒนาการของทีมในอนาคต)
“ดูเขาแล้วย้อนดูเรา” ผมเชื่อว่าอีกไม่นานทีมชาติไต้หวันจะมีพัฒนาการแซงหน้าทุกทีมในอาเซียน เผลอๆโควต้าฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็อาจเป็นเขาที่เข้ามาเป็นขวากหนามให้เราในเวลาอันใกล้
แพ้วันนี้..ไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้แค่ว่าทำไมเราถึงแพ้ และยังมีจุดไหนที่เราต้องแก้เพื่อให้ไม่ให้แพ้กันอีก เพราะในขณะที่เรากำลังเดินไปข้างหน้า บางคนเขาก็อาจกำลัง “วิ่งไป”
TAG ที่เกี่ยวข้อง