stadium

5 เหตุผลที่ทำให้วอลเลย์บอลหญิงไทยสายเลือดใหม่ฟอร์มไฉไลใน เนชั่นส์ ลีก

7 มิถุนายน 2565

ณ ช่วงเวลานี้ คงต้องยอมรับว่าทีมกีฬาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในประเทศไทย คงจะหนีไม่พ้น “วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย” ที่กำลังทำศึก “วอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022” อยู่ในขณะนี้  ซึ่งผลงานของพวกเธอในสัปดาห์แรก จากการลงสนาม 4 นัด สามารถเก็บชัยชนะไปได้ถึง 3 นัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการคว้าชัยชนะเหนือทีมชาติเซอร์เบีย อดีตแชมป์โลก ในปี 2018 และเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2020 รวมไปถึงนัดล่าสุดที่พลิกตบ “มังกรจีน” ทีมอันดับ 2 ของโลก อดีตแชมป์โอลิมปิก 2016 ไปได้แบบระทึกใจกองเชียร์ชาวไทยทั้งประเทศ

 

และนี่คือ 5 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับทีมลูกยางสาวไทยสายเลือดใหม่ ยุคไร้ “7 เซียน” ทำให้พวกเธอโชว์ฟอร์มได้อย่างร้อนแรงอยู่ในขณะนี้

 

 

Photo Credit : volleyballworld
Photo Credit : volleyballworld

 

ความต้องการพิสูจน์ตัวเอง

 

การอำลาทีมชาติของรุ่นพี่นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง ที่ถูกขนานนามว่า “7 เซียน” นำโดย ปลื้มจิตร์ ถินขาว, นุศรา ต้อมคำ, อรอุมา สิทธิรักษ์, วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, มลิกา กันทอง, อำพร หญ้าผา และวรรณา บัวแก้ว ทำให้กลุ่มแฟนคลับทั้งในไทยและต่างประเทศต่างพากันตั้งคำถามว่า นักกีฬารุ่นใหม่ที่จะมารับช่วงต่อ จะทำผลงานได้ดีเท่ารุ่นพี่หรือไม่ เพราะผลงานตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา รุ่นพี่ทั้ง 7 คน ได้สร้างประวัติศาสตร์ และสร้างตำนานหลายๆ อย่างไว้ให้กับวงการวอลเลย์บอลหญิงไทย ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นรุ่นใหม่ต้องแบกรับความกดดันจากผลงานในอดีตเหล่านี้

 

แต่ทว่าเหล่านักตบลูกยางหญิงไทยรุ่นใหม่ กลับนำเอาความกดดันต่าง ๆ เหล่านั้นมาเป็นแรงผลักดันให้ตั้งใจ และอดทนในการฝึกซ้อม ต่อสู้เพื่อพัฒนาฝีมือตนเอง และสร้างผลงานพิสูจน์ตัวเองให้แฟนๆ วอลเลย์บอลไทยยอมรับว่าพวกเขาก็มีดีไม่แพ้รุ่นพี่ 7 เซียนอยู่เช่นกัน

 

“รู้สึกดีใจที่เรารักษาแชมป์ไว้ได้ ต้องเรียกว่ามันเป็นก้าวแรกของชุดพวกเราจริงๆ ที่เริ่มเดินทางในเส้นทางนี้” อัจฉราพร คงยศ ให้สัมภาษณ์หลังจากคว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2021 มาได้สำเร็จ โดยมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2021 ที่ประเทศเวียดนาม ที่เปรียบเสมือนว่าเป็นก้าวแรกในการเดินทางของสาวนักตบลูกยาวไทยยุคใหม่

 

 

Photo Credit : volleyballworld

 

ช่องว่างระหว่างวัย

 

เป็นที่ทราบกันอย่างดีแล้วว่า ผู้เล่นหลักของทีมชาติไทยชุดนี้ ที่นำโดย ปิยะนุช แป้นน้อย, พรพรรณ เกิดปราชญ์, หัตถยา บำรุงสุข, อัจฉราพร คงยศ, ทัดดาว นึกแจ้ง, พิมพิชยา ก๊กรัมย์ และชัชชุอร โมกศรี นั้นได้ฝึกซ้อมและลงแข่งขันร่วมกับรุ่นพี่ 7 เซียนมาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทุกคนเป็นเหมือนน้องสาว ที่มีเหล่าพี่ๆ คอยดูแล แนะนำ และให้กำลังใจมาโดยตลอด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี ที่น้องๆ มีรุ่นพี่เป็นแบบอย่างให้เรียนรู้อยู่ในทีม

