stadium

จุฑาธิป มณีพันธุ์ : จุดเปลี่ยนสปรินเตอร์จากลู่สู่ถนน

5 กรกฎาคม 2565

จักรยานเป็นกีฬาที่ตัดสินแพ้ชนะกันด้วยความเร็ว ยิ่งการดวลกันสมัยนี้มักจะตัดสินกันหน้าเส้นชัยเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งหากย้อนกลับไปในยุคเริ่มแรกเรามักจะเห็น สปรินเตอร์ ได้เฉพาะนักปั่นประเภทลู่ แต่ปัจจุบันด้วยแท็กติกการแข่งขันที่พัฒนาขึ้น ทำให้ตัวสปรินต์ได้รับความนิยมในจักรยานประเภทถนนกันมากขึ้น เพราะจะเป็นคนช่วยตัดสินผลแพ้ชนะ

 

เช่นเดียวกับนักปั่นไทย ในอดีตนั้นเรายังไม่เคยมีนักกีฬาประเภทนี้ จนกระทั่งเอเชียนเกมส์ 2014 ที่เกาหลีใต้ เราได้เห็น “บีซ” จุฑาธิป มณีพันธุ์ แจ้งเกิดการเป็นสปรินเตอร์ถนนแบบเต็มตัว ในวันนั้นเธอยังเป็นเพียงม้านอกสายตา อาศัยจังหวะที่คู่แข่งให้ความสนใจ จันทร์เพ็ง นนทะสิน เพื่อนร่วมชาติ สปรินต์แซงเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้นไป ถือเป็นความสำเร็จที่แจ้งเกิดการเป็นสปรินเตอร์ถนนแบบเต็มตัว

 

เหตุการณ์ในวันนั้นนอกจากจะทำให้คู่แข่งทั่วเอเชียจับตามอง จุฑาธิป มากขึ้น ยังเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหวังของทีมจักรยานไทยในการไปโอลิมปิก ถึงวันนี้เธอประสบความสำเร็จมากมาย ได้ไปโอลิมปิกถึง 3 สมัย แต่เธอจะประสบความสำเร็จแบบนี้ไม่ได้เลยถ้าหากไม่ได้เจอกับเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนในปี 2009 ส่วนเรื่องราวเป็นเช่นไรไปติดตามกัน

 

 

สตาร์ทจากประเภทลู่

จุฑาธิป เริ่มต้นจากการเป็นนักปั่นในประเภทลู่ เป็นนักกีฬาจักรยานสายสปรินต์ระยะสั้น ระยะ 500 เมตร เธอกินคู่แข่งขาดลอยเป็นประจำ เมื่อเห็นแล้วว่าตัวเองมีจุดเด่นที่การสปรินต์ จึงตัดสินใจทุ่มเทให้กับการซ้อมประเภทลู่เพียงอย่างเดียว ทุกครั้งที่ลงแข่งขันรายการในประเทศ เธอคว้าแชมป์เป็นว่าเล่น จนมีชื่อติดทีมชาติลุยซีเกมส์ 2007 ที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นเจ้าภาพ ด้วยวัยเพียงแค่ 19 ปี ซึ่งในปีนั้นเธอคว้า 3 เหรียญเงินจากประเภทลู่ แต่สิ่งสำคัญกว่าเหรียญรางวัลในปีนั้นคือการได้เห็นความสามารถของเธอที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเปรียบเสมือนเพชรที่รอการเจียระไน หลังจบซีเกมส์ที่จังหวัดนครราชีมา จุฑาธิป ยังคงทุ่มเทให้กับการซ้อมประเภทลู่เหมือนเช่นเคย โดยที่ไม่รู้เลยว่าอีก 2 ปีข้างหน้าเธอจะพบกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต

 

จุดเปลี่ยนสปรินเตอร์ถนน

จุฑาธิป ตั้งเป้าหมายเอาไว้แล้วว่าซีเกมส์ 2 ปีข้างหน้าที่ประเทศลาว เธอจะต้องคว้าเหรียญทองให้ได้ แต่ทว่าเมื่อถึงเวลาการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่ประเทศลาวเป็นเจ้าภาพ เธอต้องพบกับความผิดหวังไม่น้อยเพราะทางเจ้าภาพจัดให้มีการแข่งขันเฉพาะประเภทถนน ไม่มีการแข่งขันประเภทลู่ที่เธอถนัด เนื่องจากเจ้าภาพไม่มีสนามสำหรับใช้ในการแข่งขัน

