stadium

'พญาหงส์ อโยธยาไฟท์ยิม' นักชกยอดกตัญญู แชมป์ K-1 หญิงคนแรกของไทย

21 กรกฎาคม 2565

ทันทีที่เสียงระฆังดังหมดยก ส่งสัญญาณถึงการสิ้นสุด การต่อสู้ที่ดุเดือดบนสังเวียนผ้าใบก็เดินทางมาถึงวาระตัดสิน ทุกคะแนนถูกหยิบยื่นมายังผู้ชี้ขาดบนเวที "วินเนอร์ อิส พญาหงส์ อโยธยาไฟท์ยิม!!! "

 

รอยยิ้มปริ่มน้ำตาก็ปรากฏบนหน้าของสาวน้อยนักสู้ผู้ที่ยืนตระหง่านบนสังเวียน

 

ชื่อของ 'พญาหงส์ อโยธยาไฟท์ยิม' ถูกประกาศก้องให้โลกรับรู้ เมื่อสามารถเอาชนะ 'มิยุ สุรากาวะ' นักมวยสาวชาวญี่ปุ่นในรอบชิงชนะเลิศมวย K-1 Ring of Venus คิกบ็อกซิ่ง เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 45 กิโลกรัม ที่สามกีฬาแห่งชาติโยโยงิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมาทำให้เธอกลายเป็นนักมวยหญิงไทยคนแรกที่ก้าวมาถึงทำเนียบแชมป์เปี้ยนมวยเควันด้วยวัยเพียง 19 ปี

 

พญาหงส์ อโยธยาไฟท์ยิมเป็นสมญานามในแวดวงหมัดมวย สำหรับชื่อจริงของเธอคือ 'จันทกานต์ มโนบาล' หรือปุ้ม สาวน้อยจากจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเด็กสาวจากต่างจังหวัดอีกหนึ่งคนที่สร้างชื่อกระฉ่อนโลก ต่อจาก 'ลิซ่า' ลลิษา มโนบาล (ลิซ่าแบล็คพิ้งค์) ลูกพี่ลูกน้องอีกคนของเธอ

 

 

 

จุดเริ่มของนักชกหญิง

 

ช่วงชีวิตในวัยเด็กของปุ้มไม่มีอะไรโดดเด่นไปกว่าเด็กสาวต่างจังหวัดมากมายนักและเธอมักจะถูกเพื่อนร่วมรุ่นกลั่นแกล้งอยู่เสมอ เธอเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกชกที่ใบหน้าเข้าอย่างจังและนั่นจึงเป็นที่มาของสาวน้อยนักสู้

 

"หนูมักจะถูกเพื่อนผู้ชายแกล้งอยู่บ่อยๆ เช่นล้อชื่อพ่อแม่บ้าง บางครั้งก็มาพูดจาดูถูกหนูบ้าง หนักที่สุดคือเคยโดนต่อย ซึ่งหนูก็ไม่ชอบแต่หนูเป็นคนไม่โต้ตอบปล่อยให้เขาทำไป จนวันหนึ่งแม่รู้เรื่องเข้าก็เลยมาบอกกับหนูว่าจะให้หนูไปเรียนชกมวยเพื่อป้องกันตัวเองเผื่อไว้ว่าวันไหนที่เขามาแกล้งเราอีกเราจะได้ป้องกันตัวเองได้ ซึ่งเจตนาของหนูไม่ได้จะเรียนไว้ไปรังแกใครแต่มีไว้เพื่อป้องกันตัวเองเฉยๆ" 

 

 

 

ปุ้มบอกต่อว่า การที่เธอได้มาฝึกวิชามวยไทยในค่ายมวยระแวกบ้านเกิด ทำให้เธอรู้สึกว่านี่คือกีฬาที่ชื่นชอบ ด้วยอุปนิสัยที่ห้าวหาญ ลุยไหนลุยกัน คำว่าเจ็บตัวไม่มีอยู่ในสารบัญชีวิต ทำให้ปุ้มหลงมนต์เสน่ห์มวยไทยอย่างจัง

 

