stadium

เจาะลึกฮังการี ดินแดนผู้ผลิตนักว่ายน้ำแชมป์โอลิมปิก

4 มีนาคม 2563

เจาะลึกฮังการี ดินแดนผู้ผลิตนักว่ายน้ำแชมป์โอลิมปิก

ฮังการี เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปโดยมีพื้นที่เพียง 93,030 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าประเทศไทยเกือบ 6 เท่า จำนวนประชากรก็มีเพียง 9 ล้านกว่าคนเท่านั้น น้อยกว่าประเทศไทย 7 เท่า แต่อะไรล่ะที่ทำให้ดินแดนแห่งนี้ แทบจะไม่เคยร้างรา นักว่ายน้ำระดับเหรียญโอลิมปิกเลย เคล็ดลับความยิ่งใหญ่ของประเทศฮังการี ในวงการว่ายน้ำระดับโลกคืออะไรกันแน่

 

 

จุดเริ่มต้น และความยิ่งใหญ่ของว่ายน้ำฮังการีในโอลิมปิก

ผลงานของทีมว่ายน้ำ ฮังการี ในโอลิมปิก นั้นยอดเยี่ยมเอามากๆ พวกเขารั้งอันดับ 4 ของโลก ในตารางเหรียญรางวัลที่นับเฉพาะกีฬาว่ายน้ำในโอลิมปิกโดยพวกเขาทำได้ 28 เหรียญทอง 25 เหรียญเงิน และ 20 เหรียญทองแดง รวมทั้งสิ้น 73 เหรียญ จากการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 26 ครั้ง และมีเพียง 5 ครั้งจาก 26 ครั้งที่พวกเขาเข้าร่วมแล้วไม่ได้เหรียญรางวัล โดยครั้งที่ถือว่าเป็นตำนานเลยก็คือ ครั้งแรกในโอลิมปิกเกมส์ ที่เอเธนส์ในปี 1896 นั้นเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการแข่งขันว่ายน้ำในโอลิมปิก ปีนั้น อัลเฟรด ฮายอส เป็นนักว่ายน้ำคนเดียวของฮังการี และเจ้าตัวก็ประกาศศักดาคว้าคนเดียว 2 เหรียญทองจาก 4 ทองที่มีการชิงชัยในครั้งนั้น ทำให้ครั้งนั้นทัพว่ายน้ำฮังการีเป็นอันดับ 1 ในตารางเหรียญรางวัลว่ายน้ำโอลิมปิกเกมส์ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของว่ายน้ำฮังการีในกีฬาโอลิมปิกเกมส์

 

 

การสานต่อตำนานจากรุ่น สู่รุ่น

หลังจากความยิ่งใหญ่ของ อัลเฟรด ฮายอส ในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก จากกีฬาว่ายน้ำเป็นคนแรกของโลก และของฮังการี การว่ายฝ่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในครั้งนั้นในระยะ 100 เมตร และ 1,200 เมตร ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปสู่นักว่ายน้ำรุ่นน้อง รุ่นหลาน รุ่นลูก แบบต่อเนื่องเหมือนวงคลื่นน้ำ เพราะฮังการี อาศัยแรงบันดาลใจอันนั้นผลิตนักว่ายน้ำระดับท็อปออกมาอีกมากมายแบบต่อเนื่อง อาทิเช่น  คริสติน่า อีเกอร์สเซกี้ เงือกสาวเจ้าของ 5 เหรียญทองโอลิมปิก, ทามาส ดาร์นยี่ ฉลามหนุ่มที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักว่ายน้ำเดี่ยวผสมที่ดีที่สุดของโลกตลอดกาลได้ 4 เหรียญทองจากโอลิมปิก 2 สมัย หรือจะเป็นในยุคปัจจุบันก็มี “ดิ ไอรอน เลดี้” คาทินก้า ฮอสซู เจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิก ที่ริโอ เกมส์ 2016 รวมทั้งเป็นเจ้าของสถิติโลกหลายรายการ และคนล่าสุดอย่าง คริสตอฟ มิลาค ฉลามหนุ่มที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกผีเสื้อ 200 เมตร ในปี 2019 รวมถึงยังทำลายสถิติโลกของตำนานท่าผีเสื้ออย่าง ไมเคิ่ล เฟลป์ส  ซึ่งแรงบันดาลใจแบบนี้เป็นสิ่งที่ชาติที่ประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้นที่จะสามารถส่งต่อให้ รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลานได้

 

 

 