 

จุฑาธิป ผิดหวังไม่น้อย เพราะตั้งใจว่าจะคว้าเหรียญทอง หลังจากผิดหวังไปเมื่อ 2 ปีก่อน อย่างไรก็ตามความมุ่งมั่นที่เต็มเปี่ยมทำให้เธอยอมเปลี่ยนไปซ้อมประเภทถนน จากที่เคยซ้อมเอารอบขาเพิ่มพลังในการสปรินต์ ต้องเปลี่ยนมาซ้อมเรื่องความทนทานของกล้ามเนื้อ และเน้นความเร็วระยะยาวควบคู่กันไป

 

แม้จะเป็นเรื่องยากในการใช้เวลาปรับตัว แต่ทว่าเมื่อถึงเวลาแข่งขันจริง เธอกลับทำผลงานได้เหนือความคาดหมาย เพราะในซีเกมส์ ที่ประเทศลาว เธอดันคว้าเหรียญทองประเภทถนน ในรุ่นแมสสตาร์ท มาครองได้อย่างเซอร์ไพรส์ และเหตุการณ์นี้เองที่เปลี่ยนให้เธอกลายเป็นสปรินเตอร์ถนนแบบเต็มตัวมาถึงทุกวันนี้

 

 

ฝันร้ายที่ยากจะลืม

หลังจากนั้น บีซ เริ่มทำผลงานได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คว้าแชมป์รายการต่างๆได้มากขึ้น จนทำให้เธอควอลิฟายเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 2012 รอบสุดท้ายที่ลอนดอน นอกจากนั้นผลงานตลอดทั้งปียังไปสะดุดตาของ มร.จูเซ็ปเป ลานโซนี่ ผู้จัดการทีม มิเชล่า ฟานินี่ ซึ่งเป็นทีมจักรยานอาชีพของอิตาลี สนใจอยากได้ตัวไปร่วมทีมหลังจบศึกชิงแชมป์เอเชีย 2012 

 

แน่นอนว่าเป็นข่าวที่ทำให้หัวใจของ จุฑาธิป พองตัวเพราะเธอไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่านักปั่นธรรมดาๆ จะมีทีมอาชีพให้ความสนใจ โอกาสดีๆใช่ว่าจะมากันง่ายๆ เธอตัดสินใจตอบรับโดยไม่สนใจตัวเลขผลตอบแทน เพราะสิ่งที่มีค่ามากกว่าก็คือประสบการณ์ 

 

แต่ก็จริงอย่างที่หลายๆคนว่าไว้ “โชคชะตามักเล่นตลกกับคนเราเสมอ” สำหรับ จุฑาธิป ก็เช่นกัน หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเธอประสบอุบัติเหตุจากการหักหลบรถกระบะที่ขับสวนเลนมา ทำให้ไหปลาร้าหัก 2 ท่อน ต้องผ่าตัดพักนานกว่า 2 เดือน 

 

 

ฟ้าหลังฝน

วันนั้น จุฑาธิป เตรียมใจเอาไว้แล้วว่าจะโดนยกเลิกสัญญากับทีมอิตาลีแน่ๆ แต่ทว่าโชคยังดีที่ มร.จูเซ็ปเป ลานโซนี่ เชื่อมั่นในศักยภาพและอยากได้ตัวเธอไปร่วมทีมจริงๆ จึงได้บอกกับสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยว่า พร้อมจะรอให้ บีซ หายเจ็บแล้วมาร่วมทีมกัน

 

เมื่อหายเจ็บ บีซ ก็ได้ไปซ้อม เก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างที่ตั้งใจไว้ แม้ว่าจะเป็นเวลาไม่นาน แต่สิ่งที่เธอได้กลับมามันเปลี่ยนชีวิตเธอไปจริงๆ คว้าแชมป์ได้ทั้งประเภทลู่และถนน เหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2014, แชมป์ทัวร์ออฟไทยแลนด์ พร้อมเก็บรางวัลส่วนตัวมาอีกเพียบ ทั้งรางวัลเจ้าความเร็ว นักปั่นอาเซียนยอดเยี่ยม และยังเป็นนักกีฬาจักรยานไทยคนแรกที่ได้ไปโอลิมปิกถึง 3 สมัย


stadium

author

ปวีน เทพพวงทอง

เป็นแค่คนที่ชอบฟังเรื่องราวของคนอื่น

โฆษณา