 

แต่ถ้าเรามองในอีกมุมหนึ่ง จะเห็นว่าระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องนั้นมันยังมีช่องว่างอีกหนึ่งอย่าง ที่ผู้เล่นทั้งสองเจนเนอเรชั่นไม่สามารถปิดได้สนิท นั้นก็คือ “ระยะห่างของอายุที่แตกต่างกัน” ต้องยอมรับว่าสังคมไทย ยังเป็นสังคมที่เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ ดังนั้นการแสดงออก หรือการแสดงความคิดเห็นหลายๆ อย่าง รุ่นน้องก็ไม่กล้าพูดกับรุ่นพี่ได้อย่างเต็มที่ แต่มันกลับแตกต่างกันเมื่อในทีมไม่มีรุ่นพี่แล้ว เราจะเห็นได้ว่าบรรยากาศการพูดคุยกันระหว่างฝึกซ้อม และระหว่างเกม เป็นไปอย่างสนุกสนาน ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ในรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ทีมมีความเป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น

 

“เราพูดคุยกันเสมอตลอดการแข่งขัน ลูกนี้เป็นยังไงต้องแก้ไขยังไง ถ้าเกิดมีตำแหน่งไหนผิดพลาดก็ไม่เป็นไร เราจะเดินเข้าไปให้กำลังใจกัน เราคุยกันตลอดว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะไปด้วยกันตลอดนะ เราคือทีมนะ” ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์พรพรรณ เกิดปราชญ์ หลังเกมที่เอาชนะทีมชาติเซอร์เบียในรายการวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022 ไปได้ 3-2 เซ็ต

 

 

Photo Credit : volleyballworld

 

ความกระหาย และอารมณ์ในการเล่น

 

การระบาดของโควิด 19 ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อทีมชุดนี้เป็นอย่างมาก เพราะตามแผนถ่ายเลือดที่วางไว้ของสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เหล่านักรบสายเลือดใหม่ของทีมวอลเลย์บอลหญิง จะต้องเริ่มออกผจญภัยในรายการแข่งขันต่างๆ ตั้งแต่ปี 2020 แต่ทว่าสถานการณ์ของโควิด 19 ในปี 2020 นั้น ทำให้รายการแข่งขันต่างๆ ไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ และเมื่อต่อเนื่องมายังปี 2021 สถานการณ์เริ่มดีขึ้น การแข่งขันบางรายการอย่าง “วอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก” สามารถกลับมาจัดได้ 

 

แต่ก็เหมือนโชคชะตาเล่นตลกอีกครั้ง เมื่อสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ว่า เกิดโควิดระบาดในแคมป์วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ซึ่งเหลืออีกแค่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ การแข่งขันวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2021 ก็จะเริ่มขึ้นแล้ว ทำให้สาวไทยชุดใหม่นี้ต้องพลาดการเข้าร่วมการแข่งขันไปอีกหนึ่งปี ซึ่งถ้านับมาจนถึงซีเกมส์ ที่ประเทศเวียดนาม นั้นหมายความว่าพวกเธอไม่ได้ลงสนามในรายการระดับนานาชาติกันมาร่วม 2 ปี

 

ช่องว่าง 2 ปี ที่ไม่ได้ลงสนามแข่งขัน มีสิทธิ์ที่จะทำให้พวกเธอรู้สึกร้างสนาม และอาจจะโชว์ฟอร์มได้ติดๆ ขัดๆ แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า สาวนักตบลูกยางไทยลงสนามไปด้วยความกระหาย เล่นด้วยอารมณ์ที่พร้อมจะต่อสู้ และแสดงออกให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่อยากจะคว้าชัยชนะในทุกนัดที่ลงสนาม

 

“ไม่ได้ตื่นเต้นเกี่ยวกับอะไรอย่างอื่นนะคะ ตื่นเต้นเกี่ยวกับว่าจะต้องกลับมาแข่งรายการนานาชาติ หลังจากที่เราห่างหายไปนาน เราก็ต้องปรับตัวให้มากขึ้น กระตุ้นตัวเอง และทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด ไม่ได้กดดันมาก แต่บอกกับตัวเองว่าให้ทำให้ดีที่สุด ทำให้ดีกว่าที่เราซ้อมมา ทำให้ดีเท่าที่ตัวเองจะทำได้” ชัชชุอร โมกศรี กล่าวก่อนเริ่มการแข่งขันวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022 สัปดาห์แรกที่ประเทศตุรเคีย