"ตอนนั้นหนูไม่รู้ว่าหนูชอบกีฬาอะไรเลยด้วยซ้ำ เต็มที่ก็แค่แข่งกีฬาสีของโรงเรียนซึ่งมันก็ไม่มีอะไรโดดเด่นเลยสักอย่าง แต่พอหนูได้มาลองฝึกมวยไทยมันทำให้รู้ว่า เฮ้ย! เราชอบนะ ด้วยความที่หนูเป็นคนที่ไม่กลัวเจ็บ นิสัยคล้ายผู้ชาย ห้าวๆ แต่ก็ยังเป็นผู้หญิงอยู่นะไม่ได้ห้าวอะไรขนาดนั้น (หัวเราะ) อาจจะเพราะว่าหนูชอบดูหนังบู๊ หนังต่อสู้อะไรพวกนี้มาตั้งแต่เด็กด้วยมันเลยทำให้เราจำภาพพวกนั้น แต่หนูก็ไม่ใช่คนที่ใช้ความรุนแรงนะ แค่ชอบมันเฉยๆ กับการที่มาเรียนมวยไทยมันก็เลยสนุกและทำให้หนูจริงจังกับมัน"

 

ทั้งภาพจำและความรู้สึกของปุ้มในวันวานแม้จะมีทั้งเรื่องราวที่ไม่น่าจดจำเท่าไหร่นัก แต่ยังพอมีบางสิ่งที่ทำให้เธอยิ้มได้เสมอเมื่อนึกถึง

 

"ฐานะทางบ้านของหนูไม่ดีนัก ไม่มีเหมือนกับคนแถวนั้น พ่อแม่ก็มีอาชีพทำงานโรงงานรายได้ก็ไม่ได้มากมายอะไร หนูเห็นว่าพวกเขาทำงานหนักเพื่อจะหาเงินมาส่งให้หนูเรียนหนังสือ แต่หนูรู้สึกว่าการที่เราเรียนมวยมาแล้วก็พอมีเบสิคพื้นฐานอยู่บ้างก็เลยคิดว่า อยากหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัวอีกแรงจึงตัดสินใจขึ้นชกมวยเพื่อหาเงิน"

 

 

 

นักชกภูธรสู่สังเวียนระดับโลก

 

ปุ้มเล่าให้ฟังว่า เวทีแรกที่เธอมีโอกาสได้แสดงฝีไม้ลายมือวิชาหมัดมวย เป็นรายการมวยไทยตามงานเทศกาลประจำปีหรือเธอเรียกมันว่ามวยงานวัด ด้วยคำชักชวนจากครูมวยในค่ายที่ฝึกซ้อมประจวบเหมาะกับความต้องการของเธอที่จะหาเงินมาจุนเจือครอบครัวทำให้เธอไม่ละล้าละลังที่จะตัดสินใจพร้อมกับตกปากรับคำทันที

 

"ขึ้นเวทีชกมวยครั้งแรกตอนอายุน่าจะประมาณ 9 ขวบ จำได้ว่าตอนนั้นมันมีงานประจำปีแล้วเขาก็มีการจัดชกมวยขึ้นและหนูก็รู้มาว่าจะมีเงินค่าตัวให้กับนักมวยด้วยจะแพ้หรือชนะก็ได้ หนูก็เห็นว่ามันน่าจะพอหาเงินได้ก็เลยตัดสินใจขึ้นชกมันเป็นครั้งแรกที่หนูได้ขึ้นเวทีจริงๆ ตื่นเต้นนิดๆ แต่ก็ไม่ได้กลัวอะไรเพราะคู่ชกตัวเท่ากัน หนูคิดแค่ว่าแพ้ชนะช่างมันแค่ทำให้เต็มที่ สุดท้ายหนูก็ชนะได้เงินมา 500 บาท หนูดีใจมากที่หาเงินได้ด้วยตัวเอง"

 

ความภาคภูมิใจเล็กๆ ของเด็กคนหนึ่งแม้จะมีมูลค่าที่ไม่มากมายนักแต่กลับทำให้เธอใจฟูขึ้นมหาศาล

 

"หลังจากนั้นหนูก็ตระเวนชกมวยตามงานวัดมาเรื่อยๆ แพ้บ้างชนะบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะคิดอย่างเดียวคือจะหาเงินช่วยพ่อกับแม่ มีอยู่ครั้งหนึ่งหนูเคยได้ค่าตัวในการขึ้นชกตั้ง 4000 บาท นี่ยังไม่รวมเงินที่ได้จากกองเชียร์ที่เชียร์ให้หนูชนะนะ รวมแล้วก็เยอะอยู่ มันเป็นเงินก้อนแรกที่หนูหามาได้ มันทำให้หนูรู้สึกว่าภูมิใจกับตัวเองมากๆ"