วิถี “แมกยาร์” ชีวิตติดน้ำ สู่เมืองกีฬาทางน้ำ

ประเทศฮังการี ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ โดยแม่น้ำ 2 สายหลักคือ ดานู้บ และทิสซ่า ทำให้ผู้คนใน ฮังการี มีชีวิตผูกพันกับสายน้ำ เท่านั้นยังไม่พอ ฮังการียังมีการรับวัฒนธรรมจากโรมันโบราณอย่าง Roman bath (การแช่น้ำร้อนในอ่างขนาดใหญ่) ที่ทำให้แทบจะทุกเมืองในฮังการี มีบ่อน้ำอุ่น และสระว่ายน้ำ outdoor หรือ indoor แม้กระทั่งในเมืองเล็ก ๆ ก็ตาม ยิ่งโดยเฉพาะเมืองขนาดกลาง และใหญ่นั้น ส่วนใหญ่จะมีสระว่ายน้ำระดับ World Class เกือบทุกเมืองเลยด้วยซ้ำ นั่นทำให้บางทีฮังการีอาจจะเป็นประเทศที่มีสระว่ายน้ำระดับมาตรฐานมากที่สุดในโลกเลยทีเดียว สิ่งนี้ทำให้เด็ก ๆ และประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการเล่นกีฬาว่ายน้ำแบบสะดวกสบาย ยิ่งทำให้เพิ่มโอกาสในการผลิตนักกีฬาว่ายน้ำระดับโลกมากขึ้นไปอีก

 

 

ความรักชาติ การให้เกียรติ ความมั่งคั่ง และการสนับสนุนจากรัฐบาล

ประชาชนในฮังการี มีความรักในประเทศชาติสูงมาก ในยุคปัจจุบันที่ปราศจากสงครามแล้ว ในมุมมองของคนฮังการี วิธีที่จะรับใช้ชาติได้ดีที่สุด คือการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาทางน้ำที่ได้รับอิทธิพลมาจาก อัลเฟรด ฮายอส ที่ประสบความสำเร็จจากว่ายน้ำในโอลิมปิกครั้งแรก และจากการที่ฮังการี เป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ติด top 10 หรือ 20 ของโลก ทำให้รัฐบาลสามารถอัดฉีดเงินลงในกีฬาได้เป็นอย่างมาก ทั้งการสร้างสระว่ายน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกในมาตรฐานระดับโลก  รวมถึงการอัดฉีดเงินให้กับนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นทั้งแรงบันดาลใจ และเป็นการให้เกียรตินักกีฬาไปในตัว คือการตั้งชื่อสระว่ายน้ำต่าง ๆ ตามนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่น Alfred Hajos National Swimming Stadium ที่เป็นศูนย์กลางกีฬาว่ายน้ำแห่งชาติของ ฮังการี ที่กรุงบูดาเปสต์ นั้นถูกตั้งชื่อตาม อัลเฟรด ฮายอส นักว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิกคนแรก ซึ่งสนามแห่งนี้ อัลเฟรด ฮายอส ก็ได้รับเกียรติเป็นผู้ออกแบบเองด้วย เพราะอีกหนึ่งอาชีพของ ฮายอส คือสถาปนิกนั่นเอง

 

 

ศูนย์กลางว่ายน้ำโลก 

ด้วยความที่มีสระว่ายน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่ในมาตรฐานสูงมาก ๆ ทำให้มีการแข่งขันว่ายน้ำระดับโลกไปจัดการแข่งขันที่ประเทศ ฮังการี อยู่บ่อยครั้ง ทั้งศึกชิงแชมป์โลก ชิงแชมป์ทวีปยุโรป รวมถึงเป็นหนึ่งในสนามหลักของ ISL Swim League ศึกว่ายน้ำระดับลีกสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

 

นอกจากการแข่งขันแล้ว ด้วยอุปกรณ์ สระว่ายน้ำที่ดี ยังดึงดูดนักกีฬา และโค้ชระดับโลก ใช้ฮังการรีเป็นฐานฝึกซ้อมกันอย่างมากมาย แม้กระทั่งเจนจิรา ศรีสะอาด นักว่ายน้ำทีมชาติไทย ว่าที่นักว่ายน้ำโอลิมปิกในปี 2020 ยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปเก็บตัวที่นี่ ก่อนลุยศึกซีเกมส์ 2019  ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่ ฮังการี มีบวกรวมกับการสนับสนุนของรัฐบาล เชื่อได้เลยว่า ฮังการี ประเทศนี้จะผลิตแชมป์ ว่ายน้ำโอลิมปิกออกมาอีกไม่รู้จบแน่นอน


TAG ที่เกี่ยวข้อง

stadium

author

ฉลามหนุ่ม

StadiumTH Content Creator