17 มิถุนายน 2565
นับแต่โควิด 19 พ่นพิษไปทั่วทุกวงการกีฬาโลก ทำให้อีเวนต์กีฬา รายการระดับโลกโดนเลื่อนกันระนาว สำหรับวงการว่ายน้ำเองก็ไม่ต่างกัน ศึกว่ายน้ำชิงแชมป์โลก 2021 ที่เมือง ฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่นโดนเลื่อนออกไปในปี 2023 เพราะความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน นั้นทำให้การแข่งขันชิงแชมป์โลกว่ายน้ำสระยาว ต้องเว้นว่างยาวนานถึง 4 ปี ถ้านับจากครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้น เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2019
นั้นเป็นที่มาของ บูดาเปสต์ 2022 ศึกว่ายน้ำชิงแชมป์โลกคั่นเวลาเฉพาะกิจ ที่เกิดขึ้นเพราะ FINA ไม่อยากให้การแข่งขันชิงแชมป์โลกมันทิ้งช่วงห่างขนาดนั้น เพราะมันอาจส่งผลกระทบถึงความต่อเนื่อง รวมถึงโอกาสในการพัฒนา และลงทำแข่งขันของนักกีฬา ซึ่งชาติที่มีความพร้อมที่สุดในการจัดศึกชิงแชมป์โลกแบบเฉพาะกิจแบบนี้ก็คือ ประเทศฮังการี ดินแดนแห่งสายน้ำ ที่เพิ่งเป็นเจ้าภาพไปในปี 2017 เรียกได้ว่า งานนี้ เมืองบูดาเปสต์ และประเทศฮังการี ได้จัดรายการว่ายน้ำชิงแชมป์โลก 2 ครั้งในระยะเวลาแค่ 5 ปี และแน่นอนขึ้นชื่อว่า ศึกชิงแชมป์โลก ดีกรีความน่าสนใจ และความเข้มข้น ยังคงเต็มเปี่ยมอยู่อย่างแน่นอน
ถึงเป็นแค่ศึกคั่นเวลา แต่ต้องยิ่งใหญ่ สมเกียรติ
ถึงจะบอกว่าเป็นศึกคั่นเวลา แต่สถานที่ คุณภาพของนักกีฬาที่เข้าร่วม หรือการจัดการแข่งขันล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพเหมือนเดิม เริ่มด้วยการแข่งขัน มีการชิงชัย 74 เหรียญทอง จัดเต็มไม่ต่างจากทุกครั้ง แบ่งเป็นว่ายน้ำ 42 เหรียญทอง, Open Water 7 เหรียญทอง, ระบำใต้น้ำ Artistic Swimming 10 เหรียญทอง, กระโดดน้ำ 13 เหรียญทอง และโปโลน้ำ 2 เหรียญทอง โดยใช้สถานที่หลักมากมายได้แก่ Duna Arena, Lake Lupa และ Alfred Hajos Swimming Complex โดยอีกหนึ่งเครื่องการันตีว่าศึกนี้มันยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญมากก็คือ ท่านประธานาธิบดีหญิงคนเก่ง แห่งประเทศฮังการี อย่าง แคทธารีน โนวัค จะเป็นคนมาเปิดงานด้วยตัวเอง ส่วนการแข่งขันนอกจากดาวดังระดับโลกจะตบเท้ามาร่วมการแข่งขันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว ทัพกีฬาทางน้ำไทย ก็เข้าร่วมศึกชิงแชมป์โลกหนนี้แบบชุดใหญ่ ไฟกระพริบ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ศึกว่ายน้ำชิงแชมป์โลกที่คนไทยมีส่วนร่วมมากที่สุด