 

ใครจะไปคิดว่านักสู้ภูธรอย่างปุ้มจะจับพลัดจับผลูได้โอกาสขึ้นชกในเวทีระดับโลกในรายการ ชิงแชมป์มวยไทยสมัครเล่นโลก จากที่เธอคิดแค่จะฝึกมวยไทยไว้แค่ป้องกันตัวแต่เมื่อถึงเวลานี้มันทำให้เธอต้องจริงจังมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

 

"มันเป็นความท้าทายใหม่ที่หนูอยากที่จะลองดู พอรู้ว่ามีการคัดเลือกนักมวยไทยสมัครเล่นเพื่อไปชกในรายการใหญ่ระดับโลกหนูตัดสินใจเข้าคัดตัวทันที หนูจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นคนติดต่อเข้ามารู้แค่ว่านี่คือโอกาสของหนูแล้วและต้องทำให้ได้"

 

 

คู่ต่อสู้ใหม่ที่แข็งแร่งกว่าเดิม บรรยากาศใหม่ที่ปุ้มไม่เคยสัมผัส ทำให้การเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นชกกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน

 

"มันแตกต่างจากเดิมมากๆ หนูต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อมาวิ่ง จากนั้นก็มากระโดดเชือก ชกลม พอถึงเวลาเจ็ดโมงเช้าก็ต้องเตรียมตัวไปโรงเรียน หนูทำแบบนี้มาตลอดก็เพราะว่าหนูไม่อยากให้เสียการเรียนแต่การชกมวยก็ต้องทำไปด้วยเพราะมันคือหน้าที่รับผิดชอบ พอหลังเลิกเรียนหนูก็จะกลับไปซ้อมอีก มันเหนื่อยนะแต่หนูกลับรู้สึกว่ามันสนุก พ่อกับแม่ก็คอยให้กำลังใจและสนับสนุนเราเสมอก็เลยทำให้หนูเดินหน้าต่อ"

 

ปุ้มแอบบ่นเบาๆ ด้วยว่า "โคตรเหนื่อยเลย แต่มันบอกใครไม่ได้ (หัวเราะ)"

 

หลังจากที่ปุ้มบ่มเพาะฝีมืออยู่ระยะหนึ่งบวกกับสภาพร่างกายที่ฟิตเต็มถัง ท้ายที่สุดเธอก็ผ่านการคัดเลือกได้เป็นนักมวยไทยสมัครเล่นและได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการมวยไทยสมัครเล่นชิงแชมป์โลก 2005 ในรุ่น 42 กิโลกรัมที่ถือว่าเป็นมวยรายการใหญ่รายการแรกที่เธอได้ขึ้นชกในนามยุวชนทีมชาติไทย และเธอก็ไม่ทำให้ผิดหวังจัดการคว้าแชมป์มาได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ขึ้นสังเวียนระดับโลกด้วยวัยเพียง 13 ปี

 

"แม้มันจะเป็นเวทีในระดับสมัครเล่นแต่ก็ภูมิใจที่หนูทำได้สำเร็จ"

 

 

 

เกือบต้องพลาดเข็มขัดแชมป์!

 

ปุ้มใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการตระเวนชกมวยไทยสมัครเล่น เป็นช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบช่วงหนึ่งของเธอ แชมป์ 3 สมัยกับรายการมวยไทยสมัครเล่นโลกที่เธอคว้ามันมาครอง นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายและสามารถการันตีได้ว่าเธอพร้อมกับเวทีที่ใหญ่กว่านี้ เวทีที่จะทำให้ชื่อของ 'พญาหงส์ อโยธยาไฟท์ยิม' ดังกระฉ่อนโลก

 

"ช่วงอายุ 17 ปีหนูมีโอกาสได้เข้าร่วมแข่งขันมวย เค-วัน มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นหนูแพ้ อาจจะเพราะเราไม่ชินกับสภาพอากาศ การเตรียมตัว แต่ในการชกครั้งล่าสุดนี้หนูมีเวลาเตรียมตัวเยอะขึ้น มีการเตรียมความพร้อมที่มากขึ้นกว่าเดิม หนูไปเก็บตัวที่ญี่ปุ่นก่อนขึ้นชก 3 อาทิตย์มันเลยทำให้เราคุ้นชินมีเวลาที่จะเตรียมตัว สภาพร่างกายของหนูตอนนั้นฟิตมากรู้สึกว่ามีแรงเหลือพร้อมกับได้ครูมวยที่ดีช่วยแนะนำ"