 

 

Photo Credit : volleyballworld
Photo Credit : volleyballworld

 

รูปแบบการเล่นที่รวดเร็ว และทีมเวิร์ค

 

หลังจากจบการแข่งขันวอลเลย์บอลในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2021 ซึ่งสาวไทยคว้าเหรียญทองมาครองได้ตามเป้าหมาย แต่ทว่ากระแสจากแฟนๆ กลับเต็มไปด้วยความกังวลเกี่ยวกับรูปแบบการเล่นของสาวไทยชุดนี้ ว่าพยายามเร่งความเร็วของเกมบุกจนกลายเป็นความผิดพลาดหลายครั้ง และรูปแบบการรุกแบบผสมที่เป็นจุดเด่นหลักนั้นไม่มีปรากฏให้เห็น

 

แต่ทว่าในรายการวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022 สาวนักตบทีมชาติไทยสายเลือดใหม่ ได้แสดงให้เห็นถึงการสกัดกั้น และเกมรับที่เหนียวแน่น ส่วนเกมรุกก็รวดเร็ว และเต็มไปด้วยเทคนิคการตบทำแต้มในแบบต่างๆ ตลอดทั้ง 4 นัดในสัปดาห์แรก และเป็นที่ยอมรับ จากโค้ชและผู้เล่นทีมต่างๆ 

 

“รู้สึกภูมิใจในตัวทุกคนมากค่ะ ทุกคนช่วยกันเล่นอย่างเต็มที่ ที่เราซ้อมมาทั้งหมดวันนี้ก็ได้ใช้จริง และสามารถก้าวผ่านความกดดันไปได้” “พิมพิชยา ก๊กรัมย์” สัมภาษณ์หลังเกมเอาชนะทีมชาติเซอร์เบียไปได้ 3-2 เซ็ต 

 

 

Photo Credit : volleyballworld

 

ประสบการณ์จากลีกต่างประเทศ

 

ฤดูกาล 2021-22 เป็นปีที่นักวอลเลย์บอลสาวไทยเริ่มกลับออกไปเล่นลีกอาชีพในต่างประเทศมากขึ้นอีกครั้ง หลังจากหมดยุคของเหล่า 7 เซียน ที่ตระเวนเล่นลีกอาชีพอยู่ต่างแดนเกือบตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่ามาตรฐานของวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกยังไม่สูงมากนัก เมื่อถึงจุดหนึ่งนักกีฬาจะไม่สามารถพัฒนาตนเองจากลีกภายในประเทศต่อได้ ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ไปหาประสบการณ์จากลีกต่างชาตินั้นสำคัญต่อพัฒนาการของนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไทยยุคใหม่เป็นอย่างมาก

 

ในปีล่าสุด มีนักกีฬาไทยออกไปค้าแขนอยู่ในต่างแดน ถึง 7 คน นำโดย อัจฉราพร คงยศ และชัชชุอร โมกศรี คู่หูจากซาริเยร์ เบเลดิเยร์สปอร์ สโมสรจากประเทศตุรเคีย ลีกอันดับ 1 ของโลก, พรพรรณ เกิดปราชญ์ ที่อยู่กับทีมจาการ์ตา โปปซิโว โพลวาน ทีมดังในลีกประเทศอินโดนีเชีย และ 4 สาว จากวีลีก ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย ทัดดาว นึกแจ้ง จากเจที มาร์เวลัส, หัตถยา บำรุงสุข จากโตโยต้า ออโต้บอดี้ ควินซี่ และจรัสพร บรรดาศักดิ์ ที่เล่นอยู่กับเดนโซ แอรีย์บีส์ นับได้ว่าสาวไทยได้รับประสบการณ์จากต่างประเทศกลับมามากมาย และสามารถพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด

 

“มันเหมือนกับการแยกย้ายกันไปเติบโต แล้ววันหนึ่งก็กลับมาเล่นด้วยกัน มันเป็นความรู้สึกดีใจที่ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง” อัจฉราพร คงยศ กล่าวไว้ก่อนเดินทางไปแข่งขันวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022

 

และนี่ก็คือ 5 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นกับนักตบลูกยางสาวไทย ยุคใหม่ ที่กำลังโชว์ฟอร์มได้อย่างเฉิดฉาย ไม่อายใครอยู่ในเวทีระดับโลก


stadium

author

Wantleyball

StadiumTH Content Creator / เจ้าของเพจ Wantleyball

La Vie en Rose