ศึกชิงแชมป์โลก 2022 หนนี้ ทัพกีฬาทางน้ำไทยน่าจะมีการส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยจะส่งนักว่ายน้ำ ชาย-หญิง เข้าแข่งขันทั้งหมด 9 คน, ทีมโปโลน้ำหญิงที่สร้างประวัติศาสตร์เข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์โลกเป็นครั้งแรก ก็ส่งนักกีฬาเข้าร่วมอีก 13 คน , กระโดดน้ำชายส่งนักกีฬา 1 คน , Open Water หรือว่ายน้ำมาราธอนส่งนักกีฬาเข้าร่วมอีก 4 คน และสุดท้าย Artistic Swimming หรือระบำใต้น้ำ เราก็ยังส่งนักกีฬา ชาย-หญิง เข้าร่วมอีก 12 คน รวมแล้วทีมกีฬาทางน้ำไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมศึกชิงแชมป์โลกหนนี้ถึง 39 ชีวิต ไม่รวมผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่ เรียกได้ว่ามากแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์วงการว่ายน้ำไทย
ศึกแห่งศักดิ์ศรีนักว่ายน้ำไทย ศึกแก้มือของ เหล่าราชินี สปริ้นเตอร์ แห่งอาเซียน
การแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลกหนนี้ อาจไม่ได้มีเหรียญรางวัลเป็นเป้าหมาย แต่สำหรับการแข่งขันว่ายน้ำในหมู่นักกีฬาอาเซียนก็ยังเข้มข้นน่าดูมาก ๆ จอย เจนจิรา ศรีสอาด ที่เพิ่งสถาปนาตัวเอง เป็นสปริ้นเตอร์สาวที่ดีที่สุดของภูมิภาคอาเซียน จะได้ทั้งแก้มือ และก็ป้องกันตำแหน่งราชินีสปริ้นเตอร์ในคราวเดียวกัน ใน 2 ท่าสำคัญ
ท่าแรกฟรีสไตล์ 50 เมตรหญิง อาแมนด้า ลิม เงือกสาวสิงคโปร์ มาพร้อมความมุ่งมั่นที่เต็มเปี่ยม หลังจากเสียแชมป์ 6 สมัยติดซีเกมส์ ในท่าฟรีสไตล์ 50 เมตร ให้กับเจนจิรา ศรีสอาด หลังจบซีเกมส์ เธอไม่ต้องเดินสายฉลองอะไรทั้งสิ้น มุ่งหน้าสู่ประเทศโครเอเชีย เก็บตัวซ้อมแบบต่อเนื่องทันที เพื่อขอแก้มือกับ เจนจิรา ศรีสอาด ให้หายคาใจ และสิ้นสงสัย ในศึกชิงแชมป์โลกหนนี้
ท่าที่ 2 กบ 50 เมตรหญิง งานนี้เป็นการแก้มือของ จอย เจนจิรา ศรีสอาด บ้างที่จะได้ดวลกับ เลทิเทีย ซิม เงือกสาวสิงคโปร์เจ้าของเหรียญทองในท่านี้ ที่เฉือนเอาชนะ เจนจิรา ในซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมาในเมตรสุดท้าย ท่านี้จริง ๆ เป็นท่าที่สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยหวังมากที่สุดในซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมา แต่พลาดไปแบบน่าเสียดาย และในเมื่อรายการระดับโลกจัดเวทีให้ 2 สาวอาเซียนมาประลองกันอีกครั้งรับรองว่าน่าดูสุด ๆ แน่นอน แต่ระหว่างที่ 2 สาวรอแก้มือ อีก 1 สาวที่สุมไฟแค้นไว้เต็มอก อย่างฝี จิง อัน เงือกสาวมาเลเซีย ที่เป็นแชมป์เก่ากบ 50 เมตรหญิงในซีเกมส์ 2019 แต่กลับพลาดได้เพียงที่ 4 ในซีเกมส์ 2021 ก็คงขอร่วมวง ขอแก้มือด้วยอีกคน