 

แน่นอนว่าศิษย์ดีย่อมมาจากครูที่ดี ปุ้มย่ำเสมอว่าทุกโอกาสที่ได้มาต้องขอขอบคุณสองครูมวยอย่าง 'ดาม ศรีจันทร์' หรือครูดามชื่อที่รู้จักกันในวงการหมัดมวยและอีกผู้มีพระคุณอย่าง 'ก้องนภา วีระศักดิ์เล็กยิม' อดีตแชมป์มวยเควันที่ช่วยถ่ายทอดวิชามวยไทยให้กับปุ้มอย่างไม่มีกั๊ก

 

"ครูสองคนเขาช่วยหนูในการฝึกซ้อมรวมไปถึงสอนการแก้ทางมวย จากที่ดูวิดีโอการชกของคู่แข่งมันทำให้หนูรู้ว่าจะต้องชกยังไง ครูสองคนบอกว่าให้เปลี่ยนจากมวยขวามาเป็นมวยซ้ายเพราะคู่ชกที่เราจะต้องเจอนั้นถนัดขวาทั้งหมด มันเป็นการแก้ทางมวยที่หนูไม่ต้องฝึกอะไรมากเพราะปกติหนูสามารถชกได้ทั้งสองข้างอยู่แล้วเลยไม่เป็นปัญหา"

 

 

ทุกอย่างกำลังไปได้สวย ทว่าสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เช้าตรู่ในวันหนึ่งขณะที่ปุ้มกำลังวิ่งเพื่อเรียกพละกำลังจู่ๆ เธอรู้สึกแน่นหนาอก คล้ายว่าจะหายใจไม่ออก ใบหน้าของเธอเริ่มซีดจาง ริมฝีปากเริ่มเปลี่ยนเป็นเฉดเขียว ปุ้มบอกว่าถ้าไปถึงมือหมอไม่ทันเวลามีสิทธิ์ที่เธอจะต้องพลาดเข็มขัดแชมป์

 

"หนูไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร รู้แค่ว่าอยู่ๆ หนูก็ล้มฟุบลงไป ทุกคนพาหนูไปหาหมอก็ได้รู้ว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่หนูเป็นภูมิแพ้ ส่วนนึงน่าจะมาจากการรับวัคซีนโควิด-19 ด้วยที่ทำให้ร่างกายของหนูมันผิดปกติไปจากเดิมที่ไม่เคยเป็น แต่ก็ยังกันฟันสู้หนูคิดแค่ว่ามาถึงตรงนี้แล้วอย่ายอมแพ้ง่ายๆ มันเป็นหน้าที่ๆ ต้องรับผิดชอบและจะทำเพื่อครอบครัว เพื่อครูมวยและเพื่อทุกๆ คน"

 

แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่หัวจิตหัวใจของเธอทะลุขีดจำกัดไปแล้ว ปุ้มกัดฟันลุยต่อและก้าวขึ้นสังเวียนโดยปราศจากความกลัว

 

 

 

'พญาหงส์' สยายปีก

 

รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ... ประโยคนี้ยังใช้ได้จริงเสมอ ปุ้มศึกษาวิดีโอการชกของ 'มิโอะ สุมุระ' คู่ชกของเธอในรอบแรกมาอย่างดี รู้จุดแข็งจุดอ่อนของคู่ต่อสู้แต่สิ่งที่ทำให้เธอพิเศษกว่านั่นคือสมาธิที่แน่วแน่และหัวใจของนักสู้ที่มีอยู่ในตัวเธอ

 

"ก่อนขึ้นชกยอมรับว่าตื่นเต้นมาก แต่หนูคิดอย่างเดียวเลยว่าจะต้องคว้าแชมป์มาให้ได้ เพ็งสมาธิไปที่การชกที่จะเกิดขึ้นอย่างเดียว พยายามไม่วอกแวก แม้มิโอะจะเป็นมวยที่ว่องไวคล่องตัวแต่เขาเป็นมวยหมัด เลยแก้ทางง่ายจะบอกว่าชกง่ายมากก็ได้เพราะแทบจะไม่เจ็บตัวอะไรเลย"

 