นวพรรษ วงค์เจริญ ในวันที่เขาเป็นพี่ใหญ่ของวงการว่ายน้ำชายไทย
อีก 1 คนที่ต้องติดตามดู คือ ฉลามไวน์ นวพรรษ วงค์เจริญ ที่ตอนนี้ จะบอกว่าเขาคือ พี่ใหญ่สุดของเหล่านักว่ายน้ำชายไทยไปแล้ว ซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมาเจ้าตัวโชว์ฟอร์มได้ยอดเยี่ยม ทำลายสถิติประเทศไทยของตัวเองแบบกระจุย กระจาย รวมถึงเกือบหยิบเหรียญทองซีเกมส์ได้เป็นหนแรกในชีวิต แต่พลาดไปแบบน่าเสียดาย มาดูกันว่า ศึกว่ายน้ำชิงแชมป์โลกหนนี้ นวพรรษ วงค์เจริญ ในฐานะพี่ใหญ่แบบเต็มตัวของทีมว่ายน้ำชายไทย จะโชว์ผลงานได้ดีแบบต่อเนื่องได้หรือไม่
บทพิสูจน์เจ้าอาเซียน ในเวทีระดับโลก ของทีมโปโลน้ำหญิงไทย
"คนไทยเล่นกีฬาเป็นทีมไม่เก่ง" นั้นอาจไม่จริงเสมอไป ถ้าทีมวอลเล่ย์บอลหญิง คือความภูมิใจของการเล่นกีฬาเป็นทีมบนบกของไทย ทีมโปโลน้ำสาวไทยก็คือ ความภูมิใจในการเล่นกีฬาเป็นทีมในน้ำของคนไทยเช่นกัน ในย่านอาเซียนนับตั้งแต่ที่ทีมโปโลน้ำสาวไทย ล้มทีมโปโลน้ำสาว ลอดช่อง สิงคโปร์คาบ้านในซีเกมส์ปี 2015 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทีมสาวไทยก็ครองความยิ่งใหญ่ในย่านอาเซียนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาตลอด ชิงแชมป์โลกหนนี้ ถึงเวลายกระดับทีมโปโลน้ำสาวไทยไปอีก เลเวลหนึ่ง
สาวไทยเป็น 1 ในตัวแทนแค่ 2 ชาติจากทวีปเอเชีย ที่ได้เข้าร่วมศึกชิงแชมป์โลกหนนี้ นั่นบ่งบอกถึงคุณภาพที่ดีอยู่แล้วของสาวไทย งานนี้สาวไทยจะต้องฟาดฟันกับ คู่แข่งระดับพระกาฬ 16 ทีมชั้นนำของโลก โดยในรอบแรกจะอยู่ร่วมกลุ่ม D กับ สาวเมืองเทพนิยายกรีซ, สาวเมืองกระทิงดุสเปน และสาวเมืองน้ำหอมฝรั่งเศส ก็ต้องติดตามกันให้ดีว่า ทีมโปโลน้ำสาวไทยจะเขียนประวัติศาสตร์หน้าแรกของตัวเองบนเวทีระดับโลกได้ดีขนาดไหน และพิสูจน์กันไปเลยว่าในเวทีระดับโลก มาตรฐานของเราอยู่ที่ตรงไหน
ถ้าจะว่ากันตามจริง การแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลก หรือกีฬาทางน้ำชิงแชมป์โลก สำหรับคนไทยแล้ว คงไม่ใช่การแข่งขันที่เข้าแข่งขันเพื่อเหรียญรางวัล (ไม่เคยมีคนไทยได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันระดับนี้) แต่การแข่งขันระดับโลกแบบนี้ มันเหมือนข้อสอบที่นักกีฬาไทยจะใช้ในการวัดระดับความสามารถของตัวเองมากกว่า ว่าตอนนี้เราอยู่ในระดับไหนของโลกการแข่งขันกีฬาทางน้ำ ทั้งหมดก็เพื่อเป็นโจทย์ในการวางแผนพัฒนาตัวเองในอนาคต หรือเป็นมาตรฐานที่ตั้งไว้ เพื่อให้เด็กรุ่นหลังมาก้าวข้ามต่อไป
TAG ที่เกี่ยวข้อง