เมื่อถึงเวลาขึ้นสังเวียนสิ่งที่เธอฝึกปรือและศึกษามาทั้งหมดก็ส่งผลให้ปุ้มผ่านเข้าสู่รอบชิงเข็มขัดแชมป์เควันตามที่เธอมั่นหมาย

 

การชกในรอบชิงชนะเลิศ ปุ้มต้องดวลกำปั้นกับ 'มิยู สุกาวาระ' ที่ถือได้ว่าเป็นคู่ชกที่น่ากลัวทีเดียว ด้วยช่วงชกที่ยาวกว่าแถมด้วยความคล่องตัวสไตล์มวยญี่ปุ่นจึงถือว่านี้คือบทพิสูจณ์ของปุ้มที่หนักหนาเอาการ

 

 

"แข้งขาเขายาว ยกกันตอนที่เราเตะออกไปได้หมดเลย การจะเข้าถึงตัวเขาเป็นเรื่องที่ยากเพราะมิยูมีลูกถีบทำให้เราเข้าไม่ถึง ช่วงชกเราสั้นกว่าเขาเยอะ ครูก็เลยแก้เกมช่วงพักยกว่าให้หนูพยายามเดินเข้าไปให้ถึงระยะออกอาวุธให้ได้ มันยากแต่หนูก็พยายามเดินเข้าให้ใกล้ที่สุดแล้วมันก็ได้ผลจริงๆ หนูทำคะแนนได้มากขึ้น เตะเข้าเป้ามากขึ้น จนครบ 3 ยกผลคะแนนออกมาเสมอกันต้องตัดสินที่ยกที่ 4"

 

ปุ้มเล่าต่อว่า เธอไม่รู้สึกกังวลแม้แต่น้อยเพราะรู้ว่าคู่ชกของเธอพละกำลังเริ่มอ่อนแรงลงตั้งแต่ปลายยกที่ 3 ในขณะที่ปุ้มยังพอมีเรี่ยวแรงในการออกอาวุธทำให้ยกที่ 4 ที่เป็นยกตัดสิน ... พญาหงส์ก็ได้เวลาสยายปีก

 

ทันทีที่เสียงระฆังดังหมดยก ส่งสัญญาณถึงการสิ้นสุด การต่อสู้ที่ดุเดือดบนสังเวียนผ้าใบก็เดินทางมาถึงวาระตัดสิน ทุกคะแนนถูกหยิบยื่นมายังผู้ชี้ขาดบนเวทีและเสียงประกาศจากโฆษกสนามก็ขานชื่อผู้ชนะ

 

"ตอนที่เสียงระฆังดังหนูยังไม่คิดหรอกว่าชนะ ยัง 50 ต่อ 50 อยู่แต่พอกรรมการชูมือให้หนูเท่านั้นแหละ มันดีใจด้วยและก็น้ำตาไหลด้วย รู้สึกว่าตัวเบาหวิว อยากกระโดดกอดครู กอดพ่อแม่ กอดทุกคนที่ทำให้หนูมีวันนี้ การที่เป็นนักมวยหญิงคนแรกที่ได้แชมป์มันไม่สำคัญ สำคัญตรงที่หนูทำได้ …

 

 

 

... จากที่เราซ้อมกันมาหนักๆ มันทำให้หนูมีวันนี้ คิดเสมอว่าจะทำให้ครอบครัวภูมิใจ อยากสร้างบ้านให้พ่อกับแม่อยู่ ให้ท่านอยู่สุขสบาย ตอบแทนที่ท่านเลี้ยงเรามา ไม่อยากให้ต้องทำงานหนักอีก นี่คือจุดเริ่มต้นของหนูและหวังเสมอว่าสักวันหนึ่งหนูจะต้องทำให้ได้"

 

จากเด็กหญิงที่ครั้งหนึ่งเคยตั้งมั่นว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชีวิตของบุพการีอยู่สุขสบาย กระทั่งวันนี้สิ่งที่วาดหวังไว้ได้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว แม้จะเป็นเพียงก้าวแรกแต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่และมั่นคง สิ่งที่น่าภาคภูมิที่สุดไม่ใช่เข็มขัดแชมป์เปี้ยน หากแต่เป็นคำมั่นที่เธอให้ไว้ว่าจะขอดูแลครอบครัวด้วยตัวเอง

 


stadium

author

จิรวัฒน์ จามะรี

StadiumTH Content Creator

La Vie en Rose